เทศมองไทย : โลกยุค “ตื่นทอง” กับค่าเงินบาทของไทย

ราคาทองคำในตลาดโลก เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ซื้อขายกันที่ระดับราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่เกินกว่า 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในวันเดียวกันนี้ ถ้าใครผ่านไปมาบริเวณหน้าร้านทองรูปพรรณในบ้านเรา จะเห็นป้ายราคาทองคำรูปพรรณบาทละ สูงถึงเกิน 30,000 บาท เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน

นักวิเคราะห์ตลาดทองของโลกคาดกันด้วยซ้ำไปว่า ภายในสิ้นปีนี้จะขยับขึ้นไปอีก โดยเชื่อว่าถึงคริสต์มาส ราคาทองอาจจะสูงถึง 2,200-2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์เลยทีเดียว

โลกถึงยุค “ตื่นทอง” กันจริงๆ จังๆ แล้วละกระมั้ง? ดูจากสภาวะตลาดในเวลานี้ก็เห็นทีจะจริงอย่างที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตกันละครับ

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดทองคำโลกชี้ให้เห็นว่า การลงทุนในทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในโลกเวลานี้ ไม่ได้หมายความว่าทั่วโลกจะระดมเงินมาซื้อทองกันนะครับ เขาชี้ให้เห็นว่า การลงทุน (ซื้อ) ในทองคำน่ะ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในตลาดตะวันตก อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ในเอเชียกลับซื้อลดลง เช่นเดียวกับในเมืองไทย ที่ “ตื่นทอง” กับเขาเหมือนกัน แต่เป็นการ “ตื่น” แบบควักกันออกมาขาย เพราะได้ราคาสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ว่ากันว่าเฉพาะในปีนี้ คนไทยนำทองออกมาขายคืนให้กับร้านทองมากกว่า 40 ตันเข้าไปแล้ว

 

ภาวการณ์ตื่นทองทำนองนี้ ไม่ใช่เรื่องชวนให้ประหลาดใจแต่อย่างใด

โควิด-19 ไม่เพียงทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกทรุดตัวลงอย่างมากและอย่างรวดเร็วเท่านั้น ยังก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในระดับสูงสุดอีกด้วย

ท่านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่รักของผม เคยประกาศอย่างมั่นใจว่า หน้าร้อนนี้สหรัฐอเมริกาจะกลับมาเปิดให้ดำเนินกิจการธุรกิจทั้งหมดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เจอการระบาดระลอกใหม่วันละหลายหมื่น จนผู้ติดเชื้อทั้งหมดจวนเจียนจะถึง 5 ล้านคนอยู่รอมร่อ มีคนตายจากโรคติดเชื้อนี้อีก 16,000 คนเข้าไป ก็เงียบไปแล้วครับ

นี่ยังไม่นับความไม่แน่นอนจากเหตุอื่นๆ อีก อย่างเช่น ปัญหาขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรป เป็นต้น

ทุกอย่างล้วนแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจของแต่ละประเทศและเศรษฐกิจของทั้งโลก กว่าจะฟื้นกลับคืนสู่สภาวะปกติคงต้องใช้เวลา แถมยังต้องเป็นเวลานานไม่น้อย

เหล่านี้ล้วนทำให้ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนมากขึ้น แม้ผลตอบแทนจะไม่หวือหวารวดเร็วเท่ากับสินทรัพย์อื่น อย่างเช่น หุ้น หรือตราสารหนี้หรือพันธบัตรทั้งหลาย แต่มั่นคงแน่นอนกว่า ในขณะที่ผลตอบแทนก็ไม่ได้แย่กว่าผลตอบแทนจากการลงทุนด้านอื่นๆ ซึ่งนับวันมีแต่จะกดต่ำลงมากขึ้นตามลำดับเพราะอัตราดอกเบี้ยใกล้เป็นศูนย์ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา

 

ภาวะทองคำขายดีเช่นนี้ ทำให้ผมย้อนนึกไปถึงรายงานชิ้นหนึ่งของสำนักงานข่าวบลูมเบิร์กเมื่อ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่บอกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังปิ๊งไอเดียแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งโป๊ก ให้ลงมาอยู่ในระดับที่รับกันได้โดยอาศัยทองคำ

4 ปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตลอดนะครับ ตอนนี้ถ้าเทียบกับเงินดอลลาร์แล้วแข็งค่าขึ้นมามากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์แล้ว

ดูจากดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (อาร์อีอีอาร์) ซึ่งเทียบค่าเงินบาทเฉลี่ยกับตะกร้าเงินแลกเปลี่ยนแล้วก็ได้ ดัชนีค่าเงินบาทสูงถึง 111.4 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน แสดงว่าค่าเงินสูงเกินจริงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ค่าบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยไม่น้อย เนื่องจาก 70 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของไทยขึ้นอยู่กับการส่งออกแล้วก็การท่องเที่ยว ค่าบาทแข็งมากเท่าใด การส่งออกก็จะแข่งกับชาวบ้านเขาลำบากมากขึ้นตามลำดับ นักท่องเที่ยวก็จะต้อง “ลงทุนสูง” มากขึ้นสำหรับการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย

โดยปกติ เมื่อมีปัญหาเงินแข็งค่า ก็แก้ไขด้วยการแทรกแซงด้วยการเทขายบาท ซื้อดอลลาร์เข้ามาเป็นระยะๆ แต่ขืนทำอย่างนั้นในตอนนี้ เห็นทีไทยเราจะเข้าข่าย “บิดเบือนค่าเงิน” อย่างที่สหรัฐอเมริกาจับจ้องอยู่

นั่นคือที่มาของแนวทางการใช้ “ทองคำ” ในการแก้ปัญหา เพราะเราไม่ได้เทขายบาทโดยตรง แต่เราเทขายทองคำแทน

การขายทองคำในตลาดโลก เราจะได้รับเงินเป็นดอลลาร์กลับมา เท่ากับเป็นการปรับเสถียรภาพให้กับค่าบาทไปในตัว

 

ไทยเราไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตทองคำก็จริง แต่เป็นประเทศที่ส่งออกทองคำเป็นอันดับ 9 ของโลกเลยทีเดียว ปี หนึ่งๆ เราซื้อ-ขายทองคำในรูปของเงินบาทเป็นมูลค่าราว 50,000 ล้านดอลลาร์ มีการคำนวณกันว่า ตกราวๆ 5-7 เปอร์เซ็นต์ของตลาดปริวัตรเงินตราทั้งหมดของประเทศ

บลูมเบิร์กบอกว่า พูดกันอยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ทำอย่างนี้ไม่เข้าข่ายบิดเบือนค่าเงินของสหรัฐอเมริกา แต่ ธปท.จะเต็มใจทำหรือไม่? ไม่ได้ตัดสินใจกันในตอนนี้

การตัดสินใจเรื่องนี้ ว่ากันว่าขึ้นอยู่กับเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 21

ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเต็มตัวในวันที่ 1 ตุลาคมที่จะถึงนี้ครับ