ต่างประเทศ : อิหร่าน กับยอดโควิด-19 ที่ถูกซ่อนไว้ใต้พรม

Iranian women, wearing protective masks due to the COVID-19 pandemic, shop in the capital Tehran on August 4, 2020. (Photo by ATTA KENARE / AFP)

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไปทั่วโลกที่มีผู้ติดเชื้อในระดับมากกว่า 10 ล้านคนอย่างเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ในเวลานี้นับเป็นเรื่องใหม่ในโลกยุคปัจจุบัน

เป็นไปได้ที่ยอดผู้ติดเชื้อรวมถึงยอดผู้เสียชีวิตที่ถูกรายงานออกมาอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลประเทศต่างๆ จะไม่ตรงกับความเป็นจริง อาจด้วยข้อจำกัดจากระบบสาธารณสุข ชุดตรวจที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการ

หรือบางครั้งอาจมีเหตุผลทางการเมืองเพื่อปกปิดสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐเองก็เป็นได้

ล่าสุดสำนักข่าวบีบีซี เปอร์เซียน ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางพบข้อมูลการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศอิหร่านที่สูงกว่ายอดอย่างเป็นทางการของรัฐบาล

โดยเฉพาะยอดผู้เสียชีวิตที่สูงกว่ายอดอย่างเป็นทางการเกือบ 3 เท่า

 

ยอดอย่างเป็นทางการของรัฐบาลอิหร่านที่บันทึกไว้จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากถึง 42,000 ราย เทียบกับยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการของกระทรวงสาธารณสุขอิหร่านที่มีอยู่เพียง 14,405 ราย

ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่บีบีซี เปอร์เซียน พบนั้นมีจำนวนมากถึง 451,024 คน สูงกว่ายอดเป็นทางการของกระทรวงสาธารณสุขอิหร่านที่ 278,827 คน อยู่ถึงเกือบ 2 เท่าเลยทีเดียว

ขณะที่ข้อมูลสถิติทางการแพทย์ที่ถูกส่งให้บีบีซี ยังพบด้วยว่าผู้เสียชีวิตรายแรกจากโควิด-19 ในอิหร่านนั้นเกิดขึ้นในวันที่ 22 มกราคม เกิดขึ้นก่อนหน้าการเสียชีวิตรายแรกของสถิติอย่างเป็นทางการของกระทรวงสาธารณสุขอิหร่านถึงเกือบ 1 เดือนอีกด้วย

ก่อนหน้าการเปิดเผยของบีบีซี มีผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสงสัยยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในประเทศอิหร่านไว้เช่นกันด้วยข้อมูลที่ขัดแย้งกันระหว่างสถิติในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ

 

ขณะที่ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาล่าสุดนั้นดูเหมือนจะเป็นข้อพิสูจน์ที่ค่อนข้างชัดเจนว่ารัฐบาลอิหร่านจงใจรายงานสถิติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อปกปิดสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่รุนแรงถึงขนาดที่รัฐมนตรีสาธารณสุขอิหร่านเองก็ยังติดเชื้อโควิด-19 ไปด้วย

บีบีซี เปอร์เซียน เปิดเผยว่า ข้อมูลทางการแพทย์ดังกล่าวนั้นถูกส่งมาจากแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัวตน เป็นเอกสารที่แสดงรายละเอียดยอดผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลแบบรายวันทั่วประเทศ

มีข้อมูลตั้งแต่ชื่อ อายุ เพศ อาการ วันที่ และระยะเวลาที่รักษาตัวในโรงพยาบาล รวมไปถึงอาการที่แท้จริงของผู้ป่วย

ข้อมูลเหล่านี้ได้รับการยืนยันจากผู้ป่วยบางรายที่ยังคงมีชีวิตอยู่และได้รับการรักษาจนหายแล้วว่าเป็นข้อมูลที่ตรวจกับข้อเท็จจริง

แหล่งข่าวระบุกับบีบีซีว่า การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวนั้นมีเหตุผลเพื่อ “เปิดเผยความจริง” และยุติการใช้สถานการณ์การแพร่ระบาดมาเป็นเครื่องมือใน “เกมการเมือง”

