เกษียร เตชะพีระ | การเมืองไทยหลังโควิด (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

ประเด็นถัดไปในคำถามชวนคิดของทีมงานสำนักข่าวออนไลน์เดอะสแตนดาร์ดที่ตั้งให้ผมก็คือ :

“วิกฤตความชอบธรรมและความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการรับมือเชื้อไวรัสจะส่งผลอย่างไรต่อการจัดระเบียบและฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำ…และโจทย์ใหญ่ที่รัฐราชการไทยต้องเผชิญและปรับตัว…”

ผมจำได้ว่าเคยทดลองตอบประเด็นนี้ในรายการพิเศษของเครือมติชนเรื่อง “เลือกตั้ง 2562 : จุดเปลี่ยนหรือจุดแตกหักประเทศไทย?” เมื่อกว่าหนึ่งปีก่อน (ดูภาพประกอบ) ว่า :

คสช.ไม่ประสบความสำเร็จในการจัดระเบียบและสร้างฉันทามติใหม่ในหมู่ชนชั้นนำ การเลือกตั้งทำให้เห็นสภาพนาฏกรรมโกลาหลในหมู่ชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ทั้งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและเข้าร่วมการเลือกตั้ง เกิดการแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ และจัดแถวรวมพวกกันใหม่ จนเหมือนสมาพันธรัฐพันลึกของเครือข่ายอำนาจต่างๆ ที่ยังไม่ลงตัว

(a confederate deep state of still unsettled power networks)

มาดูสภาพปัจจุบันหนึ่งปีหลังโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง (9 มิถุนายน 2562) ผมเห็นว่าการจัดระเบียบและฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำก็ยังไม่มีอยู่ดีและยิ่งยากที่จะสร้างขึ้น

ดังสะท้อนออกผ่านกระแสข่าวความขัดแย้งแตกแยกแย่งชิงอำนาจตำแหน่งและแนวนโยบายกันโกลาหลทั้งภายในพรรคและระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล, เสียงวิจารณ์ต่อต้านรัฐบาลที่ดังระเบ็งเซ็งแซ่ขยายวงกว้างออกไปและหนักแน่นชัดเจนขึ้นจากพรรคฝ่ายค้านและชนชั้นนำนอกเครือข่ายรัฐบาลโดยเฉพาะภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม ท่ามกลางการเคลื่อนไหวประท้วงคัดค้านรัฐบาลของนักเรียนนักศึกษาและกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่แวดล้อมกดดันหนักเบาขึ้นลงอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย

ทั้งนี้เพราะแต่ไหนแต่ไรและแต่แรกเริ่มระบอบประยุทธ์@คสช. เป็นระบอบและผู้นำระยะผ่าน (transitional regime & leader) ที่เข้ามาเพื่ออำนวยการรักษาความมั่นคงและราบรื่นในช่วงผลัดแผ่นดินและเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมแบบปิดไปสู่ระบอบอำนาจนิยมจากการเลือกตั้ง (closed authoritarianism -> electoral authoritarianism)

ดังจะเห็นได้ว่าแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีอันเป็นผลงานชิ้นโบว์ดำที่สะท้อนวิธีคิดของระบอบประยุทธ์@คสช. และถูกทิ้งไว้ผูกถ่วงรัฐบาลจากการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นวางอยู่บนสมมุติฐานว่าวิถีดำเนินของประเทศในอนาคต 20 ปีข้างหน้าจะก้าวหน้าไปในแนวเส้นตรงเรียบง่ายทื่อๆ (linear progression) ฉะนั้น รัฐบาลจึงทำหน้าที่แค่รูตีน (routine governmental actions) แบบงานประจำธรรมดาไปเรื่อยๆ เท่านั้น

ซึ่งไม่พอเพียงอย่างยิ่งกับสภาพสังคมเสี่ยงและความเสี่ยงทางการเมือง (risk society & political risks) ของโลกและประเทศไทยในกระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน อันมากด้วยปัจจัยเหนือความคาดหมายและการควบคุมของหัวหน้ารัฐบาล ทำให้อาจเกิดการปั่นป่วนเสียกระบวนใหญ่ (great disruption) ขึ้นอย่างคิดไม่ถึง

ดังกรณีสงครามการค้าอเมริกา-จีน คณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน และโควิด-19 ระบาด เป็นต้น

ข้าราชการประจำที่เป็นนายทหารมาทั้งชีวิตและคนตลกอย่าง พล.อ.ประยุทธ์เผอิญมีประวัติภูมิหลัง ทีทรรศน์การทำงานและวางตัว อีกทั้งอยู่ในฐานะตำแหน่งที่เหมาะและน่าไว้ใจให้ทำภารกิจเปลี่ยนผ่านที่ลำบาก ล่อแหลมและเข้าเนื้อนี้ ทั้งที่หากพิจารณาโดยบุคลิกลักษณะและความสามารถ เขาดูจะเป็น second choice (ตัวเลือกอันดับสอง) ของกลุ่มชนชั้นนำต่างๆ ส่วนใหญ่

นี่น่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์จึงบ่นดังๆ เป็นระยะและบ่อยครั้งช่วงสองสามปีแรกที่ครองตำแหน่งในทำนองว่า… ขอให้มาร่วมกันช่วยเขาทำงานยากของประเทศ ถ้าไม่ช่วย แล้วเขาทำไม่สำเร็จ จะมาโทษกันไม่ได้นะ ฯลฯ

