ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 14-20 สิงหาคม 2563

ขอแสดงความนับถือ

 

“การเที่ยวประณามคนอื่นว่า ‘ชังชาติ’ นั้น เกิดขึ้นเพราะผู้ประณามไม่รู้ว่า ‘ชาติ’ คืออะไร นักการเมืองที่แพ้เลือกตั้ง จนถึง ผบ.ทบ. ต่างคาดหวังว่าคำประณามของตนจะปลุกเร้าให้ประชาชนส่วนใหญ่ลุกขึ้นมาต่อต้านคนที่ถูกประณาม อย่างที่ชนชั้นปกครองไทยเคยทำสำเร็จเมื่อ 50 ปีก่อน แต่กลับปรากฏว่าคำประณาม ‘ชังชาติ’ กลายเป็นเรื่องตลกที่ผู้คนเอามาพูดเล่นเป็นเรื่องสนุก

ในบทความสั้นๆ นี้ ผมหวังว่าจะสามารถทำความเข้าใจสามประเด็นหลักคือ หนึ่ง ชาติคืออะไร สอง สำนึกความเป็นชาติของไทยถูกชนชั้นปกครองครอบงำมาแต่ต้น และพยายามสืบทอดความรู้ผิดๆ นั้นสืบมาอย่างไร และสาม ความเสื่อมสลายของการครอบงำ นำมาสู่ยุคสมัยที่คนเล็กๆ จำนวนมากกำลังเข้ามาสร้างสำนึกใหม่ของความเป็นชาติ…”

 

เพียง 2 ย่อหน้าแรกที่ยกมาให้อ่านนี้

เชื่อว่า แฟนๆ มติชนสุดสัปดาห์คงไม่สามารถข้ามผ่านการอ่านบทความของ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” เรื่อง “รักชาติ” ในเล่มนี้ไปได้

แน่นอน ย่อมหมายรวมถึง ผู้ที่ออกมาจุดประเด็น “ชังชาติ”, ฝ่ายเสนาธิการ, รวมถึงฝ่ายกองเชียร์ “ชังชาติ” ด้วย

เพราะการติดอยู่ใน “กรอบ” อันคับแคบ และบิดเบี้ยว

อาจนำไปสู่การตัดสินใจแก้ปัญหาผิด-ผิด จนก่อความสูญเสียหายอย่างไม่คาดคิดได้

การเปิดกว้าง รับฟังเสียงต่าง

ย่อมจะนำไปสู่การตัดสินใจที่รอบคอบกว่า

 

ขณะที่เมืองไทยกำลังระทึกกับการตัดสินใจของชนชั้นนำ ว่าจะหาทางออกร่วมหรือแตกหักกับคนยุคใหม่อย่างไร

อภิญญา ตะวันออก แห่งคอลัมน์ อัญเจียแขฺมร์

เขียนบทความคู่ขนานกรณีไทย อย่างน่าสนใจ

“เมื่อสมเด็จยกระดับ-ประวัติศาสตร์เขมรใหม่”

สมเด็จนั้น ไม่ใช่ใครที่ไหน คือสมเด็จฮุน เซน ผู้นำที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดคนหนึ่งของโลกนั่นเอง

ซึ่งแม้วันนี้จะยังมั่นคงในอำนาจ

แต่สมเด็จฮุน เซน ก็ไม่อาจหยุดเสริมความ “มั่นคง” ให้ตนเองและทายาทต่อไป

 

ตอนนี้สมเด็จฮุน เซน ตั้งนักวิชาการ 25 คนของสำนักราชบัณฑิตเขมรเพื่อการชำระประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่

หลังจากที่นักการเมืองเขี้ยวโง้งอย่างเขารับ “สัญญาณ” เตือนภัยอะไรบางอย่าง

จึงตื่นตัว “รับ”

สัญญาณดังกล่าวส่งออกมาจากสื่อโซเชียลมีเดีย ผ่านโครงการ “แลไปข้างหน้ากัมพูชา 2040” (Envision Cambodia)

ที่จัดทำโดย “เวติกาอนาคต” (Future Forum) องค์กรเอกชนที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมในกรุงพนมเปญ

มีคนรุ่นใหม่อย่างนายอู วิระ เป็นผู้นำ

และกำลังสร้างแคมเปญทางความคิดในรูปหนังสือดิจิตอลและพ็อดคาสต์ ที่เข้าถึงง่ายในคนรุ่นใหม่

พร้อมระดมนักเขียน 16 คน

เพื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจ ศิลปะ วัฒนธรรมและสังคมของกัมพูชาในอีก 2 ทศวรรษหน้า

อย่างมีนัยยะสำคัญต่อคนรุ่นใหม่

ถือเป็นการเปิดแนวรุกของโซเชียลมีเดีย

ที่สมเด็จฮุน เซน ย่อมรู้สึกได้ถึงสัญญาณอันตรายต่อระบอบฮุน เซน

ด้วยมันคือยุทธวิธีของการสร้างฐานมวลชนคนหนุ่มสาว ผ่านประวัติศาสตร์กัมพูชาใหม่

ซึ่งอาจเป็นภัยพิบัติใหม่ที่น่ากลัวยิ่งกว่าทุกๆ ภัยพิบัติที่ผ่านมา

แม้สมเด็จฮุน เซน เคยต่อกรแบบนี้กับนักการเมืองฝ่ายค้านมาอย่าโชกโชนและในทุกรูปแบบ

แต่คนพวกนั้นไม่มีความรอบด้าน

เมื่อเทียบกับคนรุ่นใหม่อย่างนายอู วิระ

 

ระบอบฮุน เซน ไม่อาจนอนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของพลังมวลชนในโลกเสมือนจริง

ดังกรณีเยาวชนประท้วงที่ฮ่องกง

และตอนนี้คือกลุ่มเยาวชนของไทยที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

สมเด็จฮุน เซน ผู้ระแวดระวัง มีหรือจะไม่จับตา

โครงการชำระประวัติศาสตร์เขมรขึ้นใหม่ โดยนักเขียนสายราชสำนักสีหนุที่หันมาภักดีฮุน เซน

จึงน่าจับตามองว่าจะออกมาอย่างไร

จะสู้กับคนรุ่นใหม่ (กัมพูชา) ได้หรือไม่