มุกดา สุวรรณชาติ : ผลประชามติ…ได้รัฐธรรมนูญ และ… รัฐบาล (จัดสรร ปันส่วน) ผสม

มุกดา สุวรรณชาติ
AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

เมื่อเดือนก่อนเคยวิเคราะห์ว่า ผลประชามติจะเป็นลายแทงไปสู่รัฐบาลผสม ไม่ว่าร่าง รธน. จะผ่านการยอมรับหรือไม่ และเมื่อผลออกมาผ่าน ทั้งสองเรื่อง ดูจากคะแนนประชามติที่ออกมา ก็เห็นรัฐบาลจัดสรรปันส่วนผสม ลอยอยู่ตรงหน้า

ผลประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มีลักษณะคล้ายเดิม

แต่ชี้ให้เห็นอะไรบ้าง?

 

1.ผลงานของ กกต.

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดได้ถูกต้อง ว่าผู้มาใช้สิทธิ์จะใกล้เคียงประชามติปี 2550 คือประมาณ 57% อย่างมากไม่เกิน 60% หรืออาจน้อยกว่า 57%

ผลคือ ออกมาจริง 54.61% การขยับตัวรณรงค์ คัดค้านไม่ได้ เพราะกลัวถูกจับ การหาเสียงด้านเดียว ทำให้งานกร่อย ฝ่ายค้านบางคนก็เลยเสนอวิธี ไม่ร่วม ไม่ยอมรับ แต่ตัวเลขของคนที่ไม่มาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจากสาเหตุใด ถ้าเทียบกับที่เคยมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่ผ่านมาล่าสุดคือปี 2554 มีคนออกมา 75% จำนวน 20% ที่หายไป คือ 10 ล้านคน

แต่จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ก็ยังมากกว่าประชามติ 2550 เพราะ 9 ปีที่ผ่านมา ผู้มีสิทธิ์เพิ่มขึ้น 5.2 ล้านคน จาก 45 เป็น 50 ล้าน แต่คนมาลงประชามติเพิ่มเพียง 1.6 ล้านคน

กกต. ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจบแล้วตามเป้าหมาย ครั้งนี้ดีกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน (2 กุมภาพันธ์ 2557) ตรงที่ว่า สามารถจัดให้มีการลงคะแนนได้สำเร็จ

แต่ถ้าดูองค์ประกอบอื่นๆ ตั้งแต่การเตรียมเอกสาร การให้ความรู้ประชาชน การเปิดโอกาสในการถกเถียง ล้วนแต่สอบตก

จึงไม่แปลกที่หลายชาติประกาศว่าการลงประชามติของเราไม่อยู่ในมาตรฐานตั้งแต่ยังไม่หย่อนบัตร

แต่เมื่อกลุ่มการเมืองในประเทศยอมรับ ถ้าผู้คุมอำนาจรัฐ เล่นเป็น รู้จักยืดหยุ่น สถานการณ์การเมืองจะไหลไปตามโรดแม็ป หรือเร็วกว่าถ้าคิดจะเร่ง และ กกต. จะมีงานทำอีกครั้ง

 

2.ผลการลงประชามติ 2559 คล้ายกับปี 2550 แต่ได้ รธน. ย้อนหลังประมาณปี 2534

ปี 2550 มีผู้รับร่างรัฐธรรมนูญ 14.7 ล้าน ไม่รับร่าง 10.7 ล้าน

ในปี 2559 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ มีผู้รับร่างประมาณ 15.5 ล้าน ไม่รับร่างประมาณ 9.8 ล้าน

ทีมวิเคราะห์ได้คาดคะเนไว้ผิดพลาดทั้งสองฝ่าย เพราะประเมินว่าคะแนนของฝ่ายรับร่างในปี 2559 ไม่น่าจะเกินของปี 2550 คือ 14.7 ล้าน ผลคะแนนที่ออกมาจริงกลับได้มากกว่า 800,000 คะแนน ในขณะเดียวกันก็ประเมินได้ว่าคะแนนของฝ่ายที่ไม่รับร่างไม่น่าจะน้อยกว่า 10.7 ล้านซึ่งเป็นฐานคะแนนปี 2550 ซึ่งก็วิเคราะห์ผิดอีกเพราะคะแนนฝ่ายไม่รับหายไปประมาณ 9 แสนกว่าคะแนนเช่นกัน

แต่ในประเด็นคำถามพ่วง 2559 ผลประชามติใกล้เคียงกับร่าง รธน. 2550 คือรับ 58.11% ไม่รับ 41.89%

รัฐธรรมนูญที่ได้มาจากปี 2540 หลังรัฐประหาร 2549 มาได้ฉบับ 2550 นับว่าถอยมาหนึ่งก้าว แต่ฉบับที่จะประกาศใช้ในปี 2560 จะถอยหลังอีก สองก้าว แต่ประชาชน 15 ล้านเลือกแบบนี้ก็ต้องใช้ไปก่อน พวกไม่มาใช้สิทธิ์ 23 ล้านห้ามบ่น

ถ้าย้อนไปเทียบกับปี 2550 พบว่าหลังจากนั้นมีการต่อสู้ทางการเมืองมากขึ้น จนเกิดการแตกแยกทางความคิด ขยายกว้างและลึกมากขึ้นไป กลายเป็นการเลือกข้าง และบัดนี้เมื่อการเลือกข้างได้ผ่านมาเป็นระยะเวลาหลายปี พบว่า ในเชิงเหตุผลทางประชาธิปไตย การบริหาร การใช้กฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดไม่สามารถมาเปลี่ยนแปลงการเลือกข้างของทั้งสองฝ่ายได้

ส่วนคนกลางๆ ก็มีความหวาดเกรงปัญหาความขัดแย้งของขั้วการเมือง อยากให้ปัญหาถูกเหยียบและกลบไว้ แม้ระบบการปกครองนั้นจะทำให้สูญเสียเสรีภาพหรือมีลักษณะอำนาจนิยมสูง

อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะมีการปกครองต่อเนื่องไป 5 ปี หรือ 20 ปี ยังไม่มีใครรู้

 

วิเคราะห์คะแนนเชิงการเมือง ของพรรคเพื่อไทย

ฐานคะแนนของพรรคเพื่อไทยซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นคะแนนหลักของกลุ่มที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเคยได้ถึง 10.7 ล้านในการลงประชามติ 2550 แต่ครั้งนี้มองโดยภาพรวมพบว่าคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหายไปเกือบทุกภาค

แม้ภาคอีสานจะมีเสียงไม่รับมากกว่า แต่คะแนนก็หายไปเยอะมาก คือปี 2550 คะแนนไม่รับ 5.15 ล้าน ปี 2559 ลดเหลือ 4.19 ล้าน หายไปเกือบ 1 ล้านคะแนน คะแนนของฝ่ายรับ เพิ่มขึ้น 9 แสน จาก 3.0 เป็น 3.9 ล้าน

ภาคเหนือ ฝ่ายรับ จากเดิม 2.85 ล้าน ลดเหลือ 2.67 ล้าน แต่ฝ่ายไม่รับลดลงมากกว่า จาก 2.32 ล้าน กลายเป็น 1.98 ล้าน

ภาคกลาง คะแนนฝ่ายรับ จาก 5.77 ล้าน เพิ่มเป็น 5.88 ล้าน ฝ่ายไม่รับ จาก 2.9 ล้าน กลับลดเหลือ 2.6 ล้าน

ภาคใต้ เป็นภาคเดียวที่แพ้มากสุด แต่คะแนนดีขึ้น คือฝ่ายรับ คะแนนลดลงจาก 3.0 ล้าน เหลือ 2.4 ล้าน ฝ่ายไม่รับ เพิ่ม 100% จาก 3.9 แสน เป็น 7.8 แสน ซึ่งน่าจะมาจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้

ประชามติครั้งนี้ มีคนมาลงคะแนนเพิ่ม 1.6 ล้าน แต่ฝ่ายไม่รับ คะแนนไม่เพิ่ม กลับหายไป 1 ล้าน

แม้จะมีข้ออ้างที่ว่าฝ่ายที่รับสามารถโฆษณาสะดวกและโฆษณาอยู่ฝ่ายเดียว ฝ่ายไม่รับขยับตัวก็ผิดกฎหมายและอาจถูกจับ ดังนั้น จึงเป็นผลให้ฝ่ายไม่รับคะแนนลดลง

