คำ ผกา | เมื่อไหร่จะได้ออกจากถ้ำเถื่อน

คำ ผกา

สิ่งที่ชาวบ้านผู้คิดอะไรอย่างเรียบง่ายไร้เดียงสาอย่างฉันไม่เข้าใจเลยในกรณีคดีความของบอส กระทิงแดง ก็คือ ถ้าลูกมหาเศรษฐี ไม่ใช่สิ อภิมหาเศรษฐีคนหนึ่งเมา จะเมาด้วยอะไรก็ตามแต่ เมาแล้วขับรถซูเปอร์คาร์ไปก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (เดชะบุญ เมื่อคิดอีกแง่หนึ่งว่า คนชนก็มีสิทธิตายเหมือนกัน แต่เดชะบุญที่ไม่ตาย) สิ่งที่เขาและครอบครัวของเขาซึ่งมีเงินเยอะแยะไปหมดนั้น น่าจะทำคือ รีบยอมรับผิด

รีบแสดงออกซึ่งความสำนึกผิดต่อสังคม

รีบไปมอบตัว

รีบไปดูแลครอบครัวของผู้ตาย

รีบเอาเงินไปช่วยครอบครัวเขาเยอะๆ

รีบไปเป็นเจ้าภาพงานศพให้สมเกียรติ

จากนั้นมอบหมายทนายความให้ดูแลคดีอย่างดีที่สุด (ต่อตัวเอง)

จากนั้นอาจจะไปบวช (ถ้าอ่านรหัสทางวัฒนธรรมไทย สังคมไทยแตกฉาน เรื่องแบบนี้ต้องไปบวช)

จากนั้นจะถือโอกาสทำมูลนิธิที่ทำงานเรื่องการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่จะทำต่อคือไปร่วมทำโครงการกับ ป.ป.ส. และกระทรวงยุติธรรม ในประเด็น Harm Reduction สร้างความเข้าใจกับสังคมไทยเรื่อง “ผู้เสพคือผู้ป่วย” การใช้ยาเสพติด ไม่มีความผิดทางกฎหมาย ถ้าไม่ใช่ผู้ค้า

สิ่งที่ผู้เสพยาเสพติดต้องการและพึงทำคือ เข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ เพื่อการใช้ยาเสพติดอย่างปลอดภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

คิดแบบชาวบ้านไร้เดียงสาที่ไม่เคยมีเงินแล้วสงสัยว่า ถ้าเรามีเงินมากพอและเราจะใช้เงินแก้ปัญหาเราจะแก้อย่างไร?

นอกจากจะได้รับความเข้าใจ เห็นใจจากสังคม

สิ่งที่แถมมาคือประโยชน์ต่อภาพลักษณ์ทางธุรกิจ

ต่อไปนี้กระทิงแดงนอกจากมีฟอร์มูล่าวัน ยังมีหัวหอกของแคมเปญลดอุบัติเหตุ และรณรงค์เรื่องสิทธิของผู้ใช้ยาเสพติดที่ไม่จำเป็นต้องเป็นอาชญากร ถ้าการเสพนั้นไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น

อันเป็นแคมเปญที่ประเทศโลกที่ 1 ทั้งโลกเขาทำกัน และจะได้ประโยชน์เชิงภาพลักษณ์ระดับโลกอย่างสูงยิ่ง กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูด ทั้งเซเลบ ดารา นักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกให้เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของกระทิงแดงในระดับอินเตอร์

เนี่ยะ ทำไมไม่ทำ – ชาวบ้านงง

ถ้าทำขนาดนี้ บวกกับการมีทนายความ “ชั้นหนึ่ง” (ซึ่งก็เชื่ออีกนั่นแหละว่าคนระดับนี้มีหรือจะใช้ทนายไก่กา) ทางครอบครัวและตัวบอสเองน่าจะวางใจได้ว่าจะได้รับโทษแบบได้รับความเมตตาสูงสุดจากศาล และได้รับความเข้าใจ เห็นใจจากสังคมแน่นอน

พูดอย่างชาวบ้านไปกว่านั้นอีก ฉันคิดว่า ถ้าเรื่องนี้มีแค่เรื่อง “ขับรถชนคนตายเพราะเมา ขาดสติ และประมาท” ยังเป็นความผิดพลาดที่สังคมพร้อมจะให้อภัย

มิหนำซ้ำ เราลองมองในอีกมุมหนึ่งว่า คงไม่มีอยู่ดีๆ อยากไปขับรถชนใครตาย มันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับคนธรรมดาสามัญที่ยังไม่สูญเสียความเป็นมนุษย์ ยังมีหัวจิตหัวใจเห็นว่าชีวิตทุกชีวิตมีค่า คนต่อให้ต้อยต่ำแค่ไหน เขาก็มีค่า เป็นที่รัก เป็นที่สูงส่งของใครสักคนบนโลกนี้เสมอ

ถ้าเราคิดเช่นนี้แล้ว วันหนึ่งเราเกิดไปขับรถแล้วมีอุบัติเหตุ แล้วไปทำให้ใครสักคนตาย เหตุการณ์นั้นก็คงเป็นบาดแผลหลอกหลอนเราไปตลอดชีวิต

