เมื่อนักศึกษาใต้ชุมนุมหน้ามัสยิดกรือเซะ แต่ส่วนกลางกล่าวหาแบ่งแยกดินแดน ?

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

กองหนุน “เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH” และเครือข่ายกำลังเพิ่มขึ้นทั่วประเทศทั้งส่วนกลาง เหนือจรดใต้

จากนักศึกษาสู่นักเรียนมัธยมปลาย

จากนักศึกษา กำลังสู่ประชาชนที่ประกาศออกมาแล้วว่าจะออกมาหนุนนักศึกษา

ที่ชายแดนภาคใต้จากในรั้วมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.ปัตตานี) สู่หน้ามัสยิดกรือเซะ

วันที่ 2 สิงหาคม 2563 ที่มัสยิดกรือเซะ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เยาวชนชายแดนภาคใต้ที่เรียกตัวเองว่า “เยาวชนปาตานี” ได้จัดกิจกรรมรวมตัวเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอก ในชื่อ “Ore Taning Tohleh ox” ซึ่งมีความหมายว่า “คนปาตานีไม่ทน”

โดยมีกิจกรรมในธีม “ใส่ชุดรายอไล่เผด็จการ” “คนนายูชอบกินตูปะ (ชื่อต้มมัดภาษามลายู) แต่ไม่เอาตู่ป่ะ (หมายถึงนายกฯ)

ความท้าทายกองหนุน “เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH” และเครือข่ายเหล่านี้ คือ ทั้งคนของรัฐและเครือข่ายที่พยายามป้ายสีเด็กเหล่านี้ว่าล้มสถาบัน หรือชายแดนภาคใต้เรื่องแบ่งแยกดินแดน

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจมีบางคนในจำนวนนักศึกษาชูป้ายที่อาจถูกตีความในข้อหาดังกล่าว

ดังนั้น พวกเขาจะฝ่าฟันได้หรือไม่ อยู่ที่พวกเขาด้วยเช่นกัน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า เมืองไทยมีสองกลุ่มจริงๆ ที่ยังไงๆ ก็เอาประยุทธ์กับไม่เอาประยุทธ์

ผู้มีอำนาจปัจจุบันและเครือข่าย รวมทั้งสื่อมักคิดว่านักศึกษาอ่อนหัดทางการเมือง

หากเราดูประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยในอดีตพบว่า ผู้มีอำนาจพยายามใช้คำว่า ล้มสถาบัน อ้างสถาบันเพื่อจัดการศัตรูและคงอำนาจทางการเมืองของกลุ่มตน

ในส่วนชายแดนภาคใต้คนเห็นต่างจากรัฐก็มักจะถูกกล่าวหาว่า “แบ่งแยกดินแดน” เพราะศัพท์คำว่า “แบ่งแยกดินแดน” เป็นความคิด อุดมการณ์ทางการเมืองที่อ่อนไหวมาก เป็นศัพท์เดียวที่พูดง่ายๆ ว่าฝ่ายความมั่นคง กองทัพ และหน่วยราชการที่ทำงานด้านความมั่นคงของรัฐ รู้หรือเข้าใจ หรือว่ามีบทเรียนกับการเคลื่อนไหวทำนองนี้มากที่สุด คิดว่าอาจจะรองจากลัทธิคอมมิวนิสต์ เพราะลัทธิคอมมิวนิสต์ สหรัฐอเมริกาก็ช่วยโฆษณา คนก็เชื่อทั้งโลก รองจากลัทธิคอมมิวนิสต์คือการแบ่งแยกดินแดน

บังเอิญว่าในประเทศไทยมีการต่อสู้ทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล และฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมักจะมาจากรอบนอก เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคใต้สุด และเมื่อมาถึงจุดหนึ่งการต่อสู้เข้มข้นและมีการใช้กำลังโค่นล้มกันไปโค่นล้มกันมา ยึดอำนาจกันไปมา ก็เลยโยงเข้ากับการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามว่าถ้าเขาจะล้มรัฐบาลให้ได้

มีทางหนึ่งที่จะใช้ได้คือข้อกล่าวหาว่า “การแบ่งแยกดินแดน”

จุดกำชัย จะอยู่ที่ใครสามารถยึดสื่อในยุคดิจิตอล มิได้อยู่ที่อำนาจ เงินและกระบอกปืนเท่านั้น การเปิดพื้นที่ทางการเมือง : คือทางออกทั้งชายแดนภาคใต้และการเมืองไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเห็นต่างระหว่างคนสองวัย คนวัยรุ่น วัยนักเรียน-นักศึกษาที่มีความคิดเห็นค่อนข้างเสรีนิยมกับคนสูงวัยที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม น่าจะมีช่องว่างมากขึ้นหากดูความขัดแย้ง และอีกฝ่ายพยายามลดทอนความน่าเชื่อถือตามที่กล่าวมาแล้วผ่านสื่อดังเช่นวัยรุ่นก็กร้าวใส่ผู้ใหญ่ว่า “ต้องจบในรุ่นพวกเรา”

การหนุนเสริมให้ทุกภาคส่วนมีพื้นที่ทางการเมือง (Political Space) ไม่ว่านักเรียน นักศึกษา ประชาชน ประชาสังคม คนเห็นต่างจากรัฐ พรรคการเมือง นักการเมืองรุ่นใหม่รุ่นเก่า นักวิชาการ นักการศาสนา สตรีและเยาวชน …การสร้างภาวะแวดล้อมในการให้พื้นที่ทางการเมือง (Political Space) ได้ขยับขยายนำเสนอ ถกแถลง หรือแข่งขันกันภายใต้นโยบายที่สร้างสรรค์ไม่เพียงนำพาสังคมไทยหลุดพ้นจากปากเหว ก้าวมาสู่เวทีประชาธิปไตยที่มั่นคงและสง่างามในเวทีนานาชาติเท่านั้น

แต่จะช่วยแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน มั่นคง และมั่งคั่ง

การเปิดพื้นที่ทางการเมืองอย่างอารยะสันติวิธีเชิงวิชาการของคนสองวัย สองอุดมการณ์ในประเด็นใต้พรม เสี่ยงต่อความมั่นคงเหล่านี้ น่าจะเป็นทางออกการเมืองไทย และชายแดนภาคใต้ในอนาคต

ซึ่งประวัติศาสตร์การเมืองโลกน่าจะเป็นสัจธรรม ซึ่งวัยรุ่นคนหนุ่ม-สาวเหล่านี้ต้องรับไม้ต่อ