วิบากกรรม “ธาริต เพ็งดิษฐ์” ถูกยึดทรัพย์-ไล่ออก “ขาลง” ที่ยัง “ลง” ไม่สุด?

ชะตากรรม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาถึงช่วง “ขาลง” อีกครั้ง

เมื่อสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีโดย พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชา ลงนามคำสั่งไล่ออกจากราชการ เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา

ตามความเห็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ส่งสำนวนไต่สวนและรายงานกรณีชี้มูลความผิดข้อหาร่ำรวยผิดปกติกว่า 346 ล้านบาท

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แค่ 2 วัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งฉบับที่ 8/2557 วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ย้ายนายธาริตจากอธิบดีดีเอสไอ มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และสังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีถึงปัจจุบัน

ต่อมาต้นปี 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีมีเหตุอันควรสงสัยได้ว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ร่ำรวยผิดปกติ

ผลไต่สวนข้อเท็จจริงพบว่า นายธาริตมีทรัพย์สินจำนวนมาก หรือมีหนี้สินลดลงมากเกินกว่าฐานะและรายได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐพึงมีได้

ทั้งยังปรากฏพฤติการณ์โอน ยักย้าย แปรสภาพหรือซุกซ่อนทรัพย์สิน รวมทั้งให้บุคคลอื่นถือทรัพย์สินแทน ป.ป.ช. จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่านายธาริตร่ำรวยผิดปกติ รวมมูลค่า 346,652,588 บาท

แต่เนื่องจากทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติดังกล่าวบางส่วนได้โอน ยักย้าย แปรสภาพหรือซุกซ่อนทรัพย์สิน ทำให้ไม่สามารถติดตามทรัพย์สินได้ คงเหลือทรัพย์สินที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งอายัดไว้ชั่วคราว 90,260,687 บาท

ดังนั้น ทรัพย์สินที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติในส่วนที่เหลือ 256,391,901 บาท ให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของนายธาริตและภรรยา

โดย ป.ป.ช. ส่งรายงานและสำนวนการไต่สวนให้อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 80 และมาตรา 83 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

อีกทั้งให้แจ้งผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจดำเนินการลงโทษทางวินัย

อันเป็นที่มาของคำสั่ง “ไล่ออก” ดังกล่าว

 

นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนคดีกล่าวหา นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ร่ำรวยผิดปกติ

ยืนยันมีข้อมูลที่น่าเชื่อได้ว่า นายธาริตโยกย้ายทรัพย์สินบางส่วนมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาทไปอยู่กับคนใกล้ชิด

โดยมีรายงานข่าวระบุตามมาส่ นายธาริตโอนทรัพย์สินบางส่วนให้บุตร ภรรยา เครือญาติใกล้ชิดและนายตำรวจคนสนิทรายหนึ่งเป็นผู้ถือไว้แทน ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากในบัญชี หุ้น รถยนต์ บ้าน สิ่งปลูกสร้างและที่ดิน

สอดรับข้อมูลที่ว่า ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนการไต่สวนให้อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินทั้งสิ้นจำนวน 20 รายการ

ต่อคำสั่งไล่นายธาริตออกจากราชการ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย อธิบายว่า การไล่ออกจากราชการมี 2 แบบ

แบบแรก ไล่ออกเพราะมีการดำเนินการทางวินัย ซึ่งสามารถอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.ค.พ.) ได้

แบบที่สอง ลงโทษทางวินัยตามที่ ป.ป.ช. แจ้งมา ซึ่งในกรณีนี้ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ถือว่ายุติที่คำสั่ง ป.ป.ช.

จากคำอธิบายดังกล่าว สรุปว่ากรณีนายธาริตเข้าข่ายถูกไล่ออกในแบบที่สอง ถือว่าสิ้นสุดกระบวนการในการลงโทษทางวินัย ไม่สามารถอุทธรณ์คำสั่งได้

ในช่วงจุดเริ่มต้นมรสุมหลังจาก ป.ป.ช. มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีร่ำรวยผิดปกติ นายธาริตได้ฟ้องร้อง นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ หลายคดีด้วยกัน แต่ศาลยุติธรรมและศาลแพ่งมีคำสั่งยกคำร้อง

นายปรีชากล่าวว่า ทรัพย์สินมูลค่าเกือบ 100 บาทของนายธาริตที่เชื่อว่าโอนย้ายไปอยู่กับเครือญาติและคนใกล้ชิดนั้น ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนขยายผล

หากทรัพย์สินส่วนไหนที่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปได้ถูกต้อง ก็จะไม่ถูกอายัด แต่ถ้าชี้แจงไม่ได้หรือไม่ชัดเจน ก็อาจต้องอายัดไว้เพื่อตรวจสอบก่อน

“ยืนยันว่า ป.ป.ช. ให้ความยุติธรรมกับนายธาริตอย่างเต็มที่” นายปรีชาระบุ

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2558 ถึงสาเหตุที่ตนเองตกเป็นเป้าดำเนินคดีร่ำรวยผิดปกติว่า

อาจมาจากบทบาทอธิบดีดีเอสไอในอดีต ที่เข้าไปรับผิดชอบคดีสำคัญหลายคดี จนเป็นเหตุให้ฝ่ายผู้ถูกดำเนินคดีฟ้องร้องมากถึง 30 คดี แต่ศาลก็มีคำสั่งยกฟ้องไปเกือบ 20 คดี

“ผมจึงมั่นใจในศาลยุติธรรม ทุกคดีผมพร้อมต่อสู้จนถึงชั้นฎีกา เชื่อมั่นว่าจะได้รับความเป็นธรรมอย่างแน่นอน” อดีตอธิบดีดีเอสไอกล่าว

นายธาริตได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีดีเอสไอเมื่อปี 2552 ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

มีบทบาทเป็น 1 ในกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช. ปี 2553 ที่ลงเอยด้วยผู้เสียชีวิต 99 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน

กระทั่งเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยกลับเข้ามาเป็นรัฐบาล นายธาริตยังคงเหนียวแน่นอยู่บนเก้าอี้อธิบดีดีเอสไอ ชนิดเหนือความคาดหมายของใครหลายคน

นายธาริตใช้โอกาสนี้ทำงานสนองนโยบายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอย่างเต็มที่เช่นกัน ไม่ว่าคดีก่อสร้าง 396 โรงพักทดแทน คดีบุกรุกเขาแพง เป็นต้น

โดยเฉพาะการรื้อฟื้นคดีการตายในการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องตกอยู่ในฐานะจำเลยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นั่นทำให้ในการชุมชุมม็อบ กปปส. ของ “กำนันสุเทพ” ในปี 2556-2557 นายธาริตกลายเป็น 1 ในเป้าหมายสำคัญของการเป่านกหวีดล้างแค้น

จนเมื่อม็อบ กปปส. บรรลุเป้าหมาย จากการทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยคณะทหาร คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นายธาริตก็ถูกคำสั่งย้ายเข้ากรุสำนักนายกรัฐมนตรี

จากนั้นชีวิตก็เข้าสู่ช่วง “ขาลง” ต่อเนื่อง ถูกดำเนินคดีข้อหาร่ำรวยผิดปกติและมีคำสั่งไล่ออกจากราชการในที่สุด

โดยมีแนวโน้มสูงยิ่งว่าชีวิตขาลงของนายธาริต จะยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น