เพ็ญสุภา สุขคตะ : ใครคือ “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” ในจารึก “ดงแม่นางเมือง”?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เมื่อเราอ่านตำนานหลายเรื่องและจารึกหลายหลัก มักพบกับปริศนาเรื่องฉายานามหนึ่งของพระมหากษัตริย์ที่มีบทบาทในการทำนุบำรุงส่งเสริมพุทธศาสนา ซึ่งนิยมนำพระนามของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชมาใช้เรียกแทนพระนามจริงของกษัตริย์องค์นั้นๆ

ถือเป็นการอุปมาอุปไมยความเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกของกษัตริย์องค์ใดก็ตาม ว่ามีความยิ่งใหญ่ทัดเทียมกับพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย

นาม “ศรีธรรมาโศกราช” นี้บางครั้งก็ถอดรหัสได้ว่าแท้จริงแล้วหมายถึงใคร แต่ก็มีบางครั้งที่ยังเป็นปริศนาอยู่ ดังเช่นในจารึก “ดงแม่นางเมือง” ค้นพบที่อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์

 

พระญาอาทิตยราช
และพระเจ้าจันทรภาณุ

กลุ่มของกษัตริย์ผู้ทรงธรรมที่เปรียบเปรยพระองค์เองว่ามีความยิ่งใหญ่เสมอเสมือนพระเจ้าอโศกมหาราช ที่เราสามารถถอดรหัสได้ว่าหมายถึงพระองค์ใดบ้าง มีดังนี้

พระองค์แรกคือ “พระญาอาทิตยราช” หรือ “พระเจ้าอาทิจจ์” กษัตริย์ลำดับที่ 28 (ตำนานบางเล่มว่าลำดับที่ 30, 32) แห่งหริภุญไชยนคร ได้เชื่อมโยงบารมีของพระองค์ตอนที่ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุที่ผุดขึ้นมาใจกลางเมืองหริภุญไชย ดังที่ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวว่า

“เมื่อพระเจ้าอาทิจจ์กำลังอาราธนาอยู่ ผอบทองอันพระเจ้าอโสกธรรมราชโปรดให้ทำไว้ พร้อมด้วยพระบรมสารีริกธาตุ ก็ผุดขึ้นไปสูงประมาณ 3 ศอกด้วยเทวานุภาพ…

พระเจ้าอโสกธรรมราชทรงเผยแพร่พระบรมธาตุไปทั่วชมพูทวีปในปีใด จากนั้นมาได้ 1,383 ปี เป็นปีที่พระเจ้าอาทิจจ์ทรงอภิเษกแล้วได้ 16 ปี พระธาตุเจดีย์หลวงได้ปรากฏขึ้นในนครหริภุญไชย”

แม้ตำนานไม่ระบุตรงๆ ว่า “พระเจ้าอโสกธรรมราช” คืออีกฉายานามหนึ่งของพระญาอาทิตยราช แต่ก็ใช้วิธีอุปมาอุปไมยยกกฤษฎาภินิหารของพระญาอาทิตยราชที่ได้พระบรมธาตุมาด้วยบุญญาบารมี เทียบเท่ากับบารมีของพระเจ้าอโศกมหาราช

นามของพระเจ้าศรีธรรมาโศกปรากฏอีกแห่งในจารึกหลักที่ 24 พบที่นครศรีธรรมราช จารึกไว้ว่า “พระเจ้าจันทรภาณุทรงอานุภาพเทียบเท่าพระเจ้าศรีธรรมาโศก”

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชเขียนในปี พ.ศ.2477 ว่า

“พระเจ้าธรรมาโศกกับน้องชายชื่อธรนนท์ พาญาติวงศ์และไพร่พลสามหมื่นคนกับพระพุทธคัมเภียร พระพุทธสาคร ผู้เป็นอาจารย์ เดินทางมาจากเมืองหงสาวดี เดือนเศษถึงเขาชวาปราบ (จังหวัดกระบี่) ก็ให้ตั้งอยู่ที่นั่น และสร้างวัดเวียงสระ”

