อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : คุณประยุทธ์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

มีงานวิชาการชิ้นเอกวิเคราะห์ระบอบประยุทธ์ (Prayuth regime) ได้อย่างน่าสนใจ ในแง่การอธิบายและวิเคราะห์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่และประชาธิปไตยในประเทศไทยช่วงหลังรัฐประหารพฤษภาคม 2014 หรือ 6 ปีที่ผ่านมาได้ดีมากๆ

งานวิชาการดังกล่าวศึกษารวบยอดอย่างกระฉับของระบอบประยุทธ์ได้ใน 2 ลักษณะสำคัญ กล่าวคือ

ประการที่ 1 ทหารมีบทบาทนำทางการเมือง ในขณะที่สถาบันอื่นๆ อ่อนแอและไร้เอกภาพ ระบบนี้ประกอบสร้างทหารและทุนนิยมช่วงชั้น

ประการที่ 2 พรรคการเมืองถูกควบคุมโดยชนชั้นนำเสียงข้างน้อยและมีกองทัพอยู่ข้างบนของโครงสร้างอำนาจ คณะทหารไม่เพียงรุกเข้าไปในสถาบันประชาธิปไตยและระบบราชการ แต่ยังร่วมมือกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของประเทศอีกด้วย

หากเชื่อในลักษณะสำคัญของระบอบประยุทธ์เช่นว่านี้ ดูเหมือนว่าระบอบประยุทธ์น่าจะมีความเข้มแข็งทางการเมือง อีกทั้งน่าจะเป็นระบอบการเมืองที่มั่นคง มีเสถียรภาพและต่อเนื่อง

อย่างน้อย นี่ก็สถาปนาอำนาจมาได้ 6 ปีแล้ว

ซึ่งในความเป็นจริง รากของระบอบประยุทธ์ยังย้อนได้ไกลไปกว่านั้น เพราะเราควรนับบทบาททางการเมืองและการก่อรูปเชิงอำนาจของช่วงก่อนระบอบประยุทธ์ โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีบทบาทสำคัญทางการเมืองอยู่ก่อนแล้วนับตั้งแต่การรัฐประหาร ตุลาคม 2006 หรือสืบต่อกันมานาน 14 ปีแล้ว

หากเป็นจริงดังข้อสรุปลักษณะของระบอบประยุทธ์ สิ่งที่เราควรต้องทำต่อก็คือ นำเสนอโครงสร้างและพัฒนาการของระบอบประยุทธ์เพื่อให้เข้าใจพัฒนาการต่างๆ ในทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ผ่านมาที่ประกอบสร้างระบอบการเมืองดังกล่าวอันจะทำให้เราเห็นโครงสร้างที่ละเอียดขึ้น

พร้อมทั้งจะช่วยให้เราทดสอบซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่าระบอบดังกล่าวมีความเข้มแข็ง มีเสถียรภาพและมั่นคงจริงๆ

เหนืออื่นใด อาจช่วยให้เรามองเห็นแนวโน้มของระบอบการเมืองนี้และทิศทางการเมืองไทยอย่างน้อยจนถึงต้นปีหน้าก็ได้

.

สู่ระบอบประยุทธ์

ตั้งแต่รัฐประหารตุลาคม 2006 ระบอบประยุทธ์ได้รับแรงสนับสนุนจากหลายสถาบันการเมืองและหลายปัจจัย

ประการแรก น่าจะเรียกว่า ระบบการเมืองย่อยเฉพาะกิจช่วงเวลานั้น อันประกอบด้วย คสช. คณะรัฐมนตรีสมัยนั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนี้ ด้วยรัฐธรรมนูญสมัยนั้นยังวางกติกาให้วุฒิสภาจำนวน 250 คนเป็นกลไกค้ำจุนอำนาจของระบอบประยุทธ์ด้วย

กลไกอันนี้เท่ากับว่า ชนชั้นนำของระบบข้าราชการ นักธุรกิจและนักการเมืองในกลไกวุฒิสภาเป็นฝ่ายสนับสนุนระบอบดังกล่าวโดยอัตโนมัติ

พร้อมกันนี้ เราไม่ควรลืมฐานมวลชนซึ่งไม่ทราบว่ากว้างใหญ่ขนาดไหน แต่ช่วงเวลานั้นนับเป็นฐานมวลชนที่นิยมชมชอบและร่วมกันประกอบสร้างระบอบประยุทธ์มาด้วยกันนั่นคือ กปปส.

