วิเคราะห์ : ซิดนีย์เปลี่ยนไปยังไง หลังเริ่มใช้พลังงานหมุนเวียนเต็มกำลัง

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
ที่มาภาพ : Bloomberg.com

มีข่าวดีๆ จากนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แจ้งมาว่า เสาไฟฟ้าส่องสว่างบนถนน 23,000 จุด สนามกีฬา สระว่ายน้ำ 5 แห่ง อาคาร ศาลาว่าการนครซิดนีย์ ตึกที่ทำการของรัฐ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แหล่งประวัติศาสตร์ 115 แห่ง และสวนสาธารณะ 75 แห่ง ใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสะอาด 100 เปอร์เซ็นต์

การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานครั้งนี้จะช่วยให้นครซิดนีย์ประหยัดรายจ่ายปีละ 5 แสนเหรียญออสเตรเลีย หรือประมาณ 11 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 10 ปี

ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 2 หมื่นตัน หรือเท่ากับลดการใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือนราว 6,000 หลัง

แหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ดึงมาใช้ประโยชน์มีด้วยกัน 3 แหล่ง จากโบเมน โซลาร์ ฟาร์ม เมืองวักก้า วักก้า, แซฟไฟร์ วินด์ ฟาร์ม เมืองอินเวอร์เรลล์ และโชเฮฟเวน เมืองนาวรา ทั้ง 3 เมืองอยู่ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์เช่นเดียวกับนครซิดนีย์

สภาเทศบาลนครซิดนีย์ทำข้อตกลงความร่วมมือในการซื้อขายไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดด้วยเงินงบประมาณ 60 ล้านเหรียญ (ราว 1,320 ล้านบาท)

ข้อตกลงครั้งนี้ช่วยสร้างงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 และวิกฤตการณ์ภัยแล้ง ไฟป่า

 

ก่อนหน้านี้รัฐนิวเซาธ์เวลส์เจอวิกฤตมาหลายระลอก ทั้งภัยแล้ง ไฟป่า สร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วง เศรษฐกิจพังย่อยยับ

เฉพาะภัยแล้งกล่าวได้ว่ารุนแรงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา เกือบ 99% ของรัฐประสบภัยแล้ง

บางเมืองไม่มีฝนตกมาเลยเป็นเวลานาน ถ้าวันใดมีฝนตกโปรยปรายแค่เล็กน้อย ชาวเมืองก็ถือว่าเป็นบุญโขแล้ว เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาฝนตกน้อยมาก ปริมาณฝนต่ำที่สุดเป็นอันดับ 3 ของสถิติปริมาณฝนที่บันทึกได้

เมื่อต้นปีนี้รัฐนิวเซาธ์เวลส์ทุ่มงบประมาณในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรและชุมชนเมืองต่างๆ เกือบ 2 พันล้านเหรียญ

ชาวออสเตรเลียรู้สึกเหมือนๆ กันว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นแค่ช่วงประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็หายไป แต่เป็นภัยพิบัติที่เกิดอย่างต่อเนื่องซ้ำๆ กันมาหลายปีแล้ว เป็นภัยพิบัติมาจากน้ำมือของมนุษย์ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนทำให้สภาพอากาศวิปริต เกิดเป็นปรากฏการณ์โลกร้อนนั่นเอง

ผลจากภัยพิบัติในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ทำให้ชาวเมืองประสบความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ทั้งจากอากาศร้อนระอุอย่างสุดๆ ในช่วงฤดูร้อน มีไฟป่าที่เผาผลาญทำลายพื้นที่กว่า 1 แสนตารางกิโลเมตร

เมื่อถึงฤดูฝนก็เกิดฝนตกอย่างหนักหน่วงจนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และเมื่อฝนทิ้งช่วง เกิดภัยแล้ง แล้งจนแหล่งน้ำแห้งขอด

 

ความรู้สึกเช่นนี้เองทำให้ชาวออสเตรเลียหันมาให้ความสำคัญกับพัฒนาอย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการสนับสนุนให้ใช้วัสดุรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

อาคาร-ที่พักอาศัยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้เปลี่ยนแปลงรูปการใช้พลังงานเป็นพลังงานสะอาด ลดการปล่อยมลพิษ

มีโครงการที่พักอาศัยในรูปแบบ การใช้ชีวิตภายใต้ระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืน มีระบบติดตั้งเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าและระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อควบคุมและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งผู้คนหันมาใส่ใจในการบริโภคหันมากินมังสวิรัติแทนเนื้อสัตว์ ใช้วัสดุรีไซเคิล

