หนุ่มเมืองจันท์ | โลกนี้คือ “ละคร”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

เพิ่งอ่านหนังสือ “คุณค่า ตัวตน คน ละคร” ของ “ครูแอ๋ว” อรชุมา ยุทธวงศ์ อีกครั้งเป็นครั้งที่สอง

เพราะมีประเด็นหนึ่งที่อยากจะไปเล่าในรายการ “เจาะใจ”

หนังสือเล่มนี้ ผมอ่านครั้งแรกแบบผ่านๆ มีเรื่องติดค้างให้จำไม่กี่เรื่อง

แต่พอมาอ่านซ้ำครั้งที่สอง

รู้สึกเลยว่าแตกต่างจากครั้งแรกมาก

หลังจากการอ่านอีกครั้ง หนังสือสวยๆ เล่มนี้จึงเต็มไปด้วย “รอยพับ” และมีรอยปากกาวงและขีดเส้นใต้เต็มไปหมด

ผมชอบเทคนิคการสอน “นักแสดง” ของ “ครูแอ๋ว”

อย่างเช่น การช่วยให้นักแสดงค้นหา “ตัวละคร” พบให้เร็วที่สุด

เธอให้นักแสดงใช้ความรู้สึกบอกว่าตัวละครนี้เป็นสีอะไร

เป็นเลขอะไร

คุณศัพท์ที่ขยายตัวละครตัวนี้ได้ดีที่สุดคืออะไร

ใกล้เคียงกับคน สัตว์ สิ่งของใดมากที่สุด

ครั้งหนึ่ง “ครูแอ๋ว” ติวการแสดงให้ “อั้ม” พัชราภา ไชยเชื้อ ซึ่งต้องแสดงเป็น 2 คนคือ นักสืบหญิงและนักร้องมีชื่อเสียงจากฮ่องกง

เธอให้ “อั้ม” ลองเปรียบเทียบว่า “นักสืบหญิง” เป็นอะไร

“สีน้ำเงินเข้ม แต่ไม่ดำ” ลึกลับแต่ไม่ใช่ผู้ร้าย

ตัวเลขน่าจะเป็น “เลข 0” เพราะซุ่มซ่อนตัว

ความไม่เด่นชัด คำขยายต้องเป็น “ลึกลับ”

สัตว์ที่เป็นตัวแทนน่าจะเป็น “งู” ที่ค่อยๆ เลื้อยไปมาอย่างเงียบเชียบ

พอมาเล่นเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่ง คือ นักร้องมีชื่อเสียงจากฮ่องกง

“ครูแอ๋ว” ก็ใช้วิธีเดิม

ตัวละครตัวนี้ น่าจะแทนด้วย “สีรุ้ง”

ตัวเลข คือ “เลข 1” เพราะโดดเด่นเห็นชัด

คำขยาย คือ คำว่า “เฉิดฉาย”

สิ่งที่เป็นตัวแทน คือ “เพชร” ที่ส่องประกายระยิบระยับ

ลองนึกว่าเราเป็น “อั้ม” สิครับ

วิธีการนี้ทำให้เรารู้สึกเป็นตัวละครแต่ละตัวได้ไม่ยาก

เล่นเป็นคนไหน ก็นึกถึงคำจำกัดความทั้งสี ตัวเลข คำขยาย ฯลฯ

ภาพจะชัดกว่าคำขยายกว้างๆ

แต่ที่สนุกก็คือ เมื่อตัวละครตัวหนึ่งปลอมตัวเป็นอีกตัวหนึ่ง

“นักสืบ” ปลอมตัวเป็น “นักร้อง”

การผสมผสาน 2 ตัวละครเข้าด้วยกัน

ปลอมเป็นคนหนึ่ง แต่ยังรักษาความเป็นตัวตนอีกคนหนึ่งไว้

ตอนเปิดพรมแดงต้อนรับนักร้องฮ่องกง

“ครูแอ๋ว” ให้ “อั้ม” มีภาพในใจเป็น “นกยูง” กำลังรำแพน

เยื้องย่างกรีดกราย

แต่ต้องแทรกความเป็น “นักสืบ”

ภาพในใจ “อั้ม” ต้องเป็น “ช่างภาพ” ที่หูตาไวเก็บภาพในช่วงสำคัญ

นักร้องหญิงคนนี้จึงมีสายตาที่คมกริบ เก็บรายละเอียดทุกเรื่อง

เทคนิคนี้ “ครูแอ๋ว” เรียกว่าเกม “ฉันคือใคร”

ทำให้นักแสดงรู้จักการเพิ่ม ลด ปรับเปลี่ยนตัวเองได้ง่ายขึ้น

นี่คือ ศิลปะของการทำ “เรื่องยาก” ให้เป็น “เรื่องง่าย”

ภาพชัด และจำง่าย

อีกเทคนิคหนึ่งที่ผมชอบ

“ครูแอ๋ว” บอกว่า ถ้านักแสดงเริ่มรู้สึกถึงแก่นแท้ของตัวละครตัวนี้

ให้ลองตั้งคำถามว่าในใจตัวละครมี “คำพูด” ใด และ “ประโยค” ใดที่อยู่ในตัวเขา

ยกตัวอย่าง “ณเดชน์” กับ “ญาญ่า” ในละครเรื่องเล่ห์ลับสลับร่าง

“ณเดชน์” เป็นตำรวจ กล้า บ้าบิ่น

“คำพูด” ในใจ คือ “มีอะไรมั้ย”

และ “ประโยค” ในใจ คือ “ลุย”

ผมนึกภาพออกเลย

ลองแทนตัวเป็น “ณเดชน์” ในเรื่องนี้

เวลาเจอใครกวนๆ

ท่าทีของตัวละครนี้จะชัดมาก

…มีอะไรมั้ย

…ลุย

ถ้าย้อนเวลากลับไปสัก 20 ปี

นักแสดงที่เล่นแทน “ณเดชน์” โดยไม่ต้อง “เล่น” เลยมีอยู่คนหนึ่ง

“เต๋า” สมชาย เข็มกลัด

…มีอะไรมั้ย

…ลุย

ส่วน “ญาญ่า” เล่นเป็นนางเอกยอดนิยม เอาแต่ใจตัวเอง

“คำ” ในใจ คือ “ต่ำ”

“ประโยค” ในใจ คือ “ไปไกลๆ เลย”

ตัวละครจะส่งคลื่นความรู้สึกนี้ออกมาในทุกสถานการณ์

เย่อหยิ่ง ถือตัวเป็นที่สุด

“หนึ่งประโยค-หนึ่งคำ” เป็นเทคนิคที่ “ครูแอ๋ว” สอนให้นักแสดงเอาไว้ใน “สารตั้งต้น” ในการเป็นตัวละครตัวนี้

เวลาแสดงจะได้ไม่หลุดจากนิสัยใจคอแท้จริงของตัวละคร

แต่พอเรื่องราวในเรื่องเดินไปเรื่อยๆ

ตัวละครก็ต้องเปลี่ยนไป

พลิ้วไหวไปกับเรื่องราว

2 เทคนิคนี้คือ ศิลปะการทำ “เรื่องยาก” ให้เป็น “เรื่องง่าย”

ด้วยการใช้ “คำสั้นๆ” หรือ “ภาพ” มาเปรียบเทียบ

ผมนึกถึงตอนที่เริ่มเขียนคอลัมน์นี้

“พี่เถียร” บอกลักษณะของ “คนอ่าน” ส่วนใหญ่ของ “มติชนสุดสัปดาห์”

แทนที่จะบอกว่า “ปัญญาชน” ในต่างจังหวัด

“พี่เถียร” สรุปสั้นๆ ให้เห็น

…ผู้อำนวยการโรงเรียนที่ยโสธร

เรื่อง “การเมือง” ใส่ได้เต็มที่ เพราะรู้เรื่องดี

แต่ถ้าเรื่อง “เศรษฐกิจ”

ต้อง “ย่อขา” ลงมาหน่อย

ชัดมากเลยครับ

บางทีเราอาจนำเทคนิคนี้มาใช้กับชีวิตจริงได้

เริ่มต้นด้วยการเล่นเกม “ฉันคือใคร”

ลองเปรียบเทียบตัวเรากับสี ตัวเลข คำขยาย

และสิ่งที่เป็นตัวแทนของเรา

ลองจินตนาการแบบไม่เข้าข้างตัวเองดูสิครับ

จากนั้นตั้งคำถามใหม่

“ฉันอยากเป็นใคร”

สีอะไร

ตัวเลขอะไร

คำขยายของเรา

และสิ่งที่เป็นตัวแทน

เราจะเห็นสิ่งที่เราเป็น และสิ่งที่เราอยากเป็นชัดเจน

ถ้าเชื่อว่าทุกคนสามารถปรับนิสัย และพฤติกรรมต่างๆ ให้ดีขึ้นเลย

ให้เราท่องสี-ตัวเลข-คำขยาย-สิ่งที่เป็นตัวแทน ที่เราอยากเป็นไว้ในใจ

นั่นคือ “เป้าหมาย”

และลองคิดดูว่า “หนึ่งประโยค-หนึ่งคำ” ของ “คนใหม่” ในตัวเราคืออะไร

แล้วพรุ่งนี้ลองเล่นละครในชีวิตจริงดู

เผลอเมื่อไรให้ดึงตัวเองกลับมา

บางทีผลตอบรับจากผู้คนรอบข้างคุณ

อาจเป็น “พลังบวก” ผลักดันให้ “ละคร” ที่คุณเล่น

กลายเป็น “ชีวิตจริง” ที่ดีขึ้น

…ตลอดกาล