วงค์ ตาวัน | ปมร้อน-ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้

วงค์ ตาวัน

เชื่อได้ว่าผู้นำรัฐบาลมีความกังวลอยู่ไม่น้อยกับกระแสการเคลื่อนไหวของเยาวชน นักเรียน-นักศึกษา ที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นมากมายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งไล่รัฐบาล เรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ และให้ยุบสภา แต่โดยรวมก็คือความไม่พึงพอใจต่อสภาพการเมืองไทยในปัจจุบัน ที่มีการผูกขาดอำนาจไว้ในมือคนกลุ่มเดียว ต่อเนื่องมาตั้งแต่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ท่าทีของรัฐบาลจึงแสดงออกถึงการตอบสนองข้อเรียกร้องในบางด้าน

เช่น พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ผลักดันให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เพื่อรับฟังเสียงของนักเรียน-นักศึกษา แต่พรรคฝ่ายค้านไม่เอาด้วย มองว่าเป็นวิธีการซื้อเวลา อีกทั้งการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่นั้น พุ่งเป้าไปที่ผู้นำรัฐบาล จึงไม่เอาด้วยกับวิธีการผลักให้สภาออกหน้าแทนรัฐบาล

“ขณะที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกเองก็มองว่าคณะกรรมาธิการนี้เป็นเพียงการเล่นปาหี่”

ถัดมาผู้นำรัฐบาลก็แสดงท่าทีใหม่ ด้วยการสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ เปิดพื้นที่พูดคุยกัน

รวมทั้งให้สัมภาษณ์สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สนับสนุนการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขเรื่องนี้

แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้เป็นท่าทีที่บ่งบอกอะไรแจ่มชัด เข้าทำนองพยายามผ่อนหนักให้เป็นเบา

“คงประเมินได้ว่าแฟลชม็อบของเยาวชน ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่ควรราดน้ำมันใส่กองไฟ แต่ยอมฟังหรือยอมรับอย่างจริงจังและจริงใจหรือไม่ เป็นเรื่องต้องขบคิด!?”

นำมาสู่คำถามที่ว่า เอาเข้าจริงๆ รัฐบาลประยุทธ์ยินยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงหรือ และจะยอมแก้ไขมากน้อยแค่ไหน

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในสาระสำคัญนั้นคือ เป็นการสร้างกฎกติกาเพื่อให้ได้ผู้นำรัฐบาลและได้รัฐบาลตามที่ล็อกเอาไว้แล้วล่วงหน้า

เพื่อควบคุมนักการเมือง-พรรคการเมือง ให้อยู่ภายใต้กระบวนการที่มีผู้นำจากกลุ่มอำนาจขุนศึกขุนนาง

ควบคุมการเมืองไทยไม่ให้เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ ไม่ให้เป็นประชาธิปไตยเสรี

จึงน่าสงสัยว่า จะยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยอมรื้อกลไกที่ควบคุมอำนาจการเมืองไว้ในมือจริงหรือ!!

ย้อนมองไปยังจุดเริ่มต้นของการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และการเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งมีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา เพื่อรองรับระบบนี้ และเพื่อรองรับผู้นำ คสช.ให้เป็นผู้นำรัฐบาลต่อไป

ตั้งพรรคขึ้นมาแล้วระดมดูดนักการเมืองเก่าๆ ให้มาเข้าสังกัด

โดยนักการเมืองส่วนหนึ่งอาจเห็นด้วยกับแนวทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มตัวดังกล่าว มีอุดมการณ์แนวอนุรักษนิยมการเมืองตรงกัน

“อีกส่วนได้รับข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้!”

หมายถึงนักการเมืองที่เคยอยู่ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก่อนรัฐประหาร ซึ่งโดนคดีความเป็นชนักปักหลังหลายราย ถ้ายอมย้ายพรรคก็คือหลุดพ้นพันธนาการต่างๆ

ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้อีกประการคือ ความอู้ฟู่ ความเพียบพร้อมของกระสุน

ขณะเดียวกัน ไพ่ตายใบสำคัญสุด ที่งัดออกมาเป็นข้อเสนอในการกวาดต้อนนักการเมืองเก่าๆ ให้เข้าพรรคใหม่นี้ก็คือ

“เลือกตั้งให้ตาย ก็จะต้องได้นายกฯ หวยล็อก!!”

เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ 250 ส.ว.ที่แต่งตั้งกันมาเอง เป็นเสียงสำคัญในการโหวตนายกรัฐมนตรี

นักการเมืองถูกเกลี้ยกล่อมให้เห็นว่า ถ้าอยากเป็นนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ไม่อยากเป็นฝ่ายค้านอดอยากปากแห้ง ก็ควรจะรู้ว่าหวยล็อกตัวนายกฯ จะออกที่ใคร แล้วควรจะอยู่พรรคไหน

แถมบอกกับเหล่านักการเมืองด้วยว่า ส.ว.ที่มีอำนาจร่วมโหวตนายกฯ ชุดนี้ มีวาระอยู่ยาวนานถึง 5 ปี

“ต่อให้เลือกตั้งกี่ครั้งในช่วง 5 ปีแรก จะต้องยุบสภากี่หนก็ตามที ก็ต้องได้นายกฯ หวยล็อกอยู่ดี เพราะฉะนั้น คิดให้ดีว่าจะสังกัดพรรคการเมืองที่มีพรรค ส.ว. 250 เสียงเป็นฐานอีกส่วนหนึ่งหรือไม่”

ประเด็น 250 ส.ว.เลือกนายกฯ นี่แหละ เป็นเงื่อนไขสำคัญในการกวาดต้อนให้นักการเมืองจำนวนไม่น้อยตัดสินใจเข้าพรรคดังกล่าว เพราะยังไงก็ได้เป็นรัฐบาลแน่ๆ

จึงเป็นไพ่ตายใบสำคัญ เป็นข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ข้อสำคัญ

แล้วจะยอมให้แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อถอดไพ่ตายออกไป ทำให้ข้อเสนออันปฏิเสธไม่ได้ต้องหมดสิ้นไปกระนั้นหรือ

คิดดูแล้วกันถึงขนาดเขียนบทเฉพาะกาลให้ ส.ว.ชุดแรกที่มีอำนาจโหวตนายกฯ อยู่ยาวถึง 5 ปี ซึ่งไม่เคยมีวาระที่ไหนในระบบการเมืองที่ระบุว่า 5 ปี

วาระส่วนใหญ่ก็คือ 4 ปี แต่นี่เขียนเป็น 5 ปี เพื่อให้คร่อมวาระรัฐบาลปกติ ทำให้มีอำนาจตั้งรัฐบาลได้หลายวาระ

จุดแข็งของรัฐธรรมนูญที่ทำให้อำนาจของคณะรัฐประหารอยู่ได้ยาวนาน แม้จะแปลงโฉมเป็นนักการเมืองในระบบเลือกตั้งก็อยู่ได้ ก็คือ 250 ส.ว.ดังกล่าว แล้วก็ได้ผลอย่างทันตาในการเลือกตั้งหนแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้

นอกจากเป็นไพ่ตายในการกวาดต้อน ส.ส.มาเข้าพรรคแล้ว ยังสามารถดึงพรรคการเมืองอื่นๆ มาเข้าร่วมตั้งรัฐบาลได้อีก แม้จะต้องถูกสังคมเรียกว่าเป็นพรรคสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.ก็ตาม

“แต่ขณะเดียวกันจุดแข็งก็กลายเป็นจุดที่ประจานความเอารัดเอาเปรียบอย่างโจ่งแจ้ง”

รัฐบาลนี้แม้จะอ้างว่าเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกตอบโต้จากเสียงวิจารณ์ในประเด็น 250 ส.ว. ว่าเป็นทั้งความไม่ถูกต้องเป็นธรรม และเป็นจุดบ่งชี้ว่าการเมืองยุคนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย

“จนกระทั่งเยาวชน นักเรียน-นักศึกษา วัยที่มีพลังเร่าร้อน อดรนทนไม่ไหว!”

ส่วนหนึ่งแสดงออกในการทำพานไหว้ครู เสียดสีการเมืองยุคนี้ได้อย่างสะอกสะใจ

ทำพานสัญลักษณ์ตั้งคำถามว่า เสียง 250 ส.ว. เหนือกว่าเสียงประชาชนหลายล้านได้อย่างไร

จนในที่สุดก็กลายเป็นแฟลชม็อบของนักเรียน-นักศึกษาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก่อนจะสะดุดเพราะเป็นช่วงระบาดของโควิด-19

ก่อนที่การเคลื่อนไหวของเยาวชนจะกลับมาอีกครั้ง พร้อมข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ยุบสภา

“จุดแข็งของรัฐธรรมนูญเพื่อควบคุมอำนาจ จึงกลับเป็นจุดบอดที่ทำให้เด็กๆ คนรุ่นใหม่วัยมากพลังไม่ยอมทนอีกต่อไป”

แต่ภายใต้ท่าทีที่เหมือนอ่อนลงของผู้นำรัฐบาล ท่าทีที่สนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญได้

สุดท้ายจะยอมแก้ไพ่ตายใบนั้นหรือ

“เพราะถ้าหมดไพ่ใบนี้ ก็หมายถึงผู้นำการเมืองภายใต้กติกานี้ก็หมดสิ้นความหมาย”

จะมีนักการเมืองสักกี่คนที่จะอยู่พรรคนี้อีกต่อไป

จุดแข็งและจุดบอดนี้จะกลายเป็นชนวนสำคัญในการปะทะกันระหว่างกลุ่มอำนาจปัจจุบันกับพลังเยาวชน นักเรียน-นักศึกษา!