อภิญญา ตะวันออก : ไชโยลัทธิประเจียธิปไตย!

อภิญญา ตะวันออก

ไม่สิ นี่คือสโลแกนที่ฝังแน่นในใจชาวเขมรมานานครัน โดยเฉพาะเสรีนิยมใหม่พวกนั้น ที่มักจะตะโกนก้องด้วยวลีที่ว่า “ไชโยลัทธิประเจียธิปไตย!” ซ้ำๆ ตั้งแต่อดีต 50 ปีก่อน และตามมาในปี 1993 ที่เราจะเห็นตามเวทีประท้วง ขบวนแห่และเวทีปราศรัยในการหาเสียงเลือกตั้ง

น่าใจหายว่า หลังเลือกตั้งผ่านไป 5 ครั้งรวม 22 ปีเต็มที่จบลงด้วยพรรคประชาชนกัมพูชากุมชัยชนะทุกครั้ง และการสถาปนาระบอบรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราจนนำไปสู่ระบอบสมบูรณาสมเด็จฯ ฮุน เซน กระทั่งแทบจะไร้เสียงตะโกนสโลแกนเช่นนั้น

หรือกระบวนการเสรีนิยมประชาธิปไตยในกัมพูชาจะสูญพันธุ์อย่างสิ้นเชิง? และเป็นไปไม่ต่างจากระบอบสีหนุราชที่กำราบลัทธินิยมนี้

กระทั่งจู่ๆ สโลแกน “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ!” ก็กลับมาอีกครั้ง แต่เป็นโฉมใหม่การเมืองไทยไปนั่น พลันการรำลึกถึงวลี “ไชโยลัทธิประเจียธิปไตยๆ” ของกัมพูชาก็กลับมาอีกครั้ง

ในคราบของรูปเงาดังกล่าว ที่ส่งต่อถึงรากเหง้าแลความปรารถนาในลัทธิประชาธิปไตย ตลอดจนกระบวนการเติบโตในสังคมประเทศ แห่ง 2 นครา ในวันที่ดินฟ้าอากาศและปัจจัยเจริญพันธุ์เอื้อต่อต้นกล้าเมล็ดพันธุ์ การก่นเสียงกึกก้อง

“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ!” จึงกลับมารุ่งรางในหมู่ผู้ชุมนุมชาวไทยอีกคำรบ

ทว่าครรลองการต่อสู้แบบเสรีนิยมใหม่ของกัมพูชานั้น กลับถดถอยและไม่อาจเติบโตได้ในรุ่นนี้ ระบอบรัฐอำนาจเดิมที่แข็งแกร่ง เมล็ดพันธุ์ใหม่ที่แคระแกร็นและเปราะบาง อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาล้าหลัง แต่โปรดทราบเถิดว่า ก่อนหน้ามาถึงจุดนี้นั้น พลวัตแห่งการเปลี่ยนแปลงในอดีตได้ทิ้งเมล็ดพันธุ์แห่งการปฏิวัติไว้บ้างแล้ว

ตั้งแต่เมื่อ 70 ปีที่แล้ว ที่การเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสได้คู่ขนานไปกับระบอบประชาธิปไตย

แต่แล้วกับดักสำคัญก็บันดาลให้เปลี่ยนแปลงไป

 

ปฐมเหตุ

จุดเริ่ม เมื่อปลดแอกฝรั่งเศสแม้จะไม่เบ็ดเสร็จในคราวเดียวนั้น กลุ่มประชาธิปไตย-เสรีนิยมใหม่เริ่มมองเกมออกว่า ผู้แฝงตัวมากับการทำลายประชาธิปไตยไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นฝ่ายกษัตริย์นิยมและนโรดม สีหนุ ไม่ว่าการเขียนประวัติศาสตร์ให้กรณีเรียกร้องเอกราชมาเป็นผลงานของตนและอื่นๆ

เหตุผลมาจากความหวาดกลัวว่า คนกลุ่มนี้จะปฏิวัติล้มระบอบกษัตริย์และเปลี่ยนแปลงการปกครอง!

ตัวอย่างความเห็นของนายซอน ซานน์ อดีตข้าราชการฝรั่งเศสรับใช้ใกล้ชิดกษัตริย์แต่รุ่นบรรพชน ศึกษาต่างประเทศ เห็นความเปลี่ยนแปลงมามาก

แต่เมื่อได้รับการชักชวนเข้าร่วมพรรคประชาธิปไตย ซอน ซานน์ กลับหวั่นเกรงแนวคิดของกลุ่มเสรีนิยมใหม่ที่เขากล่าวว่า อาจมีโอกาส “เปลี่ยนราชอาณาจักรกัมพูชาไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ”

และนั่นคือที่มาของความพ่ายแพ้ของกลุ่มประชาธิปไตยต่อฝ่ายกษัตริย์ที่เข้ามาควบคุมรัฐสภาและแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 30-ก.ยกร่างตำแหน่ง “ประมุขแห่งรัฐ” ที่ไม่ต่างจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในการแต่งตั้ง-ถอดถอนนายกรัฐมนตรีทุกโอกาส และทำให้ยุคสีหนุราชรอบ 10 ปีเศษนั้น วนเวียนแต่งตั้งถอดถอนนายกรัฐมนตรีร่วมสี่สิบครั้ง!

อย่างไรแม้จะกดทับรัฐสภาอย่างแน่นหนาก็ตาม กลับสร้างดาวเด่นนอกสภาอย่างหลากหลายและมากมาย ทั้งวิชาการและเวทีไฮด์ปาร์ก ในแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมฟังปราศรัยจำนวนมาก จนเป็นที่มาของสโลแกน “ไชโยลัทธิประเจียธิปไตย!”

รวมทั้งกลุ่มเสรีนิยมใหม่หัวก้าวหน้าที่เติบโตขึ้นมาก ทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและสังคมนิยม

ก่อนหน้านั้น คนเหล่านี้ได้พัฒนาการต่อสู้ของตนตามแนวสัจนิยม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เด่นชัดในเมล็ดพันธุ์ชนกลุ่มนี้ คือ การฉายโชนทางความคิดเชิงก้าวหน้าที่สามารถปลุกพลังมวลชน ความเหลื่อมล้ำอยุติธรรมที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมของคนในสังคม

ตัวอย่างที่ว่าคือ เก่ง วันสัก กับการล้มทฤษฎีความเชื่อฝ่ายนักวิชาการ ฝ่ายอนุรักษนิยมที่อุปถัมภ์โดยราชสำนักและรัฐบาล แต่ด้วยข้อคัดง้างที่มีตรรกวิทยาการรองรับ ผลงานเก่ง วันสัก ที่เขย่าหัวอนุรักษนิยมนี้ ต่อมาถูกนำไปอภิปรายและกลายเป็นที่ยอมรับของคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น

ในเชิงตรรกวิทยาการสมัย ชัยชนะของเก่ง วันสัก ที่พิสูจน์ได้ต่อสาธารณชนครั้งนั้น ได้นำไปสู่ความยุ่งยากของระบอบเดิมที่เห็นว่า นี่คือวิถีใหม่ที่ส่อทำลายอำนาจรัฐ เห็นชัดถึงการป่าวร้องที่สุดโต่ง ก้าวร้าวอหังการ หยิบยกวิพากษ์ปัญหาต่อสังคมได้ทุกเรื่องอย่างเชิงประจาน

แม้แต่ชนชั้นวรรณะที่ควรละเว้น แต่ข้าเก่าเต่าเลี้ยงอย่างเก่ง วันสัก มันก็ยังจาบจ้วงไม่ละเว้น การกระทำเยี่ยงนั้น ยิ่งก่อการให้ประชาชนเกิดความกระด้างกระเดื่อง

และความรู้สึกที่ว่า ระบอบกษัตริย์นิยมนั้น คือความล้าหลังของสังคม

 

บนสังเวียนที่สังเวย

และที่มาของการไล่ล่าสังหารพวกกลุ่มหัวตรงข้าม โดยหน่วยสันติบาลลับที่พัฒนามาจากหน่วยลับฝรั่งเศสยุคปลายอาณานิคม

เมื่อโยงสู่ประเด็นนี้ การเสียชีวิตของเจ้าสีโสวัตถิ์ ยุทธิวงษ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยแต่ครั้งที่เริ่มก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ และต่อมา การลอบสังหารนายเออ เกอร์ หัวหน้าพรรคคนใหม่ขณะออกจากรัฐสภา แน่ชัดว่า นี่คือการกวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตย

ต่อมา การจับกุมนายซึง ง็อกทันห์ การอุ้มหายนายสัม ซารี ผู้ฝักใฝ่เสรีนิยมแบบอเมริกัน และกลุ่มประชาธิปไตยนักคิดนักเขียนที่ประสบชะตากรรมอีกมาก

การกวาดล้างกลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างถอนรากถอนโคนในยุคแรกและยุคกลางตามแนวคิดกษัตริย์นิยมและประนีประนอมต่อมาในยุคปลายด้วยการยกประเคนตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ หวังให้กลุ่มเสรีนิยมใหม่บางคนเปลี่ยนใจและหันมานิยมสีหนุราชแทนลัทธิมาร์กซิสต์นั่น

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ในที่สุดแล้วสมาชิกพรรคประชาธิปไตยทุกยุคก็ถูกกวาดล้างจนสิ้น บ้างสูญหาย ตาย ติดคุก บ้างหนีไปลี้ภัยในยุโรปเช่นนักวิชาการบางกลุ่มและวันสัก บ้างมุดลงดินหันไปร่วมอุดมการณ์กับพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัวอย่างเขียว สัมพัน, ฮู ยุน, ฮู นิม

เมื่อกวาดล้างศัตรูจนเกือบจะสิ้นซาก แต่ระบอบกษัตริย์นิยมกัมพูชากลับทำลายตัวเอง ทั้งนโยบายต่างประเทศ คอร์รัปชั่นและผลาญงบฯ หลวงจนหมดคลัง

 

กระเบื้องน้อยไม่ถอยจม

กระนั้นกระแสเสรีนิยมใหม่ฝ่ายประชาธิปไตยกัมพูชาก็ยังไม่เลือนหาย จากยุทธิวงษ์ รุ่นแรกถึงสีโสวัตถิ์ สิริมะตะ ผู้ส่งสารเปิดผนึกถึงสีหนุฉบับ 1974 ที่เผยให้เห็นถึงปมเหตุของปัญหาและต้นตอชนวนทั้งมวลนี้

จากความดื้อแพ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับพิเศษ แต่งตั้งตนเป็นประมุขแห่งรัฐ แม้จะถูกถอดถอนโดยรัฐสภาอย่างครั้งแล้วครั้งเล่า

“ด้วยความเคารพสูงสุด ขอเพียงแต่พระองค์จะทรงยอมรับมติเอกฉันท์จากตัวแทนประชาชนเท่านั้น” สิริมะตะร้องขอให้สีหนุทบทวนความผิดพลาดทั้งหมด

รวมทั้งองค์กรนอกระบบที่ทรงก่อตั้งขึ้นเพื่อกำจัดฝ่ายเสรีนิยมอย่างทุกวิถีทางอย่าง “รอยัลโซเชียลิสต์แขฺมร์ยูท” และเกินกว่าจะคาดคิดด้วยบทเรียนล้ำค่านั้นหรือไม่ที่ทำให้ระบอบกษัตริย์-สีหนุราชกัมพูชาถูกโค่นทำลายในมีนาคม 1970 ที่ตามมาด้วยสงครามกลางเมืองอันวุ่นวายและจมหายไปกับประวัติศาสตร์แห่งการปฏิวัติซึ่งกันทุกฝ่ายอย่างสุดโต่ง

แม้การคืนชีพของฝ่ายเสรีนิยมใหม่ในกัมพูชาจะยังไม่กลับมา แต่ใครจะรู้ อนาคตโลกเสรีนิยมที่หลอมรวมและตกผลึกไปทั่วโลกขณะนี้ อาจช่วยบ่มพลวัตคนรุ่นใหม่ให้ตื่นรู้และเปลี่ยนแปลงสังคม ไปสู่สิ่งที่ครั้งหนึ่ง คนรุ่นเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนได้ก่อการไว้อย่างทุกข์ยากแสนเค็ญ

และด้วยวลีนั้น ที่อาจจะกลับ ณ วันหนึ่ง

ไชโย เผด็จการจงพินาศ! ไชโย ลัทธิประเจียธิปไตยจงเจริญ!