 

ข้อมูลใหม่ดังกล่าวพบว่า ในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของประเทศมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 หรือจากอาการที่เหมือนกันกับโควิด-19 มากที่สุดที่ 8,120 ราย

เมืองกอม จุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในอิหร่าน มีผู้เสียชีวิต 1,419 ราย โดยหากคิดเป็นสัดส่วนผู้เสียชีวิตต่อจำนวนประชากร เมืองกอมเป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดด้วยสัดส่วนผู้เสียชีวิต 1 คนต่อประชากร 1,000 คน

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือตัวเลขแนวโน้มการเพิ่มขึ้นและลดลงของตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตของกระทรวงสาธารณสุข และข้อมูลหลุดที่มาถึงมือสื่อนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ต่างกันเพียงจำนวนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้เสียชีวิตในช่วงแรกนั้นมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงมากกว่าตัวเลขทางการของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะในช่วงกลางเดือนมีนาคมนั้นมีมากกว่าตัวเลขทางการถึง 5 เท่าเลยทีเดียว

ก่อนที่ยอดจะค่อยๆ ลดลงหลังรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ประเทศในช่วงวันปีใหม่ของประเทศอิหร่าน ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคม ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเช่นกัน

การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มีขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งส่งผลให้ยอดติดเชื้อและเสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง

 

สําหรับยอดผู้เสียชีวิตรายแรกในข้อมูลที่ถูกเปิดเผยเกิดขึ้นในวันที่ 22 มกราคม 1 เดือนก่อนหน้ารายงานการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการรายแรก

ช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลอิหร่านยืนยันมาโดยตลอดว่าประเทศไม่มีผู้ติดเชื้อแม้แต่รายเดียวแม้ว่าจะมีสื่อท้องถิ่นรวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ออกมาเตือนอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างเป็นทางการรายแรกหลังจากผ่านไป 28 วัน ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ วันที่ยอดผู้เสียชีวิตในเอกสารที่หลุดออกมามีสูงถึง 52 รายแล้ว

นักวิเคราะห์มองถึงสาเหตุที่ยอดการติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่แท้จริงถูกปกปิดเอาไว้นั้นเป็นเพราะการแพร่ระบาดเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเฉลิมฉลองวันครบรอบการปฏิวัติอิหร่าน

และมีขึ้นในเวลาเดียวกันกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าสู่สภา

การเลือกตั้งซึ่งเป็นโอกาสให้รัฐบาลอิหร่านได้แสดงให้เห็นถึงแรงสนับสนุนจากประชาชนว่ามีมากเพียงใด

ขณะที่อยาโตเลาะห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดอิหร่านเคยกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองบางรายว่าต้องการใช้สถานการณ์การแพร่ระบาดเพื่อบ่อนทำลายการเลือกตั้ง

ซึ่งสุดท้ายแล้วก็มีผู้ออกมาใช้สิทธิเพียง 42 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

 

อิหร่านเองประสบปัญหาอื่นๆ รุมเร้าอยู่แล้วก่อนหน้าจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะปัญหาการประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันในประเทศ

ปัญหาความขัดแย้งกับสหรัฐ หลังสหรัฐอเมริกาลอบสังหารนายพลคาเซม โซไลมานี นายพลผู้ทรงอิทธิพลรองจากผู้นำสูงสุดของอิหร่านลง ลุกลามกลายเป็นการยิงขีปนาวุธพลาดเข้าใส่เครื่องบินโดยสารของประเทศยูเครน จนผู้โดยสารและลูกเรือ 176 คนเสียชีวิตยกลำ

เหตุการณ์ซึ่งรัฐบาลอิหร่านพยายามปกปิดเอาไว้ แต่ก็ต้องออกมายอมรับในเวลาต่อมาเช่นกัน

ในเวลานี้หากจะคาดหวังว่ารัฐบาลอิหร่านจะออกมายอมรับความจริง ก็คงจะยากพอๆ กับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดที่ดูไม่มีทีท่าที่จะจบสิ้นลงเช่นกัน