E-DUANG :​​​ บทเพลง เสียงแห่ง ความเงียบ พลานุภาพ ความว่าง ของเต๋า

ไม่ว่าการยืนถือ “กระดาษเปล่า” ของนักศึกษาบนลานสกายวอล์ก แยกปทุมวัน ไม่ว่าการยืนถือ “กระดาษเปล่า” ของนักเรียนสตรีแห่ง หนึ่งของจังหวัดร้อยเอ็ด

หากใช้ทฤษฎีฟิสิกค์ของ เซอร์ไอแซ็ค นิวตัน เข้าไปจับก็ยากที่จะสามารถอธิบายได้

เพราะที่นักศึกษาที่นักเรียนยืนถือคือ “กระดาษเปล่า”

ขณะเดียวกัน หากใช้ทฤษฎีสสารธรรมประวัติศาสตร์ของคาร์ล มาร์กซ์ และ เฟรเดอริก เองเกลส์ เข้าไปตรวจสอบก็ยิ่งมองไม่เห็นภา วะแห่งพลังของสสารธรรมในทางประวัติศาสตร์ได้

จำเป็นต้องเริ่มจากภาวะแห่งความว่างตามวิถีแห่งเต๋าของท่านเหลาจื่อจึงพอจะมองเห็น

ทั้งมิได้มองเห็นโดยพลังแห่ง”กระดาษเปล่า”โดยตรง

ตรงกันข้าม อาการแคลงคลางกังขาของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่างหาก อาการหงุดหงิดของผู้อำนวยการโรงเรียนต่างหาก

คือ คำตอบที่สอดรับกับสภาพความเป็นจริงอย่างที่สุด

 

ใครก็ตามที่ติดตามไลฟ์สดจากจังหวัดร้อยเอ็ด ทุกอย่างดำเนินไปราวกับเป็นหนังเงียบในยุคแห่ง ชาร์ลี แชปลิน

นั่นก็คือ การเคลื่อนไหวของเด็กนักเรียนที่เห็นเบื้องหน้า

เขาเดินขึ้นไปบนสะพานของโรงเรียนที่ใช้ไปมาระหว่างแต่ละตึกแล้วค่อยๆยก “กระดาษเป่า” ขึ้นอยู่ในระดับหน้าอก คนแล้วคนเล่า กระดาษแผ่นแล้วแผ่นเล่า

จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8 จาก 8 เป็น 16 จาก 16 เป็น 32

จากนั้นก็ค่อยๆทะยอยกันเดินลงมาข้างล่าง เรียงเป็นแถว

ทุกอย่างดำเนินไปในความเงียบ ภาษาอันเปล่งออกมาก็เป็นภาษาเดียวกันกับที่ดำรงอยู่บน”กระดาษเปล่า” ไม่มีการเปล่งเสียงใดๆออกมา

“ความเงียบ” ต่างหากที่กำลังสำแดงเป็นพลังแห่ง”ความเงียบ”

ไม่ว่า “กระดาษเปล่า” ไม่ว่า “ความเงียบ” แม้ดำรงอยู่อย่างไร้ตัวตนแต่ก็สามารถแผ่”พลานุภาพ”ออกมา

 

ไม่ว่าการยืนถือ”กระดาษเปล่า”ของนักศึกษา ณ สกายวอล์ก แยกปทุมวัน ไม่ว่าการยืนถือ”กระดาษเปล่า”ของนักเรียนแห่งโรงเรียนสตรีของร้อยเอ็ด

นี่คือการประสานบทเพลง”เสียงแห่งความเงียบ”ของพอล ไซม่อน ให้เข้ากับวิถีแห่ง”ความว่าง”ของท่านเหลาจื่อ

เป็นการส่งเสียงแห่ง”ความเงียบ”ไปยัง”ผู้มีอำนาจ”ในรัฐบาล