ต่างประเทศอินโดจีน : เขื่อน เขื่อน และเขื่อน!

เมื่อ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา คือวาระครบรอบ 2 ปีของเหตุการณ์เขื่อนกันลำน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ในแขวงอัตตะปือ และแขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว แตกร้าวและพังทลายลงมา

มวลน้ำมากกว่า 500 ล้านคิวบิกเมตรทะลักลงมากวาดทำลายบ้านเรือนและสร้างความเสียหายให้กับเรือกสวนไร่นาของประชาชนที่อยู่ด้านล่างเขื่อนมหาศาล

ประเมินกันว่าผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากวินาศภัยครั้งนั้น มีมากถึง 14,000 คน

รัฐบาลลาวสรุปเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นว่าเป็น “อุบัติเหตุ”

2 ปีที่ผ่านไป ไม่เพียงยังคงมีเสียงเรียกร้องจากเหยื่อ ซึ่งยังไม่ได้รับการเยียวยาตามที่รัฐบาลรับปากไว้ ถึงขนาดหน่วยงานของสหประชาชาติต้องออกมาไล่จี้อย่างที่เพิ่งเขียนถึงไปเมื่อไม่นานมานี้เท่านั้น

รัฐบาลลาวยังคงเดินหน้าสร้างเขื่อนของตัวเองต่อไปอย่างขะมักเขม้น ในขณะที่เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยก็กลับมาทำงานผลิตกระแสไฟฟ้าอีกครั้งตั้งแต่ต้นปี 2020

ทั้งๆ ที่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนดังกล่าว ยังไม่ชัดเจนเลยว่า อะไรก่อให้เกิดการถล่มของเขื่อนขึ้นในครั้งนั้น และยังไม่ตอบข้อกังขาของบรรดาผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลายว่า ทำไมถึงยังไม่มีการ “ซ่อมแซม” เขื่อนอื่นๆ ที่เหลือ ซึ่งก่อสร้างโดยใช้เทคโนโลยีและรูปแบบเดียวกัน?

แต่คำถามที่ยังไม่มีคำตอบเหล่านี้ไม่ได้ทำให้การก่อสร้างเขื่อนทั้งหลายในลาวชะงักงันหรือชะลอช้าแต่อย่างใด

ไม่แม้แต่ภาวะแล้งเข็ญที่เกิดขึ้นทั้งในปีนี้และในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การสร้างเขื่อนถูกตั้งคำถามมากมาย

.

งานวิจัยชิ้นใหม่ล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ภาวะแห้งแล้งที่เกิดขึ้นกับประเทศที่ตั้งอยู่ตอนล่างของลำน้ำโขงถูกขยายให้รุนแรงมากยิ่งขึ้นจากการก่อสร้างเขื่อนปิดกั้นลำน้ำตอนบนในประเทศจีนกับเขื่อนอีกเป็นจำนวนมากในลาว

ถึงกระนั้น ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ลาวสร้างเขื่อนขวางลำน้ำต่างๆ ขึ้นมาใช้งานแล้ว 50 เขื่อน อีก 50 เขื่อนจะผุดขึ้นมาในเร็วๆ นี้เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

รัฐบาลลาวยังมีแผนก่อสร้างเขื่อนอีกมากถึง 288 เขื่อน!

แม้จะยอมรับว่าการก่อสร้างเขื่อนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของสัตว์น้ำในลำน้ำ แต่นักพัฒนาเขื่อนก็อ้างว่ามีแนวทางบรรเทาผลกระทบที่ว่านั้นอย่างได้ผล

เทคโนโลยีที่มักอ้างถึงบ่อยมากก็คือ “บันไดปลาโจน” กับ “ประตูตะกอน” สำหรับเป็นเครื่องอำนวยให้ปลาได้อพยพตามฤดูกาลได้ตามปกติ และช่วยให้ประเทศตอนล่างเขื่อนได้รับความอุดมสมบูรณ์จากตะกอนเหมือนเช่นที่ผ่านมา

แต่เทคโนโลยีนี้ไม่เคยได้รับการทดสอบในลำน้ำโขง นอกจากนั้น หลังจากที่เขื่อนไซยะบุรีเปิดใช้งาน ลำน้ำตอนล่างก็เกิดความเปลี่ยนแปลง

ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า เทคโนโลยีที่ถูกนำมาอ้างนั้นเป็นเพียงความเป็นไปได้ในทางทฤษฎี ไม่สามารถเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ

.

ถึงอย่างนั้น ลาวก็ยังคงก้าวย่างตามแผน ซึ่งจะนำพาประเทศไปสู่การเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ต่อไป

ยังคงเปลี่ยนผืนดินทำกินให้กลายเป็นสถานที่ก่อสร้าง และยังคงโยกย้ายอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนสารพัดเขื่อนต่อไปไม่หยุดหย่อน

เมื่อปี 2005 เขื่อนในลาวผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 700 เมกะวัตต์ ปีนี้เมื่อเขื่อนขนาดใหญ่ขวางลำน้ำโขง 2 เขื่อนเริ่มดำเนินการ ทั้งที่ไซยะบุรีและดอนสาหงส์ คาดว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จะสูงมากถึง 27,000 เมกะวัตต์

ผู้ที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนมักชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนของจีดีพีต่อหัวของประชากรลาวเพิ่มขึ้นจาก 612 ดอลลาร์ในปี 2005 เป็น 2,027 ดอลลาร์ กว่า 3 เท่าในปี 2016

แต่ตัวเลขที่ว่าจะยังคงเป็นแค่ตัวเลข หากรัฐบาลยังคงไม่ให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน อย่างเช่นให้ที่ทำกิน ให้เมล็ดพันธุ์และบ้านเรือนทดแทนที่เสียหายไป

เหมือนเช่นที่ชาวอัตตะปือพานพบมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมานี้