ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : “โคเคน” จากพืชศักดิ์สิทธิ์ มาเป็นยาเสพติด

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“If you want to hang out, you”ve gotta take her out, cocaine” (ถ้าคุณอยากออกไปสังสรรค์ คุณก็ต้องพกเธอไปด้วย โคเคน)

ประโยคข้างต้น เป็นประโยคเปิดในอีกหนึ่งเพลงฮิตของนักร้อง ควบตำแหน่งมือกีตาร์คนดังระดับโลก เจ้าของฉายา “ไอ้มือช้า” อย่างอีริก แคลปตัน (Eric Clapton) ที่ชื่อเพลง “Cocaine” ซึ่งก็หมายถึงเจ้ายาเสพติดที่ช่วงนี้มีข่าวว่าพบอยู่ในร่างกายของอภิมหาเศรษฐีคนหนึ่งของไทยขณะขับรถชนคนตาย แต่กลับมีข่าวว่า ไม่ได้เกิดจากการเสพ แต่เป็นสารตกค้างที่เกิดจากการไปทำฟันนั่นแหละ

ทุกๆ ประโยคในเนื้อเพลง Cocaine จะลงท้ายด้วยคำว่า “โคเคน” เช่นเดียวกับประโยคเปิดนั่นแหละ เช่น ประโยคต่อไปที่ร้องว่า “If you want to get down, get down on the ground, cocaine” (ถ้าคุณอยากจะล้มลง ล้มลงไปบนพื้น โคเคน)

หรืออีกหลายท่อน เช่น “If you got bad news, you wanna kick them blues, cocaine” (ถ้าคุณได้รับข่าวร้าย คุณอยากจะเหยียบมันให้จมดิน โคเคน)

และแม้กระทั่งท่อนฮุกของเพลงก็ยังมีเนื้อร้องที่จบประโยคด้วยโคเคนว่า “She don”t lie, she don”t lie, she don”t lie, cocaine” (เธอไม่โกหก เธอไม่โกหก เธอไม่โกหก โคเคน)

เนื้อร้องในเพลง Cocaine ของไอ้มือช้าคนนี้ จึงออกจะให้ภาพของโคเคนในแง่ง่ามที่ไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย ด้วยโทษฐานที่ถูกตีตราให้เป็น “ยาเสพติด” เสียทีเดียว แต่ใช้มันในลักษณะเชิงกระทบกระเทียบ และแดกดันสังคมอย่างชัดเจนเลยทีเดียว

และอันที่จริงแล้ว แต่ดั้งเดิมนั้น “โคเคน” ก็ไม่ได้ถูกตราหน้าว่าเป็นยาเสพติดมาแต่แรกอยู่แล้วนะครับ แถมเรื่องราวของมันก็เก่าแก่กว่า เมื่อครั้งที่โคเคนถูกนำมาใช้เป็นยาแก้ปวด และยาชาที่ใช้สำหรับทำฟันเมื่อร้อยกว่าปีก่อนอย่างที่เป็นข่าวอยู่เสียด้วย

แต่แรกเริ่มเดิมทีนั้น “โคเคน” ถูกสกัดออกมาจากใบของพืชพื้นเมืองชนิดหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ ที่เรียกว่า “ต้นโคคา” (Coca) โดยชนชาวพื้นเมืองดั้งเดิมในทวีปแห่งนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเปรูนั้น นิยมนำเจ้าใบของต้นโคคานี้มาเคี้ยวกินกันสดๆ หรือบางทีก็คั้นเอามาทำเป็นน้ำสำหรับใช้ดื่มก็ได้ โดยใบโคคามีฤทธิ์เป็นยากระตุ้น อุดมด้วยสารอาหาร และช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ

ว่ากันว่าผู้คนในวัฒนธรรมอินคา (Inca) ของอเมริกาใต้บริโภคใบโคคากันมากว่า 2,000 ปีแล้ว แต่ที่จริงแล้วนักโบราณคดีในละตินอเมริกาพบหลักฐานของการเคี้ยวใบโคคาที่เก่าแก่ไปถึง 8,000 ปีที่แล้วเลยทีเดียว

ดังปรากฏว่ามีการใส่ใบโคคาไว้ในมัมมี่ของวัฒนธรรมต่างๆ ในภูมิภาคแห่งนี้ รวมทั้งในวัฒนธรรมอินคาด้วย

และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจนัก เพราะการเคี้ยวใบโคคาสักคำหนึ่งจะให้สารแอลคาลอยด์ (alkaloid) ซึ่งเป็นกลุ่มของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่พบในพืชและสัตว์บางชนิด หากบริโภคเพียงน้อย ฤทธิ์จากสารแอลคาลอยด์ในใบโคคาจะช่วยให้ความคิดเฉียบแหลมขึ้น ไม่ต่างจากฤทธิ์ของสารกาเฟอีน

ทั้งยังช่วยดับความหิวจนสามารถเดินท่องป่าแอมะซอน และข้ามเขาแอนดีสโดยไม่ต้องกินต้องนอนกันเลยทีเดียว

แต่สารแอลคาลอยด์นั้นเป็นชื่อกว้างๆ ของกลุ่มสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีธาตุไนโตรเจนประกอบอยู่ในโมเลกุล เมื่อจำแนกย่อยแล้ว สารแอลคาลอยด์นั้นแบ่งได้หลากหลายชนิด ที่คุ้นๆ กันก็เช่น กาเฟอีน นิโคติน มอร์ฟีน ส่วนสารแอลคาลอยด์ที่ได้มาจากโคคานั้นเรียกว่า “โคเคน”

 

ใช่ครับใช่ ก็ “โคเคน” เดียวกันกับที่พบตกค้างอยู่ในร่างกายของอภิมหาเศรษฐีที่ขับรถชนคนตายคนนั้นนั่นแหละ

เอาเข้าจริงแล้ว ใบโคคาจึงมีฤทธิ์เป็นสารเสพติด แต่พวกอินคาจะคิดอย่างนั้นด้วยหรือเปล่าไม่รู้? เพราะสำหรับชาวอินคาแล้ว โคคานั้นถูกถือว่าเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ แถมยังมีเทพีแห่งต้นโคคาที่ชื่อว่า “พระแม่โคคา” (Mama Coca) อีกต่างหาก

ปรัมปราคติเรื่องแม่โคคาของพวกอินคาเล่าว่า เมื่อแรกเจ้าหล่อนยังเป็นมนุษย์ชื่อคูคา (Kuka) เธอเป็นหญิงสาวที่ทั้งจักรวรรดิอินคาต้องยอมสยบให้กับความงามของเธอ และเธอเองก็ใช้มนต์เสน่ห์ของความงามเพื่อใช้ประโยชน์จากผู้ชายทั้งหลาย

แต่สุดท้ายเรื่องที่ไม่ดีของเธอก็ไปเข้าหูจักรพรรดิแห่งอินคา พระองค์จึงนำคูคามาบูชายัญด้วยการผ่าร่างกายออกเป็น 2 ซีก

จากนั้นก็ฝังเธอลงไปในพื้นดิน ทันใดนั้นก็ได้เกิดต้นไม้ประหลาดผุดขึ้นมาระหว่างกลางของร่างกายที่ถูกผ่าออกเป็น 2 ซีก บนหลุมศพของเธอ ใบของมันทำให้ร่างกายแข็งแรง และช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยของผู้คน

ชาวอินคาเลยตั้งชื่อให้กับต้นไม้ชนิดว่า “โคคา” เพื่อเป็นที่ระลึกถึงความงามของคูคา และนับถือกันว่า พระแม่โคคานั้นเป็นเทพีแห่งต้นโคคา พร้อมกับที่เป็นเทพีแห่งสุขภาพที่ดีไปในตัว

ชนพื้นเมืองอเมริกาใต้ ในยุคหลังจักรวรรดิอินคาล่มสลาย รวมถึงพวกเมสติโซ (Mestizo, คือพวกเลือดผสมระหว่างชนผิวขาวกับอินเดียนพื้นเมือง ซึ่งก็คือประชากรส่วนใหญ่ของกลุ่มประเทศละตินอเมริกาในปัจจุบัน) ก็ล้วนแต่ยังมีความเชื่อในเรื่องของพระแม่โคคา และยังเคี้ยวใบโคคาเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ต่างไปจากในสมัยที่จักรวรรดิอินคายังรุ่งเรืองอยู่

เอาเข้าจริงแล้ว ชาวอินคาและบรรดาทายาทลูกหลานของพวกเขา จึงเห็นใบโคคาเป็น “ยา” นะครับ ไม่ใช่ “ยาเสพติด” ซึ่งก็ทำให้ในสายตาของชาวยุโรปที่เข้ามารุกรานภูมิภาคแห่งนั้น มองว่าโคคาเป็นหยูกยาชั้นเยี่ยมไปด้วยเช่นกัน

 

กิตติศัพท์ในการเป็นสารกระตุ้นชนิดดีเลิศของใบโคคา ทำให้ชาวยุโรปมีความพยายามในการสกัดสารโคเคนบริสุทธิ์ออกมา เพื่อนำไปทำเป็น “ยา” สำหรับรักษาอาการเจ็บป่วย หรือบำรุงร่างกายเป็นพิเศษ