ที่สำคัญและขาดเสียไม่ได้คือสถาบันการเมืองหลักของไทยคือ กองทัพ ช่วงนั้นก็ค้ำจุนอำนาจของระบอบประยุทธ์ซึ่งไม่ใช่เหตุผลเชิงประเพณีนิยมที่กองทัพจะต้องสนับสนุนรัฐบาลเสมอไป

ทว่าเพราะผู้นำหลักในยุคนั้นคือ ท่าน 3 ป. ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีอำนาจทางกฎหมาย อิทธิพลและบารมีในกองทัพในฐานะผู้บัญชาการทหารบก อดีตผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในเวลาต่อมา

ที่พิเศษและไม่ซับซ้อนอะไรเลยคือ การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างระบอบประยุทธ์และระบบทุนนิยมช่วงชั้น

เพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายนี้มีนัยยะของความสัมพันธ์ที่เป็นระบบ สร้างความต่อเนื่องและชี้ให้เห็นวิสัยทัศน์ของระบอบประยุทธ์ถึงแผนงานการครองอำนาจในระยะยาวด้วย ผมไม่คิดว่าเป็นแนวทางของพวกทหารนิยมที่ต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วยเหตุที่ว่า กองทัพโดยพื้นฐานก็มีสถานะของระบบราชการ แผนยุทธศาสตร์ชาตินั้นมีได้แต่ก็เป็นแผนงานที่แสดงเป้าหมายที่มองเห็นในอนาคตเพื่อกำหนดแผนงานปฏิบัติอีกทีหนึ่ง

นอกจากนั้น ยังมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและโครงการประชารัฐซึ่งมีโครงการต่างๆ มากมายที่นำเสนอออกมาเพื่อสร้างความนิยมทางการเมืองทั้งจากระบบทุนนิยมช่วงชั้นและประชาชนในระดับต่างๆ

สถานะสำคัญของโครงการประชารัฐกล่าวได้ว่า โครงการนี้เป็นพลังขับเคลื่อนทางการเมืองที่สำคัญเพื่อตอบโต้กับโครงการประชานิยม (Populist policy) ของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่เน้นนโยบายเศรษฐกิจรากหญ้า เมื่ออ้างโครงการประชานิยมของรัฐบาลก่อนว่าเป็นการหาความสนับสนุนจากรากหญ้าบ้าง เป็นโครงการลวงโลกและก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นบ้าง เป็นการจัดตั้งทางการเมืองเพื่อนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นเครือข่ายของระบอบทักษิณบ้าง

เมื่อล้มนโยบายของเขาแล้วก็ต้องมีนโยบายและโครงการใหม่ขึ้นมาทดแทน

อย่างไรก็ตาม โครงการประชารัฐยังเป็นโครงการที่แสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้แก่ ไทยเบฟ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มบริษัทมิตรผล เซ็นทรัล เดอะมอลล์กรุ๊ป ไทยยูเนียน ธนาคารกรุงเทพ เครือปูนซิเมนต์ไทย ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ และกลุ่มสหกรุ๊ป เป็นต้น

สุดท้าย พรรคพลังประชารัฐนับเป็นกลไกทางการเมืองอันสำคัญที่สุดทั้งในทางทฤษฎีและความเป็นจริงทางการเมืองสำหรับระบอบประยุทธ์ เพราะว่าหลังจากทำรัฐประหารแล้ว ผู้นำรัฐประหารไม่สามารถจะอยู่ในอำนาจได้อย่างชอบธรรม การจัดการเลือกตั้งและการกลับไปสู่กลไกรัฐสภานับเป็นข้อบังคับให้การเมืองไทยต้องกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแม้ว่าจะมีลูกล่อลูกชนจากฝ่ายยึดอำนาจก็ตาม

ในที่สุดพรรคพลังประชารัฐก็ถูกจัดตั้งขึ้นท่ามกลางความรังเกียจของผู้นำที่มาจากการรัฐประหารซึ่งเคยกล่าวหาพรรคการเมืองและนักการเมืองว่าเป็นพวกบ่อนทำลายประชาธิปไตย สร้างความวุ่นวายทางการเมืองและต่อสถาบันหลักของชาติ

ดังนั้น จึงต้องอาศัยบรรดา 4 กุมารเข้ามารวบรวมนักการเมืองที่พร้อมจะจับมือกับใครก็ได้เข้ามาแล้วต้องให้ ดร.อุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค แล้วพรรคพลังประชารัฐเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ก็มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการ

เมื่อเป็นเช่นนี้ด้วยแม่น้ำ 5 สาย วุฒิสภา กองทัพ กลุ่มทุนขนาดใหญ่และพรรคพลังประชารัฐเป็นฐานสนับสนุนทางการเมืองแก่ระบอบประยุทธ์

แม้ว่าระบอบประยุทธ์น่าจะเป็นระบอบการเมืองที่ไม่พึงประสงค์ของฝ่ายประชาธิปไตย และด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และโครงการประชานิยมในชื่อใหม่คือ โครงการพลังประชารัฐน่าจะทำให้ระบอบประยุทธ์เป็นระบอบการเมืองที่แข็งแรง มีทั้งเสถียรภาพทางการเมืองและควบคุมการเมืองให้เป็นรัฐบาลที่อยู่ในระยะยาวได้

ทว่า ความจริงทางการเมืองไทยไม่เป็นเช่นนั้น

.

