สุรชาติ บำรุงสุข : ทหารเกณฑ์-เกณฑ์ทหาร วิวาทะกลางลมร้อน!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
แฟ้มภาพ-บรรยากาศการเกณฑ์ทหาร ที่บุรีรัมย์ เมื่อ 1 เม.ย. 59

“เมื่อใดก็ตามที่ชายหนุ่มได้ตัดสินใจเข้ารับราชการทหารแล้ว เขาจะไม่มีทางกลับออกมาได้อีกเลย”

คำบรรยายถึงการเกณฑ์ทหารในยุโรปในศตวรรษที่ 18

Christon Archer และคณะ

World History of Warfare (2002)

เปิดประเด็น

ในทุกเดือนเมษายนของทุกปี ผมแทบจะมีวาระประจำที่มากับลมร้อนของฤดูนี้… ผมมีโอกาสได้แสดงความเห็นกับสื่อในหัวข้อที่ผมอยากจะเรียกว่า “วาระแห่งเดือนเมษายน” ซึ่งก็คือเรื่องของ “การเกณฑ์ทหาร” แม้ประเด็นนี้แต่เดิมอาจจะดูเป็นเรื่องของชายไทยและครอบครัว หรือในมุมของปัญหาความมั่นคงก็เป็นเรื่องทางยุทธศาสตร์ว่าด้วยปัญหาของระบบกำลังพลสำรองของประเทศ

และวันนี้คงต้องยอมรับว่าประเด็นของการเกณฑ์ทหารเป็นปัญหาที่สังคมดูจะให้ความสนใจมากขึ้น

หากทดลองวัดสถิติหยาบๆ จาก “มติชนออนไลน์” ในวันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2559 ในรายการข่าวยอดนิยม 10 เรื่อง พบว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเกณฑ์ทหารถึง 4 เรื่อง ได้แก่

อันดับ 1 ฮือฮา “น้องปุยฝ้าย” สาวประเภทสอง “นครพนม” แต่งตัวสวยเข้าเกณฑ์ทหาร

อันดับ 4 ผบ.ทบ. สั่งเอง-ย้ายด่วน! พ.ท.-ร.อ. พัน ร.152 พัน 1 รับผิดชอบพลทหารตาย

อันดับ 7 จากอดีตสู่ปัจจุบัน รอยยิ้ม คราบน้ำตา และดราม่า “ดาราไทย” เมื่อต้องรับใช้ชาติ

อันดับ 9 “ชิน ชินวุฒิ” น้ำตาร่วง ห่วงครอบครัว หลังรู้ต้องเป็นทหาร เตือนรุ่นน้องให้เรียน รด.

สถิติหยาบๆ หรือจากหัวข่าวการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ที่ปรากฏให้เห็น กำลังตอบเราอย่างชัดเจนว่าหัวข้อเรื่องการเกณฑ์ทหาร ไม่ใช่เรื่องของกองทัพที่จะถือว่าเป็นเรื่อง “ภายในของทหาร” หรือเป็น “ยุทธศาสตร์ทหาร” ที่สังคมไม่อาจก้าวล่วงได้อีกต่อไปแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สังคมกำลังจับจ้องกับการจัดการของผู้นำกองทัพต่อการลงโทษอย่างรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตของกำลังพลที่ถูกเรียกอย่างดูถูกว่า “ทหารเกณฑ์”…

ผู้นำทหารจะรู้สึกตัวหรือไม่ก็ตามว่า การใช้กำลังลงโทษจะด้วยความรู้สึกของการ “ดูถูกทางชนชั้น” หรือจะด้วยเหตุผลใดก็ตามจากการ “ลุแก่อำนาจ” ที่เกิดขึ้นในสถาบันทหาร กำลังทำให้กองทัพกลายเป็น “จำเลยสังคม”