ปรากฏการณ์โลกร้อน จึงกล่าวได้ว่าเป็นแรงขับสำคัญให้ชาวออสเตรเลียปรับโลกทัศน์สอดคล้องกับความเป็นจริง

 

เช่นเดียวกับสภาเทศบาลนครซิดนีย์มองอนาคตว่าการเร่งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานจากถ่านหิน น้ำมันและก๊าซมาเป็นพลังงานสะอาด ถือเป็นภารกิจสำคัญอย่างยิ่งยวด

พลังงานหมุนเวียนที่มาจากพลังงานลม ดึงมาใช้ประโยชน์ให้กับนครซิดนีย์ ราว 3 ใน 4 ที่เหลือเป็นพลังงานแสงอาทิตย์

รัฐนิวเซาธ์เวลส์สนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้ชื่อโครงการโชเฮฟเวน สร้างฟาร์มโซลาร์เซลล์ ติดตั้งแผงรับแสงอาทิตย์ 10,000 แผง ป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับบ้านเรือน 1,500 หลัง

ส่วนโบเมนโซลาร์ฟาร์มของบริษัทสปาร์ก อินฟราสตรักเจอร์นั้น มีแผงแสงอาทิตย์ 310,000 แผงติดตั้งอยู่ในพื้นที่ราว 1,500 ไร่ ผลิตไฟฟ้าได้ 120 เมกะวัตต์

โซลาร์เซลล์ฟาร์มแห่งนี้ถือว่ามีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่เนื่องจากทั้งสองด้านของแผงพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถดักจับแสงอาทิตย์ได้ทั้งคู่และใช้เทคโนโลยีในการปรับเลื่อนแผงให้เคลื่อนตามแสงอาทิตย์ในทุกทิศทางตลอดทั้งวัน

 

บริษัทสปาร์กฯ เป็นกลุ่มทุนธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมลงทุนในด้านพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่มีเงินลงทุน 18,000 ล้านเหรียญเพื่อทำโครงการต่างๆ ในเซาธ์ออสเตรเลียและวิกตอเรียอีกด้วย

“ริก ฟรานซิส” ผู้บริหารของสปาร์กฯ บอกว่า บริษัทกำลังหาลู่ทางใหม่ๆ ในการพัฒนาพลังงานลมและโซลาร์เซลล์ทั้งในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ รัฐควีนส์แลนด์ นอกจากจะมีโบเมนโซลาร์ฟาร์มแล้วยังมีโครงการพัฒนาการสร้างแบตเตอรี่ขนาดใหญ่เพื่อเก็บกระแสไฟฟ้าได้ตั้งแต่ 20 เมกะวัตต์ถึง 40 เมกะวัตต์ นำไปติดตั้งในฟาร์มโบเมน

สำหรับแซฟไฟร์ วินด์ฟาร์ม เป็นแหล่งผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ มีกำลังการผลิต 270 เมกะวัตต์ ติดตั้งเทอร์ไบน์กังหันลมสูงขนาด 200 เมตร ทั้งหมด 75 ตัว

“โคลฟเวอร์ มัวร์” นายกเทศมนตรีนครซิดนีย์ บอกกับสื่อว่า วันนี้เราอยู่ในใจกลางของภูมิอากาศฉุกเฉิน ดังนั้น เราจะต้องลดการปล่อยก๊าซพิษ ส่งเสริมพลังงานสีเขียวให้เติบโตเจริญก้าวหน้า หน่วยงานภาครัฐในทุกระดับจะต้องเร่งเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน

“การปล่อยก๊าซทั่วโลกจนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์โลกร้อนนั้นนครซิดนีย์มีส่วนในการรับผิดชอบด้วย นครซิดนีย์จะต้องลงมือปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซพิษให้เป็นที่ประจักษ์”

มัวร์ให้สัมภาษณ์

 

นครซิดนีย์ได้ชื่อว่าเป็นเมืองปลอดก๊าซคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากมีการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยกับปริมาณการปล่อยก๊าซพิษออกมา ทำให้ค่าคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์

การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนเต็มรูปแบบ 100% ของนครซิดนีย์ในครั้งนี้ จะช่วยให้การปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศลดลง 70% ในปี 2567 เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 6 ปี

หันมาดูผู้บริหารเมืองของบ้านเรา เมื่อไหร่คิดจะวางอนาคตเมือง อนาคตของผู้คนให้อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่สดใสงดงามมั่งล่ะ