ชีวิต “นักข่าวฟรีแลนซ์” ของ “ฐปณีย์” กับเพจ “The Reporters” และร้านขนมจีน “บ้านพี่แยม”

“ฐปณีย์ เอียดศรีไชย” หากพูดถึงชื่อนี้หลายคนคงนึกถึงภาพนักข่าวสาวแกร่งแห่ง “ข่าวสามมิติ” ที่มาพร้อมกับคำคุ้นหู “คุณกิตติคะ” และประเด็นดราม่าที่เธอตกเป็นข่าวเองอยู่บ่อยครั้ง

ในวันนี้ “ฐปณีย์” ได้ลาออกจากการเป็นนักข่าวประจำรายการ “ข่าวสามมิติ” มารับงานเป็น “ฟรีแลนซ์” แทน และเปลี่ยนบทบาทเป็นบอสหญิงแห่งเพจ “The Reporters” ทั้งยังมีอาชีพใหม่เป็นแม่ค้าขายขนมจีนและข้าวราดแกงประจำร้านอาหาร “บ้านพี่แยม”

FEED เพจไลฟ์สไตล์ในเครือมติชนมีโอกาสพูดคุยกับ “ฐปณีย์” ที่ร้านขนมจีน “บ้านพี่แยม” เกี่ยวกับตัวตนที่แท้จริงของเธอ และการพลิกบทบาทในชีวิต ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร?

“ฐปณีย์” เล่าเรื่องราวชีวิตให้เราฟังว่าเธอเกิดและเติบโตที่จังหวัดสงขลา ในครอบครัวของชาวสวนยางและครู เนื่องจากคุณตา คุณยาย คุณปู่ คุณอา มีอาชีพเป็นครูทั้งหมด ทางครอบครัวจึงสอนและเน้นย้ำเรื่องการใช้ภาษาไทยเป็นพิเศษ

โดยมีคุณยายซึ่งเป็นครูภาษาไทยเป็นผู้สนับสนุนหลักในการส่งหลานไปสอบแข่งขันการอ่านทำนองสรภัญญะ ร้องเพลงไทยเดิม และนาฏศิลป์อยู่เสมอ

จากการปลูกฝังเรื่องการใช้ภาษาไทยทำให้ “ฐปณีย์” มีความฝันสมัยวัยเด็กว่าอยากเป็นครูเหมือนกับบุคคลอื่นๆ ในครอบครัว แต่ความฝันก็ย่อมเปลี่ยนไปตามวัยและกาลเวลา ก่อนที่เธอจะค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง

“มุมมองของเราตั้งแต่เด็กๆ ที่เห็นครอบครัวมีอาชีพเป็นชาวสวนและครู ก็เคยมีความคิดว่าอยากเป็นครูเหมือนกับญาติๆ

“แต่พอเริ่มโตขึ้นความฝันของเราก็เริ่มเปลี่ยนไป เริ่มอยากทำสวนดอกไม้และเปิดร้านขายดอกไม้ จนกระทั่งเข้าสู่วัยมัธยม คุณยายได้สอนให้อ่านออกเสียงภาษาไทย โดยให้ไปยืนพูดตามผู้ประกาศข่าวข้างๆ จอทีวี จึงค้นพบว่าแท้จริงแล้วตัวเองอยากเป็นนักข่าว”

จุดเริ่มต้นการเข้าสู่ถนนสายสื่อมวลชนของ “ฐปณีย์” บังเกิดขึ้นเมื่อเธอทำงานเป็นนักข่าววิทยุที่สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นในปี 2543 ก่อนย้ายมาอยู่สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่นี่ทำให้เธอได้รับโอกาสทำหน้าที่รายงานข่าวผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์เป็นครั้งแรก

บทบาทรายงานข่าวภาคสนามหน้าจอของ “ฐปณีย์” มักจะถูกจดจำด้วยภาพการทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัยอยู่เสมอๆ จนหลายคนเรียกเธอว่า “หญิงแกร่ง” แต่ตัวตนที่แท้จริงของเธอเป็นคนขี้น้อยใจ อารมณ์อ่อนไหว และร้องไห้ง่ายมากๆ จนเพื่อนๆ เรียกกันว่า “เด็กขี้ร้อง”

“จริงๆ นะ เราเป็นคนที่ขี้น้อยใจ เป็นคนที่ร้องไห้ง่ายมาก เพราะว่าตอนเด็กๆ อย่างที่บอกพี่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่ไม่ได้สมบูรณ์ ก็ต้องต่อสู้อะไรมามากมาย เจอปัญหาในชีวิตเยอะมาก เวลาเราเจอปัญหาเราก็มักจะระบายออกด้วยการร้องไห้ มีอะไรมากระทบกระเทือนจิตใจน้ำตาก็จะไหลแล้ว

“สมัยเรียน เพื่อนๆ ก็จะรู้ดีว่าเป็นเด็กขี้ร้อง แต่ขี้ร้องในความหมายของเราก็ไม่ใช่ว่าเราอ่อนแอนะ มันเป็นเพราะว่าสภาพจิตใจของเราอ่อนไหว แต่เราก็เป็นคนเข้มแข็ง”

ตลอดเวลาการทำงานในฐานะนักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปี “ฐปณีย์” ต้องพบเจอประสบการณ์มากมายทั้ง “ดี” และ “ร้าย” ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะการรายงานข่าวครั้งสำคัญกรณีชะตากรรมของชาวโรฮิงญา ที่ทำให้เธอต้องเผชิญหน้ากับกระแสวิพากษ์วิจารณ์หนักที่สุดในชีวิต

“ฐปณีย์” เล่าว่า การรายงานข่าวโรฮิงญาถือเป็นข่าวที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจมากที่สุด เพราะผลตอบรับส่วนใหญ่ออกมาใน “เชิงลบ” จนรู้สึกเสียใจและท้อถอยเป็นอย่างมาก แต่ในที่สุดก็คิดได้ว่าอย่างน้อยตนเองได้ทำหน้าที่รายงานข่าวเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์กว่า 400 คน ที่ไม่รู้ชะตากรรมอยู่กลางทะเล

“เราอ่านเกือบทุกคอมเมนต์นะเพื่อให้รู้ว่าเขาคิดอย่างไร แต่ว่าอ่านไปก็น้ำตาไหลไป ตอนนั้นก็ร้องไห้อยู่หลายวันเหมือนกัน อย่างที่บอกว่าเราเสียใจ เราท้อได้ว่าข่าวที่เราทำ มันทำให้เกิดผลกระทบ เกิดความคิดไปในแง่มุมที่หลากหลาย

“แต่สิ่งสำคัญ เมื่อเรารับฟังแล้ว เราต้องกลับมาทบทวนตัวเอง สิ่งไหนที่เราทำไม่ดี เราก็ปรับปรุงแก้ไข แต่อีกสิ่งที่ต้องตระหนักและคิดไว้เสมอคือเราทำข่าวชิ้นนั้นมาเพื่ออะไร เราต้องยึดมั่นในหลักการว่า เรารายงานไปเพราะต้องช่วยเหลือชีวิตของเพื่อนมนุษย์ให้รอดพ้นจากความตาย

“วันที่พวกเขาเดินทางไปถึงเกาะ คือวันที่เรารู้สึกว่าเราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว”

นอกจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ถาโถมแล้ว หลายต่อหลายครั้ง “ฐปณีย์” ต้องเผชิญอันตรายในรูปแบบต่างๆ ที่สะท้อนกลับมาหา หลังการนำเสนอข่าวสืบสวนสอบสวน ข่าวเปิดโปงการทุจริต หรือการตีแผ่ข้อเท็จในประเด็นต่างๆ

“ข่าวที่เราทำมักจะมีผลกระทบกับคนที่สูญเสียผลประโยชน์ไม่ว่าจะเรื่องไหน ดังนั้น เราจะต้องเตรียมรับมือกับมัน กับแรงเสียดทานที่กลับมา

“ในมุมที่เราทำข่าวเพื่อช่วยเหลือผู้คน เราก็ได้รับคำชื่นชมได้รับดอกไม้ แต่ถ้าข่าวไหนไปกระทบกับการเสียผลประโยชน์ของคนบางคนหรือคนบางกลุ่ม เราก็จะได้รับคำข่มขู่ โทรศัพท์มาถามว่าอยากตายเหรอ ถูกตั้งค่าหัว มีคนจ้างมือปืนให้มายิง