ดังนั้น บทความนี้จึงอยากจะขอเชิญชวนท่านผู้อ่านร่วมกันสนใจและเปิดประเด็นเรื่อง “การเกณฑ์ทหาร” ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ จะคิดเสมือนว่าเรื่องนี้เป็นดัง “ลมร้อน” ในฤดูเกณฑ์ทหารที่พัดผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ได้… ประเด็นนี้จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยต่อไปในระยะยาว


วิวัฒนาการ

การเกณฑ์ทหาร (conscription หรือ drafting) คือระบบการเรียกบุคคลเข้ารับราชการในแบบภาคบังคับ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นเรื่องของการเข้ารับราชการทหารเป็นสำคัญ และการนำบุคคลเข้าเป็นทหารเช่นนี้มักจะเป็นบุคคลเพศชาย ซึ่งอาจจะเป็นผลจากความเชื่อและเงื่อนไขทางกายภาพว่าเพศชายเป็นบุคคลที่เหมาะสมในการเป็น “นักรบ” (อย่างน้อยมากกว่าเพศหญิง แต่ก็มิได้หมายความว่านักรบหญิงไม่มี)

นอกจากนี้ หากมองจากบริบทประวัติศาสตร์ การเกณฑ์ทหารถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเรื่องเก่าแก่ของประวัติศาสตร์ทหาร เพราะทุกสังคมมีสภาวะที่ต้องเผชิญกับการสงคราม ดังนั้น สังคมจึงต้องมีระบบที่จะเอาบุคคลในสังคมเข้ามาทำหน้าที่เป็นกำลังพลในการรบ

ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมอียิปต์ กรีก หรือจีนในสมัยโบราณ หรืออย่างน้อยตัวอย่างจากภาพยนตร์เรื่อง “มู่หลาน” ที่เราคุ้นเคยในสังคมไทย ก็เป็นภาพสะท้อนถึงการเกณฑ์กำลังพลเข้าสู่กองทัพจีนในยุคอดีต เป็นต้น

ปัญหานี้มีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ เพราะระบบเช่นนี้เป็นหลักประกันสำหรับราชอาณาจักรใหญ่หรือบรรดาจักรวรรดิทั้งหลาย

เนื่องจากการนำกำลังพลเข้าประจำการในกองทัพเป็นหลักประกันโดยตรงต่อการสร้างกองทัพขนาดใหญ่ และด้วยอำนาจของกองทัพเช่นนี้ก็คือเครื่องมือหลักของการขยายจักรวรรดิ ดังเช่นที่ปรากฏให้เห็นมาตลอดในกระแสธารของประวัติศาสตร์โลก จักรวรรดิมีกองทัพขนาดใหญ่เป็นเครื่องมือ และกองทัพขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้ด้วยระบบของการนำเอาบุคคลที่เป็นชายเข้าสู่กองทัพ ซึ่งกองทัพจะมีขนาดใหญ่ได้มากน้อยเพียงใด จึงมิได้เพียงจะขึ้นอยู่กับขนาดของสังคมเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับกลไกในการบริหารจัดการกำลังพลในสังคม ซึ่งก็คือคำถามถึงประสิทธิภาพของกลไกเช่นนี้

ฉะนั้น กลไกเช่นนี้จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานหลัก 2 ประการก็คือ

การบังคับ (compulsory enlistment) หรือการเกณฑ์กำลังพล

และการอาสาสมัคร (volunteers)

ซึ่งกลไกทั้งสองประการนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสังคมแต่ละสังคม และที่สำคัญก็ยังขึ้นอยู่กับความต้องการและลักษณะของกองทัพ ซึ่งก็วางอยู่บนข้อถกเถียงที่สำคัญ 2 ประการเช่นกันคือ ประเทศต้องการกองทัพขนาดเล็กที่มีกำลังอาสาสมัครและประจำการอยู่ในกองทัพเป็นเวลานานขึ้น

หรือประเทศต้องการกองทัพขนาดใหญ่ที่มีกำลังพลประจำการอยู่ในกองทัพเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ตามที่กำหนดไว้