เป็นที่เข้าใจกันได้ว่า “พระเจ้าธรรมาโศก” ในที่นี้หมายถึง พระเจ้าจันทรภาณุ

 

ปริศนา “พระเจ้าศรีธรรมาโศก”
ในจารึก “ดงแม่นางเมือง”

ศิลาจารึกดงแม่นางเมืองพบที่บริเวณเมืองเก่าสมัยทวารวดี บ้าน “ดงแม่นางเมือง” ตำบลบางตาหงาย (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นตำบลเจริญผล) อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อปี 2499 รูปทรงเป็นหินแท่งสีเขียว (กว้าง 37 ซ.ม. สูง 175 ซ.ม. หนา 22 ซ.ม.) กรมศิลปากรลงทะเบียนเลขที่ 35

จารึกหลักนี้เขียนด้วยตัวอักษรขอม ด้านแรกใช้ภาษาบาลี ด้านที่สองใช้ภาษาเขมรปนสันสกฤต ปริวรรตโดย ศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ นักภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ (ปัจจุบันคือสำนักหอสมุดแห่งชาติ) กรมศิลปากร มีการระบุถึงพระเจ้าศรีธรรมาโศกอยู่หลายจุดดังนี้

ด้านที่ 1 แปลจากภาษาบาลีได้ว่า “อโสกมหาราชา ผู้กล้าหาญ มีกำลัง เดช และทรงธรรม อย่างไม่มีใครเสมอ มีสาส์นมายัง “สุนัตต์” ว่าท่านจงให้ที่นาบูชาพระธาตุเถิด เราผู้มีนามว่าสุนัตต์รับรู้ราชสาส์นด้วยความปีติยินดี ขออุทิศที่นาห้า…”

ด้านที่ 2 แปลจากภาษาเขมรที่ใช้ศัพท์ภาษาสันสกฤตค่อนข้างมาก

“เครื่องสักการะมหาราชาธิราช ผู้มีพระนามว่า “กุรุงศรีธรรมาโศก” ถวายแด่พระศรีรธาตุ ซึ่งมีพระนามว่า กมรเตงชคัต ศรีธรรมาโศก ณ วิษัย ธานยปุระ ตามบาญชีย์ดังนี้ ข้าบาทมูลผู้มีวรรณะทุกเหล่า 2012, พาน 40, ถ้วยเงิน 40, ช้าง 100, ม้า 100, วัว 100, สีวิกา 2 เป็นพระบูชา แต่ละวัน ข้าวสาร 90 ส่วน

มหาเสนาบดีผู้หนึ่งชื่อ “ศรีภูวนาทิตยอิศวรทวีป” นำสาส์นราชาธิราชมายัง “กุรุงสุนัตต์” ผู้ครอบครอง ธานยปุระ มีบันทูลให้ถวายที่นา ซึ่งเขียนเขตไว้แล้วเป็นพระบูชากมรเตงชคัต ในศักราช 1089 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 วันอาทิตย์…”

จารึกทั้งสองด้านนี้มีชื่อสำคัญที่ต้องถอดรหัสอยู่ 4 ชื่อ

1 อโสกราชา หรือกุรุงศรีธรรมาโศก หรือกมรเตงชคัต ศรีธรรมาโศก

2 กุรุงสุนัตต์

3 ธานยปุระ

4 ศรีภูวนาทิตยอิศวรทวีป

 

ถอดรหัส “กุรุงสุนัตต์-กุรุงศรีธรรมาโศก”

ก่อนอื่นต้องไขศักราชตัวเลข 1089 ที่ปรากฏในจารึก ว่าตรงกับปีใดในพุทธศักราช?