พูดให้สามัญกว่านั้นไปอีก เวลาที่เกิดอุบัติเหตุแล้วมีคนตาย ความสูญเสียเกิดขึ้นทั้งสองฝั่ง คือฝั่งคนที่ตาย ส่วนฝั่งที่ทำให้คนอื่นตาย ถ้าไม่ใช่คนใจทมิฬหินชาติอะไรนัก ก็ย่อมเกิดความร้าวรานทางใจใช่น้อย

จำนวนหนึ่งก็อาจต้องเข้ารับการบำบัดเยียวยาทางใจด้วยเช่นกัน ไม่ว่าอุบัติเหตุนั้นจะเกิดจากภาวะสุดวิสัย ความประมาท ความคะนอง ความเมา หรืออื่นใด

แต่ท้ายที่สุด ในสังคมไทยเราก็แทบจะไม่อนุญาตให้สังคมได้เข้าไปสัมผัสถึงภาวะที่เราสามารถเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจกันอย่างนั้นได้เลย เพราะภาวะแห่งความเข้าใจ เห็นใจนั้นถูกแทนที่ด้วยความโกรธ

ย้อนกลับไปดูกรณีแพรวา สังคมจะไม่เกิดความโกรธขนาดนี้ถ้าแพรวาและครอบครัวแสดงความสำนึกผิด เสียใจ และปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงานของมันไปอย่างที่ควรจะเป็น

ถ้ากระบวนการยุติธรรมได้อำนวยความยุติธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ จากนั้นภาวะแห่งมนุษยธรรม และความรัก ความเข้าใจกันในฐานะของมนุษย์จึงจะปรากฏตัวขึ้นได้

กรณีของบอส อยู่วิทยา ก็เช่นกัน การตัดสินแก้ไขปัญหาด้วยการเข้าไป “ก้าวก่าย” กระบวนการดำเนินคดี และกระบวนการยุติธรรมอย่างอะร้าอร่าม ปราศจากความละอาย เริ่มตั้งแต่ความพยายามที่จะหาคนมารับผิดแทน และคนคนนั้นคือ “พ่อบ้าน” สะท้อนโศกนาฏกรรมในสังคมไทยว่า ในประเทศนี้มีคนบางกลุ่ม บางคน สามารถคิดได้ว่า เราใช้เงินจ้างคนไปติดคุกแทนได้

เราสามารถใช้เงินมาจ้างคนให้รับผิดแทนเราได้

เศร้าไปกว่านั้น ถ้าเขาเอาเงินไปจ้างใครก็ไม่รู้ที่ไม่รู้จัก และคนคนนั้นมีอาชีพรับจ้างติดคุกแทน มันก็ยังพอทำเนา

แต่นี่สามารถชี้เอา “คนในบ้าน” ส่งให้ไปรับผิดแทนนาย

นี่เรายังอยู่ในระบบที่สังคมยังมีทาสอยู่อีกหรือ?

อดคิดเป็นนิยายต่อไปไม่ได้ว่า ถ้าเราเป็นพ่อบ้านคนนั้น เรามีหนทางที่จะปฏิเสธไม่ยอมไปรับผิดแทนได้ไหม? และอะไรที่ทำให้เขายอม?

เดชะบุญอีก ที่ตำรวจที่ทำคดี ณ เวลานั้นไม่ยอม และตำรวจที่รู้เห็นเป็นใจกับการสวมแพะเข้ามาในคดี ก็ได้รับการลงโทษกันไประดับหนึ่ง

แต่ความพยายามเข้าไปก้าวก่ายในการทำคดีและกระบวนการยุติธรรมไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น

เราไม่รู้ว่าเขาทำอะไร รู้แต่ว่า เมื่อมีการยกฟ้อง ตามมาด้วย ความเร็วของรถที่เปลี่ยนจาก 177 ก.ม./ช.ม. เป็น 80 ก.ม./ช.ม

มาจนถึงกรณีตกลงจะเป็นโคเคนหรือยาแก้อักเสบจากการทำฟัน หรือความพยายามที่จะแก้ตัวจากการแถลงว่าเป็นยาไม่ใช่โคเคนนั้นเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อน หรืออะไรอีก หรือในอีกหลายๆ รายละเอียดที่จะทำให้เรื่องเรียบๆ ง่ายๆ กลายเป็นเรื่องซับซ้อน เข้ารกเข้าพงไปเกินกว่าที่มันควรจะเป็น

จากเรื่องอันเรียบง่ายว่าด้วยชายหนุ่มคนหนึ่งที่มีความคึกคะนองตามวัย เทา และขับซูเปอร์คาร์ ชนคนตาย กลายมาเป็นตัวเองที่พาเอาคนอีกหลายสิบชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพยาน ตำรวจ อัยการ หมอฟัน อาจารย์มหาวิทยาลัย ด้านฟิสิกส์ ด้านวิศวะ อดีต สนช. นักกฎหมาย นักการเมือง รัฐมนตรี ฯลฯ ต้องเข้ามาพัวพัน เกี่ยวข้อง ถูกสังคมตั้งข้อสงสัยโดยไม่จำเป็น

หนักกว่านั้น ในภาวะที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเรา หนักกว่านั้น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอันสาหัสสุดๆ นี้เกิดขึ้นในยุคที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม ไม่ได้มาจากประชาชน

ซ้ำร้ายไร้ความสามารถ ไร้ฝีมือในการบริหารประเทศและในการบริหารความป๊อปปูลาร์ของตนไปพร้อมๆ กัน

และทั้งหมดเหล่านี้นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ นำมาซึ่งความฉ้อฉล และความอยุติธรรมที่เกิดกับสามัญประชาชนมาต่อเนื่องยาวนาน

ไม่เพียงแต่สามัญประชาชนถูกกระทำจากความอยุติธรรม แม้แต่คนการเมืองที่มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ หรือเป็นคนดีมีวิชาความรู้ แต่ไม่อยู่ข้างเผด็จการ เลือกอยู่ข้างประชาชน พวกเขาเหล่านั้นก็ถูกความอยุติธรรมไล่ล่าจนพิกลพิการ

ชาวบ้านร้านถิ่นต่างว่า ทักษิณผิดอะไร ยิ่งลักษณ์ผิดอะไร ธนาธรกับเพื่อนผิดอะไร?

แล้วคนที่ไม่ได้ทำอะไร “ถูก” เลย กลับมีอำนาจวาสนามาตรแม้นเฮโรอีนยังหมายถึงแป้ง

ความอยุติธรรมโต้งๆ เหล่านี้ปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวี่ทุกวัน ท้ายที่สุด คนไทยอยู่กับภาวะที่ความเป็นขื่อเป็นแปของบ้านเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับความถูกต้อง และแม้นว่าเราเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง เราก็จะบอกตัวเองว่า

“นึกแล้ว มันต้องออกมาเป็นแบบนี้แหละ ฝ่ายเขาทำอะไรก็ไม่ผิด อีกฝ่ายหนึ่งทำถูกก็ต้องกลายเป็นผิด”

ความน่ากลัวคือทุกคนรู้ว่า มันผิด แต่ทุกคนก็ยอมรับไปแล้วว่านี่คือ “เส้นเรื่อง” อันปกติของสังคมไทยและมันจะไม่กลายเป็นอื่น เหมือนเรานั่งดูละคร เห็นว่าพระเอกข่มขืนนางเอก รู้ว่ามันเป็นการกระทำที่ผิด แต่เราก็รู้ล่วงหน้าอีกนั่นแหละว่า ตามธรรมเนียมของละครแล้ว พระเอกไม่มีวันผิดแม้นจะทำความผิดล้านอย่าง และแม้นพระเอกจะทำความชั่วความโง่ล้านอย่าง

สุดท้ายนางเอกก็จะแต่งงานกับพระเอกอยู่ดี

คดีของบอส อยู่วิทยา จึงเหมือนการเปิดเปลือยความหมายของคำว่า “ความยุติธรรม” ของสังคมไทยออกมาอย่างหมดจด ล่อนจ้อน ไม่ว่าเราจะพยายามทำเป็นมองไม่เห็นในเคสอื่นๆ กรณีอื่นๆ แต่กรณีของบอส มันล่อนจ้อน โล่งโจ้ง เสียจนทำเป็นมองไม่เห็นไม่ได้

สังคมไม่ได้โกรธที่บอสเมาแล้วขับรถชนคน แต่สังคมโกรธที่มันมีประจักษ์พยานให้เราเห็นว่า สังคมนี้มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่สามารถ “คุย” กับกฎหมายได้ในท่วงท่าที่แตกต่างจากสามัญชนคนธรรมดา ราวกับว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกับเรา

สังคมไม่ได้โกรธที่เด็กหนุ่มลูกเศรษฐีคนหนึ่งไร้สติแล้วขับรถชนคน

แต่สังคมโกรธที่ทุกอย่างเกี่ยวกับคดีนี้มันตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า ในสังคมไทย ความเป็นคนของเราไม่เท่ากัน และโกรธที่เราก็ไม่รู้ว่าตั้งแต่เมื่อไหร่กันความเป็นคนของเราถูกทำให้กลายเป็นแค่มดแค่ปลวกในสายตาของอภิสิทธิ์ชนอีกกลุ่มหนึ่ง

มิหนำซ้ำอภิสิทธิ์ชนเหล่านั้นก็มั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาได้ก็จากเศษเงินเศษสตางค์ของเศษมดเศษปลวกอย่างพวกเรานี้เอง

เมื่อเราต้องถูกกักขังไว้ในความโกรธเรื่องความอยุติธรรมเสียแล้ว เศร้าที่สุดก็คือ แล้วเมื่อไหร่ล่ะ สิ่งที่เรียกว่า ความเข้าใจ เห็นใจต่อกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์อย่างไม่มีเงื่อนไข มันจะได้มีโอกาสเพาะบ่ม งอกงามขึ้นมาในสังคมนี้

และนี่คือสิ่งที่ฉันเรียกว่าเป็นโศกนาฏกรรมของเราทุกคน