“แต่ปัจจุบัน ถ้าไปทำอะไรที่ขัดผลประโยชน์กับใคร เราก็จะถูกล่าแม่มด หรืออาจจะรุนแรงมากกว่ากระสุนจากปืนก็คือกระสุนจากคีย์บอร์ด”

แม้ในการทำงานตลอด 20 ปี “ฐปณีย์” จะได้รับทั้งดอกไม้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือว่าคำข่มขู่ แต่อาชีพนักข่าวภาคสนามคือลมหายใจที่เธอทุ่มเทให้ทั้งชีวิตจิตใจ

สิ่งที่เธอภูมิใจที่สุดคือการทำให้สังคมได้รับรู้ว่า ก่อนจะมีข่าวสารออกไปสู่หน้าจอโทรทัศน์ให้ผู้ประกาศข่าวรายงาน นักข่าวภาคสนามตัวเล็กๆ คือผู้ทำหน้าที่สำคัญในการเสาะแสวงหามันมาด้วยอุปสรรคมากมาย

“20 ปีของการเป็นนักข่าวมันก็สอนอะไรเราเยอะมากมาย เราทำงานเป็นนักข่าว ทุ่มเท อดหลับอดนอน แต่เอาเข้าจริง เราก็เป็นแค่มนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง เงินเดือนเราก็ตามประสบการณ์ ไม่ได้เพียงพอที่จะใช้ดูแลครอบครัวได้ทั้งหมด หาเช้ากินค่ำ มีหนี้มีสิน

“และที่สำคัญเราไม่มีเงินเก็บเลย งานก็มีความเสี่ยง ถ้าเราตายไป หรือเกิดปัญหาอะไรขึ้น ครอบครัวเราจะอยู่อย่างไร ยิ่งมาเห็นพี่น้องนักข่าวถูกเลิกจ้างในยุคนี้ จึงจำเป็นต้องมี “อาชีพที่สอง” ควบคู่ไปกับงานข่าวด้วย”

“ฐปณีย์” ตัดสินใจลาออกจากงานประจำในรายการ “ข่าวสามมิติ” แล้วมาเปิดเพจข่าวออนไลน์ชื่อ “The Reporters” ร่วมกับพี่น้องนักข่าวภาคสนามหลายคน โดยมุ่งหวังเพื่อให้มีพื้นที่รายงานข่าวอย่างอิสระในภาวะที่นักข่าวถูก “ดิสรัปต์” และหวังว่านี่จะกลายเป็น “บ้านหลังใหม่” ของนักข่าวภาคสนามทุกคน

“เราอยากทำข่าวที่มันเป็นอิสระ ทันต่อเหตุการณ์ สะพายเป้ขึ้นเครื่องบินไปได้เลย แต่ถ้าทำในโครงสร้างเดิมมันมีความล่าช้า จึงตั้งสำนักข่าวนี้ขึ้นมา

“แต่การทำงานข่าวมันต้องใช้เงินนะ แล้วเราจะไปหาเงินที่ไหนมาทำข่าวและดูแลครอบครัว จะขายโฆษณาขอสปอนเซอร์ก็ทำไม่เป็น คิดอยู่ตั้งนานว่าจะทำอย่างไรดี ก่อนปิ๊งไอเดียว่าครอบครัวเราทำกับข้าวอร่อยโดยเฉพาะแกงใต้ เลยเปิดร้านอาหารที่ชื่อว่าร้านบ้านพี่แยมขึ้น”

ร้านอาหาร “บ้านพี่แยม” มีเมนูเด็ด ได้แก่ ขนมจีนน้ำยาปู แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือร้านอาหารแห่งนี้ได้เปิดพื้นที่หน้าร้านให้พี่น้องนักข่าวภาคสนามที่ตกงานหรือต้องการหารายได้เสริม นำสินค้ามาฝากวางขาย

ใครสนใจอยากลองลิ้มชิมรสแกงใต้เข้มข้นในแบบฉบับชาวสงขลา สามารถแวะไปอุดหนุนได้ที่ร้าน “บ้านพี่แยม” ถนนเทิดราชัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ

นี่คือบทตอนล่าสุดบนเส้นทางชีวิตของนักข่าววัย 43 ปี ชื่อ “ฐปณีย์ เอียดศรีไชย”