เศรษฐกิจ / วงการพลังงาน วัดใจ ‘สุพัฒนพงษ์’ เอาไงโรงไฟฟ้าชุมชน ขุมทรัพย์ 6 หมื่นล้าน

เศรษฐกิจ

 

วงการพลังงาน

วัดใจ ‘สุพัฒนพงษ์’

เอาไงโรงไฟฟ้าชุมชน

ขุมทรัพย์ 6 หมื่นล้าน

 

สร้างเซอร์ไพรส์พอสมควรกับชื่อ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” กับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่เตรียมจะเข้าทำงานอย่างเป็นทางการสัปดาห์นี้

เพราะในช่วงที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยู่ระหว่างเขย่ารายได้เลือกรัฐมนตรีคนใหม่แทนคนเก่าที่ลาออก ขณะนั้นทุกโผฟันตรงกันว่า ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีน่าจะเป็นของนายปรีดี ดาวฉาย รวบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะดูจะเป็นเนื้องานที่สอดรับกันมากที่สุด ดังนั้น เมื่อหวยมาออกที่ “สุพัฒนพงษ์” จึงเรียกเสียงฮือฮาปนแปลกใจไม่น้อย

วงในยืนยันว่ารองนายกรัฐมนตรีรายนี้เป็นมือประสาน เข้าตา “บิ๊กตู่” ตั้งแต่เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังเคยมีโอกาสใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีช่วงที่เดินทางไปเรียกความเชื่อมั่นที่สหรัฐอเมริกา โดยขณะนั้น “สุพัฒนพงษ์” ร่วมคณะด้วยในนามนักธุรกิจ ช่วงที่นั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี บริษัทไทยที่ร่วมลงทุนกับบริษัทใหญ่ของสหรัฐอเมริกา

ล่าสุด “สุพัฒนพงษ์” เตรียมเข้ากระทรวงพลังงานอย่างเป็นทางการวันที่ 13 สิงหาคมนี้ หลายคนจับตานโยบายการทำงาน ทั้งในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กระทรวงที่พรรคพลังประชารัฐพยายามยื้อแย่งแต่ “บิ๊กตู่” ไม่ให้

 

แม้ยังไม่เริ่มทำงานอย่างเป็นทางการ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรายนี้ได้เริ่มเดินหน้างานอย่างจริงจังแล้ว โดยกล่าวกับผู้บริหารกระทรวงพลังงานว่า “มาช่วยผมทำงานเพื่อชาติกันเถอะ” ถือเป็นประโยคเปิดตัว สร้างพลังให้ข้าราชการกระทรวงพลังงานไม่น้อย

ขณะเดียวกันยังสั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงคิดโครงการที่เน้นช่วยประชาชน เน้นการจ้างงาน และเศรษฐกิจฐานราก ถือเป็นนโยบายที่น่าจะตรงใจใครหลายคนไม่น้อย

ขณะเดียวกันยังฟอร์มทีมงานด้วยการดึง “ศิริ จิระพงษ์พันธ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้ามาช่วยทำงานด้วย

หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า สรุปแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่จะเดินนโยบายไปทิศทางใด

เพราะหากไล่เรียงนโยบายเก่าที่ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเคยทำไว้ และถือว่าถูกใจใครหลายคน

ตัวอย่างนโยบายพลังงาน ที่ต้องจับตาว่าจะมีการสานต่อหรือไม่ คือ โรงไฟฟ้าชุมชน นโยบายที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพยายามผลักดันอย่างหนัก เคยพยายามเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดที่ผ่านมา ผ่านแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ 20 ปี (พีดีพี) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ถึง 3 ครั้ง 3 ครา

แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ถูกเตะสกัดจากเกมการเมืองที่กำลังรอการเปลี่ยน ครม.

 

โรงไฟฟ้าชุมชน โดยเนื้อของนโยบายถือว่าเป็นนโยบายที่เปิดมิติด้านพลังงานที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาก็ว่าได้ เพราะเป็นนโยบายที่ดึงให้ชุมชนในพื้นที่ ชุมชนฐานรากได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้ากับเอกชน โดยชุมชนจะถือหุ้นได้สูงสุด 40% และการันตีรายได้ 20 ปี ผ่านเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนที่เหลือใช้ในพื้นที่และพลังงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เศษไม้ แกลบ ซังข้าวโพด ไม้โตเร็ว ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จากปกตินโยบายของกระทรวงพลังงานจะเน้นโรงไฟฟ้าที่ให้เอกชนเป็นเจ้าของ ขณะที่ประชาชนเป็นเพียงผู้ใช้ไฟฟ้า และมีหน่วยงานเป็นผู้ดูแลต้นทุนที่บาลานซ์ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้

ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ 20 ปี (พีดีพี) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 กำหนดกำลังผลิตโรงไฟฟ้าชุมชนตลอด 20 ปี ประมาณ 1,900 เมกะวัตต์ และในระยะสั้น กำหนดให้มีการผลิตรวม 700 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าที่มีความพร้อมแล้ว (ควิกวิน) 100 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าสร้างใหม่ 600 เมกะวัตต์ เฉพาะ 700 เมกะวัตต์ จะสร้างวงเงินลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท

ช่วงที่ผ่านมานโยบายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกเชื่อมโยงถึงผลประโยชน์มหาศาลหากเกิดขึ้นจริงและถูกนำไปใช้ผิดรูปแบบ!!

 

เสียงหนึ่งระบุว่า ยังไม่ทันที่เริ่มเปิดรับซื้อ แต่ในวงการพลังงานเริ่มมีการตั้งราคาหัวคิวใบอนุญาตไฟฟ้ากันแล้ว โดยกำหนดราคาเริ่มต้นเมกะวัตต์ละ 5 ล้านบาท ปากต่อปากยังระบุว่า หากปล่อยให้นโยบายนี้เข้าทางกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่ต้องการผลประโยชน์ อาจเกิดเม็ดเงินหัวคิวพุ่งถึง 5,000 ล้านบาท เป็นกระสุนชั้นดีสำหรับหล่อเลี้ยงเส้นสายการเมืองเวลานี้

มีโอกาสพูดคุยกับ “สนธิรัตน์” ผู้คิดนโยบายนี้ แสดงความเห็นว่า “ปัญหาอดีตในด้านพลังงานของไทยจะมองแค่ความมั่นคง แต่มองด้านต้นทุนไฟฟ้าให้มีความสามารถในการแข่งขัน เพราะเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของไทย ซึ่งไทยไปสู่นิวเคลียร์ไม่ได้ ถ่านหินไม่ได้ แต่ปัจจุบันพาร์ตที่สำคัญคือ การสร้างเศรษฐกิจฐานราก ต้องผสมผสานต้นทุน บริหารต้นทุนยังไงให้ถูก และมีพาร์ตที่เข้ามาสร้างเศรษฐกิจฐานราก แต่ถ้าคิดแค่โรงไฟฟ้าชุมชนค่าไฟแพง คิดแบบนี้ก็จบ ถ้าพึ่งแต่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ไอพีพี) แต่ประเทศจะไปอย่างไร หลังจากนี้ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนต่อ”

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังมีไอเดียเตรียมผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนให้เป็นรูปธรรมเร็วขึ้น หาก “สุพัฒนพงษ์” สานต่อ โดยเตรียมจะลงพื้นที่ชุมชนในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเดือนสิงหาคมนี้

“ส่วนตัวจะเลือกพื้นที่ประมาณ 500-600 ชุมชน เพื่อสนับสนุนให้เป็นโรงไฟฟ้าชุมชนในอนาคต จะชวนมูลนิธิสัมมาชีพเพราะมีความพร้อมระดับหนึ่ง เน้นชุมชนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวแก้หนี้ไม่ได้ หรือชุมชนที่แห้งแล้ง ปลูกอะไรก็ไม่ได้ เลือกชุมชนเหล่านี้เพื่อเข้าไปดูว่าองค์ประกอบเหล่านั้นเหมาะหรือไม่กับการเกิดโรงไฟฟ้าชุมชน จะยกมือบอกว่าควรให้เขาลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน จะพิสูจน์ถึงการปลดหนี้ ปากท้องดีขึ้น ดึง ธ.ก.ส.เข้ามาช่วย จะพิสูจน์ว่าโรงไฟฟ้าชุมชนที่แท้เป็นสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่การตั้งโรงไฟฟ้าของเอกชน ที่สำคัญอยากเห็นชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงเข้มแข็ง ไม่ใช่แค่แก้หนี้ จะลงไปดู”

         ถือเป็นนโยบายที่ต่าง กล้า และสร้างประโยชน์กับชุมชนฐานรากจริงๆ ถ้ารัฐมนตรีคนใหม่สานต่อ และทำทุกกระบวนการอย่างโปร่งใส ไร้มลทิน…