1089 ในที่นี้ไม่ใช่พุทธศักราช และไม่ใช่จุลศักราช แต่เป็นมหาศักราช จะทำมหาศักราชให้เป็นพุทธศักราชต้องนำเอา 621 ไปบวก จะตรงกับปี พ.ศ.1710 แต่หากคำนวณตามปฏิทินลังกา จะหย่อนไปอีก 1 ปีเป็น พ.ศ.1709

คำว่า “กุรุง” พบอยู่สองจุด ทั้ง “กุรุงศรีธรรมาโศก” และ “กุรุงสุนัตต์” ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร อธิบายว่า

“คำว่า “กุรุง” เป็นคำที่มีความหมายกลางๆ ในภาษามอญ-เขมรโบราณ ใช้เรียกผู้เป็นหัวหน้า (chief) หรือเจ้าเมืองทั้งใหญ่-เล็ก ในภายหลังคำว่า “กุรุง” กร่อนเหลือเพียง “กรุง” แปลว่า พระเจ้า ใช้กับพระมหากษัตริย์เท่านั้น”

ชื่อของ “กุรุงสุนัตต์” ในจารึกนี้ ชัดเจนว่าเป็นผู้ครองเมืองที่ชื่อว่า “ธานยปุระ” (แปลว่า “ธัญญบุรี” หมายถึงเมืองที่อุดมด้วยนาข้าวพืชพันธุ์ธัญญาหาร)

พระเจ้าสุนัตต์รับราชสาส์นจาก “กุรุงศรีธรรมาโศก” หรือ “อโสกราชา” ให้กัลปนาหรืออุทิศที่นาเพื่อบูชาพระธาตุ โดยผู้ถือสาส์นมามีชื่อว่า “ศรีภูวนาทิตยอิศวรทวีป”

ปัญหาคือ “กุรุงศรีธรรมาโศก” ครองเมืองอยู่ที่ไหน? พระองค์จะเป็น “พระญาอาทิตยราช” แห่งหริภุญไชย หรือว่า “พระเจ้าจันทรภาณุ” แห่งนครศรีธรรมราช?

ซึ่งทั้งสองพระองค์ต่างมีฉายานามว่าเป็นพระเจ้าอโศกมหาราชเหมือนๆ กัน

เมื่อพิเคราะห์ดูศักราชว่ากษัตริย์พระองค์ไหนจะมีพระชนม์ชีพใกล้เคียงกับปี พ.ศ.1710 มากกว่ากัน

พบว่าพระญาอาทิตยราชสร้างพระธาตุหริภุญไชยปี พ.ศ.1607 (ชินกาลมาลีปกรณ์) ส่วนพระเจ้าจันทรภาณุสร้างพระธาตุนครศรีธรรมราชปี 1718 ซึ่งสอดคล้องกับศักราชในจารึกดงแม่นางเมืองมากทีเดียว

หาก “กุรุงศรีธรรมาโศก” ในจารึกดงแม่นางเมือง เป็นบุคคลคนเดียวกันกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแห่งอาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) จริง

ก็ย่อมหมายความว่า บารมีของพระเจ้าจันทรภาณุนั้นแผ่ไพศาลกว้างไกลยิ่ง มีอิทธิพลถึงขั้นส่งทูตระดับมหาเสนาบดีชื่อ “ศรีภูวนาทิตยอิศวรทวีป” ให้มาแจ้งแก่กษัตริย์เมืองธานยปุระ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ถือว่าห่างไกลจากด้ามขวานทองโขอยู่ ให้ยกที่นาอุทิศแก่พระธาตุนครศรีธรรมราช

ชื่อของทูต “ศรีภูวนาทิตยอิศวรทวีป” ก็เป็นอีกหนึ่งปริศนา ว่ามีความเกี่ยวข้องอะไรหรือไม่กับจารึกที่ฐานพระอิศวรที่เมืองกำแพงเพชร?

