สุรชาติ บำรุงสุข | 88 ปีระบอบทหารไทย ep.4 จาก 2500-2507

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“การต่อต้านรัฐประหารอาจจะนำไปสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตย แต่ในหลายครั้งการต่อต้านเช่นนี้มักนำไปสู่การเปลี่ยนจากรัฐบาลทหารหนึ่งไปสู่อีกรัฐบาลทหารหนึ่ง”

Paul Brooker

Non-Democratic Regimes (2009)

ความขัดแย้งทางการเมืองของผู้นำทหารในช่วงปี 2500 เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของการต่อสู้แข่งขันระหว่างกลุ่มผู้นำที่เป็นผู้กุมอำนาจในขณะนั้น ว่าที่จริงแล้วพวกเขาในฐานะผู้นำทางการเมืองล้วนเติบโตมาจากกลุ่มทหารเดียวกัน ที่ตัดสินใจเป็นผู้ล้มรัฐบาลในปลายปี 2490 และก้าวเข้ามาควบคุมรัฐไทยในยุคสงครามเย็น

การเข้ามาเช่นนี้คือการปิด “ระบอบพิบูลฯ 2” แต่คือการเปิดยุคใหม่ของผู้นำทหารรุ่นที่ 2 ของ “กลุ่ม 2490” เพราะในปีที่ยึดอำนาจ พวกเขาเป็นนายทหารระดับคุมกำลัง

การสิ้นสุดยุคจอมพล ป. จึงเปิดโอกาสให้ผู้นำทหารรุ่นหลังอย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เป็น “ดาวจรัสแสง” ในฐานะผู้นำทหารรุ่นใหม่ที่มีบทบาทอย่างสำคัญตั้งแต่ครั้งปราบปรามฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่เป็นทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้เห็นต่างในกองทัพที่ในเวลาต่อมากลายเป็น “กบฏเสนาธิการ” ในปี 2491

การปราบปรามขบวนประชาธิปไตยที่ถูกเรียกว่าเป็น “กบฏวังหลวง” ในปี 2492

การปราบปรามฝ่ายทหารเรือในกรณี “กบฏแมนฮัตตัน” ในปี 2494

ฉะนั้น การขึ้นสู่อำนาจของจอมพลสฤษดิ์จึงเป็นการเปิดยุคใหม่ของทหาร ที่การมีบทบาทของกองทัพครั้งนี้จะรวมศูนย์อยู่กับตัวผู้นำทหารอย่างมาก และเป็นการสร้าง “ระบอบเผด็จการทหาร” แบบเต็มรูปในการเมืองไทย

ระบอบทหารเต็มรูป

จอมพลสฤษดิ์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในเวทีสาธารณะอย่างชัดเจนด้วยเงื่อนไข “การเลือกตั้งสกปรก” ในต้นปี 2500 เขาได้รับความชื่นชมอย่างมากจนเป็นดัง “วีรบุรุษของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล”

ซึ่งการแตกแยกของกลุ่ม 2490 นั้น ปรากฏชัดในปี 2498 เมื่อจอมพล ป.ผนึกกำลังกับ “สายราชครู” ที่นำโดย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ด้วยการตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา (ซอยราชครูคือที่ตั้งบ้านพักของตระกูลชุณหะวัณ) ต่อสู้กับ “สายสี่เสาเทเวศร์” ที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ด้วยการตั้งพรรคสหภูมิ (สี่เสาเทเวศร์คือที่ตั้งบ้านพักของผู้บัญชาการทหารบก)

และทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างเข้มข้น จนต้องถือว่าปี 2500-2501 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกชุดหนึ่งในการเมืองไทย

การเลือกตั้งสกปรกจึงเป็นจุดสูงสุดของการแข่งขันของสองกลุ่มการเมือง และกลายเป็นช่องทางให้จอมพลสฤษดิ์ฉวยโอกาสตัดสินใจก่อการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2500

ฉะนั้น ถ้ารัฐประหาร 2490 คือจุดจบของเหตุการณ์ 2475… รัฐประหาร 2500 คือจุดจบของผู้นำชุดเก่าของคณะรัฐประหาร 2490

การยึดอำนาจครั้งนี้นอกจากจะมีผู้นำหลักอย่างจอมพลสฤษดิ์แล้ว ยังเห็นผู้นำใหม่อีกส่วน เช่น พล.ท.ถนอม กิตติขจร พล.ต.ประภาส จารุเสถียร เป็นต้น

รัฐประหาร 2500 ก็คือบทพิสูจน์ “ธาตุแท้” ของผู้นำทหาร ที่แม้จะเป็นเสมือนวีรบุรุษประชาธิปไตยในการเลือกตั้งสกปรกในปี 2500 เพราะในที่สุดจอมพลสฤษดิ์ซึ่งไม่สามารถควบคุมการเมืองหลังรัฐประหารได้ จึงตัดสินใจก่อการซ้ำอีกครั้งด้วยรัฐประหารตุลาคม 2501

และการยึดอำนาจครั้งนี้เห็นความแตกต่างระหว่างผู้นำทหารสองยุคอย่างชัดเจน

ดังจะเห็นได้ว่าในยุคจอมพล ป.นั้น ระบอบทหารแบบเต็มรูปยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ตัวผู้นำเองยังไม่มีลักษณะอำนาจนิยมเต็มรูปแบบ

ในขณะเดียวกันรัฐบาลจอมพล ป.เผชิญกับการต่อต้านและมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเป็นระยะ จนทำให้ด้านหนึ่งจอมพล ป.ต้อง “กระชับอำนาจ” ด้วยการจัดการกับฝ่ายต่อต้าน และในอีกด้านทำให้จอมพล ป.ต้องพึ่งพาคณะรัฐประหาร 2490 ที่เป็นผู้ควบคุมอำนาจทั้งฝ่ายทหารและตำรวจ

แต่ในอีกด้านก็พยายามแสวงหาการสนับสนุนจากสาธารณชนด้วยการตั้งพรรคการเมืองและลงเลือกตั้ง อันเป็นการสร้าง “ระบอบกึ่งทหาร” ยุคแรกของไทย

แต่หลังจากรัฐประหาร 2501 แล้ว ระบอบทหารเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีการใช้อำนาจอย่างเต็มที่ด้วยกฎหมายพิเศษของคณะรัฐประหาร (มาตรา 17)

และยังเห็นได้ชัดอีกประการว่า หลังรัฐประหาร 2500 แล้วตามมาด้วยการกวาดล้างทางการเมืองครั้งใหญ่ อันส่งผลให้ขบวนประชาธิปไตยที่เติบโตมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลก และเติบโตมากขึ้นในช่วงของการสร้างระบอบเลือกตั้งในปี 2498 นั้น ถูกทำลายลง และหลายคนถูกจับกุม หรือที่เรียกกันว่า “นักโทษการเมืองลาดยาว”

อีกทั้งยังเห็นความชัดเจนที่ผู้ถูกจับกุมอีกส่วนในข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

อันสะท้อนให้เห็นทิศทางของรัฐบาลไทยที่ชัดเจนในการต่อต้านคอมมิวนิสต์

และเป็นการตอกย้ำถึงจุดยืนไทยในสงครามเย็น และยืนยันชัดเจนว่าไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทยเช่นไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่กระทบต่อจุดยืนในนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ และไทยจะยืนกับฝ่ายตะวันตกต่อไป

ชีวิตและงาน ของ สฤษดิ์
ธนะรัตน์ จอมพลผู้พิชิต

ประชาธิปไตยแบบไทย

ระบอบสฤษดิ์แตกต่างจากระบอบพิบูลฯ อย่างเห็นได้ชัด เพราะเป็นระบอบที่ไม่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง อำนาจทางการเมืองถูกรวบอยู่ในมือของผู้นำทหารคนเดียว และสมาชิกสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมด จนกลายเป็น “สภาตรายาง” อย่างชัดเจน

ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมของจอมพลสฤษดิ์โดยตรง

สภานี้ทำหน้าที่เป็นทั้งสภานิติบัญญัติและสภาร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งจอมพลสฤษดิ์มีชุดความคิดทางการเมืองแบบทหารสายอนุรักษนิยม ที่ปฏิเสธประชาธิปไตยแบบตะวันตก และไม่ให้ความสำคัญกับรัฐสภา ทั้งยังมองว่าสภาเป็นปัญหาอีกด้วย

จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้นำทหารคนแรกๆ ที่อ้างถึงแนวคิด “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ที่เชื่อว่าไทยควรอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำที่เข้มแข็งคนเดียว หรือที่ถูกเรียกว่าเป็นแนวคิดแบบ “พ่อขุน” ที่อิงอยู่กับความรุ่งเรืองของยุคสุโขทัย หรือที่จอมพลสฤษดิ์มองว่าตนเองเป็น “พ่อบ้านพ่อเมือง” ของประเทศ

ในอีกด้านจะเห็นได้ชัดถึงการสร้างความชอบธรรมของระบอบทหารที่อาศัยองค์ประกอบสามส่วนของอุดมการณ์เดิมของรัฐไทย คือ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพของระบอบสฤษดิ์

ที่แม้ระบอบพิบูลฯ ในยุคหลัง 2491 จะอิงอยู่กับ “องค์สาม” ของอุดมการณ์นี้ แต่ในยุคหลังรัฐประหาร 2501 แล้ว การเน้นเช่นนี้เข้มข้นมากขึ้น และมีการใช้ชุดความคิดนี้ต่อมาอีกยาวนาน

ความชอบธรรมในอีกด้านถูกสร้างจากการเข้าไปมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับโลกตะวันตกในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ เช่น ไทยกับการแทรกแซงปัญหาวิกฤตการณ์คอมมิวนิสต์ในลาว และการขยายความสัมพันธ์กับรัฐบาลฝ่ายขวาในภูมิภาค

ในอีกด้านคือ การพาประเทศเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีสหรัฐเป็นผู้นำ

เช่น การรับความช่วยเหลือในการพัฒนาจากธนาคารโลก หรือการพึ่งพาทางเศรษฐกิจที่ยึดโยงกับโลกทุนนิยมตะวันตกเป็นด้านหลัก

จนอาจกล่าวได้ว่าไทยเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของโลกตะวันตกในภูมิภาค

และความสัมพันธ์นี้ทำให้ไทยในยุคนี้พัฒนาความใกล้ชิดกับสหรัฐมากขึ้นทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร อันเป็นการตอกย้ำทิศทางที่มีมาแต่เดิมในยุคจอมพล ป.

ยุคจอมพลสฤษดิ์ในบริบทระหว่างประเทศมีเหตุการณ์สำคัญ 2 เรื่อง คือวิกฤตการณ์ในลาวในต้นปี 2505 ที่เกือบจะขยายตัวเป็นสงครามใหญ่ แต่ก็จบลงด้วยสิ่งที่ผู้นำทหารไทยปรารถนาที่สุดคือ ความตกลงด้านความมั่นคงแบบทวิภาคีระหว่างสหรัฐกับไทย หรือที่เรียกว่า “แถลงการณ์ร่วมถนัด-รัสค์” (The Thanat-Rusk Communique)

และอีกกรณีคือปัญหาความขัดแย้งเรื่องเส้นเขตแดนกับกัมพูชา ที่มีการนำคดีขึ้นสู่ศาลโลก (ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ-ICJ) ในกรณีพื้นที่ปราสาทพระวิหารในปี 2505 แม้ไทยต้องยอมรับคำตัดสินว่าปราสาทดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตอธิปไตยไทย แต่กรณีนี้ก็จบลง โดยมิได้ขยายตัวเป็นสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน

และคงต้องประเมินว่าไทยในช่วงปี 2505 นั้น ยืนอยู่บน “ขอบเหวแห่งสงคราม” แต่ก็ไม่ได้ตกลงไป

ถ้าเปรียบเทียบในทางรัฐศาสตร์แล้ว อาจกล่าวได้ว่าระบอบทหารของจอมพลสฤษดิ์มีลักษณะเป็น “การปกครองแบบผู้นำคนเดียว” (one-person rule หรือจะเรียกว่าเป็น personal rule ก็ได้)

ดังนั้น ในยุคนี้จึงไม่มีประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะการเมืองอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของผู้นำทหาร

เช่นที่เป็นคำขวัญในยุคนี้ว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”

ซึ่งคำขวัญนี้สะท้อนแนวคิดของการปกครองแบบผู้นำคนเดียวอย่างชัดเจน จนอาจเรียกว่าเป็นระบอบแบบ “หัวหน้าทหารคนเดียว” อันเทียบเคียงได้กับการปกครองแบบ “Caudillismo” ในละตินอเมริกา

แต่การปกครองของผู้นำทหารคนเดียวนั้น มีปัญหาคล้ายคลึงกันในทุกประเทศทั่วโลกคือ ผู้นำจะมีสุขภาพแข็งแรงที่จะมีอายุยืนยาวเพื่อควบคุมระบอบนี้ไปอีกนานเท่าใด…

ในกลางเดือนตุลาคม 2506 จอมพลสฤษดิ์เริ่มมีอาการป่วย และในวันที่ 29 พฤศจิกายน หัวข่าวใหญ่ของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับคือ “จอมพลสฤษดิ์เข้าโรงพยาบาล” ต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม ก็ได้เสียชีวิตลง

และในวันถัดมา พล.อ.ถนอมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี และตั้งคณะรัฐมนตรีในอีกสองวันถัดมา โดยมี พล.อ.ประภาสเป็นรองนายกฯ พร้อมกับผู้นำทหารอีกส่วน เพื่อดำรงสถานะของระบอบทหารสืบต่อไป

ระบอบเก่า-ผู้นำใหม่

ในวันที่ 9 ธันวาคม พล.อ.ถนอมยังได้รับพระราชทานยศเป็น “จอมพล” ดำรงตำแหน่งทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกควบคู่ไปด้วย เขาเป็นจอมพลคนที่ 3 จากกองทัพบกที่ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ในยุคหลัง 2475 และเป็นที่ชัดเจนว่ากองทัพยังต้องเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการเมืองไทย และการควบคุมนี้ยังคงต้องการใช้ตัวแบบเดิมของยุคจอมพลสฤษดิ์ ที่ทหารเป็นผู้นำสูงสุด… ยังไม่ถึงเวลาของการเมืองแบบพลเรือน รัฐบาลทหารชุดใหม่เริ่มต้นในปี 2507

ผู้นำทหารในระบอบรัฐประหารกลายเป็นผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง โดยเฉพาะการใช้อำนาจผ่านมาตรา 17 อันเป็นอำนาจที่กำเนิดจากธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2502 ซึ่งธรรมนูญนี้ก็คือสิ่งที่เกิดจากการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ในปี 2501

ดังนั้น ผู้นำทหารในระบอบนี้จึงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว โดยมีกฎหมายรองรับอย่างเป็นทางการ

สภาวะเช่นนี้ทำให้การเมืองไทยจากยุคจอมพลสฤษดิ์ต่อเนื่องมาถึงจอมพลถนอมเป็น “ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ” (Totalitarianism) เพราะผู้นำทหารสามารถใช้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ และการใช้อำนาจเช่นนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายคือ ผู้นำทหารใช้อำนาจอย่างไรก็ไม่ผิด

แต่ไม่ว่าระบอบทหารจะมีอำนาจมากเท่าใด ก็มิได้หมายความว่าจะสามารถควบคุมความท้าทายทุกอย่างได้ และความท้าทายใหญ่กำลังก่อตัวขึ้นในภูมิภาคอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดในปี 2507… สถานการณ์สงครามในเวียดนามล่อแหลมมากขึ้น รอเวลาระเบิด และไทยย่อมหลีกหนีจากไฟสงครามนี้ไม่พ้น

รวมทั้งไฟสงครามในบ้านที่อาจจะเกิดอย่างไม่คาดคิดเช่นกันด้วย!