คุยกับทูต เอฟเรน ดาเดเลน อักกุน สัมพันธ์ไทย-ตุรกียุคนักการทูตหญิง ตอน 2 “โอกาสใหม่กับไทย”

“ดิฉันมีความภาคภูมิใจและตื่นเต้นเป็นอย่างมากเมื่อมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศไทยที่เป็นผู้หญิงคนแรก และด้วยความเคารพต่อเพื่อนร่วมอาชีพที่เป็นผู้ชาย เพราะดิฉันคิดว่าทูตผู้หญิงไม่ว่าจะมาจากประเทศใด จะมีวิธีในการเข้าถึงประเทศที่ตนประจำการได้อย่างกว้างขวางกว่าทูตที่เป็นผู้ชาย ซึ่งประเทศไทยเปิดกว้างและต้อนรับทูตทุกคน”

นางเอฟเรน ดาเดเลน อักกุน (H.E. Ms. Evren Dagdelen Akgun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกี ประจำประเทศไทย แสดงความคิดเห็น

“แม้ว่าไทยและตุรกีได้ฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 60 ปี เมื่อปี 2018 แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศกลับมีความยาวนานมากกว่า 60 ปี เราจึงอยากให้ประชาชนของทั้งสองประเทศได้รู้จักกันมากขึ้น”

“เป้าหมายของดิฉันคือ ต้องการให้ประเทศตุรกีเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากขึ้น และต้องการให้คนตุรกีรู้จักประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน”

“ดังนั้น คติประจำใจของดิฉันก็คือ ส่งเสริมการรู้จักซึ่งกันและกันให้มากขึ้น More Turkey in Thailand and More Thailand in Turkey”

“ด้วยคติประจำใจนี้ การขยายตัวทางด้านการค้า รวมถึงความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจึงเป็นเป้าหมายหลักของดิฉัน”

 

“ในด้านความสัมพันธ์ทั้งสองที่กล่าวมานั้น ดิฉันได้ดำเนินการมาแล้วกว่าสามปี ซึ่งไทยและตุรกีมีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ดี เรามีข้อตกลงที่ครอบคลุมหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การบิน และการค้า อีกทั้งยังมีข้อตกลงอื่นๆ ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาซึ่งดิฉันต้องการให้มีผลบังคับใช้ก่อนที่ดิฉันจะหมดวาระ หนึ่งในนั้นก็คือ ข้อตกลงการค้าเสรีที่สามารถเพิ่มจำนวนการค้าของเราได้กว่า 40 เปอร์เซ็นต์”

“ส่วนการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) จัดให้ตุรกีเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 13 ของโลก และตุรกีมีข้อตกลงการค้าเสรีกับพันธมิตรกว่า 20 ประเทศ”

“นอกจากนี้ ตุรกียังเป็นประเทศที่มีความเชื่อมต่อกันทั้งทางด้านกายภาพและดิจิตอล การเดินทางโดยเครื่องบินใช้เวลาเพียง 3-4 ช.ม.ก็สามารถเชื่อมต่อกับผู้คนอีกกว่า 1.5 พันล้านคน”

“การเชื่อมโยงทางรถไฟอย่างต่อเนื่องจากปักกิ่งไปยังลอนดอนสามารถสร้างผ่านช่องทางใต้ทะเลและการเชื่อมต่อทางบกผ่านช่องแคบบอสพอรัส (Bosphorus) เชื่อมทวีปเอเชียกับยุโรปทางด้านอิสตันบูล (Istanbul) และตุรกียังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21”

จากการประเมินความยากง่ายในการประกอบธุรกิจซึ่งดำเนินการโดยธนาคารโลกนั้น ประกอบด้วยตัวชี้วัดทั้งหมด 10 ด้าน โดยธนาคารโลกจะเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ รวมทั้งพิจารณาจากกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาครัฐ และเจ้าหน้าที่ประจำภูมิภาคของธนาคารโลก

1. สะพานเชื่อมสองทวีป เอเชีย-ยุโรป

“และตุรกีอยู่ในลำดับที่ 33 ในการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจจากทั้งหมด 190 ประเทศ” ท่านทูตเปิดเผยข้อมูล

“ตุรกีอยู่ในระดับแนวหน้าในด้านดัชนีการพัฒนามนุษย์ทั่วโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 53 ในด้านดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-government) เราได้พยายามเพิ่มจำนวนการผลิตเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อการส่งออก มาตรการการส่งออกออนไลน์ของเรายังช่วยส่งเสริมให้ประเทศตุรกีมีส่วนร่วมในการส่งออกออนไลน์มากขึ้นในตลาดโลก”

“ศุลกากรของเราก็อยู่ในระบบดิจิตอล ง่ายต่อการใช้งาน ได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ส่งออกและนำเข้าเป็นอย่างมาก อัตราส่วนสินค้าส่งออกของประเทศตุรกีมีกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั่วโลก ซึ่งเมื่อก่อนประเทศตุรกีเป็นที่รู้จักในนามประเทศส่งออกด้านเกษตรกรรม แต่ปัจจุบันเราได้ส่งออกสินค้าด้านอุตสาหกรรมมากกว่าสินค้าด้านเกษตรกรรม ซึ่งก็รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว ไปจนถึงรถยนต์และสินค้าทางทหาร”

