ฟ้า พูลวรลักษณ์ | มองเพื่อไทย และ ฝั่งอนาคตใหม่

ฟ้า พูลวรลักษณ์

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก เล่มใหม่ (๖๙.๑)

สิ่งหนึ่งที่รบกวนจิตใจของฉันคือ โครงการเงินกู้สองล้านล้านของพรรคเพื่อไทย ในปี 2011 ที่จะนำมาบริหารจัดการประเทศ

มันเป็นโครงการที่ดีมาก กว้างไกล ทันการณ์ แต่ทว่าโครงการที่ดีอย่างนี้ ในบรรยากาศทางการเมืองวันนั้น มันเป็นไปไม่ได้ ด้วยเพราะผลประโยชน์ของมันนั้นอยู่กับพรรคเพื่อไทยเต็มๆ ไม่ได้กระจายไปทั่วทุกพรรค

แบบนี้ ฝ่ายตรงข้ามที่ไหนจะยอม พวกเขาต้องต่อต้านสุดชีวิต ด้วยเพราะหากโครงการนี้เกิด หมายถึงพรรคอื่นจะตายหมด ส่วนพรรคเพื่อไทยจะครองอำนาจไปอีกนานยี่สิบปี

ทำไมพรรคเพื่อไทยนำเสนอโครงการที่แสนดี เพื่อจะมาเป็นตะปูตอกโลงศพฝังตัวเอง

หากพรรคเพื่อไทยคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก มีวิธีการทำให้โครงการนี้เป็นผลประโยชน์ของทุกพรรค หรืออย่างน้อย ของหลายพรรคใหญ่ และทำให้เป็นเครดิตของทุกคน อย่างนี้พอจะคุยกันได้

ในทำนองเดียวกัน พรรคอนาคตใหม่ หากทำได้อย่างที่พูดหรืออย่างที่คิด เผด็จการจะตายหมด ตายเหมือนเหล่าขุนทหารในอาร์เจนตินา

แต่บรรยากาศทางการเมืองของไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น เหล่าขุนทหารในอาร์เจนตินาพ่ายแพ้ เพราะพวกเขาแพ้สงครามฟอล์กแลนด์ ในปี 1982 จึงเป็นชนวนทำให้เครือข่ายอำนาจของขุนทหารเหล่านั้นพังครืนลง

แต่ไทยเราไม่มีสงคราม สมมุติว่าวันนี้ไทยรบกับเวียดนาม แล้วแพ้ยับเยิน ถ้าเป็นเช่นนั้น เหล่าขุนทหารของไทยก็จะหมดอำนาจ แต่ไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว

ดังนั้น การที่พรรคอนาคตใหม่จะไปโค่นล้มขุมพลังของเหล่าทหาร มันทำได้ยาก

สิ่งหนึ่งที่รบกวนจิตใจของฉันคือ การสูญพันธุ์ของ Hominid กลุ่มหนึ่งที่ชื่อ Neanderthal ซึ่งพวกเขาถือเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ใกล้มนุษย์มาก แต่พวกเขาก็สูญพันธุ์ไปเมื่อราวสี่หมื่นปีก่อนนี้เอง

พวกเขาน่าสนใจตรงที่ว่า ร่างกายแข็งแรงมาก แม้ว่าร่างกายจะมีความสูงใกล้เคียงกับมนุษย์ แต่กล้ามเนื้อของพวกเขาแข็งแกร่งกว่าเรามากนัก เรียกได้ว่าเป็นกองทัพเฮอร์คิวลิสเลยทีเดียว

พวกเขาร่างกายบึกบึน กำยำ อาวุธของพวกเขาแต่ละชิ้น ไม่ว่าจะเป็นหอก กระบอง มันหนักอึ้ง มนุษย์ยกไม่ไหว

พวกเขาคือมนุษย์ยักษ์ ในแง่พลัง แต่ทำไมจึงกลับพ่ายแพ้ต่อมนุษย์ที่บอบบางกว่ามาก แล้วสูญพันธุ์ไปในที่สุด