 

จารึกฐานพระอิศวร ปรากฏนาม
“เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช”

ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร มีประติมากรรมรูปพระอิศวรสำริด 1 องค์ เป็นศิลปะสุโขทัยผสมอยุธยาที่รับอิทธิพลมาจากศิลปะบายนของขอม เดิมเคยอยู่ที่ศาลพระอิศวร เมืองกำแพงเพชร

ที่ฐานเทวรูปมีจารึกตัวอักษรลายสือไทยแบบสุโขทัย เขียนในปี พ.ศ.2053 ตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ

จารึกที่ฐานรอบพระบาทเทวรูปพระอิศวรมี 3 บรรทัด กล่าวถึง “เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช” ประดิษฐานรูปพระอิศวร

เจ้าพระยา เป็นตำแหน่งระดับไหน จะยังใช่กษัตริย์กรุงนครศรีธรรมราชอยู่อีกหรือไม่? หรือเป็นเจ้าเมืองใดเจ้าเมืองหนึ่งแถวกำแพงเพชร ที่อยู่ใต้ปกครองของพระนครศรีอยุธยาแล้ว?

บางทีช่วงนั้น เจ้าเมืองที่ปกครองกำแพงเพชรอาจเป็นผู้ส่งเสริมพุทธศาสนา จึงได้รับการยกย่องเป็น “เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช” เช่นเดียวกับที่นครศรีธรรมราช

หรือมิเช่นนั้น พระเจ้าศรีธรรมาโศกแห่งนครศรีธรรมราชอาจถูกกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เชิญมาปกครองเมืองกำแพงเพชรด้วยอีกแห่ง?

ข้อสำคัญคือ มีเรื่องราวการประดิษฐานรูปเคารพพระอิศวรในเทวสถาน สะท้อนถึง “เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช” ผู้นี้ จะต้องนับถือเทพเจ้าของพราหมณ์ควบคู่ไปกับการนับถือศาสนาพุทธด้วย

ชวนให้นึกถึงการที่ “กุรุงศรีธรรมาโศก” จากตามพรลิงค์ ได้ส่งทูตที่มีชื่อเกี่ยวพันกับพระอิศวร “ศรีภูวนาทิตยอิศวรทวีป” ให้เป็นผู้ถือสาส์นมายังเมืองธานยปุระ แม้ว่าเนื้อหาในสาส์นจะเป็นการเชิญชวนให้ “กุรุงสุนัตต์” ทำการกัลปนาที่นาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระธาตุในทางพุทธศาสนาก็ตาม

 

บทสรุปที่เกือบได้ข้อสรุป

จนถึงบรรทัดนี้ ก็ยังยากที่จะสรุปว่า “กุรุงศรีธรรมาโศก” ในจารึกดงแม่นางเมือง จะเป็นพระเจ้าจันทรภาณุผู้ได้รับฉายาว่า “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” จริงหรือไม่

น่าคิดต่อไปว่า ปรากฏคำภาษาเขมรในจารึกดงแม่นางเมืองว่า “กมรเตง ชคัต ศรีธรรมาโศก” อีกด้วย

ซึ่งจารึกหลายหลักที่นครศรีธรรมราชในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 ก็ปรากฏการใช้ภาษาเขมรปะปนกับภาษาสันสกฤต ในขณะที่อาณาจักรหริภุญไชยนิยมใช้จารึกอักษรมอญโบราณ

แม้น้ำหนักหลักฐานหลายอย่างค่อนข้างเทไปทางนครศรีธรรมราชมากกว่าลำพูนก็ตาม แต่ที่ดิฉันกล่าวว่ายังไม่อาจสรุปได้นั้น เนื่องมาจากทำเลที่ตั้งของเมืองธานยปุยะ (ดงแม่นางเมือง) อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งอยู่ค่อนไปทางเหนือ ใกล้กับอาณาจักรหริภุญไชยมากกว่าอาณาจักรตามพรลิงค์นั่นเอง

อย่างไรก็ดี ข้อสรุปข้อหนึ่งที่ได้จากการศึกษาก็คือ อิทธิพลของศาสนา วรรณกรรมอินเดีย ส่งผลให้พระนามกษัตริย์ในดินแดนอุษาเคนย์ นิยมใช้ฉายาตามวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งองค์อัครพุทธศาสนูปถัมภก