 

ตุรกีกับการท่องเที่ยว

“ปี 2019 มีนักท่องเที่ยวกว่า 51.5 ล้านคนเดินทางไปยังประเทศตุรกี จำนวนนักท่องเที่ยวไทยก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวไทย 5 หมื่นคนเดินทางไปยังประเทศตุรกี และชาวตุรกีกว่า 1 แสนคนเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย”

“ประเทศตุรกีมีอะไรมากมายให้นักท่องเที่ยวได้สำรวจ เพราะการเดินทางไปตุรกีครั้งเดียวคงไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเลือกเล่นสกี ปีนเขา ล่องแพ และอีกหลากหลายได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร ซึ่งเป็นผลมาจากวัฒนธรรมที่สวยงามและแตกต่างกันที่มีมานับพันๆ ปี”

ช่องแคบบอสฟอรัส เป็นช่องแคบที่กั้นระหว่างตุรกีเธรซที่อยู่ในทวีปยุโรปกับคาบสมุทรอานาโตเลียในทวีปเอเชีย ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันศัตรูของประเทศตุรกี ตั้งแต่ในอดีตกาลจนมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีป้อมปืนตั้งเรียงรายอยู่ตามแนวช่องแคบแห่งนี้

ในปัจจุบันการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับอาหารเนื่องจากเป็นองค์ประกอบหลักของกิจกรรมการท่องเที่ยว

“นอกจากศูนย์การแพทย์ที่ตุรกีจะมีความทันสมัยยิ่งแล้ว ตุรกีมีหาดทรายดั้งเดิมเก่าแก่ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่มีสถาปัตยกรรมอันสวยงามสร้างขึ้นเมื่อ 13,000 ปีที่แล้ว (จัดเป็นสถานที่ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก)”

“อิสตันบูล นอกจากเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์และเป็นเมืองหลวงถึง 3 จักรวรรดิซึ่งตั้งอยู่บนสองทวีปแล้วนั้น อิสตันบูลยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ผลิตเหรียญแรกขึ้นในโลก ทั้งยังเป็นบ้านเกิดของซานตาคลอส และเป็นเมืองที่สนธิสัญญาสันติภาพที่เขียนขึ้นเป็นครั้งแรกได้ข้อสรุป ส่วนชาวเมืองอิสตันบูลก็มีอัธยาศัยให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดีเหมือนคนไทย”

 

“ดิฉันอยากจะกล่าวแนะนำประเทศตุรกีในเชิงลึกเพื่อให้คนไทยได้ทราบ เพราะเห็นว่าหัวข้อที่ได้กล่าวไปนั้น สามารถนำมาเป็นความเป็นร่วมมือระหว่างสองประเทศได้ในอนาคต ซึ่งเราก็ควรที่จะได้ไปสัมผัสสถานที่เหล่านั้นจริงๆ”

“แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้เราไม่สามารถท่องเที่ยวไปไหนได้ การที่ได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะการติดต่อกันทางดิจิตอลก็สามารถปูทางให้เรามีความร่วมมือกันในอนาคตได้”

เริ่มต้นจากชีวิตของคนเราที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นความไม่เหมือนเดิมหลังต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 จากเดิมที่เราคิดว่า เรื่องโรคระบาดนี้อาจเป็นเรื่องไกลตัว และไม่เคยคิดว่าจะมาถึงตัว วันนี้ เราจึงต้องปรับไลฟ์สไตล์ชีวิตใหม่รับความปกติใหม่ (New Normal) หลังวิกฤตโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล

ท่านทูตอักกุนกล่าวว่า

“ขณะที่โลกกำลังพูดถึง New Normal ความปกติใหม่มากขึ้น ดิฉันจึงคิดว่า ยิ่งเป็นการทำให้เราควรมุ่งเน้นถึงการสร้างโอกาสใหม่ๆ ร่วมกันให้มากยิ่งขึ้น”

ประวัติ
นางเอฟเรน ดาเดเลน อักกุน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทยเกิด
: กรุงอังการา เมืองหลวงของประเทศตุรกี ในปี 1968

การศึกษา
: ปริญญาตรี จาก Agnes Scott College รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา คณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
: ปริญญาโท จาก College of Europe เมืองบรูจจ์ เบลเยียม
: Post-graduate Diploma จาก Diplomatic Academy กรุงเวียนนา ออสเตรีย

ประสบการณ์
: เข้าร่วมงานที่กระทรวงต่างประเทศตุรกี ในปี 1993
: คณะผู้แทนถาวรของตุรกี ณ สหภาพยุโรป (สองครั้ง) ในกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม
: ปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานทูตตุรกี ในเมืองทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน, กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา
: รองอธิบดีฝ่ายวางแผนนโยบาย กระทรวงต่างประเทศ กรุงอังการา ประเทศตุรกี คือตำแหน่งล่าสุดก่อนมาประจำประเทศไทย

ครอบครัว : สมรสกับ HE Mehmet Suat Akgun เอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศบรูไนดารุสซาลาม