ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม - 6 สิงหาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ธรรมลีลา |
เผยแพร่ |
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับภิกษุสงฆ์ในศรีลังกาในพุทธศตวรรษที่ 5 มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพุทธศาสนาในภาพรวม
ในช่วงนั้น นอกจากศรีลังกาจะถูกรุกรานจากพวกทมิฬที่มาจากทางตอนใต้ของอินเดีย และขับไล่พระเจ้าวัฏฏคามณีอภัยแล้ว
ก็ยังเกิดทุพภิกขภัยใหญ่หลวงและยาวนาน ที่เรียกว่า พามิณีฏิยาสัย
พระเจ้าวัฏฏคาณีอภัยต้องลี้ภัยไปอยู่ในป่ากับมุขอำมาตย์
และเกิดเรื่องที่น่าเศร้าใจขึ้นเมื่อกษัตริย์ให้ประหารมุขอำมาตย์นายหนึ่ง ทำให้มุขอำมาตย์ที่เหลือถอดใจละทิ้งพระเจ้าแผ่นดิน
เมื่อไปเผชิญหน้ากับกองโจร พระเถระรูปหนึ่งชื่อ มหาติสสะ อาศัยอยู่ที่คุมพุกัลปละกะวิหารช่วยไว้ได้ เมื่อพระเถระทราบความเป็นมา เห็นว่าในช่วงเวลานั้น สำคัญอย่างยิ่งที่ต้องรวมกำลังกันไว้ พระเถระเป็นผู้ไกล่เกลี่ยสร้างความสมานฉันท์ให้บรรดามุขอำมาตย์ที่เอาใจออกห่างมาจากพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย
เมื่อพ้นจากวิกฤตครั้งนั้น พระเจ้าวัฏฏคามณีอภัยและมุขอำมาตย์จึงพร้อมใจกันสร้างอภัยคีรีวิหารถวายพระติสสะเถระเพื่อแสดงความกตัญญูต่อท่าน
ในช่วงที่ศรีลังกาประสบกับภัยพิบัติครั้งนั้น ผู้คนอดอยากล้มตาย และถึงกับกินเนื้อมนุษย์ด้วยกัน ทั้งชาวบ้านและภิกษุสงฆ์อดอยากล้มตายลงเป็นจำนวนไม่น้อย บรรดาวัดต่างๆ ถูกทิ้งร้างปล่อยให้ผืนป่าเข้าครอบคลุมทั้งที่มหาวิหาร และมหาเจดีย์รุวันวาลี
เหตุการณ์นี้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คณะสงฆ์พิจารณาร่วมกันว่า หากเกิดภัยพิบัติเช่นนี้ในอนาคต หากพระธรรมคำสอนอยู่กับตัวบุคคลเท่านั้น พระศาสนาคงจะถึงกาลอันตรธานเป็นแน่ สมควรให้มีการเตรียมการที่สำคัญคือ การจารพระไตรปิฎกที่เดิมรักษาไว้ด้วยความทรงจำของพระเถระเท่านั้น
เช่นนี้เองที่พระเถระเริ่มมีการประชุมและจารพระไตรปิฎกเป็นครั้งแรกที่วัดอาลุวิการ นอกเมืองแคนดี้
.
เมื่อคราวที่พระพุทธองค์ทรงมอบหมายให้พระธรรมวินัยเป็นหลักแก่ทั้งพระสงฆ์และชาวพุทธก่อนที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานนั้น 450 ปีผ่านไป ในการจารพระไตรปิฎกครั้งแรกนั้น คำสอนของพระพุทธองค์มีสามหมวด คือ พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม
จากการศึกษาประวัติศาสตร์เช่นนี้ จึงกล่าวได้ว่า พระอภิธรรมเป็นส่วนที่เกิดในช่วง 450 ปีที่ว่านี้เอง โดยที่มีการอธิบายขยายความข้อธรรมที่มาจากพระสูตร แต่เน้นในเรื่องจิต และการทำงานของจิตเป็นสำคัญ
การปรับเปลี่ยนอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือการให้ความสำคัญกับการศึกษาพระธรรมวินัยที่เรียกว่าปริยัติ มากกว่าปฏิบัติ
ดั้งเดิมนั้น เราเข้าใจกันว่า การปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่งพระนิพพาน (ปฏิเวธ) นั้น เป็นเป้าหมายสูงสุดที่ชาวพุทธทุกคนยอมรับ
ในการประชุมของพระเถระหลังจากภัยพิบัตินี้ มีการพิจารณาประเด็นว่า อะไรเป็นพื้นฐานของพระศาสนา การศึกษาพระธรรมวินัย (ฝ่ายปริยัติ) หรือการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น (ปฏิบัติและปฏิเวธ)
ในกลุ่มพระภิกษุที่เรียกว่า ฝ่ายปังสุกูลิกะยืนยันว่าการปฏิบัติเป็นพื้นฐานของพระศาสนา ในขณะที่ธัมมกัตถิกะภิกษุ คือภิกษุที่เป็นอาจารย์สอนฝ่ายปริยัติและพระธัมมกถึกยืนยันว่า ฝ่ายปริยัติเป็นพื้นฐานของพระศาสนา
ในอรรถกถาที่อธิบายอังคุตรนิกาย กล่าวว่า แม้จะมีภิกษุที่เป็นวิปัสสนาจารย์เป็นร้อยเป็นพันรูป แต่หากไม่มีการศึกษาพระธรรม ก็ไม่สามารถนำไปสู่การบรรลุอริยมรรคได้
แม้ในอรรถกถาที่อธิบายทั้งทีฆนิกายและมัชฌิมนิกายก็อธิบายว่า ไม่ว่าจะได้บรรลุธรรมหรือไม่ แต่การศึกษาพระธรรมคำสอนก็เพียงพอที่จะทำให้พระศาสนามั่นคง ผู้เป็นบัณฑิตจึงควรศึกษาพระไตรปิฎก เพื่อที่จะทำให้ปฏิบัติ และปฏิเวธเป็นจริง…เมื่อการศึกษาพระธรรมมั่นคงแล้ว พระศาสนาก็จะยั่งยืน
แต่ข้อความที่ปรากฏในชั้นอรรถกถานี้ กลับกันกับความในพระธรรมบทที่เน้นว่า ผู้ที่ปฏิบัติธรรมนั้น แม้จะมีการศึกษาน้อย แต่ก็มีคุณค่ามากกว่าผู้ที่ศึกษาโดยไม่มีการปฏิบัติ
.
สําหรับสังคมของชาวศรีลังกาสมัยนั้น การศึกษาพระธรรมนั้นมีผลโดยตรงต่อสังคมจึงให้ความเคารพพระสายปริยัติมากกว่าสายปฏิบัติ
และด้วยความรู้และความสามารถจากการศึกษาพระธรรมนี้เองที่ทำให้พระสายปริยัติสามารถยกเหตุผลวิธีคิดที่เอาชนะพระป่าที่เป็นสายปฏิบัติได้ชัดเจน
พระภิกษุของศรีลังกาก็ดูจะแยกเป็นสองฝ่ายสืบมาในปัจจุบัน เป็นที่มาของพระสายคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ
พระภิกษุสงฆ์ที่แยกเป็นสองสายนี้ พระอาจารย์วัลโปละ ราหุลชี้ว่า ไม่ได้มีมาแต่ดั้งเดิม แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และมีการกล่าวถึงในชั้นอรรถกถาที่มาปรากฏในพุทธศตวรรษที่ 5 นี้เอง
แต่ก็มีพระสายวัดป่าที่เป็นนักวิชาการก็มี เช่น พระอาจารย์ทิงพุลาคะละ มหากัสสป ที่เขียนตำราว่าด้วยไวยากรณ์สันสกฤต
เมื่อชาวบ้านเองให้ความสำคัญและยกย่องพระภิกษุที่เป็นนักวิชาการ ดูแลทั้งการเก็บพระคัมภีร์ตลอดจนการเข้าถึงและนำมาถ่ายทอดให้ญาติโยมเข้าถึงในพระธรรมเหล่านั้น เราจึงเห็นชัดเจนว่า พระภิกษุของศรีลังกาส่วนใหญ่จะเน้นสายปริยัติเป็นหลัก
นอกจากนี้ ก็ยังเป็นความเชื่อว่า ถ้าเข้ามาบวชตอนที่มีอายุมาก ไม่มีเรี่ยวแรงแล้ว ก็ขอเป็นพระสายปฏิบัติไป
มีเรื่องราวของนายพรานชื่อมิลักขะติสสะเป็นชาวเมืองโรหณะ ออกบวชเมื่อแก่ ก็ได้พูดกับพระอาจารย์ของตนว่า การศึกษาพระคัมภีร์นั้น เป็นความรับผิดชอบของผู้ที่มีความสามารถ ส่วนตัวท่านนั้น มีศรัทธาเพราะเห็นความทุกข์ ขอออกปฏิบัติภาวนา และรับเอาองค์ภาวนาไปจากอาจารย์ แล้วจาริกไปตามที่ต่างๆ เหมือนกับผู้จาริกแสวงบุญทั่วไป
เช่นนี้เอง จะเห็นว่า เรื่องการศึกษาพระธรรมคัมภีร์กลายเป็นเรื่องสำหรับผู้ที่มีความสามารถ ส่วนการปฏิบัติภาวนาสำหรับคนที่อ่อนแอไม่มีเรี่ยวแรง ไม่สามารถที่จะศึกษาเล่าเรียนได้แล้ว
.
เมื่อไปศึกษาข้อมูลที่ปรากฏอยู่บนศิลาจารึกที่มหินทเล ที่จารึกไว้ในรัชสมัยของพระเจ้ามหินท์ที่ 4 (พุทธศตวรรษที่ 15-16) ครูที่สอนพระวินัยนั้น ได้เงินเดือน 5 วสัค (หน่วยเงินในสมัยนั้น) ครูที่สอนพระสูตรได้ 7 วสัค และครูที่สอนอภิธรรมได้ 12 วสัค
ในตอนแรกนั้น ฝ่ายคันถธุระนั้นหมายเอาการเรียนการสอนพระไตรปิฎก แต่ต่อมาก็นับรวมภาษา ศิลปะ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กฎหมาย ฯลฯ เข้ามารวมอยู่ด้วย
การศึกษาที่ว่านี้ หมายรวมทั้งเจ้าชายลงมาจนถึงสามัญชน ล้วนต้องเรียนจากพระภิกษุทั้งสิ้น
วัดเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ในระบบเช่นนี้ การศึกษาพัฒนาไปควบคู่กับวัฒนธรรม พระภิกษุที่เป็นอาจารย์ผู้ทรงความรู้จึงได้รับการเคารพจากสังคมทุกระดับ
ในเอกสารทางประวัติศาสตร์และการปกครองของศรีลังกาจึงมีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการที่รัฐสนับสนุนพระเถระที่ทรงความรู้ มีอัตราการถวายนิตยภัต การจัดให้มีผู้ดูแลรับใช้ ตลอดจนการดูแลค่าใช้จ่ายอื่นๆ แก่พระภิกษุสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถเหล่านี้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ พระภิกษุสงฆ์ยังเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องการแพทย์ตลอดจนการใช้ยาที่มาจากสมุนไพรชนิดต่างๆ ในอรรถกถาของศรีลังกา อนุญาตให้พระภิกษุสามารถให้การรักษาบิดา-มารดา ตลอดจนสังฆะ และญาติใกล้ชิดได้ด้วย
มีหลักฐานที่บันทึกไว้แสดงว่า เมื่อพระมเหสีของพระเจ้าวสภะ (ค.ศ.127-171) ประชวร นางสนองพระโอษฐ์ของพระนางไปปรึกษาพระอาจารย์ภิกษุชื่อมหาปทุมเถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางพระวินัย พระอาจารย์ท่านนี้อธิบายวิธีการรักษาให้พระภิกษุที่รับใช้ฟัง นางสนองพระโอษฐ์ก็นำการรักษานั้นไปถวายพระมเหสี ปรากฏว่าพระมเหสีหายจากอาการประชวร จึงเกิดความศรัทธานำผ้าจีวรพร้อมปัจจัยมาถวาย ขอให้พระเถระใช้ในการจัดหาดอกไม้ถวายพระ พระอาจารย์ก็รับปัจจัยที่ถวายนั้น และจัดการไปตามพระประสงค์ของพระนาง
นอกจากนั้น ก็ยังมีพระอาจารย์ปัสมูละ มหาเถระ ที่เป็นพระอธิการแห่งมยูรบาทปริเวณะที่เขียนตำรายาที่มีชื่อเสียงที่พระภิกษุในสมัยโบราณได้อาศัยอ้างอิงในการรักษาพยาบาลด้วย
.
ในการพิจารณาความตามพระวินัยนั้น ยังถือเป็นมาตรฐานของทางการด้วยเมื่อพระเถระได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าภาติยะ (สมัย ค.ศ.38-67) ให้เป็นผู้ปกครองยุติธรรมของศรีลังกาเวลาที่มีการพิจารณาความ เมื่อพระอาจารย์ตัดสินแล้ว ให้ลั่นฆ้อง เป็นหมายว่า คดีนั้นสิ้นสุดแล้ว
เช่นนี้จะเห็นว่า บทบาทของพระภิกษุสงฆ์ที่ปรากฏในศรีลังกาผ่านมาในประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นบทบาทที่มีอิทธิพลอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะในวงการสงฆ์ แต่หมายรวมไปถึงสังคมของชาวศรีลังกาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ การศึกษา การปกครอง ฯลฯ
ทั้งหมดนี้มาจากความจริงที่พระภิกษุสงฆ์ในศรีลังกาเป็นผู้ทรงความรู้ทางธรรมวินัยนั่นเอง ในการที่ศรีลังกาต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตั้งแต่ข้าวยากหมากแพง ภาวะสงคราม ฯลฯ สังคมของพระสงฆ์เป็นสังคมที่ต้องได้รับความเกื้อหนุนจากสังคมของชาวบ้าน ขณะเดียวกัน เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้มากกว่าชาวบ้าน จึงต้องเป็นทั้งผู้นำชุมชน ผู้นำทางความคิด ในการปกครอง ในการให้การศึกษา ตลอดจนการรักษาพยาบาล
การที่พระสงฆ์เป็นผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาพระไตรปิฎกย่อมสามารถนำความรู้จากพระไตรปิฎกนั้นเองมาประยุกต์ในทางความคิดเพื่อเป็นผู้นำชุมชนได้อย่างดี
ขณะเดียวกันเมื่อพระสงฆ์เป็นผู้นำที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชน เมื่ออยู่ในภาวะสงคราม พระสงฆ์ของศรีลังกาจึงต้องออกมาเป็นผู้นำแม้ในการทำสงครามด้วย ตรงนี้แสดงว่า ชาตินิยมของศรีลังกานั้น ผูกพันอย่างลึกซึ้งกับความเป็นชาวพุทธชนิดที่แยกจากกันไม่ได้
แม้พระสงฆ์ต้องปรับคำสอนทางศาสนาให้เอื้อต่อความจำเป็นที่จะต้องรักษาอธิปไตยของชาติเพื่อความอยู่รอด ดังเช่นที่ปรากฏว่า พระภิกษุยอมลาสิกขาออกไปเป็นผู้นำทัพ หรือการที่เอาพระสารีริกธาตุสถิตไว้ที่ปลายหอกเพื่อการสู้รบ เป็นต้น
การศึกษาเรื่องราวในอดีตทำให้เราได้เห็นภาพและได้เข้าใจปัญหาตามความเป็นจริงได้ชัดเจนขึ้น