ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต/’ซูซูกิ XL7′ พลังแรงเกินตัว ‘ครอสโอเวอร์’ คุ้มเกินราคา

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

‘ซูซูกิ XL7’ พลังแรงเกินตัว

‘ครอสโอเวอร์’ คุ้มเกินราคา

 

ถือว่าประสบความสำเร็จอีกรุ่นของค่าย ‘ซูซูกิ’ เพราะหลังเปิดตัว ‘XL7’ รถครอสโอเวอร์ 7 ที่นั่งได้เพียงเดือนเดียว กวาดยอดกว่า 1,300 คัน จากเป้าหมายเดือนละ 300 คัน เรียกว่าทะลุกราฟไปหลายเท่าตัว

ด้วยความร้อนแรงนี่เองทำให้ผมอดใจไม่ไหว หยิบยืมมาทดสอบแบบส่วนตัว

รูปร่างหน้าตาภายนอกสำหรับผมแล้วถือว่าออกแบบได้ดูดีพอสมควร กระจังหน้าดีไซน์ใหม่สีดำผสมโครเมียม มีเส้นโครเมียมพาดผ่านต่อเนื่องถึงไฟขับขี่เวลากลางวัน ไฟหน้า LED ปรับองศาสูง-ต่ำได้

มีไฟ Daytime Running Light พร้อมไฟตัดหมอกหน้า

ไฟท้าย LED พร้อมกับไฟเบรกแนวตั้ง (Light guides) ไม่ต่างจากรุ่น ‘เออร์ติก้า’ รถครอบครัวแบบเอ็มพีวี เพราะใช้พื้นฐานเดียวกัน มีเส้นโครเมียมคาดตรงกลางประตูบานที่ 5 เชื่อมไฟ 2 ส่วนเข้าด้วยกัน

ตกแต่งใต้กันชนด้วยวัสดุสีเงินรอบคันเสริมด้วยกันรอย

ซุ้มล้อสีดำขนาดใหญ่ดูเด่น ซึ่งกลายเป็นเทรนด์ของรถเซ็กเมนต์นี้ของแทบทุกค่ายในยามนี้ ที่ออกแบบมาคล้ายๆ กัน

ล้ออะลูมิเนียมอัลลอยแบบทูโทนขนาด 16 นิ้ว

ราวหลังคาการบรรทุกสัมภาระมาให้ด้วย

 

เครื่องยนต์เบนซิน K15B 4 สูบ 16 วาล์ว 1,462 ซีซี บล็อกเดียวกับเออร์ติก้า ให้กำลังสูงสุดถึง 105 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 138 นิวตัน-เมตร ที่ 4,400 รอบต่อนาที

เกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด โดยมีเกียร์ ‘2’ และเกียร์ ‘L’ ช่วยเพิ่มกำลัง

แม้จะเป็นเครื่องบล็อกเดียวกัน แต่ ‘XL7’ จูนกล่องควบคุมเพิ่มความกระชับของเครื่องยนต์ ปรับตั้งประสิทธิภาพเครื่องยนต์และอัตราทดเกียร์ให้เหมาะกับการขับขี่อย่างลงตัว

ช่วงล่างหน้าแม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมคอยล์สปริง ด้านหลังทอร์ชั่นบีม พร้อมคอยล์สปริง

เหล็กกันโคลงด้านหน้า (Front Stabilizer) ขนาดใหญ่พิเศษ ลดอาการโคลงของตัวรถ เพิ่มการยึดเกาะถนน

ความปลอดภัยหากเทียบกับราคาถือว่าให้มาเยอะอยู่ ทั้งถุงลมนิรภัย SRS คู่หน้า ระบบเบรก ABS ระบบ EBD ช่วยกระจายแรงเบรก

ระบบควบคุมเสถียรภาพในการทรงตัว ESP ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (Hill Hold Control) กล้องมองภาพพร้อมเซ็นเซอร์

ระบบป้องกันการโจรกรรมด้วยระบบกุญแจนิรภัย Immobilizer

กุญแจรีโมตที่ให้มาค่อนข้างเล็ก แต่ผมกลับชอบเพราะเวลาเก็บใส่กระเป๋ากางเกงไม่อึดอัดเวลานั่ง

เนื่องจากรถรุ่นนี้ไม่จำเป็นต้องใช้รีโมตเปิด-ล็อกประตู เนื่องจากมีปุ่มรับสัญญาณที่มือจับด้านนอก และในรถมีปุ่มสตาร์ต-สต๊อปมาให้ด้วย

 

หลังเข้ามานั่งภายในดูไม่อึดอัด เพราะใช้สีดำตัดกับสีเบจในส่วนหลังคา ตกแต่งด้วยสีโครเมียมบริเวณคอนโซลหน้าและลาย Carbon Fiber

พวงมาลัย 3 ก้านท้ายตัด (D-Shape) ขนาดกำลังเหมาะเพิ่มพื้นที่ระหว่างพวงมาลัยกับหน้าขา และสะดวกเวลาเข้า-ออก พร้อมระบบมัลติฟังก์ชั่นควบคุมเครื่องเสียง

มาตรวัด 2 วงกลมซ้าย-ขวา พร้อมจอ LCD จอแสดงผลข้อมูลสำคัญของตัวรถ Driving G-Force แสดงผลแจ้งสถานะข้อมูลสำคัญของตัวรถ เช่น อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง แจ้งการเปิดประตูรถ แบบบานไหนบานนั้น ซึ่งสะดวกขึ้นมาอีกนิด เพราะรถบางรุ่นจะมีสัญญาณไฟประตูเปิดอยู่ให้รู้เท่านั้น ต้องลองเช็กดูว่าบานไหนที่ปิดไม่สนิท

เบาะนั่งเป็นหนังผสมผ้ากันลื่น

มองมาตรงกลางเป็นจอสัมผัสขนาดใหญ่ 10 นิ้ว พร้อมระบบปรับแต่งเสียงและประมวลผลในแบบดิจิตอล (Digital Sound Processor) เชื่อมต่อ Bluetooth เชื่อมต่อสมาร์ตโฟน Apple CarPlay, Android Auto

มีช่องเชื่อมต่อ USB และ HDMI ส่งเสียงผ่านลำโพง 6 ตัวเสียงเซอร์ราวด์

ช่องจ่ายไฟสำรอง 12V จำนวน 3 ตำแหน่ง บริเวณคอนโซลหน้า คอนโซลกลาง และที่นั่งแถวหลัง แบ่งกันใช้ได้ครบทุกที่นั่ง

ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ พร้อมระบบปรับอากาศบนเพดานสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง โดยตอนหลังสามารถปรับแรงลมได้แต่ปรับอุณหภูมิไม่ได้ หากต้องการฉ่ำมากขึ้นต้องบอกคนด้านหน้าช่วยจัดการ

 

ก่อนการทดสอบได้ยินเสียงเล่าลือมาพอสมควรว่าถึงเครื่องจะแค่ 1.5 ลิตร แต่เอาเรื่องไม่น้อย

จัดเลยกดคันเร่งเต็มเท้าในจังหวะถนนโล่ง แอบหลังติดเบาะนิดๆ เข็มไมล์วาดขึ้นอย่างรวดเร็วไหลไประดับ 130-140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในเวลาไม่นาน จากนั้นต้องเริ่มรอนิดๆ ก่อนที่จะไต่ไปถึง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง

สำหรับผมแล้ว อัตราเร่งขนาดนี้ กับรถครอสโอเวอร์สไตล์ครอบครัวแบบนี้ เกินพอแล้วครับ

อาจจะติดอยู่นิดตรงที่เสียงเครื่องยนต์เข้ามาในห้องโดยสารพอประมาณ หากกดแบบเหยียบมิด

แต่หากค่อยๆ เร่งความเร็วขึ้นเหมือนคนขับปกติทั่วไป เสียงเครื่องยนต์ไม่ได้เครียดมากนัก

เข้าใจว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะระบบเกียร์แค่ ‘4 สปีด’

ลองขับกระชากเปลี่ยนเลนแรงๆ รถไม่ได้เหวี่ยงจนหน้าเหวอ

เช่นเดียวกับการเข้าโค้งหนักๆ โดยไม่แตะเบรก มีเสียงล้อบดถนนอยู่บ้างแต่ไว้ใจได้ เข้าได้แม่น ออกจากโค้งส่งได้แรง

น้ำหนักพวงมาลัยถือว่าดีทีเดียว

ช่วงล่างถือว่าหนึบพอตัวแต่ยังมีความนุ่มนวลเช่นกัน ทั้งๆ ที่ทริปนี้ผมขับเพียงลำพัง คิดว่าหากมีผู้โดยสารเพียงสัก 2-3 คนติดรถไปด้วยน่าจะหนึบแน่นกว่านี้

ทราบว่าวิศวกรปรับแต่งชิ้นส่วนช่วงล่างต่างๆ ให้ดีกว่าเออร์ติก้าถึงกว่า 50 รายการ

 

ผมจอดรถลองสลับไปนั่งเบาะแถว 2 ที่สามารถเลื่อนเดินหน้า-ถอยหลัง และปรับเบาะเอนได้นิดหน่อย ทำให้นั่งสบายขึ้น ส่วนเบาะนั่งแถวที่ 3 หากเป็นคนตัวใหญ่สักหน่อยอาจลำบากไปนิด

พื้นที่วางขามีให้เหลือเฟือ ถึงแม้จะลองดันเบาะขึ้นหน้าสุดเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้ผู้โดยสารแถวสุดท้าย ยังวางขาได้ไม่อึดอัด แม้เบาะจะสั้นไปนิด แต่ด้วยที่พนักสามารถปรับเอนได้จึงพอจัดท่าทางได้สบายอยู่ และสามารถพับราบเพิ่มพื้นที่บรรทุก

แอร์เพดานสาดแรงลมได้ทั่วถึง สบายใจได้ว่าถึงไปกันเต็มความจุน่าจะเย็นฉ่ำ

ดูภาพรวมการประกอบ ชิ้นส่วนต่างๆ ผมว่าเนี้ยบใช้ได้ทีเดียว แม้จะเป็นรถที่ผลิตจากโรงงานอินโดนีเซีย ถือว่าพัฒนาฝีมือได้ดีหากเทียบกับสัก 10-15 ปีที่แล้ว ซึ่งหากเป็นรถนำเข้าทั้งคันแบบนี้ คนไทยถึงกับเบ้หน้าทีเดียว

เนื่องจากฝีมือโรงงานประกอบในไทยเรา ถือว่าอยู่ชั้นแนวหน้าระดับโลกไปแล้วนั่นเอง

จากที่ได้ทดสอบ บอกเลยว่า ‘ซูซูกิ XL7’ จะขับคนเดียวก็สบายเพราะตัวรถไม่ได้ใหญ่โตเทอะทะ หรือจะขนไปทั้งครอบครัวก็ได้อยู่

แม้เครื่องยนต์จะแค่ 1.5 ลิตร แต่แรงเกินตัว ยิ่งเครื่องสมัยนี้ไม่ต้องกังวลเรื่องขึ้นเขา-ลงห้วย สบายมาก

ที่สำคัญ ราคาตั้งมาได้จูงใจมากอยู่ที่ 779,000 บาท

ไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดลูกค้าคนไทยจึงตอบรับอย่างถล่มทลาย หลังเปิดตัวมาได้ไม่นาน