เกษียร เตชะพีระ | 80 ปีนิธิ เอียวศรีวงศ์ : #Old Question แต่ไม่ Out of Date (1)

เกษียร เตชะพีระ

เมื่อวันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม ศกนี้ ผมมีโอกาสไปร่วมเสวนาหัวข้อ “#Oldแต่ไม่Out สังคมไทยไปต่ออย่างไรในความ(ไม่)ใหม่” กับเพื่อนอาจารย์และอดีต ส.ส. ณ มติชนอคาเดมี ในโอกาสอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนสาธารณะคนสำคัญของไทยและคอลัมนิสต์วินเทจของมติชนอายุครบ 80 ปี จึงอยากนำเนื้อหาเสวนา “#Old Question แต่ไม่ Out of Date” หรือ “คำถามเก่าแต่ไม่ล้าสมัย” ที่ผมเตรียมไปมาเรียบเรียงเล่าสู่ท่านผู้อ่านครับ

ในบทความหลายต่อหลายชิ้นของ อ.นิธิในคอลัมน์มติชนสุดสัปดาห์และที่อื่นๆ หลังรัฐประหาร คสช. ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา ท่านได้ชี้ให้เห็นถึงความเสื่อมถอยและสิ้นยุคสมัยของพลังปัญญาชนอนุรักษนิยมไทย ในสภาพที่ฝ่ายอนุรักษนิยมหันไปใช้อำนาจบังคับด้วยพละกำลังและกฎหมายเป็นหลักในการปกครองควบคุมสังคม แทนการนำเสนอการตีความของเก่าในแบบใหม่ที่ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปและสอดคล้องกับผลประโยชน์ส่วนรวม เพื่อสร้างอำนาจนำทางปัญญาและการเมืองวัฒนธรรมดังที่เคยทำสำเร็จมาแต่ก่อน อาทิ :

– “อนุรักษนิยมและอำนาจนำ”, ประชาไท, 8 พฤศจิกายน 2558

– “ประวัติศาสตร์อนุรักษนิยมไทย”, มติชนสุดสัปดาห์, 29 กรกฎาคม, 5 สิงหาคม 2559

– “แนวคิดประชาธิปไตยของอนุรักษนิยมไทย”, มติชน, 19, 26 มิถุนายน 2560

– “พลังทางปัญญาของอนุรักษนิยมไทย”, มติชนสุดสัปดาห์, 19 เมษายน 2562

– “อัสดงคตแห่งยุคสมัย”, มติชนสุดสัปดาห์, 10 มกราคม 2563

– “ปัญญาชนอนุรักษนิยม”, มติชนสุดสัปดาห์, 29 พฤษภาคม 2563 ฯลฯ

เป็นต้น

ประเด็นความเสื่อมถอยและสิ้นยุคสมัยของพลังปัญญาชนอนุรักษนิยมไทยมีนัยสำคัญกว้างไกลออกไปกว่าเรื่องของคนชั้นนำในหอคอยงาช้างกลุ่มหนึ่ง เพราะปัญญาชนอนุรักษนิยมไทยโดยรวมในอดีตนี่แหละที่สร้างพลังและเงื่อนไขทางปัญญาและการเมืองวัฒนธรรมให้แก่อำนาจนำของฝ่ายอนุรักษนิยมไทยในการแบกรับภาระทางประวัติศาสตร์ของการเผชิญหน้าและรับมือกระแสคลื่นความทันสมัยจากมหาอำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตก ด้วยการผสานและประคองสิ่งที่แตกต่างขัดแย้งกันจนไม่น่าเข้ากันได้ให้อยู่ด้วยกันได้ อันได้แก่ :

[ภาวะทันสมัยหรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองแบบตะวันตก/ไม่ไทย/อินดิวิด้วน] กับ [ระเบียบอำนาจ (ชุมชนชาติ) ไทยที่รวมศูนย์อำนาจจากบนลงล่างและเหลื่อมล้ำ]

สิ่งที่ผมเรียกข้างต้นว่า “ภาวะทันสมัยหรือการพัฒนาแบบตะวันตก/ไม่ไทย/อินดิวิด้วน” ที่สำคัญย่อมหมายถึงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การพัฒนาเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม และวัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยม (individualism) หรือที่ผมเรียกว่า “อินดิวิด้วน” (ในความหมายของบุคคลโดดๆ ที่ขาดด้วนจากชุมชนดั้งเดิมและโครงสร้างอำนาจที่เหลื่อมล้ำเป็นลำดับชั้นตามประเพณี)

ส่วน “ระเบียบอำนาจไทย” คือเบ้ารองรับและตัวตั้งให้ปรับแต่งภาวะทันสมัยหรือการพัฒนาแบบตะวันตกเข้ามาหา การที่ระเบียบอำนาจไทยมีลักษณะรวมศูนย์จากบนลงล่างและเหลื่อมล้ำ ก็เพราะวิธีคิดของไทยแต่เดิมมองว่าอำนาจเกิดจากบุญญาธิการซึ่งบุคคลสั่งสมมาแต่ปางบรรพ์ และผู้คนทั้งหลายย่อมมีบุญมากบ้างน้อยบ้างไม่เท่ากัน ผู้มีบุญญาธิการสูงย่อมได้ปกครองบ้านเมืองและแผ่บุญบารมี/อำนาจไปปกป้องคุ้มครองดูแลผู้มีบุญน้อยใต้อุปถัมภ์เป็นช่วงชั้นลดหลั่นกันไปให้ร่มเย็นเป็นสุข

หรือพูดอีกอย่างก็คือคำว่ารวมศูนย์จากบนลงล่างและเหลื่อมล้ำเป็นภาษาวิชาการสังคมศาสตร์-รัฐศาสตร์สมัยใหม่ที่ใช้บรรยายลักษณะระเบียบอำนาจไทยแต่เดิมที่ตั้งอยู่บนหลักบุญญาธิการและผู้ใหญ่อุปถัมภ์ผู้น้อยนั่นเอง

ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของปัญญาชนอนุรักษนิยมไทยในภารกิจทางประวัติศาสตร์แห่งการประสานภาวะทันสมัยของตะวันตกให้เข้ากับระเบียบอำนาจไทยแสดงออกผ่านสิ่งประดิษฐ์คิดสร้างทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมหลักๆ ดังต่อไปนี้คือ :

1) ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข : การผสานสถาบันกษัตริย์เข้ากับระบอบประชาธิปไตย

2) เศรษฐกิจพอเพียง : การผสานภาวะทันสมัยทางวัตถุ/การพัฒนาทางเศรษฐกิจทุนนิยมเข้ากับหลักพุทธธรรมทางจิตใจ

3) ความเป็นไทย : การผสานชุมชนอำนาจนิยมทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเข้ากับลัทธิปัจเจกนิยม/อินดิวิด้วน

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)