จนกระทั่งในที่สุดก็สำเร็จเมื่อ พ.ศ.2398 (แต่บางแหล่งข้อมูลว่า พ.ศ.2402 หรือ พ.ศ.2403) ซึ่งก็คือช่วงยุควิกตอเรียน ในโลกตะวันตก ที่พวกยุโรปกำลังงุ่นง่านอยู่กับการผลิตหยูกยาบำรุงร่างกายชนิดต่างๆ ให้เพียบเต็มท้องตลาด

โคเคนถูกนำมาใช้เป็นยาชาและยาระงับอาการปวดอย่างแพร่หลาย และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

นักจิตวิเคราะห์ระดับโลกที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันกับการสกัดโคเคนบริสุทธิ์ได้สำเร็จอย่างซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มกระทงนั้น ยังเคยเขียนแนะนำเสียด้วยซ้ำไปว่า การใช้โคเคนนั้นไม่มีผลเสียกับร่างกายเลย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการใช้มอร์ฟีน

เช่นเดียวกับที่นักเขียนชั้นเซียนเหยียบเมฆอย่างเซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) ยังให้ตัวละครเอกในนิยายสืบสวนของท่านอย่างเชอร์ล็อก โฮล์มส์ (Sherlock Holmes) ใช้โคเคนเพื่อทำการสร้างสมาธิในจิตใจเพื่อการใช้สืบคดี ทั้งที่ในยุคที่นิยายเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรกนั้น (พ.ศ.1943) ก็เริ่มมีความรู้แล้วว่าโคเคนส่งผลต่อร่างกายอย่างไรบ้างเสียด้วยซ้ำไป

เอาเข้าจริงแล้ว โคเคนจึงมีเส้นทางไม่ต่างจากสิ่งเสพติดประเภทใกล้เคียงกันอื่นๆ อย่างมอร์ฟีนและเฮโรอีน ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้เป็นยาระงับอาการปวด (แถมทั้งเฮโรอีนและโคเคน ต่างก็เคยถูกใช้ในฐานะยาที่ช่วยบรรเทาอาการเสพติดมอร์ฟีนเหมือนกันอีกต่างหาก!) ในช่วงยุควิกตอเรียนของยุโรป

และแม้แต่อะไรที่มักจะเข้าใจกันว่าถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องดื่มวัยใสอย่าง “โคคา-โคลา” นั้น ในระยะแรกก็ถูกผลิตขึ้นเพื่อออกวางจำหน่ายในฐานะของยาบำรุงร่างกาย (โคคา-โคลา วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2429) ก่อนที่จะค่อยๆ กลายสถานภาพเป็นน้ำอัดลมอย่างทุกวันนี้

คำว่า “โคคา” ในชื่อของโคคา-โคลา หรือที่คนไทยนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “โค้ก” นั้นก็คือ ส่วนผสมสำคัญของยาบำรุงชนิดนี้ในยุคแรก ที่มีใบโคคาสกัดหรือ “โคเคน” เจือปนอยู่ด้วย (ข้อมูลบางแห่งระบุว่า เพิ่งจะมีการเลิกใช้โคเคนในส่วนผสมเมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 คือเมื่อร้อยปีเศษที่ผ่านมา แต่ยังมีการใช้ส่วนอื่นๆ ของใบโคคาเป็นส่วนผสมมาจนถึงปัจจุบัน)

ชื่อ “โคคา-โคลา” นั้น ก็คือการโฆษณาว่า มี “โคคา” ที่สรรพคุณทางยาอยู่ในเครื่องดื่มนั่นเอง (ส่วนชื่อว่า “โคลา” นั้น มาจากส่วนผสมสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเมล็ดของต้นโคลา ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ที่มีฤทธิ์เป็นยากระตุ้น เพราะมีกาเฟอีน)

พูดง่ายๆ ว่า “โคเคน” เคยมีสถานภาพเป็น “ยา” ที่ใช้บำบัดโรค-บำรุงร่างกาย แล้วค่อยกลายมาเป็น “ยาเสพติด” เมื่อคนรู้ถึงโทษและอันตรายของมัน แต่จะไปโทษพระแม่โคคาท่านว่ามาแสร้งหลอกลวงผู้คนว่าตนเองเป็นยาดีก็ไม่ได้หรอกนะครับ เพราะถ้าใช้ในปริมาณที่พอเหมาะมันก็ใช้เป็นยาได้จริงๆ ก็อย่างที่ไอ้มือช้า อีริก แคลปตัน บอกไว้ในท่อนฮุกของเพลง Cocaine ว่า

“She don”t lie, she don”t lie, she don”t lie, cocaine” นั่นแหละ