คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ความสัมพันธ์ครู-ศิษย์ มิติที่ขาดหายไปในวงการศาสนา-พิธีกรรม-จิตวิญญาณ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ช่วงนี้ผมคงยังอยู่ในห้วงของความคิดคำนึงต่างๆ ทางศาสนา บางส่วนก็เป็นเรื่องพินิจนึกความรู้สึกภายใน บางเรื่องก็อาจเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ที่ได้พบเห็นบ้าง เลยอยากจะขออภัยท่านผู้อ่านไว้ก่อน โดยเฉพาะท่านที่สนใจด้านข้อมูลความรู้เป็นหลัก

แต่ก็นั่นแหละครับ ผมก็จะพยายามไม่ให้การบอกเล่าเก้าสิบหรือบ่นบ้าทำให้ท่านผู้อ่านเสียเวลาเปล่า หวังใจว่าจะได้รับประโยชน์ไม่ในทางความรู้ก็ในทางอารมณ์หรือความคิดบ้างเล็กๆ น้อยๆ

วันนี้อยากมาบอกเล่าเรื่อง “ครู” กับ “ศิษย์” ในมิติทางศาสนาหรือจิตวิญญาณผ่านประสบการณ์เล็กๆ ผนวกกับสิ่งที่ผมได้พบเห็นและรู้สึก

 

ผมเพิ่งไปพบครูท่านหนึ่งในวันเพ็ญเดือนศราวณะ เรียกว่าศราวณีปูรณิมา ตกในราวต้นสิงหาคม ตามปฏิทินสากล คนฮินดูนับถือว่าเดือนนี้เป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ของพระศิวะ คนอินเดียทั่วไปจะรู้จักวันนี้ในชื่อวัน “รักษาพันธัน” หรือวันผูกข้อมือ โดยน้องสาวหรือแฟนจะพากันไปผูกข้อมือพี่ชายเพื่อให้คุ้มครองดูแล (แต่ท่านอาจารย์ลลิตซึ่งเป็นพราหมณ์ผู้ใหญ่บอกว่า ประเพณีนี้เกิดขึ้นในภายหลังและถูกโปรโมตโดยภาพยนตร์)

ที่จริงวันนี้เป็นวันสำคัญของพราหมณ์และเป็นวันสะท้อนความสัมพันธ์ครู-ศิษย์ในระบบฮินดูโดยเฉพาะ

บรรดาศิษย์ในสำนักหรือศิษย์ที่ศึกษาจบไปแล้วจะกลับมาพบกับครู เพื่อจะทำพิธี “อุปกรรม” หรือชำระโทษบาปร่วมกัน โดยลงอาบน้ำในแม่น้ำ สนานด้วยสิ่งของต่างๆ เปลี่ยนสายธุรำหรือยัชโญปวีต อุทิศน้ำแด่ทวยเทพและบรรพชน และทบทวนพระเวทด้วยกัน ครูจะให้พรศิษย์และผูกสายสิญจน์ให้ด้วย

ท่านอาจารย์ลลิตเล่าให้ฟังว่า เมื่อเสร็จพิธีแล้วคัมภีร์ระบุให้ศิษย์ต้องอยู่กับครูไปอีกอย่างน้อยสามราตรีแล้วค่อยกลับบ้าน แต่ในปัจจุบันไม่ใคร่จะทำกันด้วยความไม่สะดวกและชีวิตที่เปลี่ยนไป

ผมคิดว่าการได้กลับมาเจอครูและอยู่ด้วยกันสักพักคงให้ได้ทบทวนความรู้

แต่ที่สำคัญคือการได้ใช้ชีวิตร่วมกันจนหายคิดถึงมากกว่า

 

ในชาตินี้ผมมีโชคหลายประการ เป็นต้นว่า ได้เกิดมาในครอบครัวที่อบอุ่น มีภรรยาที่ดี มีเพื่อนน่ารัก ที่สำคัญผมได้เจอครูบาอาจารย์ที่ควรแก่การเคารพหลายท่าน และท่านเหล่านั้นยังได้ให้ความรักความเมตตาอย่างยิ่ง