หากจะบอกว่าพวกเขาโง่กว่ามนุษย์ ก็ไม่น่าจะจริง หากเทียบกับมนุษย์ในยุคหิน ก็ไม่น่าต่างกันมากนัก แค่เหลื่อมกันนิดหน่อย ปัจจัยสำคัญน่าจะเป็นสิ่งอื่นมากกว่า เช่น

๑ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

๒ แบคทีเรีย

๓ ไวรัส

หรือภัยพิบัติอื่นใด

ปัจจัยเหล่านี้มีผลกว้างใหญ่ และคาดเดาไม่ได้ สายพันธุ์นี้อาจแพ้เชื้อโรคบางตัว จึงสูญพันธุ์ ในขณะที่มนุษย์โชคดีกว่า หรือยีนของมนุษย์ปรับตัวได้ดีกว่า มีภูมิต้านทาน จึงรอด

ใครอยู่รอด เป็นเรื่องลึกซึ้ง และคาดเดาได้ยาก มันไม่ใช่แค่คิดง่ายๆ ว่า มนุษย์ฉลาดกว่า จึงอยู่รอด ความฉลาดนั้น ไม่น่าต่าง ต่อให้คมแค่ไหน ก็แค่เหลื่อม

สายพันธุ์มนุษย์ผู้ทรงพลังเหล่านั้น ดับสลายไปแล้วอย่างเร้นลับ

ในวันนี้ มนุษย์ก็อาจพูดได้ว่า มีสองสายพันธุ์ คือสายพันธุ์เผด็จการและสายพันธุ์ประชาธิปไตย ใครจะอยู่ ใครจะไป อะไรเป็นตัวกำหนด หากบอกว่า คือสติปัญญา ความเฉลียวฉลาด ก็ไม่น่าใช่ ด้วยเพราะพวกเขาสองกลุ่มก็แค่เหลื่อมกัน ฝ่ายเผด็จการไม่ได้โง่ ไม่ได้ขาดไหวพริบ ไม่ได้ขาดความรู้

สงครามฟอล์กแลนด์เกิดขึ้น เป็นเหตุการณ์ ไม่มีสติปัญญาใดไปสร้างมันขึ้น

พรรคเพื่อไทยหมกมุ่นกับตัวเอง เช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ ยากที่พวกเขาจะคิดไกลออก หรือไปในมุมที่แตกต่าง

น่าสนใจ ด้วยเพราะเผด็จการเกิดง่าย และตายง่าย

ประชาธิปไตยเกิดยาก และตายยาก

เหมือนพรรณไม้สองพันธุ์ ในทุ่งกว้างนี้ ใครจะอยู่รอด ใครรู้ได้

ปัญญาชนส่วนใหญ่จบการศึกษามาจากสายประชาธิปไตย จึงรู้สึกว่า สติปัญญาของสายประชาธิปไตย เหนือกว่าสายเผด็จการมากนัก แต่ที่จริง มันแค่เหลื่อมกันนิดหน่อย ขึ้นกับเหตุการณ์มากกว่า ว่าเราอยู่ในเหตุการณ์ไหน

สติปัญญามนุษย์สองกลุ่มเหลื่อมกัน และเหลื่อมกันไปเรื่อยๆ

ฉันรู้แต่ว่า ทุกความคิดของมนุษย์ ไม่อาจรับมือกับแบคทีเรียหรือไวรัสได้ ไม่อาจมาเป็นตัวกำหนดถูก-ผิด เป็น-ตาย ยิ่งไม่ต้องพูดถึงสภาพภูมิอากาศ

แค่ไวรัสตัวเดียว เรายังกำหนดไม่ได้เลยว่า สายประชาธิปไตย หรือสายเผด็จการ ใครฉลาดกว่ากัน สำมะหาอันใด กับนานาภัยพิบัติ ที่แต่ละตัว มีค่าของมันเอง มีปัจจัยของมันเอง และไม่ยอมขึ้นกับเหตุผลของมนุษย์

ปกติ ฉันชอบอ่านบทความใน New Scientist ซึ่งบทความเหล่านี้สะท้อนความคิดของชาวตะวันตกชั้นนำ แต่กรณีโควิดจะเห็นได้ว่าหมู่ประเทศชั้นนำตะวันตกเหล่านั้น หรือแม้กระทั่งองค์การสากล อย่างองค์การอนามัยโลก WHO ทั้งหมดนี้ ล้วนโง่เขลา เสียสติ ตรงข้ามกับเปลือกนอกที่ดูดี เฉลียวฉลาด รอบคอบ รอบรู้

