สมชัย ศรีสุทธิยากร | ยุบสภา หาใช่คำตอบสุดท้าย

สมชัย ศรีสุทธิยากร

เสียงตะโกน “ยุบสภา ยุบสภา” ดูจะดังขึ้นทุกวัน

ข้อเรียกร้องหนึ่งของนักเรียน-นักศึกษาและผู้ชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน คือให้นายกรัฐมนตรียุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ด้วยเหตุแห่งความไม่พอใจในการบริหารของรัฐบาล

แต่ดูจะเป็นตรรกะที่แปลกสำหรับนักรัฐศาสตร์ เพราะหากผู้บริหารผิดก็สมควรกดดันให้ผู้บริหารลาออก แต่นี่กลับมาลงที่ฝ่ายนิติบัญญัติ

เสียงอื้ออึงจากฝ่ายนักการเมืองที่ไม่ตอบรับการยุบสภายังประกอบด้วยแม่น้ำทั้งห้าว่า ยุบไปตอนนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะกฎกติกาต่างๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลง รอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วค่อยยุบสภาจะเป็นจังหวะก้าวที่ถูกต้องยิ่งกว่าหรือไม่

แต่หากพินิจพิเคราะห์ลึกลงไปในข้อเสนอของบรรดานักเรียน-นักศึกษาและผู้ร่วมชุมนุมดังกล่าว จะเห็นว่ามิใช่ข้อเสนอที่ตื้นเขินหรือไม่รู้เรื่องรู้ราวของบรรดาเยาวชน

แต่กลับเป็นการมองลึกเห็นแก่นแท้ของพฤติการณ์การเมืองไทย และเห็นว่ายุบสภาคือทางเลือกที่เหมาะสมซึ่งจะหลุดพ้นจากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ยุบสภาแล้วอะไรตามมา

การยุบสภา (Dissolution of the Parliament) เป็นกลไกทางการเมืองในระบอบรัฐสภาที่เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจนหาข้อยุติไม่ได้ และรัฐบาลเห็นว่าไม่สามารถบริหารบ้านเมืองภายใต้การทำงานร่วมกับรัฐสภาชุดปัจจุบัน ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจของตนยุบสภาเพื่อคืนอำนาจตัดสินใจกลับสู่ประชาชนได้

ในอดีตแม้ว่าประเทศจะมีการปกครองประชาธิปไตยมาเกือบ 90 ปีแต่การยุบสภากลับมีจำนวนครั้งไม่มากเพียงแค่ 13 ครั้ง โดยครั้งหลังสุดคือเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2556 ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยเหตุวิกฤตความขัดแย้งของคนในชาติ มีการต่อต้านรัฐบาลและเหตุการณ์บานปลายขยายความรุนแรง เป็นเหตุให้รัฐบาลเลือกใช้วิธีการคืนอำนาจกลับให้ประชาชนเป็นฝ่ายตัดสินใจด้วยการเลือกตั้ง

ตามมาตรา 103 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การยุบสภาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่โดยเนื้อแท้ของการปฏิบัติเป็นการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร โดยทำเป็นพระราชกฤษฎีกา เมื่อยุบสภาแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องไปประชุมกันภายใน 5 วันและประกาศกำหนดวันเลือกตั้งในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้

คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167(2) แต่ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 168(1)) แต่ไม่สามารถดำเนินการในเรื่องหลักๆ ที่สำคัญ 4 เรื่อง (มาตรา 169) คือ (1) ไม่สามารถอนุมัติงานหรือโครงการใหม่ๆ ที่มีผลผูกพันต่อ ครม.ชุดถัดไป (2) ไม่สามารถแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (3) ไม่สามารถอนุมัติเงินงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ (4) ไม่สามารถใช้ทรัพยากรของรัฐหรือคนของรัฐเพื่อกระทำการใดๆ ที่อาจมีผลต่อการเลือกตั้ง

ส่วนการเลือกตั้ง หากยังไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ ระบบบัตรใบเดียวจัดสรรปันส่วนผสมที่ให้ประชาชนเลือก ส.ส.ในเขตแล้วนำคะแนนทั้งประเทศไปคำนวณจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมีเพื่อบอกว่าพรรคคุณควรมี ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนเท่าไร ยังคงใช้ระบบนี้ต่อไป เช่นเดียวกับระบบการปัดเศษให้พรรคที่มีคะแนนรวมทั้งประเทศเพียงสามหมื่นสี่หมื่นคะแนนก็ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้วก็ยังเป็นระบบนี้

เราคงเห็นกระบวนการแจกกล้วยเพื่อกวาดต้อนพรรคที่มี ส.ส.คนเดียวมารวมกันช่วยชาติจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

สำหรับพรรคการเมือง หากเลือกตั้งใหม่ โดยไม่มีการแก้ไข พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เงื่อนไขต่างๆ สำหรับการจัดตั้งพรรคการเมืองและการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งที่อาจเป็นปัญหาอุปสรรคต่อพรรคการเมืองบางพรรค

เช่น เรื่องสาขาพรรค (มาตรา 33) เรื่องจำนวนตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่ต้องมีในเขตที่ประสงค์จะส่งผู้สมัคร (มาตรา 35) และกระบวนการส่งผู้สมัครที่เรียกกันว่าต้องทำ Primary Vote หรือต้องมีการคัดสรรผู้สมัครในระดับพื้นที่ (มาตรา 47-56) ก็ยังคงอยู่และพรรคการเมืองทุกพรรคต้องดำเนินการตาม พ.ร.ป.ดังกล่าว ไม่มีข้อยกเว้น

สำหรับการจัดการเลือกตั้ง ก็ยังต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน ที่จัดได้ดีหรือเลว เป็นกลางหรือเอนเอียง เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องให้คะแนนตัดสิน

สำหรับการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองต่างๆ ก็ยังต้องกระทำในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาโดยใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสองสภา (เกิน 375 เสียงจาก 750 เสียง) โดยมี ส.ว. 250 คนเดิมที่เกือบทั้งหมดมาจากการคัดสรรของ คสช.และมาโดยตำแหน่งทางความมั่นคงอีก 6 คนมาร่วมในการตัดสิน

เสียงของสภาผู้แทนที่จะเอาชนะเสียง ส.ว.ได้ คือต้องมีมากกว่า 375 เสียงใน 500 เสียง ซึ่งเป็นเรื่องยากภายใต้ระบบการเลือกตั้งที่ถูกออกแบบมาเช่นนี้

ดังนั้น ข้อเสนอการยุบสภาจึงต้องพร้อมรับกับภาระความเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวและยอมรับกับผลพวงที่จะเกิดขึ้นตามมา

ยุบสภา ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

ข้อเสนอการยุบสภาทันที จึงเป็นความต้องการที่จะหลุดพ้นจากภาวะปัจจุบันที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้ารัฐบาลที่ประชาชนเห็นว่าด้อยประสิทธิภาพในการบริหารบ้านเมือง

หลุดพ้นจากภาวะที่รัฐสภาซึ่งมีเสียงข้างมากจากระบบการเลือกตั้งที่บิดเบี้ยว

และพยายามหลุดพ้นจากกลไกกับดักนานัปการที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้กฎเกณฑ์กติกาบ้านเมืองในปัจจุบัน

เป็นความเสี่ยงที่เหมือนเพียงเห็นแสงสว่างรำไรที่ปลายอุโมงค์ก็พร้อมจะเดินหน้า

โดยยอมรับว่า รัฐบาลใหม่ที่จะได้มาหลังการเลือกตั้งอาจจะไม่งดงามเหมือนดังฝันแต่ก็ยังดีกว่าสิ่งอัปลักษณ์ที่ปรากฏตรงหน้า

แต่ข้อเสนอที่ต้องหนักแน่นและดำเนินทันทีควบคู่กันไป คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ด้วยกระบวนการที่กระชับและมีส่วนร่วมของประชาชน

กระชับ คือ ต้องไม่นาน ไม่ยืดเยื้อ ไม่ลากยาวข้ามปี ไม่เป็นลูกเล่นของผู้ปกครองบ้านเมือง

มีส่วนร่วม คือ กลไกการได้มาซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่การแต่งตั้งจากผู้ปกครอง และกระบวนการในการร่างต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างถ้วนทั่ว เมื่อร่างเสร็จต้องทำประชามติบนพื้นฐานความรู้ของประชาชน ไม่ยัดเยียด ไม่ใช้อำนาจรัฐเพื่อกดดันการลงคะแนน

หลังจากรัฐธรรมนูญผ่าน ต้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ กลไกขององค์กรอิสระต้องยุติและหมดสภาพไปกับรัฐธรรมนูญใหม่ มีการเลือกสรรองค์กรอิสระใหม่ภายใต้การออกแบบของรัฐธรรมนูญใหม่ และที่สำคัญคือ ส.ว. 250 คนต้องพ้นสภาพและมีการสรรหา ส.ว.ชุดใหม่ตามกติกาในรัฐธรรมนูญใหม่

ทหารและฝ่ายความมั่นคงต้องกลับเข้ากรมกอง หากอยากจะยุ่งกับการเมืองก็ถอดเครื่องแบบมาเล่นภายใต้กติกาที่เป็นธรรม เท่าเทียม ไม่มีการใช้อำนาจรัฐ อำนาจราชการ อำนาจจากการถืออาวุธ เพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือฝ่ายการเมืองอื่นๆ

ข้อเสนอง่ายๆ ของเด็กนักเรียน นักศึกษาและผู้ชุมนุมคัดค้านรัฐบาล ที่มีผู้ปรามาสว่า คิดง่ายๆ แบบเด็กๆ แค่ตะโกนตามกันโดยไม่คิดอะไรนั้น จริงๆ แล้วจึงลึกซึ้งและใคร่ครวญมาเป็นอย่างดีแล้ว มิฉะนั้นคงไม่ได้ยินเสียงตอบรับที่ดังกึกก้องไปทั่วประเทศมากขึ้นทุกวัน

“ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หยุดคุกคามประชาชน”