ผมมักบอกคนอื่นว่า ที่ผมได้เป็นเนื้อเป็นตัวแบบนี้ก็เพราะมีครูที่ดี

ที่จริงผมควรจะไปได้ไกลกว่านี้ด้วยซ้ำไม่ว่าจะในทางวิชาความรู้หรือในทางจิตวิญญาณ เพราะครูแต่ละคนของผมล้วนมีคุณสมบัติและความรู้อันเลิศ

แต่ความไม่เอาอ่าวของผมเอง ผมจึงมาได้แค่นี้แหละครับ

ผมมีครูทางจิตใจคนแรกคืออาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ แม้ในวันนี้ผมอาจไม่ได้คิดและรู้สึกเหมือนท่านทุกอย่าง แต่อาจารย์ประมวลคือครูคนแรกเสมอ

ส่วนท่านอาจารย์ลลิต โมหัน วยาสนั้นเป็นครูผู้เปิดประตูให้ผมได้เข้าไปแสวงหาความรู้ฮินดูธรรมและพิธีกรรมมากมาย ท่านทำสิ่งอันแปลกประหลาดคือรับผมเป็นศิษย์ทั้งๆ ที่ผมไม่ใช่ชาวอินเดีย แม้ทุกวันนี้ผมก็ยังคงไม่เข้าใจเหตุผลลึกๆ ของท่าน ท่านมักแนะนำผมกับคนอื่นอย่างยกย่องเสมอ และผมก็ต้องคอยบอกท่านว่าผมไม่ได้เป็นอย่างนั้น ท่านยกย่องผมเกินจริง แต่ท่านก็ไม่ฟังอยู่ดี

อีกคนนั้นเป็นทั้งเพื่อนรักและครูที่ทำให้ผมได้ทำความเข้าใจจิตใจของตัวเองผ่านมิติของการภาวนา คือ วิจักขณ์ พานิช ผมพูดถึงเพื่อนคนนี้บ่อยจนกลัวคนอ่านเลี่ยนหรือเบื่อ แต่ทำไงได้ล่ะครับ ในเมื่อผมได้รับอะไรจากเขาจนอยากเอามาแบ่งปัน

นอกจากสามท่านข้างต้น ผมยังเคารพยกย่องครูบาอาจารย์อีกหลายท่าน เช่น ท่านกุงก้า ซังโป ริมโปเช, ครูเฉียบ, ท่านอาจารย์กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล, อาจารย์ดอน, บัณฑิตพรหมานันท์ ฯลฯ

เพียงแต่อาจไม่ได้พบกันบ่อยๆ เท่าสามท่านแรก

 

สมัยที่ผมเริ่มเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ ผมไปเทียวหาเทียวคุยกับท่านอาจารย์ลลิตอยู่นาน ไปถามขอความรู้จากท่านบ่อยๆ ระหว่างนั้นก็เรียนภาษาฮินดีกับสันสกฤตที่มหาวิทยาลัยไปด้วย

พอเดือนกันยายนปีสองห้าสี่แปดท่านก็รับผมเป็นศิษย์อย่างเป็นทางการ เรียกว่าดูกันอยู่เกือบสองปี

แล้วท่านก็ให้บัณฑิตพรหมานันท์สอนความรู้พื้นฐานอะไรต่างๆ หากมีอะไรไม่เข้าใจก็ไปซักทวนกับท่านตามโอกาส

คนร่ำลือว่าท่านดุ แต่กับผมท่านไม่เคยดุเลย แรกๆ ผมก็กราบเท้าท่านตามประเพณี คุยกับท่านแต่เรื่องความรู้ ไม่เคยคุยอะไรนอกเรื่อง