ก็แลคนที่เขาขอให้ช่วย ไม่น่าจะใช่ผมหรือท่านผู้อ่านทั่วไป แต่คือชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ ที่กอดอกดูเขาทำงานลำบาก ล่อแหลมและเข้าเนื้ออยู่ต่างหาก

ถ้าจะดูตัวอย่างประวัติศาสตร์การเมืองไทยระยะใกล้เพื่อเปรียบเทียบหาบทเรียน ผมคิดว่าช่วงพุทธทศวรรษที่ 2520 ถึงราว พ.ศ.2535 หรือช่วงรัฐบาลนายกฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถึงนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นช่วงที่การเมืองไทยสร้างฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำขึ้นมาได้สำเร็จ

ในความหมายชนชั้นนำทั้งหลายแบ่งเขตอำนาจและผลประโยชน์กัน (เกี้ยเซี้ยและฮั้วกัน แบ่งกันกินแบ่งกันใช้) ไม่มีใครกลุ่มใดเหมารวมผูกขาดกินรวบไปฝ่ายเดียว กล่าวอีกนัยหนึ่งคือมีพหุนิยมในหมู่ชนชั้นนำภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ (elite pluralism under royal patronage) และหากใครกลุ่มใดพยายามเหมารวมผูกขาดกินรวบเช่นนั้นก็จะถูกรุมต่อต้านคัดค้านโดยชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ

เหล่านี้เมื่อประจวบและประกอบกับพระบารมีที่เพิ่มพูนขึ้นของสถาบันกษัตริย์หลังปราบกบฏยังเติร์ก พ.ศ.2524 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์พฤษภามหาโหด พ.ศ.2535 ซึ่งยุติลงด้วยการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงไกล่เกลี่ยเตือนสติสองผู้นำที่ขัดแย้งกัน จนทหารพากันถอยกลับค่ายกรมกองไปร่วมทศวรรษ และระบอบรัฐสภากระฎุมพีรวมศูนย์อำนาจการเมืองมั่นคงขึ้น ทำให้ :

[ฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำ + พระราชอำนาจนำ = ฉันทามติภูมิพล]

(ประยุกต์ตีความจาก อาสา คำภา, “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ.2495-2535”

(ดุษฎีนิพนธ์ที่ยังไม่ตีพิมพ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พ.ศ.2562)

ในช่วงเวลากว่าทศวรรษนั้น เมื่อมองย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่ากระบวนการ 2 อย่างที่เป็นเงื่อนไขสำคัญแก่ฉันทามติและการจัดระเบียบในหมู่ชนชั้นนำในการเมืองไทย ได้แก่ :

1) ทางเลือกสุดโต่งทางการเมืองทั้งซ้าย (การปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) และขวา (รัฐประหารโดยเผด็จการทหาร) ต่างพ่ายแพ้และหลุดพ้นไปจากสังคมการเมืองไทย

2) มีการบรรจบกันของกระแสปฏิรูปจากเบื้องบนกับเบื้องล่าง (คนชั้นกลาง กลุ่มทุนธุรกิจและนักการเมืองในระบอบรัฐสภาจากการเลือกตั้ง)

(ประยุกต์ตีความจากเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน, “บทที่ 3 ฆาตกรรมกับความก้าวหน้าในสยามยุคสมัยใหม่,” ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา : ว่าด้วยการเมืองไทยสมัยใหม่, สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2558)

ทว่าเงื่อนไขดังกล่าวยากที่จะเกิดในปัจจุบัน ตรงกันข้าม ท่าทีและแนวนโยบายของกลุ่มอำนาจประยุทธ์@คสช. ที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าพวกเขาเป็นตัวแทนทางเลือกขวาสุดในสังคมการเมืองไทยปัจจุบันและไม่ปฏิรูป (ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560) ต่างหาก

สำหรับรัฐราชการไทยนั้น โจทย์ใหญ่ที่สุดที่มันเผชิญและควรต้องปรับตัวคืออำนาจที่มากเกินไปของตัวมันเอง

รัฐราชการไทยเสพติดอำนาจและมีอำนาจมากไป โดยที่อำนาจดังกล่าวมีไว้เพื่อป้องกันตัวเองจากความพร้อมรับผิด ระวังรักษาเขตอำนาจตามกฎหมายของตัว และทำงานประจำ/รูตีน มากกว่าเพื่อแก้ปัญหาใหญ่โตใดๆ ของบ้านเมือง

ในเมื่อโจทย์ใหญ่คือตัวระบบราชการที่มีอำนาจมากไปนั้นเอง ทางแก้จึงมิอาจเกิดขึ้นจากข้างในระบบราชการเองได้ หากต้องมาจากพลังการเมืองภายนอกที่เข้าไปกระชากอำนาจที่กระจุกอยู่กับระบบราชการ ให้หลุดออกจากมือระบบราชการ แล้วเอาไปกระจายให้อยู่กับสังคม, ท้องถิ่น, กลุ่มประชาชนนอกระบบราชการต่างๆ เพื่อจะสามารถดูแลจัดการแก้ไขปัญหาได้เองอย่างอิสระในกรอบกติกาที่ตกลงร่วมกัน

มิฉะนั้น ต่อให้ผลิตนักบริหารการเปลี่ยนแปลงออกมาเป็นร้อยรุ่นก็ไลฟ์บอย ไม่มีทางพัฒนาระบบราชการได้หรอกครับ