ซึ่งในทางทฤษฎีของการบริหารกองทัพสมัยใหม่ก็คือข้อถกเถียงเรื่อง ทหารอาชีพ-อาสาสมัครระยะยาว หรือจะเลือกแบบทหารเกณฑ์ระยะสั้น


พัฒนาการในศตวรรษที่ 18

ดังได้กล่าวแล้วว่า การเกณฑ์กำลังพลเข้าสู่กองทัพเป็นเรื่องที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ และการเกณฑ์เช่นนี้มีความผูกพันอยู่กับเรื่องของที่ดิน เช่น รางวัลของการรับราชการทหารเมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว ทหารผู้นั้นก็จะได้ที่ดินเป็นการตอบแทน คือมีสิทธิในการครอบครองดินแดน (the right to hold land) เป็นต้น

หรือในยุคที่บุคคลมีพันธะในเรื่องของที่ดินกับขุนนางเช่นในระบบศักดินา ทำให้ชาวนาผู้อาศัยมีพันธะที่ต้องเป็นทหารให้แก่ขุนนาง แต่ระบบเช่นนี้ก็ไม่เอื้อให้เกิดการสร้างกองทัพขนาดใหญ่ และที่สำคัญไม่ก่อให้เกิดความเป็นทหารอาชีพ

ดังนั้น เมื่อวิวัฒนาการของความเป็น “รัฐสมัยใหม่” เกิดขึ้นคู่ขนานกับการกำเนิดของ “สงครามสมัยใหม่” ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องสร้าง “กองทัพสมัยใหม่” รองรับต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อรัฐในยุโรปมีสถานะเปลี่ยนผ่านจากรัฐแบบเก่าของยุคศักดินายุโรปก้าวสู่ความเป็น “รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์” (The Absolutist States) ส่งผลโดยตรงต่อราชสำนักต่างๆ ที่จะต้องคิดถึงเรื่องของการสร้างกองทัพของตน

ดังนั้น ถ้าถือเอาคริสต์ศตวรรษที่ 18 ของยุครัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของยุโรปเป็นเส้นแบ่งเวลาแล้ว ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีข้อถกเถียงอย่างมากกับปัญหาเรื่องของการเกณฑ์กำลังพลเข้าสู่กองทัพ

หนึ่งในเหตุผลที่จะต้องคิดเรื่องเช่นนี้มากขึ้นก็เพราะความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทหาร และทั้งยังเกิดแนวคิดใหม่ของการจัดโครงสร้างของหน่วยทหาร

เช่น หน่วยทหารปืนใหญ่ของฝรั่งเศสถูกจัดเป็นกองร้อยและเป็นกรม ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ส่งผลโดยตรงต่ออนาคตว่า กองทัพต้องการกำลังพลที่เป็น “ทหารอาชีพ” มากขึ้น มากกว่าการพึ่งพาอยู่กับระบบจัดการกำลังพลแบบเก่าที่อาศัยการเกณฑ์ชาวนาเป็นหลัก

ประกอบกับกำลังพลในยุคดังกล่าวมักจะมีพื้นฐานเดิมมาจากบุคคลที่มีปัญหาในสังคม ดังคำอธิบายถึงสภาพของกำลังพลในยุคนั้นว่า “ขี้เกียจ…คอร์รัปชั่น…นิยมความรุนแรง…ไร้ศีลธรรม…โจร…และอื่นๆ” คำบรรยายล้วนแต่มีความเป็นลบเกือบทั้งสิ้น ซึ่งก็ไม่แปลกนักที่จะพบว่า อาชีพทหารถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีเกียรติในสังคม

สิ่งที่กล่าวอย่างสังเขปในข้างต้นตอบได้ชัดเจนว่าระบบจัดหากำลังพลแบบเก่าไม่เป็นปัจจัยต่อการสร้างกองทัพสมัยใหม่แต่อย่างใด ดังนั้น ผู้ชายอาจจะถูกระดมเข้าสู่กองทัพเมื่อสังคมต้องเผชิญกับการบุกของกองทัพจากภายนอก แต่ก็ไม่มีระบบรองรับที่ชัดเจน เช่น จะพบว่าในจักรวรรดิรัสเซียใช้วิธีการไปรวบตัวชาวนาและบังคับให้เป็นทหาร

หรือมีประวัติศาสตร์หลายครั้งที่พบว่าชาวนาและกรรมกรอังกฤษตัดสินใจก่อจลาจลด้วยความกลัวว่าพวกเขาจะถูกจับไปเป็นทหาร…

จะทำอย่างไรเมื่อคนไม่อยากเป็นทหาร และทหารไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติในสังคมยุโรป และประเด็นสำคัญก็คือ การสร้างจักรวรรดิจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีระบบที่มีประสิทธิภาพในการนำเอาคนเข้าสู่กองทัพ!


กำเนิดระบบเกณฑ์ทหารสมัยใหม่

ถ้ามองจากบริบททางการเมืองแล้ว คงจะต้องยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวถูกแก้ไขจากการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 สถานะของบุคคลถูกเปลี่ยนเป็น “พลเมืองแห่งชาติ” (national citizen) ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่พวกเขาเป็น “ไพร่” (หรืออาจจะเรียกว่า “ไพร่ติดที่ดิน” ก็แล้วแต่) การมีสถานะใหม่เช่นนี้ทำให้เกิด “พันธะใหม่”

กล่าวคือ ชายฝรั่งเศสมีพันธะโดยตรงในการปกป้องสาธารณรัฐจากการคุกคามจากภายนอก ดังคำกล่าวในมาตรา 1 ของกฤษฎีกาทหาร 1798 ที่ว่า “ชายฝรั่งเศสทุกคนเป็นทหารและมีหน้าที่ในการป้องกันชาติ” (The 5 September 1798 Act)

ซึ่งผลจากการตรารัฐบัญญัตินี้ทำให้นโปเลียนสามารถสร้างกองทัพขนาดใหญ่ของจักรวรรดิฝรั่งเศสในยุคของพระองค์ และขณะเดียวกันก็สามารถทำสงครามขนาดใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง

ความเปลี่ยนแปลงที่ต้องถือว่าเป็น “นวัตกรรมทหาร” ที่สำคัญของยุคสมัยก็คือ ในวันที่ 23 สิงหาคม 1793 รัฐสภาปฏิวัติฝรั่งเศสได้ออกกฤษฎีกาเกณฑ์กำลังพล (Lev?e en Masse)

กฤษฎีกานี้คือจุดกำเนิดของระบบการเกณฑ์ทหารสมัยใหม่ (modern conscription) และต้องถือว่าเป็นความนำสมัยของรัฐปฏิวัติฝรั่งเศส

เพราะทำให้กองทัพปฏิวัติฝรั่งเศสขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงระยะเวลา 12 ปี (1800-1812) ชายชาวฝรั่งเศสมากกว่า 1.3 ล้านคนถูกระดมเข้าสู่กองทัพ คิดเป็นร้อยละ 41 ของชายชาวฝรั่งเศส

ปรากฏการณ์เช่นนี้กลายเป็นความน่าตกใจสำหรับกองทัพของราชสำนักอื่นๆ ในยุโรป เนื่องจากกองทัพเหล่านั้นสามารถระดมกำลังเข้ามาในระดับหมื่นคนเท่านั้น

การกำเนิดของกองทัพที่ผ่านระบบการเกณฑ์สมัยใหม่เช่นนี้รับกับเงื่อนไขสงครามที่ก้าวสู่ความเป็น “สงครามสมัยใหม่” ที่ต้องการ “กองทัพแห่งชาติ” โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องอายุ ชาติพันธุ์ และความเชื่อ

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ จะต้องสร้าง “กองทัพแบบประชานิยม” (คือเป็น popular armies) โดยรวมคนทุกหมู่เหล่าเข้าสู่กองทัพ และต่อมามีการออกกฤษฎีกาที่กำหนดว่า “ชายฝรั่งเศสทุกคนที่ไม่มีครอบครัว อายุระหว่าง 18-25 ปีต้องเป็นทหาร… กองทัพของจักรวรรดิฝรั่งเศสขยายตัวเป็นกองทัพขนาดใหญ่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ยุโรป

กองทัพของนโปเลียนในปี 1812 มีกำลังพลมากถึง 611,000 นาย สถานะด้านกำลังพลเช่นนี้สร้างความน่าเกรงขามอย่างมากให้แก่กองทัพของฝ่ายศัตรู

ปรากฏการณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสให้คำตอบอย่างชัดเจนว่าระบบการเกณฑ์ทหาร ทำให้กองทัพสมัยใหม่กลายเป็นกองทัพขนาดใหญ่ และสงครามในแบบเดิมกลายเป็นสงครามขนาดใหญ่ หรือนำไปสู่การกำเนิดของชุดความคิดเรื่อง “ชาติติดอาวุธ” (nation-in-arms) ตามคำกล่าวของนโปเลียน ซึ่งก็คือ สภาวะที่รัฐต้องเตรียมพร้อมเพื่อการสงครามตลอดเวลา โดยมีระบบการเกณฑ์ทหารเป็นเครื่องมือหลักของการสร้างกองทัพ

และเชื่อว่าด้วยวิธีการเช่นนี้จะทำให้รัฐรอดพ้นจากการคุกคามของรัฐภายนอก ซึ่งในขณะนั้นก็คือการคุกคามจากกองทัพของราชสำนักอื่นๆ ในยุโรปที่หวาดกลัวและต่อต้านการปฏิวัติฝรั่งเศส และกลัวว่าการปฏิวัติเช่นนี้จะนำไปสู่การโค่นล้มระบบกษัตริย์ในประเทศตน


ผลกระทบ

ดังนั้น สงครามที่เกิดขึ้นจึงเป็นการทดสอบระหว่างกองทัพสมัยใหม่ที่มีระบบการเกณฑ์กำลังพลกับกองทัพของราชสำนักแบบเก่าที่ไม่มีระบบกำลังพลสำรอง

ดังนั้น ความพ่ายแพ้ของกองทัพปรัสเซียต่อกองทัพฝรั่งเศสจึงเป็นความตกใจครั้งใหญ่ของยุโรป เพราะกองทัพปรัสเซียได้ชื่อว่าเป็นกองกำลังทหารอาชีพ แต่ก็มีขนาดเล็ก ซึ่งไม่อาจต้านทานกองทัพของนโปเลียนได้เลย

จนในที่สุด ผู้นำทหารของปรัสเซียก็ต้องยอมรับที่จะนำเอาระบบการเกณฑ์ทหารของฝรั่งเศสไปใช้ หรือรัสเซียในปี 1861 ก็ได้ประกาศเลิกทาส และต่อมาในปี 1874 ก็ใช้ระบบเกณฑ์กำลังพลเช่นนี้ด้วย

จนอาจกล่าวได้ว่าหลังจากชัยชนะของนโปเลียน และหลังจากการใช้ระบบการเกณฑ์ทหารที่ปรัสเซียได้นำเอาตัวแบบของฝรั่งเศสมาใช้แล้ว กองทัพในยุโรปก็เดินไปในทิศทางเดียวกัน… การเกณฑ์ทหารเป็นระบบกำลังพลหลักของการสร้างกองทัพในยุโรปและกองทัพทั่วโลก

แต่ในที่สุด ระบบนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา จนนำไปสู่การกำเนิดของระบบใหม่ที่เป็นทหารอาสามากกว่าทหารเกณฑ์แบบเก่า!