พอผ่านไปนานๆ เข้าท่านก็มีอารมณ์ขันมากขึ้น บางทีท่านก็เล่าอะไรสนุกๆ ให้ฟังเอง

เมื่อแต่งงาน ท่านเป็นผู้ประกอบพิธีให้ เสร็จพิธีแล้วผมถามท่านว่าผมจะขอกอดท่านได้ไหม ท่านก็ตอบว่าทำไมจะไม่ได้ ผมก็ได้กอดท่านเป็นครั้งแรกหลังจากรู้จักกันมาสิบกว่าปี

ผมรู้สึกว่าการกอดช่วยให้ผมสัมผัสความสัมพันธ์ที่ไม่มีพิธีรีตองและรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ ของเรามากขึ้น

แต่การแสดงความเคารพตามประเพณีก็เป็นสิ่งที่ยังทำ ไม่ได้ทิ้งไปไหน

ครั้นผมมีภารกิจในชีวิตมากขึ้นก็ไปหาท่านน้อยลง วันหนึ่งที่พบกันท่านท่องสุภาษิตสันสกฤตให้ฟังแล้วแปลให้ด้วยว่า “แม้ตัวไกลแต่อยู่ในใจก็นับว่าอยู่ใกล้ แม้อยู่ใกล้แต่ไม่ได้อยู่ในใจกันก็นับว่าไกลกัน” แล้วท่านก็บอกว่าผมอยู่ในใจท่านเสมอ ผมฟังแล้วรู้สึกจุกในอกบอกไม่ถูก

 

ที่เล่ามาไม่ได้ต้องการจะอวดอ้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับครูหรืออวดอ้างความเป็นคนพิเศษนะครับ อย่างที่บอก ถ้าผมเอาไหนกว่านี้ผมคงไม่มาได้แค่นี้หรอกครับ แถมในทางอาจาระความประพฤตินั้น ผมห่างไกลกับครูชนิดบาดาลกับพรหมโลก แต่ไม่ว่าจะเป็นยังไง ความรู้สึกเยี่ยงมนุษย์ที่เรามีต่อกันนั้นมันก็งดงามและเป็นของจริง

ส่วนครูอีกสองคนนั้น หากจะเล่าก็คงเป็นมหากาพย์ทีเดียว ที่ยกเรื่องท่านอาจารย์ลลิตมาเพราะเพิ่งได้พบท่าน และท่านคือคนสอนเรื่องพิธีกรรมกับศาสนาให้ผมเป็นหลัก จึงอยากจะยกมาเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนสนใจเรื่องพวกนี้

เผอิญผมได้ทราบว่า ในปัจจุบันมีคนไทยที่ไปทำพิธีรับ “สายยัชโญปวีต” (สายธุรำของพราหมณ์) หรือการรับเป็นศิษย์-ครูจากพราหมณ์อินเดีย เพื่อยกระดับสถานภาพของตนเองและสามารถไปประกอบพิธีต่างๆ อย่างเชิดหน้าชูตาได้ แต่ก็ต้อง “ทำบุญ” มากหน่อยเพื่อได้รับสถานะอันนี้ (เพราะปกติมอบให้กันแต่ชาวอินเดียในวรรณะสูง) และเคยได้ยินว่าบางร้านค้าในพาหุรัดถึงกับทำธุรกิจพาคนไปทำพิธีแบบนี้ในอินเดียด้วย

สิ่งนี้ทำให้ผมสงสัยว่า อ้าว แล้วความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ที่ควรมี มีไหม เป็นอย่างไร ทราบมาว่าบางคนไม่รู้จักคนทำพิธีให้ด้วยซ้ำเพราะพบกันแค่ครั้งเดียว ส่วนคนทำพิธีให้นี่ก็ต้องการเงินอย่างน่าเกลียด (ในกรณีรับทำเพราะให้เงินเยอะ)