มันทำให้เวลาฉันอ่านบทความเหล่านี้ ต้องตรวจสอบใหม่ การตรวจสอบใหม่นี้มิได้หมายความว่า บทความเหล่านั้นเขียนผิด โง่เขลา

แต่ทว่า บทความเหล่านั้นไม่ได้ตอบโจทย์บางอย่างที่สำคัญ เช่น ธรรมชาติของมนุษย์

ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่การใส่หน้ากากอนามัย มันกลับกลายเป็นปัญหาใหญ่หลวง ทั้งที่มันเป็นเรื่องเรียบง่ายนิดเดียว ไม่ต้องใช้ความรู้มาก ไม่ต้องใช้บทความทางวิทยาศาสตร์ลึกซึ้งอะไรเลย เป็นเรื่องของสามัญสำนึก

ฉันจะยกตัวอย่าง ว่ามันเหมือนการใส่รองเท้าหุ้มส้น

ยกตัวอย่าง กรณีโควิด ชาวอเมริกันก็ไปไม่เป็น เดินไม่ถูกเหมือนกัน ไปซ้ายก็ผิด ไปขวาก็ผิด

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

ทำไมการใส่หน้ากากอนามัยกลายเป็นปัญหาเสรีภาพขึ้นมาได้

ในขณะที่บางประเทศอาจมองมันเป็นเพียงแค่ว่า หากถนนหนทางมีเศษแก้วเศษกระจกมาก รัฐก็ออกกฎหมายให้คนใส่รองเท้าหุ้มส้นเดินออกจากบ้าน

ทำไมกับการใส่รองเท้าหุ้มส้นเดินออกจากบ้าน จึงกลายเป็นปัญหาเสรีภาพขึ้นมาได้ ทำไมบางคนยังยืนยันจะใส่รองเท้าแตะ หรือเดินเท้าเปล่าออกจากบ้าน

ต่อให้สมมุติว่า ถนนตอนนี้โล่งว่าง ไม่มีตะปู ไม่มีเศษแก้วใดๆ เหลืออยู่ การที่เขาใส่รองเท้าหุ้มส้นเดินออกจากบ้าน สักหนึ่งปีหรือสองปี ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร

คือฉันมองมันเป็นเรื่องเล็ก แต่ทำไมบางคนมองมันเป็นเรื่องใหญ่ แบบยอมกันไม่ได้

การใส่หน้ากากอนามัย ที่จริงเป็นเรื่องเล็ก และเป็นการใส่เพื่อผู้อื่น เช่นวันนี้ หากไม่มีไวรัสหลงเหลืออยู่ในเมืองไทย แต่หากฉันใส่หน้ากากอนามัยในรถไฟฟ้า แล้วทำให้ผู้โดยสารอื่นสบายใจ ก็ทำให้ได้ ฉันลำบากนิดหนึ่ง แต่ทำให้สังคมเดินหน้าราบรื่น

แต่ละคนเสียสละคนละนิด แค่นิดเดียวเท่านั้นเอง

สิ่งเหล่านี้ไม่มีในบทความที่ฉันอ่านเลย พวกเขาพูดถึงการป้องกันโรคระบาดครั้งต่อไป พูดถึงวัคซีน พูดถึงเรื่องอื่นๆ ที่สลับซับซ้อน เช่น การมีมวลของ Neutrino ธาตุเร้นลับในจักรวาล

แต่ไม่สามารถตอบคำถามง่ายๆ ได้ ว่ามนุษย์ทำตัวอย่างไร และทำไมจึงต้องทำเช่นนั้น ทำไมจึงไม่ยอมใส่หน้ากากอนามัย และหลายคนถึงกับต่อต้านอย่างรุนแรง

ขนาดเรื่องพื้นฐานคุณยังไม่ผ่าน แล้วจะไปรับมือกับไวรัสตัวใหม่ได้อย่างไร