สมชัย ศรีสุทธิยากร | วุฒิสภา ประติมากรรมไร้ค่าของสังคมไทย?

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ประติมากรรมที่รังสรรค์ด้วยใจของศิลปินผู้ชำนาญในงานศิลปะย่อมเป็นผลงานที่คนให้คุณค่า

แต่ประติมากรรมใดที่ศิลปินถูกบังคับให้ทำตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง ปั้นแต่งเบือนบิดตามใจผู้จ้างเพียงแค่ตอบสนองประโยชน์ที่ได้รับ ประติมากรรมดังกล่าวแม้จะปั้นจากมือของศิลปินผู้ชาญเชี่ยว แต่คุณค่าของมันอาจอยู่ได้ไม่นาน

การออกแบบกลไกวุฒิสภาในบทเฉพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีคำตอบที่เป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจ ทั้งในด้านที่มาและบทบาทหน้าที่ โดยให้เกือบทั้งหมดคือ 244 คนจาก 250 คน มีที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. และอีก 6 คนเป็นไปโดยการดำรงตำแหน่งที่ควบคุมกำลังทหาร ตำรวจ

และให้มีบทบาทหน้าที่ทั้งเฉพาะหน้าในเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีและบทบาทในการกำกับการทำงานของรัฐบาลให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์และแผนการปฏิรูปประเทศ

โดยผู้ว่าจ้างนั้นอาจหลงประเมินว่า ประติมากรรมดังกล่าวจะสร้างคุณค่านานัปการต่อสังคมและประชาชนไทย

ถึงวันนี้ จึงเป็นวันที่ประชาชนต้องร่วมประเมินคุณค่าของสิ่งดังกล่าวว่า ยังเป็นสิ่งดีงามที่สมควรรักษาหรือเป็นสิ่งไร้ค่าที่สามารถทุบทิ้งได้โดยไม่เสียดาย

หน้าที่ของวุฒิสภา

เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติต่างๆ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้เราเห็นถึงบทบาทหน้าที่ที่ทำได้และทำไม่ได้ของวุฒิสภาในหลายกรณี

ประการแรก วุฒิสภาไม่สามารถเสนอกฎหมายแต่ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้กลั่นกรองกฎหมาย ทั้งนี้ เพราะมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติได้มีแค่ 3 กลุ่ม คือ คณะรัฐมนตรี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 20 คน และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 ชื่อเท่านั้น หลังจาก พ.ร.บ.ผ่านสภาผู้แทนราษฎร จึงค่อยส่งให้วุฒิสภา (มาตรา 136) โดยวุฒิสภาต้องพิจารณาให้เสร็จใน 60 วันสำหรับ พ.ร.บ.ทั่วไป และภายใน 30 วันหากเป็น พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน

หากทำไม่ทันในกำหนดก็ถือว่าเห็นชอบ

แต่ถ้าไม่เห็นชอบถือว่ายับยั้ง ก็ส่งคืนกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎร หากพักไว้เกิน 180 วันสภาผู้แทนฯ หยิบขึ้นมาพิจารณาใหม่และยืนยันด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ก็ถือว่า กม.ดังกล่าวประกาศใช้ได้

แต่ถ้าเห็นว่าต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้มีการตั้งกรรมาธิการร่วมมาพิจารณาร่วมกันเพื่อหาทางออกต่อไป

บทบาทนี้เป็นบทบาทที่มีอยู่และคล้ายคลึงกับการออกกฎหมายในอดีตโดยมีฐานคติว่า วุฒิสภาคือสภาผู้ใหญ่ผู้มีคุณวุฒิอาจมีประสบการณ์อะไรดีๆ มากกว่า จึงต้องมากลั่นกรองในขั้นท้ายและหากให้ความเห็นแล้วสภาผู้แทนเขายังยืนยัน ก็ให้เป็นไปตามความต้องการของสภา

เข้าทำนองผู้ใหญ่เตือนแล้วนะ แต่อยากทำก็ต้องรับผิดชอบ

แต่หากต่างฝ่ายต่างยึดมั่นดึงกันไปดึงกันมา กฎหมายแทนที่จะออกได้เร็วก็อาจล่าช้าไปโดยใช่เหตุ

ประการที่สอง วุฒิสภามีบทบาทในการให้ความเห็นชอบการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เช่น กกต. ป.ป.ช. คตง. กสม. และองค์กรอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายของหน่วยงานต่างๆ เช่น การสรรหา กสทช. เป็นต้น

ฐานคติที่มอบอำนาจการลงมติเลือกบุคคลเหล่านี้ให้เข้ามาทำหน้าที่สำคัญในกลไกการเมืองคือ บุคลากรขององค์กรเหล่านี้ควรเป็นอิสระจากการเมือง เพราะต้องไปทำหน้าที่ที่มีผลโดยตรงกับฝ่ายการเมืองต่างๆ

ดังนั้น หากใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎรอาจจะไม่เหมาะสม จึงมอบบทบาทหน้าที่ดังกล่าวให้กับวุฒิสภาเป็นผู้ทำหน้าที่ลงมติคัดเลือกหลังจากที่บุคคลดังกล่าวผ่านกระบวนการสรรหาต่างๆ มาแล้วจึงมาจบที่วุฒิสภาเป็นขั้นตอนสุดท้าย