บางคนก็อาจไปมาหาสู่ครูอยู่บ้างเพื่อ “ทำบุญ” ในรูปแบบต่างๆ (หากอยู่ในเมืองไทย) เป็นการสานสัมพันธ์และได้ภาพลักษณ์ว่าใกล้ชิดกัน แต่ที่จริงก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรจากครูมากนัก อาจเพราะติดขัดด้วยภาษา หรือไม่ก็ไม่ได้อยากจะรู้เพราะได้สิ่งที่ต้องการมาแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีกรณีไปหานักบวชดังๆ ถ่ายรูปลงหนังสือพิมพ์หรือลงเว็บไซต์ แล้วก็ได้สถานภาพกลับมา เป็นสวามีบ้าง อะไรต่อมิอะไรบ้าง หรือได้โชว์ว่า เฮ้ย เราศิษย์คนดังนี้นะเว้ย

ยังไม่นับกรณีแบบตั้งตัวเองอะไรงี้อีกนะครับ อันนั้นเป็นอีกแบบหนึ่ง มีปัญหาไปอีกอย่าง หรือกรณีที่ดีขึ้นมาหน่อยคือได้รับการยอมรับและมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องจริง แต่คุรุมีความห่างเหินเพราะมีชื่อเสียงมาก ลูกศิษย์เยอะ ดูแลไม่ทั่วถึง หรือลูกศิษย์คิดว่าคุรุสูงส่งจนไม่อาจสัมพันธ์กันธรรมดาๆ ได้ อันนั้นก็ปัญหาอีกแบบ

 

ที่จริง แม้แต่ในขนบธรรมเนียมบ้านเรา คนเรียนทางศาสนา พิธีกรรมหรือไสยศาสตร์ ก็มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับครูอาจารย์ยิ่งกว่าในสมัยนี้

ศาสนาฝ่ายอินเดียให้ความเคารพครูทางจิตวิญญาณอย่างสูง ดุจเทพหรือพระพุทธะทีเดียว แม้ครูในทางศิลปวิทยาต่างๆ ก็ให้ความเคารพไม่น้อยเช่นกัน แต่ธรรมเนียมหรือคตินี้ ผู้ใคร่พิธีกรรมใครจะสน เพราะไม่ได้อยากปฏิบัติ เป็นภาระ

การมีครูที่แท้จริงนั้น ช่วยให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน ช่วยให้เราตระหนักถึงความอ่อนด้อยของตนเอง แต่ในขณะดียวกันเราก็อาจภาคภูมิได้ด้วยเพราะเรามีความสัมพันธ์ที่จริงแท้ในสายการปฏิบัติที่สืบทอดกันลงมา

ความไม่มั่นใจในตัวเองมากนักก็มีข้อดีครับ เพราะอัตตามันทำงานลำบากหน่อย โดยเฉพาะสำหรับการใช้เพื่อหาผลประโยชน์ แต่คนมั่นใจมากๆ แม้จะรู้อะไรผิดๆ ถูกๆ ก็สามารถดึงเอาสาวกหัวอ่อนมาได้ไม่ยาก แล้วก็พาลหลอกตัวเองต่อไปว่าตนวิเศษศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ไปอีก ก็เพราะไอ้เจ้าความมั่นใจนี่แหละ

เรียกว่าหลอกในหลอก

การมีครูและมีความสัมพันธ์ที่ดีหรือความสัมพันธ์อย่างมนุษย์กับครู จึงเป็นเรื่องสำคัญในเส้นทางจิตวิญญาณ ศาสนาหรือแม้แต่เรื่องพิธีกรรม เพราะมิฉะนั้น มันก็ไม่ต่างจากการไปช้อปปิ้งครับ ครูก็เหมือนแค่ถ้วยชามอันหนึ่งที่ซื้อมาใช้ชั่วคราวแล้วก็ทิ้งไป

แทนที่จะได้รับความรู้ แทนที่จะได้ก้าวหน้าทางจิตใจ หรือได้ค้นพบตัวเองจากการมีครู

ได้แต่ผลประโยชน์ นอกนั้นสูญเปล่าอย่างน่าเสียดาย