เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ศูนย์ศิลป์สกาลา

กรณีโรงหนังสกาลาจะถูกรื้อ กรณีบ้านบอมเบย์เบอร์มาเมืองแพร่ถูกรื้อไปแล้ว ดูจะเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” ที่ต่างยุคแต่ร่วมสมัยให้ได้คิดตามคิดต่อมากมายหลายเรื่องจากเรื่องเดียวกันนี้

ความที่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ เข้ากรุงเทพฯ ใหม่ๆ จำได้ว่ามีโรงหนังชื่อขึ้นต้นว่า “เฉลิม” อยู่หลายโรง เช่น เฉลิมกรุง เฉลิมไทย เฉลิมเขตร์ เฉลิมบุรี ยังมีเด่นอีกก็เช่น เอ็มไพร์ เมโทร ฯลฯ ก่อนจะมาถึงสยาม ลิโด สกาลา ที่จะถูกรื้อในเร็วๆ นี้

ตัวอาคารโรงหนังนั้นไม่สำคัญเท่าเรื่องราวความหลังของย่านสถานที่บอกยุคสมัยความเป็นอยู่ อันโยงใยถึงความเป็นมาและเป็นไปของบ้านเมืองที่สะท้อนวิถีวัฒนธรรมชุมชน

โรงหนังไม่ได้เล่าเรื่องจำเพาะเรื่องหนังเท่านั้น หากโรงหนังยังได้บอกเล่าเรื่องราวของสังคมที่พัฒนาไปด้วย

ยิ่งโรงหนังใหญ่ๆ อย่างบรรดาที่ขึ้นต้นชื่อว่า “เฉลิม” นั้น มีเรื่องราวสำคัญๆ บอกเล่าชีวิตชีวาของยุคสมัยมากมายเกินกว่าคำบรรยายใดๆ จะบอกเล่าได้

อย่างเฉลิมกรุง ที่ดูจะเป็นโรงเดียวเหลืออยู่ให้เห็นเป็นดังหน้าตาของยุคสมัย อันยืนยงองอาจสะท้อนประวัติศาสตร์ถนนสายแรกของเมืองหลวงคือถนนเจริญกรุง ซึ่งต่อมาจึงมีถนนบำรุงเมือง และเฟื่องนครเป็นลำดับไป

โรงหนังเฉลิมกรุงจึงได้ชื่อเป็นมงคลเฉลิม ถนนเจริญกรุง โดยปริยาย

โรงหนังเฉลิมไทยก็เหมือนจะเป็นหน้าตาของถนนราชดำเนินอยู่ไม่น้อยในยุคหนึ่ง

โรงหนังเป็นโรงมหรสพสำคัญของยุคสมัย เพราะเป็นที่รวมแห่งเรื่องเล่าทั้งด้วยตัวมันเองคือภาพยนตร์ แล้วยังเล่าเรื่องของแหล่งอันเป็นย่านชุมชนนั้นๆ ด้วย

ชุมชนย่อมย่อยก่อนจะเป็นชุมชนย่านการค้า

ดังชุมชนยุคโรงหนังเฉลิมทั้งหลายก่อนจะมาเป็นย่านศูนย์การค้า เช่น สยามสแควร์วันนี้

ย่านโรงหนังยุคเฉลิมนี่แหละกลายเป็นแหล่งรวมตัวของศิลปินไปด้วยโดยไม่รู้ตัว

จำได้ว่ารู้จักพี่เชิด ทรงศรี ผู้สร้างหนังไทยยิ่งยงเป็นครั้งแรกที่โรงหนังเอ็มไพร์

รู้จักครูดนตรี พระเอกลือชัย นฤนาท และบรรดาตัวประกอบหนังไทยที่แถวโรงหนังเฉลิมกรุง

โรงหนังเฉลิมเขตร์นั้นเป็นเวทีแรกที่วงดนตรีไทย “เจ้าพระยา” ของธรรมศาสตร์และศิลปากรไปแสดงเปิดวง

