การศึกษา / เปิดแผน ‘ทีแคส’ ปี 2564 ปรับปฏิทิน-รวมรอบหนีโควิด

การศึกษา

 

เปิดแผน ‘ทีแคส’ ปี 2564

ปรับปฏิทิน-รวมรอบหนีโควิด

 

ลุ้นกันมาพักใหญ่ใน ที่สุดก็ได้ข้อสรุปการปรับระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ปี 2564

หลังเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 กระทบทำให้โรงเรียนทั่วประเทศต้องเลื่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ออกไป จากเดิมจะเปิดเรียนกลางเดือนพฤษภาคม มาเป็นวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ตารางการสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยต้องขยับตามไปด้วย…

ทำเอา ทปอ.ถึงกับกุมขมับ เพราะต้องมาปรับปฏิทินการสอบต่างๆ ที่ต้องใช้คะแนนมาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก ทั้งการสอบวิชาสามัญ การสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT การสอบวิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT

หัวใจหลักของการขยับครั้งนี้ คือ ทำอย่างไรไม่ให้กระทบกับการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2564 ซึ่งขณะนี้บางมหาวิทยาลัยกลับมาเปิดเรียนช่วงเดือนมิถุนายน

ขณะที่อีกหลายแห่งเปิดเรียนในช่วงเดือนกันยายน-สิงหาคม ตามกลุ่มประเทศอาเซียน…

 

ล่าสุด นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบทีแคส ตั้งโต๊ะแจงแผนการปรับเปลี่ยนทีแคส ปี 2564

ขอความร่วมมือโรงเรียนจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 19 มีนาคม 2564

โดยการคัดเลือกยังคง 5 รูปแบบ แต่ลดเหลือ 4 รอบ คือ 1.รอบแฟ้มสะสมงาน หรือพอร์ตโฟลิโอ 2.รอบโควต้า 3.รอบรับตรงรวมกับรอบแอดมิสชั่นส์ ยื่นสมัครพร้อมกัน แต่เคลียริ่งเฮาส์ 2 รอบ และ 4.รอบรับตรงอิสระ

ทั้งนี้ จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เพื่อให้มหาวิทยาลัยเปิดภาคเรียนทันในเดือนมิถุนายน ภายใต้วัตถุประสงค์เดิม คือนักเรียนอยู่ในห้องเรียนจนจบการศึกษา 1 คน 1 สิทธิ…

 

โดยสรุป การเปลี่ยนแปลงทีแคส 2564 มี 4 ประเด็น คือ

  1. รวมทีแคสรอบ 3 รับตรงร่วมกัน และรอบ 4 แอดมิสชั่นส์ รับสมัครคัดเลือกพร้อมกัน เพื่อลดระยะเวลาการคัดเลือกให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน
  2. กำหนดเรื่องการสละสิทธิในระบบ 2 ช่วงเวลา จากเดิมมี 4 ช่วง คือ รอบแฟ้มสะสมงาน และรอบโควต้า ทำให้เด็กต้องตัดสินใจเลือกเรียนให้แน่นอน
  3. ให้อิสระมหาวิทยาลัยรับสมัครรอบพอร์ตโฟลิโอ และรอบโควต้าได้โดยไม่กำหนดช่วงเวลา แต่ต้องส่งรายชื่อสละสิทธิเข้ามาในระบบเคลียริ่งเฮาส์ เพื่อให้เด็กยืนยันสิทธิภายในเวลาที่กำหนด ช่องทางนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มหาวิทยาลัยเข้าร่วมระบบทีแคสมากขึ้น

และ 4. เปลี่ยนแปลงเนื้อหาการสอบวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรใหม่ของนักเรียนชั้นมัธยมปลายที่เปลี่ยนไป และนักเรียนชั้น ม.6 ปีนี้ จะเรียนไม่เหมือนปีที่ผ่านมา โดยให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเป็นผู้กำหนดโครงสร้างหลักสูตร เป็นผู้ออกข้อสอบ 8 รายวิชา คือ ความถนัดทางคณิตศาสตร์ หรือ PAT1 และวิชาความถนัดทางวิทยาศาสตร์ หรือ PAT2 รวมถึงวิชาสามัญในส่วนของวิชาคณิตศาสตร์ 1 คณิตศาสตร์ 2 (สายศิลป์) วิทยาศาสตร์ทั่วไป วิชาฟิสิกส์ วิชาเคมี วิชาชีววิทยา

ส่วนวิชาอื่นๆ ให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ออกข้อสอบตามเดิม นอกจากนี้ ยังลดการสอบวิชาสามัญ จากเดิม 9 วิชา เหลือ 7 วิชา คือ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ 1 ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ 2 (สายศิลป์) และวิทยาศาสตร์ทั่วไป ให้ใช้คะแนนสอบโอเน็ตแทนได้

หลักเกณฑ์ต่างๆ ในการคัดเลือกแต่ละรูปแบบ เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด ซึ่งนักเรียนต้องคอยติดตาม และปฏิบัติตามคำสั่งของมหาวิทยาลัย

 

จากข้อมูลการสละสิทธิของนักเรียน พบว่า ปีการศึกษา 2561-2562 เด็กสละสิทธิในแต่ละรอบจำนวนมาก ทำให้มหาวิทยาลัยมีที่นั่งว่าง ขณะเดียวกันก็กันที่นั่งคนอื่น โดยจำนวนผู้สละสิทธิรวมตั้งแต่รอบ 1-5 ปีการศึกษา 2562 มี 10,724 คน ปีการศึกษา 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 12,815 คน

เมื่อแยกตามรอบ จะเห็นว่าทีแคสรอบ 3 สละสิทธิ 4,727 คน และรอบ 4 สละสิทธิ 3,387 คน โดยผู้ที่สอบได้คณะที่เลือกเป็นอันดับที่ 1 สละสิทธิ 2,998 คน

ซึ่ง ทปอ.ได้รับเสียงสะท้อนจากนักเรียนและผู้ปกครองว่า เมื่อมหาวิทยาลัยมีที่นั่งเหลือ ทำไม ทปอ.จึงไม่เรียกคนเพิ่ม ซึ่งทำไม่ได้ เพราะได้ปิดระบบการประมวลผลไปแล้ว และเพื่อแก้ปัญหาที่นั่งว่างจากการสละสิทธิ

ดังนั้น ทีแคส ปีการศึกษา 2564 จะแก้ปัญหาที่นั่งว่างโดยประมวลผล 2 ครั้ง โดยให้โอกาสคนที่สอบได้อันดับที่ 2-10 และคนที่ยังสอบไม่ติด เข้ารับการประมวลผลครั้งที่ 2 หากมีผู้สละสิทธิ หรือเรียกว่าอันดับสำรองก็ได้

ผู้จัดการระบบทีแคส ยังฝากเตือนนักเรียนว่าอย่าปลอมแปลงเอกสารเด็ดขาด โดยเฉพาะผู้ที่จะสมัครในรอบพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งตอนนี้โซเชียลมีธุรกิจปลอมเอกสาร ฉบับละ 5-10 บาทออกมาแล้ว

หากพบว่าใครทำ อาจมีความผิดคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560

 

สําหรับปฏิทินการสอบ ดังนี้ สอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT และความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT วันที่ 20-23 มีนาคม ประกาศผลสอบวันที่ 23 เมษายน

สอบโอเน็ต วันที่ 27-28 มีนาคม ประกาศผลสอบวันที่ 27 เมษายน

สอบวิชาสามัญ วันที่ 3-4 เมษายน ประกาศผลสอบวันที่ 29 เมษายน

และสอบวิชาเฉพาะของแต่ละสถาบัน วันที่ 6-10 เมษายน ประกาศผลสอบตามที่สถาบันกำหนด

รับสมัครรอบที่ 1 พอร์ตโฟลิโอ รับสมัคร และคัดเลือกสถาบันกำหนด ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ยืนยันสิทธิในระบบ วันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ สละสิทธิในระบบ วันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ สถาบันประกาศชื่อผู้ยืนยันสิทธิ วันที่ 27 กุมภาพันธ์

รอบ 2 โควต้า วันรับสมัคร สถาบันกำหนด ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก วันที่ 10 พฤษภาคม ยืนยันสิทธิในระบบ วันที่ 10-11 พฤษภาคม สละสิทธิในระบบ วันที่ 12-13 พฤษภาคม ประกาศรายชื่อผู้ยืนยันสิทธิ วันที่ 15 พฤษภาคม

รอบ 3 รอบรับตรง และรอบแอดมิสชั่นส์ รับสมัครวันที่ 7-15 พฤษภาคม ประกาศรายชื่อผู้ยืนยันสิทธิ วันที่ 10 มิถุนายน

และรอบ 4 รับตรงอิสระ มหาวิทยาลัยกำหนดวันรับสมัคร และคัดเลือก ส่งรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกภายในวันที่ 15 มิถุนายน

แผนการรับสมัครทีแคส ที่ ทปอ.ออกมาชี้แจงครั้งนี้ ต้องภาวนาว่าเชื้อโควิด-19 จะไม่มีการระบาดรอบ 2!!

            ไม่เช่นนั้นอาจต้องมีการปรับแผนอีกรอบ…