แต่นอกจากเหตุผลนี้ยังน่าจะมีเหตุผลอื่นๆ อีก ควรจะสำรวจดูคะแนนซึ่งมาจากหน่วยเลือกตั้งที่เป็นเขตเมืองและเขตชนบทว่าเป็นอย่างไร

ควรหาข้อมูลที่เกี่ยวกับอายุของคนที่มาลงคะแนนเพราะช่วงระยะที่พรรคไทยรักไทยได้รับความนิยมจนมาถึงการลงคะแนนประชามติปี 2559 วันนี้ก็ผ่านมา 9 ปี 10 ปีแล้ว กองเชียร์ที่สูงวัยสมัยนั้นถ้าคนอายุ 60 ก็จะกลายเป็นอายุ 70 พวกเขาล้มหายตายจาก ลงคะแนนได้เหมือนเดิมหรือไม่ ส่วนผู้เยาว์ซึ่งเคยเป็นเด็กรู้จักพรรคเพื่อไทยแค่ไหนในขณะที่วันนี้พวกเขามีอายุเป็นหนุ่มเป็นสาวเพราะผ่านมา 10 ปีแล้ว

ดูจากคะแนนทำให้รู้สึกว่าผู้รับผิดชอบในเขตต่างๆ เหมือนกับปล่อยไปตามยถากรรม อาจกลัวแรงกดดันจากอำนาจรัฐจึงไม่กล้าขยับตัว ประชาชนเองก็ไม่เคลื่อนไหวหรือตื่นตัวมากเท่าใด เรื่องนี้ถ้ามองเปอร์เซ็นต์ของคนที่มาลงคะแนนเราจะพบว่าการลงเลือกตั้งครั้งสุดท้ายมีผู้มาลงคะแนนเสียงถึง 75% แสดงว่าที่หายไป 20% หรือ 10 ล้านคนนี้ คือเสียงเงียบ และคราวนี้เงียบตามปกติ อีกส่วนหนึ่งเคยเชียร์พรรคเพื่อไทยปี 2554 แต่คราวนี้ไม่ออกมา

การวิเคราะห์รายละเอียดในแต่ละพื้นที่ เจ้าของพื้นที่จะรู้ดีที่สุด นี่คือลายแทงที่มีค่า

แต่ในฐานะคนนอกคงจะวิเคราะห์แนวทางการเมืองใหญ่ และแนวทางที่พรรคจะปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งจะว่ากันต่อไปในโอกาสหน้า ขอติดตามข้อมูลอีกเล็กน้อย

 

วิเคราะห์ผลจากคะแนนรับร่าง ต่อการเมืองของ ปชป.

คะแนนของ ปชป. ซึ่งใครก็หวังว่าจะเป็นตัวแปรเมื่อ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคแถลงว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยคาดว่าอิทธิพลของความเห็นของหัวหน้าพรรคและแกนนำ เช่น ชวน หลีกภัย ซึ่งสนับสนุนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง จะทำให้ผู้สนับสนุนเห็นด้วย และคิดว่าคะแนนอาจจะแตกเป็นสองส่วนคือทั้งยอมรับร่างตาม คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเป็นแกนนำ กปปส. บางส่วน และไปตามแกนนำ ปชป. บางส่วน แต่คะแนนออกมาจริงปรากฏว่าไม่ต่างกับปี 2550 คือรับร่างถึง 80% แม้คะแนนไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญในภาคใต้สูงขึ้นก็ตาม แต่น่าจะเป็นผลจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มวาดะห์และองค์กรประชาธิปไตยในสามจังหวัดภาคใต้ซึ่งมีผลให้คะแนนไม่รับมากกว่าคะแนนรับ ในโซนนั้น

ขณะที่จังหวัดอื่นตั้งแต่สงขลา สตูลขึ้นมาจนถึงชุมพรไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจนเห็นได้ชัด แต่เป็นไปตามคำเรียกร้องของคุณสุเทพ

สถานะของพรรคประชาธิปัตย์หลังจากวันที่ 7 สิงหาคม จึงมีผู้วิจารณ์ว่าไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์เหมือนเดิม

