ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 สิงหาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | เมนูข้อมูล |
ผู้เขียน | นายดาต้า |
เผยแพร่ |
พลังของการชุมนุม “โดยสงบ”
เมื่อวิกฤตสารพัดสารเพรุมเร้าความเป็นไปของชีวิตคนรุ่นใหม่ จนเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า “อนาคตมองไม่เห็นทางที่จะสดใส” มีแต่ปัจจัยที่จะนำสู่ความยากลำบาก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีต้นทุนในการแข่งขันน้อย
เมื่อเกิดปรากฏการณ์ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าการบริหารจัดการประเทศดูจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งที่มีความได้เปรียบอยู่แล้ว โดยอาศัยคนส่วนใหญ่เป็นเหยื่อ
ว่ากันให้ง่ายๆ คือ สร้างความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืนให้กับตัวเองโดยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เอาจากการลงแรงลงกำลังของคนส่วนใหญ่ในนามของเจ้าของเงินลงทุน และปัจจัยการผลิต
เยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จะต้องมีชีวิตในโลกอนาคต จึงเกิดอาการสิ้นความอดทนต่อความเป็นไปซึ่งเห็นอยู่ตำตานั้น
ความเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐที่ไปในทาง “ดับอนาคต” จึงเกิดขึ้น
คึกคักทีเดียวสำหรับการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่อาจดูเหมือนว่าไม่มีพลังที่จะกดดันผู้มีอำนาจให้ยอมทำตามข้อเรียกร้อง คงเพราะรูปแบบการชุมนุมที่ผิดไปจากเก่า
แต่เดิมนั้นเป็นที่รับรู้กันว่าการชุมนุมที่จะได้ผลต้องเป็นการรวมตัวของประชาชนจำนวนมากในที่ใดที่หนึ่ง เพื่อสร้างความยุ่งยากให้การบริหารจัดการประเทศ
แต่การชุมนุมครั้งนี้เป็นไปในแบบกระจายไปในที่ต่างๆ เหมือนเอาแค่สนุกเป็นครั้งเป็นคราวโดยไม่ทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการประเทศสักเท่าไร
หากมองพลังประชาชนในมุมเดิมๆ อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่หากถามว่าการชุมนุมครั้งนี้ส่งผลสะเทือนต่ออำนาจหรือไม่ คำตอบที่มาจากการมองอย่างละเอียดย่อมออกมาในทางที่เห็นว่า “กระทบแน่” และจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ เสียด้วยซ้ำ
จริงอยู่พลังนักเรียน-นักศึกษาไม่ได้ร้อนแรงเหมือนม็อบใหญ่ๆ ในอดีต แต่การกระจายการชุมนุมไปทั่วประเทศ โดยจัดต่อเนื่องเวียนไปในที่ต่างๆ นับวันจะสร้างแนวร่วมได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“นิด้าโพล” ล่าสุด เมื่อถามว่า “เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกหรือไม่” ร้อยละ 34.72 ตอบว่าเห็นด้วยมาก ร้อยละ 19.28 ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 18.08 ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 23.76 ไม่เห็นด้วย
แปลว่าแนวร่วมกับผู้ชุมนุมมีมากกว่า
และเมื่อถามว่า “นายกรัฐมนตรีควรจะดำเนินการอย่างไรกับการชุมนุม” ยิ่งชัด เพราะร้อยละ 42.72 ตอบว่าควรรับฟังปัญหาของกลุ่มนักศึกษาด้วยตัวเอง ร้อยละ 20.40 ให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 13.68 ให้รีบแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ มีแค่ร้อยละ 6.56 ที่บอกว่าควรอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ร้อยละ 5.36 บอกควรใช้กลไกรัฐสภารับฟังปัญหาของกลุ่มนักศึกษา ร้อยละ 5.36 ให้ใช้กลไกราชการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ร้อยละ 2.88 ให้ใช้กฎหมายดำเนินการกับผู้กระทำความผิด
คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอของลูกหลาน
การชุมนุมที่กระจัดกระจายไปทั่วประเทศ คล้ายกับว่าไม่มีผลอะไร
แต่กลับกลายเป็นการชุมนุมอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง โดยรัฐไม่สามารถที่จะหาเหตุผลมาห้ามไม่ให้จัดได้
ขณะเดียวกัน ยิ่งนานวัน ท่ามกลางความล้มเหลวในการบริหารจัดการประเทศ และประชาชนเดือดร้อนขึ้นเรื่อยๆ กระแสเห็นดีเห็นงามกับข้อเสนอของผู้ต่อต้านอำนาจรัฐจะมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อถึงที่สุดแล้ว วันหนึ่งต้องเลือกตั้งกันใหม่อยู่ดี
สถานการณ์ที่บ่มเพาะขึ้นจากการชุมนุมในวันนี้ เป็นไปได้ที่จะส่งให้ผลการเลือกตั้งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรุนแรง
การชุมนุมที่เลี้ยงกระแสรอการเลือกตั้ง โดยไม่สร้างให้การยึดอำนาจเป็นความชอบธรรม ขณะเดียวกันแนวร่วมต่อต้านการยึดอำนาจที่จะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ จากความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่
วันหนึ่งอาจจะพิสูจน์ให้เห็นว่าการชุมนุมในรูปแบบที่เหมือนไม่มีพลังอะไรนี้ กลับจะก่อความเปลี่ยนแปลงอย่างถล่มทลายให้เกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการเสียเลือดเสียเนื้อ