จากประวัติศาสตร์ ถึง ปัจจุบัน เสียงเพลงจากคนรุ่นใหม่ แฮมทาโร่และม็อบ

การเคลื่อนไหวของเยาวชน โดยเฉพาะในทางการเมือง ถือเป็นพลังที่น่าหวาดหวั่นสำหรับผู้มีอำนาจ

14 ตุลาคม 2516 พลังเยาวชนนักเรียน-นักศึกษาจากโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาอาชีวะ วิทยาลัยครู และประชาชนทั่วไป ออกมาขับไล่เผด็จการ สร้างประชาธิปไตยในช่วงสั้นๆ จาก 2516-2519

ประชาธิปไตยที่เบ่งบานในมหาวิทยาลัย นิสิต-นักศึกษานำเอาชาวนา กรรมกรเข้ามาเล่าเรื่องราวปัญหา มีองค์การนักศึกษา สโมสรนักศึกษา มีพรรคนักศึกษา ในโรงเรียนมีสภานักเรียน มีการเคลื่อนไหวที่ก้าวหน้า ปฏิเสธแนวคิดบางอย่างในแบบเรียน ฯลฯ

ก่อนถูกกวาดล้างในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

จากนั้นโรงเรียนและมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาหลายแห่งแปรสภาพไป กิจกรรมการเมืองในสถาบันการศึกษาถูกจำกัด

จาก 2519 มีรัฐประหารอีกหลายครั้ง ล่าสุดคือ 2549 และ 2557 เกิดรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 สังคมไทยเริ่มไม่พอใจสภาพภายใต้ “กะลา”

เกิดการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รัฐใช้กฎหมายสกัดกั้นอย่างเต็มที่

ปรากฏการณ์ม็อบแฮมทาโร่ เมื่อ 26 กรกฎาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ชี้ว่า “กะลา” ที่ครอบงำ เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

การเคลื่อนไหวทางการเมืองแยกไม่ออกจากเสียงเพลง เพื่อแสดงพลัง ปลดปล่อย ผ่อนคลาย นำเสนอความคิดความเชื่อที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การเคลื่อนไหวแบบเดินขบวนที่ยิ่งใหญ่คือ 14 ตุลาม 2516 เสียงเพลงที่เกิดในยุคนี้คือ สู้ไม่ถอย มีเพลงของคาราวาน ที่รับอิทธิพลจากเพลงประท้วงตะวันตก มาผสมกับดนตรีพื้นบ้าน

มีเพลงจากกรรมาชนเป็นวงเครื่องไฟฟ้า รับอิทธิพลเพลงป๊อปและเพลงอันเดอร์กราวด์จากตะวันตก

ก่อนงอกงามเป็นวงโฟล์กง่ายๆ เหมาะกับการแสดงบนเวทีชุมนุม

หลัง 6 ตุลาคม 2519 เกิดเพลงปฏิวัติจากนิสิต นักศึกษา ปัญญาชนที่เข้าป่า บางเพลงนิสิต-นักศึกษาในเมืองนำมาดัดแปลงเนื้อให้เหมาะสมกับสภาพการเมือง

ส่วนในเมืองเอง มีเพลงเพื่อชีวิตแบบป๊อปที่เนื้อหาก้าวหน้า แต่ไม่รุนแรงมาก อย่างวง “พลังเพลง” และวงของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ

พฤษภาทมิฬ 2535 ยังใช้บริการจากเพลงเหล่านี้ จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 2549 สภาพการเมืองที่เปลี่ยนไป ทำให้กลุ่มต่อต้านรัฐประหารผลิตเพลงของตนเองออกมา ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐประหาร หยิบยืมเพลงของฝ่ายซ้ายในยุค 2516-2519 มาใช้

เกิดเป็นสภาพชุลมุนชุลเกทางวัฒนธรรม

ไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่จากวัยทีนไปจนถึง 25 คือคนที่เกิดตั้งแต่ปี 2540-2545 เป็นต้นมา จะผลิตเพลงมาใช้ในการเคลื่อนไหว หรือหยิบยืมเพลงที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับแนวคิดและจุดยืนของตนเองมาใช้

แนวคิดและจุดยืนของคนรุ่นนี้ เกิดจากกรอบบีบคั้นในระบบการศึกษา และการเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ เห็นคุณค่าของเสรีภาพ ประชาธิปไตย ต้องการมีส่วนในการเมือง เพื่ออนาคตและโอกาสของพวกเขาเอง

ฮิปฮอป ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ และเพลง กลายเป็นดนตรีของคนเจนใหม่ พรมแดนดนตรีโดนทลายด้วยระบบออนไลน์

จาก “ประเทศกูมี” ของ Rap Against Dictatorship หลังรัฐประหาร 2557 และเพลงฮิตประจำม็อบ Do You Hear People Sing?

การชุมนุมของแนวร่วมนวชีวินเมื่อ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา นำเอาเพลงประท้วงแนวใหม่ คือ “วิ่งนะแฮมทาโร่” ดัดแปลงจากเพลงในแอนิเมชั่นดังจากญี่ปุ่นที่เด็กนิยมดูกันมาเผยแพร่ เพื่อบอกว่า คนรุ่นใหม่ไม่อยากเป็นหนูแฮมสเตอร์ที่วิ่งวนในวังวนความล้มเหลวของการเมือง ประกอบการวิ่งรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

การเคลื่อนไหวแบบแฟลชม็อบ เพลงจากการ์ตูนแฮมทาโร่ กำลังแพร่กระจายออกไปอย่างมีพลัง