จุดเปราะบางทางการเมือง

หากมองในแง่สถาบันการเมือง ขณะนี้มีสถาบันทางการเมืองที่บั่นทอนความเข้มแข็งของระบอบประยุทธ์

แรกสุดคือ กองทัพ มีแนววิเคราะห์กองทัพในการเมืองไทยหลายแนว แนวหนึ่งมองกองทัพในฐานะฝักฝ่าย (Faction) ซึ่งแบ่งกันชัดขึ้นตั้งแต่ปี 1960-ปัจจุบัน เช่น จปร.1 จปร.5 จปร.7 จปร.12 เป็นต้น หรือแบ่งเป็นเหล่าได้แก่ ราบ ม้า ปืน รบพิเศษ เป็นต้น หรือแบ่งเป็นภาคและสังกัด เช่น วงศ์เทวัญ ท่ามกลางการแบ่งเป็นฝักฝ่ายนี้ไม่มีใครมองมากนักว่ากองทัพถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นของบุคคล (personalize) นั่นคือ กองทัพขึ้นอยู่กับใครเช่น จอมพลท่านไหน พลเอกท่านไหน น่าสนใจมาก บูรพาพยัคฆ์ เป็นการผสมผสานระหว่างฝักฝ่ายและ personalize เหมือนกองทัพกลุ่มอื่นๆ ทว่า เป็นกลุ่มก้อนของบุคคลในกองทัพที่ยาวนานที่สุดนับได้กว่า 14 ปี แต่ตอนนี้มีการก่อรูปของ personalize อีกกลุ่มหนึ่งที่เผชิญหน้าโดยตรงกับบูรพาพยัคฆ์

ในเวลาเดียวกัน อิทธิพลและบารมีในกองทัพของบูรพาพยัคฆ์ก็ลดลงมากเนื่องด้วยไม่ได้คุมกำลัง ดูเหมือนว่าอำนาจที่เป็นทางการในกองทัพในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมนับเป็นอำนาจเดียวที่เหลืออยู่ทว่ามีขอบเขตจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ

นี่เป็นความเปราะบางแรกแต่กำลังเผชิญหน้าระบอบประยุทธ์โดยตรงและอาจสุ่มเสี่ยงต่อความเข้มแข็งของระบอบนี้ง่ายๆ

สถาบันการเมืองที่สองคือ พรรคพลังประชารัฐ แม้ว่าแกนนำของพรรคจะบอกว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจแต่พรรคนี้เป็น กลุ่มก้วนการเมือง มากกว่ากลุ่มก๊วนที่รวมของนักการเมืองเขี้ยวลากดินทั้งเก่าและใหม่ที่พร้อมจะต่อรองผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มซึ่งมีผลโดยตรงต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลและระบอบประยุทธ์

ดังจะเห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจต่อรองในพรรคพลังประชารัฐน้อยลงและน้อยลงเรื่อยๆ

สัญญาณที่บอกอำนาจต่อรองของ พล.อ.ประยุทธ์ได้ดีคือ ทันทีที่กลุ่ม 4 กุมารยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อนั้น พล.อ.ประยุทธ์แทบจะไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลยในพรรคพลังประชารัฐ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ที่หลายคนมองว่าระบอบประยุทธ์มีความเข้มแข็งและมั่นคงด้วยการประสานความร่วมมือระหว่างทหารและกลุ่มทุนช่วงชั้นภายใต้นโยบายพลังประชารัฐก็นับว่าคลาดเคลื่อนและเป็นภาพลวงตา ไม่ใช่แนววิเคราะห์ระบอบประยุทธ์ที่เข้มแข็งผิดพลาด

ทว่า เมื่อมองถึงพลวัตและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เราจึงเห็นความเปราะบางที่ชัดเจนขึ้น ในเวลาเดียวกัน ฐานสนับสนุนทางการเมืองของระบอบประยุทธ์คือพรรคพลังประชารัฐก็จอมปลอม

ตรงกันข้ามกับกองทัพที่ถูกทำให้เป็นของบุคคล แต่เป็นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นของจริงที่ท้าทายระบอบประยุทธ์อยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น ระบอบประยุทธ์อาจเปลี่ยนเป็นเพียงคุณประยุทธ์ได้ทุกเมื่อ