กาแฟดำ | “นวัตกรรมสังคม” ช่วย ไต้หวันปราบโควิด-19

สุทธิชัย หยุ่น

สัปดาห์ก่อนผมเสนอบทสนทนาของผมกับรัฐมนตรีข้ามเพศของไต้หวันที่ดูแลกิจกรรมดิจิตอลว่าด้วยความสำเร็จของการใช้เทคโนโลยีและ “ข้อมูลเปิด” ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเพื่อสู้โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เบื้องหลังเรื่องนี้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับคนไทยเราในการวางยุทธศาสตร์ดิจิตอลในการยกระดับประสิทธิภาพในการสร้างชาติได้อย่างแท้จริง

บทเรียนที่สำคัญคือการที่รัฐบาลจะต้องเปิดกว้างกับประชาชน และจะต้องให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าเป็นส่วนหนึ่งของ “กองทัพนักรบ” ในการทำสงครามกับโรคระบาด

สิ่งที่รัฐมนตรีดิจิตอลคนรุ่นใหม่อย่างออเดรย์ ถัง เน้นหนักก็คือ “นวัตกรรมสังคม” หรือ social innovation ที่ทำให้ประชาชนทุกวงการมีส่วนในการช่วยกันสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่เอื้อต่อการส่งเสริมให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

เมื่อทำสงครามกับโรคระบาดต้องไม่มีฝักไม่มีฝ่าย ไม่มีพวกเขาพวกเรา และที่สำคัญคือจะต้องทำให้เกิดความตระหนักว่าหากแพ้ศึกครั้งนี้ก็คือความพ่ายแพ้ของคนทั้งประเทศ

สูตร Fast, Fair, Fun คือการเน้นความรวดเร็ว, ความเสมอภาคและเป็นธรรมสำหรับคนทั้งหลาย

และที่ต้องไม่ลืมคือ “ความสนุก”

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือการใช้อารมณ์ขันเข้าปะทะกับความเครียดของการแพร่ระบาดของโรค

และคนที่ใช้อารมณ์ขันอธิบายปัญหาและปัดเป่าข่าวลือข่าวปล่อยทั้งหลายนั้นคือคนระดับสูงในรัฐบาลเอง

ความสนุกและอารมณ์ขันจึงกลายเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้สามารถเผด็จศึกไวรัสตัวนี้ได้อย่างน่าทึ่ง

วันนี้ผมนำเอาอีกบางตอนของบทสัมภาษณ์ออนไลน์วันนั้นมาให้ได้อ่านเพื่อวิเคราะห์กันต่อ

ถาม : นอกจาก Fast, Fair แล้ว สูตรของความสำเร็จของไต้หวันในการบริหารวิกฤตโควิด-19 ยังมีเรื่อง Fun ด้วยใช่ไหม…และยังนำไปสู่เรื่องของ Rough Consensus หรือ “ความเห็นพ้องร่วมอย่างหยาบๆ” ใช่ไหมครับ

ตอบ : ใช่ค่ะ ความเห็นพ้องต้องกันแบบหยาบๆ (Rough Consensus) มันสำคัญมาก

เพราะถ้าความเห็นของประชาชนตรงกันจริงๆ คุณจะต้องโหวตแล้วลงชื่อ ซึ่งมันเสียเวลามาก มันยากมากที่ได้ไปถึงจุดที่คนเห็นตรงกันทั้งหมด

แต่ถ้าเห็นตรงกันแค่หยาบๆ หรือในระดับที่พออยู่กับมันได้ เราก็สามารถบรรลุได้ง่ายมาก

และตอนนี้มันง่ายขึ้นไปอีกเพราะนายกฯ ซู เจิง-ชาง ที่ชอบยิ้มตลอดเวลา ก็มีส่วนอย่างมากในการสร้างความเห็นพ้องต้องกันแบบหยาบๆ และช่วยอธิบายด้วยวิธีใหม่ๆ โดยใช้มีม ซึ่งนี่เป็นส่วนสนุกของรวดเร็ว เป็นธรรม และสนุก

ถาม : ที่คุณเน้นเรื่อง “สนุก” ก็เพื่อเข้าถึงคนไม่สนใจการเมืองใช่ไหม

ตอบ : ใช่ คุณต้องทำให้สนุกถึงจะตรงจุด คือตอนที่คนไปแห่ตุนกระดาษทิชชู ตอนนั้นมีข่าวลือที่บอกว่า เพราะรัฐบาลเพิ่มการผลิตหน้ากากอนามัยจากไม่ถึง 2 ล้านชิ้นต่อวัน เป็น 20 ล้านชิ้นต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่า โดยใช้วัสดุเดียวกับกระดาษทิชชู จะทำให้ไม่มีทิชชูใช้อีกไม่นาน

แน่นอนว่ามันไม่จริง

แต่คนที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิดก็แห่ออกไปซื้อกระดาษทิชชูจนขาดตลาด พอเราเห็นข่าวลือนี้แพร่หนักขึ้นเรื่อยๆ เราก็ต้องทำอะไรบางอย่าง

ภายในหนึ่งชั่วโมงนั้นคุณเห็นนายกรัฐมนตรีในสไลด์ ทำรูปหันบั้นท้ายออกมาและส่ายสะโพกนิดหน่อย มีตัวหนังสือตรงนี้เขียนว่าเราทุกคนมีบั้นท้ายแค่คู่เดียว

นั่นแปลว่าไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก ไม่ต้องวิ่งไปตุนกระดาษทิชชู

จากนั้นก็อธิบายต่อว่ากระดาษทิชชูผลิตจากวัสดุจากอเมริกาใต้และหน้ากากอนามัยผลิตจากวัสดุในประเทศ ไม่ใช่วัสดุเดียวกัน มีมนี้เลยกลายเป็นไวรัล

ทุกคนชอบรูปนายกฯ ส่ายสะโพก มันเข้าถึงคนได้มากกว่าข่าวลือ

หลังจากนั้น 2 วันเราเห็นผล มันเหมือนวัคซีน คนที่เห็นมีมนี้ไม่ตื่นตระหนกอีกแล้ว ประชาชนรู้สึกแตกต่างออกไป

แล้วเราก็พบว่าคนที่ปล่อยข่าวลือที่จริงเป็นคนที่ซื้อทิชชูมาขายต่อ

เราเลยใช้กลยุทธ์ใช้อารมณ์ขันปะทะข่าวลือมันปาก

ในการต่อสู้กับข้อมูลลักษณะนี้ ไม่ได้เจอแค่ครั้งเดียว แต่เจอตลอด

อย่างตอนที่เราอธิบายเรื่องการรักษาระยะห่าง เราใช้สุนัขเป็นโฆษกของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิภาพ

ถ้าคุณอยู่ในบ้าน จะเห็นหมา 3 ตัว แต่ถ้าอยู่นอกบ้านจะเหลือ 2 ตัว แล้วก็จำไว้ว่าควรใส่ปิดปากและจมูกตอนจาม แล้วเอามือจับปาก ต้องใส่หน้ากาก ต้องเตือนตัวเองตลอดให้ทำแบบนี้

เราทำอะไรพวกนี้ตลอด รวมไปถึงเกมออนไลน์ที่ดังๆ คุณจะเห็นว่ามีมพวกนี้แพร่ออกไป ซึ่งมันทำให้ข่าวลือแพร่ยากขึ้นถ้าเจอมุขตลกของเรา

ถาม : มันไม่ใช่แค่เทคโนโลยี คุณจะต้องมีทีมงานที่สร้างสรรค์ด้วย ทีมงานสร้างสรรค์ที่เห็นว่ามีข่าวปลอมและข่าวลือ…

ตอบ : และดาวตลกด้วย

ถาม : คุณใช้ดาวตลกช่วยนายกรัฐมนตรีด้วยเหรอ

ตอบ : ใช่ค่ะ นายกรัฐมนตรีเป็นดาวตลกเบอร์ 1 เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนเพิ่งจะได้แต่งตั้งเป็นโฆษกของคณะรัฐมนตรี

ถาม : เออ มีแบบนี้ด้วย

ตอบ : ท่านไม่ได้รับผิดชอบแค่แคมเปญ “เรามีบั้นท้ายแค่คู่เดียวเท่านั้น” แต่รับผิดชอบสิ่งนี้ด้วยซึ่งตลกมาก

มีข่าวลือว่าถ้าออกไปทำผม คุณโดนปรับ 1 ล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ต่อมา

แล้วนายกรัฐมนตรีก็เอารูปตอนหนุ่มมาทำโปสเตอร์ที่มีข้อความว่า “ถ้ามันเป็นเรื่องจริง ผมคงไม่ลงโทษใครที่ดูเหมือนผมตอนหนุ่มๆ หรอก”

จากนั้นเราก็ประกาศให้ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมต้องติดฉลาก ซึ่งจะบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2564

ตรงนี้นายกฯ บอกว่า ยังไงซะ ถ้าคุณยังย้อมผมหลายครั้งต่อสัปดาห์ มันคงไม่ทำให้กระเป๋าคุณฉีก แต่มันจะทำร้ายศีรษะของคุณ ดูผมเป็นตัวอย่างสิ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณ

ถาม : ตลกอย่างนี้ได้ผล

ตอบ : มันตลกมาก ท่านนายกฯ ล้อเลียนตัวเอง ไม่ได้ทำกับคนอื่น ก็เลยเป็นมุขที่ดีมาก

นี่คือสูตร รวดเร็ว เป็นธรรม และปรีดา

ถาม : ประชาชนชื่นชอบ แล้วมองการเมืองเป็นเรื่องสนุกและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันด้วย

ตอบ : มันเข้าถึงคนค่ะ

ถาม : ทำให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลพูดภาษาเดียวกับชาวบ้าน

ตอบ : ถ้าเรามีความคิดดีๆ อย่างเช่น สวมหน้ากากอนามัยสีชมพูหรือใช้หม้อหุงข้าวแบบเก่าฆ่าเชื้อที่หน้ากากอนามัย ก็แค่โทร.มา 1922 แล้วความคิดของคุณก็จะกลายเป็นมีมในวันถัดมา

ถาม : ตรงนี้เลยเป็นแหล่งระดมความคิดที่เปิดกว้าง ทางเลือกที่เปิดกว้างสำหรับประชาชนทั่วไป เพราะฉะนั้นใครก็ตามก็มีส่วนร่วมได้ ตรงนี้คือสิ่งที่คุณบอกว่าเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนใช่ไหม

ตอบ : ใช่ มันเป็นสิ่งที่ฉันเรียกว่า “คลังความคิดร่วมกัน” ทุกคนช่วยเราคิดนวัตกรรมเพื่อสังคมใหม่ๆ ออกมา คือถ้าความคิดที่กลั่นออกมาแล้ว ถ้ามันได้เผยแพร่ออกไป มันก็จะช่วยให้สังคมดีขึ้น

(สัปดาห์หน้า : บทเรียนที่ไต้หวันได้ครั้งนี้คืออะไร)