จะอ่อนหรือจะเข้มของกระบวนการตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติ จะได้คนที่เหมาะสมหรือไม่ก็อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละผู้สมัครและวุฒิสภาแต่ละชุด

ประการที่สาม บทบาทเฉพาะกิจใน 5 ปีแรกของการมีรัฐสภาตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้วุฒิสภามีหน้าที่ร่วมให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยผู้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้รับเสียงข้างมากที่รวมกันของสองสภา คือ 375 เสียงขึ้นไปจาก 750 เสียง

ผลงานแรกของวุฒิสภาชุดปัจจุบัน จึงประเดิมด้วยการพร้อมใจกันเทเสียง 249 เสียง (งดออกเสียง 1 เสียงเนื่องจากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา) ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช.ที่มีส่วนแต่งตั้งพวกเขามากับมือให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2562 ด้วยคะแนนเสียงจาก ส.ส. 19 พรรค 251 เสียงรวมกับ ส.ว. 249 เสียง เอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้ด้วยคะแนน 500 : 244 เสียง

ซึ่งหากไม่ออกแบบรัฐธรรมนูญเป็นบัตรใบเดียวทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่มีระบบการคำนวณปัดเศษที่ให้พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์เฉลี่ยได้ ส.ส. 1 เสียงถึง 11 พรรค คะแนนการรวมฝ่าย ส.ส.ให้ได้เกิน 250 เสียงหรือครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรคงไม่ง่ายนัก

ประการที่สี่ ตามมาตรา 270 ยังกำหนดให้วุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจเพิ่มเติมในการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศที่ระบุไว้ในหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ และรวมถึงเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ โดยคณะรัฐมนตรีต้องแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศแก่รัฐสภาทุกสามเดือน

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ นับแต่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเริ่มปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2562 จำนวนรายงานการปฏิรูปประเทศควรมีอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 4 ฉบับ คือ

ฉบับแรก กรกฎาคม ถึงกันยายน 2562

ฉบับที่สอง ตุลาคม ถึงธันวาคม 2562

ฉบับที่ 3 มกราคม ถึงมีนาคม 2563

ฉบับที่ 4 เมษายน ถึงมิถุนายน 2563

แต่กลับปรากฏว่า รายงานฉบับที่สอง (เดือนตุลาคม ถึงธันวาคม 2562) เพิ่งส่งมาถึงวุฒิสภาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563

และกว่าที่คณะกรรมาธิการติดตามเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการจัดทำและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติของวุฒิสภาจะสามารถวิเคราะห์เพื่อรายงานต่อวุฒิสภาก็ล่วงไปถึงปลายเดือนมิถุนายน 2563

ปรากฏการณ์ข้างต้น จึงสะท้อนให้เห็นทั้งศักยภาพของรัฐบาลที่ไม่สามารถรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศทุกสามเดือนได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดและสะท้อนถึงศักยภาพของวุฒิสภาชุดปัจจุบันที่ไม่สามารถติดตามเร่งรัดให้รัฐบาลดำเนินการดังกล่าวได้

เพียงแค่กำหนดการยังไม่สามารถทำได้ ยังไม่ได้วิเคราะห์ถึงไส้ในเนื้อหาว่าจะสามารถให้ข้อเสนอแนะใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปเป็นเรื่องเป็นราวบ้าง

ไม่ต้องถามถึงความสามารถในการเข้าระบบคอมพิวเตอร์ eMENSCR (Electronic Monitoring and Evaluation System of National Strategy and Country Reform) หรือระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับติดตามการดำเนินการตามแผนปฏิรูปของหน่วยงานราชการต่างๆ ว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาสักกี่คนที่เปิดใช้ข้อมูลจากระบบดังกล่าวเป็น

ประการที่ห้า บทบาทในการขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา ตามมาตรา 153 เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ซึ่งกระทำได้โดยการเข้าชื่อของ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คน และกำหนดให้กระทำได้ปีละ 1 ครั้ง

แต่นับแต่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ยังไม่มีวี่แววใดๆ ที่วุฒิสภาจะใช้สิทธิในการอภิปรายทั่วไปแต่อย่างใด ทั้งที่บ้านเมืองในปีที่ผ่านมามีวิกฤตมากมาย

จะเห็นได้ว่า บทบาทหลัก 5 ประการของวุฒิสภา 3 ข้อหลังนั้นสอบตกด้วยผลงาน ส่วนบทบาทในประการที่หนึ่งนั้นแม้ยังไม่มีผลงานปรากฏ แต่ก็เป็นคำถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีสภาที่สองมากลั่นกรองกฎหมายเพราะสภาผู้แทนก็ประกอบด้วยผู้มีความรู้ความสามารถในส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ใช่น้อย ก็น่าจะทำหน้าที่ได้ไม่ขาดตกบกพร่อง คงเหลือแต่บทบาทประการที่สองในการลงมติเลือกบรรดาองค์กรอิสระ

แล้วผลงานขององค์กรอิสระที่คัดกันมาจากสภานิติบัญญัติชุดที่ผ่านมาก่อนที่ร่วมพาเหรดมาเป็นวุฒิสภาชุดปัจจุบันกว่าร้อยนายนั้นน่าประทับใจหรือ

กล่าวมาทั้งหมดนี้ คงพอได้คำตอบแล้วว่า ประติมากรรมนี้ควรเก็บรักษาหรือทุบทิ้ง