กรองกระแส / ปะทะความคิด ระหว่าง โลกเก่า โลกใหม่ กับ ‘รัฐประหาร’

กรองกระแส

 

ปะทะความคิด

ระหว่าง โลกเก่า โลกใหม่

กับ ‘รัฐประหาร’

 

หากแหวกม่านควันแห่งคำสบประมาท หมิ่นหยามที่ว่าเป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง” เป็น “ม็อบฟันน้ำนม” หรือล่าสุดที่ว่าเป็น “ม็อบวูบวาบ” เข้าไป

แล้วศึกษาข้อเสนออันเป็นข้อเรียกร้อง 3 ประการเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม

เริ่มจาก 1 หยุดคุกคามประชาชน และตามมาด้วย 1 ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย และ 1 ยุบสภาเพื่อมอบโอนอำนาจในการตัดสินใจให้กับประชาชน

ก็จะสัมผัสได้ในความเป็นระบบและยึดโยงกันในทางเนื้อหา

ยิ่งเมื่อมีการประสาน “เยาวชนปลดแอก” เข้ากับ “คณะประชาชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม เข้าไปพร้อมกับการเสนออีก 2 ข้อสำคัญในทางการเมือง

1 คัดค้านและพร้อมต่อต้านรัฐประหาร 1 คัดค้านและพร้อมต่อต้านรัฐบาลแห่งชาติ

ก็จะเห็นได้ว่ารากฐานในทาง “ความคิด” และความเข้าใจต่อสภาพการณ์ทาง “การเมือง” ทั้งของ “เยาวชน” และ “ประชาชน” ปลดแอกดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างลึกซึ้ง

โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วย “รัฐประหาร”

 

แนวทางรัฐประหาร

ทางออกการเมือง

รัฐประหารนับจากเมื่อเดือนเมษายน 2476 ต่อเนื่องมายังเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ด้านหลักล้วนเป็นความพยายามในการจัดระเบียบและแก้ปัญหาทางการเมืองของชนชั้นปกครอง

หากไม่ 1 เพื่อกระชับอำนาจ ก็ 1 เพื่อโค่นล้มปรปักษ์ทางการเมือง

ภายในกระบวนการรัฐประหารจึงไม่มี “ประชาชน” เข้าไปแสดงบทบาท หากดำรงอยู่เสมอเป็นเพียงเบี้ยหมากเพื่อใช้ในการแอบอ้างหรือปูทางและสร้างเงื่อนไข

เป้าหมายแท้จริงคือ การชิงอำนาจจากชนชั้นปกครองด้วยกัน และการกระชับอำนาจ

บางครั้งชนชั้นปกครองยอมทำแม้กระทั่งรัฐประหารตนเองอย่างเมื่อปี 2494 อย่างเมื่อปี 2501 อย่างเมื่อปี 2514 ก็เพื่อเสริมเติมและสร้างอำนาจให้กระชับมั่นคง

เราจึงเห็นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โค่นจอมพล ป. พิบูลสงคราม

เราจึงเห็นจอมพลถนอม กิตติขจร ที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยึดอำนาจจากจอมพลถนอม กิตติขจร ที่เป็นนายกรัฐมนตรี

“รัฐประหาร” จึงเป็นทางออกหนึ่งของการกระชับและสืบทอดอำนาจ

 

ข่าวลือรัฐประหาร

“เยาวชนปลดแอก”

ข่าวลือรัฐประหารอันปล่อยมาในสถานการณ์นับแต่การปรากฏตัวของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม มีเป้าหมายหลายประการด้วยกัน

1 เป็นการปล่อยออกมาเพื่อข่มขู่

ไม่เพียงแต่ข่มขู่พวกตนเอง ไม่เพียงแต่ข่มขู่พรรคร่วมรัฐบาล ไม่เพียงแต่ข่มขู่พรรคฝ่ายค้าน หากแต่ยังเป็นการข่มขู่ต่อกระบวนการเคลื่อนไหวของเยาวชนปลดแอก

เห็นได้จากการปล่อยออกมาพร้อมกับ “รัฐบาลแห่งชาติ”

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งเป็นเป้าหมายอย่างแท้จริงก็คือ เวลา 1 ปีภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 สะท้อนให้เห็นถึงความหงุดหงิดต่อกระบวนการทางรัฐสภา

ยิ่งเมื่อประสบกับการลุกขึ้นมาชุมนุมและเรียกร้องของ “เยาวชนปลดแอก”

ยิ่งถวิลหาอำนาจอันเบ็ดเสร็จในยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 การนำเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” ก็เป็นเพียงเครื่องถนิมพิมพาภรณ์อย่างใหม่เท่านั้นเอง

ข่าวลือ “รัฐประหาร” จึงเท่ากับเป็นการโยนหินถามทาง

 

ข่าวลือรัฐประหาร

แนวโน้มใหม่ สังคม

การปรากฏขึ้นของ “เยาวชนปลดแอก” เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในทางความคิดและในทางการเมืองซึ่งแปลกแตกต่างไปจากอดีต

ไม่ว่าอดีตหลังรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2514

ไม่ว่าอดีตหลังรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ไม่ว่าอดีตหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าอดีตหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

เพราะคราวนี้แม้เป็น “เยาวชน” แต่มิได้จำกัดเฉพาะนิสิต นักศึกษา

ตรงกันข้าม โฉมแห่งการเคลื่อนไหวลงลึกและแพร่กระจายไปถึงระดับนักเรียน ไม่เพียงแต่เข้าร่วมอย่างธรรมดา ตรงกันข้าม กลับดำรงอยู่ในสถานะแกนนำ

ทั้งยังเป็นการเคลื่อนไหวในยุค “ดิจิตอล” อันต่างไปจากยุค “อะนาล็อก”

เป็นการย้ายพื้นที่แห่งการแสดงออกจากโลกแห่ง “ออนไลน์” มาอยู่ในลักษณะ “ออฟไลน์” และก่อให้เกิดสภาวะแปลกแยกอย่างน่าตื่นตะลึง

ปรากฏการณ์ใหม่นี้เองที่ทำให้เกิดความต้องการในการแก้ปัญหาโดยวิธี “รัฐประหาร” อีก

 

แนวโน้มรัฐประหาร

แนวโน้มการต่อต้าน

การต่อต้านรัฐประหารมีพัฒนาการของมันโดยเฉพาะในรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2514 เป็นครั้งแรกที่มีนักศึกษาไปวางหรีดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

และ ส.ส.นำโดยนายอุทัย พิมพ์ใจชน และเพื่อนไปฟ้องต่อศาล

แม้นายอุทัย พิมพ์ใจชน และเพื่อนจะถูกจับกุมคุมขัง เช่นเดียวกับนักศึกษาถูกเชิญตัวไปสถานีตำรวจแล้วปล่อยตัว

แต่ผลก็คือ สถานการณ์เดือนตุลาคม 2516

เช่นเดียวกับเมื่อเกิดรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ก็ตามมาด้วยสถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2535

แต่รัฐประหารก็ยังเกิดขึ้นอีกในเดือนกันยายน 2549 และเดือนพฤษภาคม 2557

สภาพการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันถือว่าเป็นความต่อเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

            แต่สถานการณ์จะจบลงอย่างไร อีกไม่นานน่าจะมีคำตอบ