ปชป. จะไม่สามารถส่งเสาไฟฟ้าลงแล้วคนก็เลือกแบบเดิมอีกแล้ว

การประกาศไม่รับรัฐธรรมนูญของหัวหน้าพรรคอภิสิทธิ์ และการสนับสนุนของแกนนำคนสำคัญเช่น ชวน หลีกภัย และแกนนำคนอื่นไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของมวลชนพรรคประชาธิปัตย์ไปได้

สภาพนี้น่าจะเป็นเช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย คือแม้มีการประกาศไม่รับแต่ไม่มีการเคลื่อนไหวในระดับพื้นที่ เป็นเพียงการประกาศลอยๆ

อำนาจของฝ่ายนำ ปชป. ไม่มีพลัง เพราะมวลชนของพรรคหันมาทำตามการชี้นำของ กปปส. แต่ในจำนวน 15 ล้านที่รับ ไม่ใช่ฐานเสียง ปชป. ทั้งหมด น่าจะเป็นฐานพรรคอื่น (ขนาดกลาง ขนาดเล็ก) ประมาณ 5 ล้านคะแนน คนที่อยากรับแล้วรีบเลือกตั้ง 3 ล้าน

มวลชนของ ปชป. 7 ล้านที่ตลอด 10 ปีมาร่วมม็อบกับกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง และมาร่วมม็อบกับ กปปส. ถูกอบรมบ่มเพาะ ผ่านจอทีวี จนอุดมการณ์แข็งกล้า

ถึงตรงนี้ส่วนใหญ่มีแนวทางและจุดยืนทางเมืองคล้ายคุณสุเทพ ถ้าคุณสุเทพจะหนุนใคร ฉีกตัวออกมาตั้งพรรคก็มีโอกาสทำได้เพราะตอนนี้ถึงจุดที่จะแยกกันในทางความคิดและอุดมการณ์ ถ้าจัดแกนนำที่เข้มแข็งได้จำนวนหนึ่งมีทุนสนับสนุนก็มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถสร้างพรรคและขยายตัวต่อไปได้ ถ้าคิดจะทำพรรคการเมืองก็ต้องทำในช่วงจังหวะนี้

ส่วน ปชป. ก็มาถึงทางเลือก ว่าจะเป็นพรรคการเมืองตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือจะเปลี่ยนอุดมการณ์ไปตามสถานการณ์ ลู่เอนไปตามผู้มีอำนาจ เรื่องนี้ก็ต้องรอข้อมูล และการตัดสินใจของแกนนำที่เป็น กปปส.

 

กลุ่ม คสช. จะปรับยุทธศาสตร์อย่างไร?

คะแนนที่ยอมรับรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ที่ออกมาโดยเฉพาะคะแนนที่ยอมรับคำถามพ่วง กล่าวได้ว่าเป็นผลจากการที่ประชาชนอยากจะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เป็นผลที่ประชาชนยังกลัวความขัดแย้งของขั้วการเมืองเดิมอยู่ และคิดว่า คสช. สามารถกดความขัดแย้งเอาไว้ใต้พรมได้

ถ้า คสช. คิดจะปกครองตามแผนยุทธศาสตร์ต่อเนื่อง นี่นับเป็นโอกาสที่จะลงจากหลังเสือมาขี่หลังวัวแทน ไม่มีโอกาสใดที่จะดีกว่าโอกาสนี้อีกแล้ว

เมื่อประชาชนเปิดช่อง สิ่งที่ควรทำคือตั้งพรรคการเมือง โอกาสนี้ต้องรีบตั้งพรรครับการเลือกตั้ง นี่เป็นเส้นทางที่สง่าผ่าเผย เดินเข้าสู่อำนาจทางประตูหน้า ไม่ปีนหน้าต่างเข้า สิ่งที่น่าจะทำต่อจากนี้คือการปรับตัว ปรับวิธีทำงาน ปรับภาพลักษณ์

สถานการณ์การเมืองของไทยเปลี่ยนแปลงรวดเร็วไม่แน่นอน อยู่นานไปไม่ใช่ว่าจะได้รับการต้อนรับที่ดีแบบนี้ตลอดไป เพราะประชาชนมีปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาอื่นตามมามากมาย การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีโอกาสเกิดขึ้นเสมอ ระยะเวลาที่รอไปปีสองปีอาจเกิดอะไรขึ้นก็ได้