โรงหนังทั้งเฉลิมไทยและเฉลิมกรุงเป็นโรงละครเวที ก่อนจะพัฒนามาเป็นภาพยนตร์ไทยยุคต้นๆ

ครั้นศูนย์การค้าเริ่มเปิดย่านใหญ่และใหม่อย่างสยามสแควร์ เกิดขึ้นพร้อมการเกิดขึ้นของโรงหนังใหญ่สามโรงคือ สยาม ลิโด และสกาลา จึงถือเป็นการเชื่อมต่อยุคโรงหนังจากเดิมๆ เฉลิมย่านเฉลิมเมือง มาสู่เฉลิมศูนย์การค้าย่านใหม่ที่ยังดำรงการเป็นสถานมหรสพสำคัญอันหนึ่งมีเพื่อให้เป็นดังศูนย์ศิลปะการแสดง โดยเฉพาะโรงหนัง

โรงหนังหรือโรงภาพยนตร์นั้นเป็นดังศูนย์รวมของศิลปะร่วมสมัยครบครัน โดยเฉพาะศิลปะภาพยนตร์นั้นเอง ซึ่งมีทั้งวรรณกรรม จิตรกรรม คีตกรรม และนาฏกรรมคือการแสดง

ยุคสมัยเปลี่ยนไปจากย่านศูนย์การค้ามาเป็นห้างสรรพสินค้า ซึ่งรวมเอาโรงหนังไว้ในอาคารเดียวกันเสร็จสรรพ โรงหนังกลายเป็นห้องหนัง ฉายหนังได้หลายห้องในชั้นห้างเดียวกัน แม้จะเรียกเป็นโรงหนัง แต่มันก็ไม่ใช่ “โรงหนัง” ดังเดิม

จำเพาะโรงหนังสกาลานั้นเป็น “โรงหนัง” สุดท้ายที่ดูจะเป็นโรงหนังอลังการเหลืออยู่ในย่านศูนย์การค้าใหญ่ เปรียบเหมือนอนุสาวรีย์แห่งโรงมหรสพที่เชื่อมยุคเชื่อมสมัยความเจริญของบ้านเมือง แม้ไม่เก่าเท่าเฉลิมกรุง

แต่ก็เก่าพอจะสะท้อนรอยต่อแห่งยุคสมัยไม่แพ้กัน

ดังนั้น ถ้าโรงหนังสกาลาจะถูกทำลายไป ก็อดใจหายไม่ได้เพราะเท่ากับเราได้ร่วมทำลายหลักฐานสำคัญที่เป็นดังหน้าตาของยุคสมัยไปด้วย

ขอเสนอให้เก็บอาคารสกาลาไว้เพื่อสร้างเป็นศูนย์รวมของศิลปวัฒนธรรมทั้งร่วมสมัยและย้อนยุค เป็นศูนย์ศิลปะเติมเต็มในส่วนที่ขาดบรรดามีที่เมืองหลวงของเรายังขาดอยู่

สกาลาเป็นได้ทั้งโรงภาพยนตร์ โรงละครร่วมสมัย เป็นเวทีให้ศิลปินทุกสาขาได้มาสร้างสรรค์และแสดงผลงานให้ปรากฏด้วยรูปแบบหลากหลาย

สถานที่เช่นนี้แหละที่บ้านเราเมืองเรายังขาดอยู่ และสกาลาก็เป็นพื้นที่เหมาะสมยิ่ง ช่วยเติมเต็มกับหอศิลป์ของ กทม.ที่อยู่ใกล้กันนั้น

ขอเพียงร่วมกันบริหารและจัดการให้ดีเท่านั้น

ศูนย์การค้าเป็นแหล่งเติมเต็มทางกายและใจ

ศูนย์ศิลป์เป็นแหล่งเติมเต็มทางจิตวิญญาณ