เศรษฐกิจ / ผ่านไป 1 ปี ‘เฉลิมชัย’ เกษตรต้องปลอดภัย หลุดพ้นปัญหาซ้ำซาก ดึงเอกชนลดเหลื่อมล้ำ

เศรษฐกิจ

 

ผ่านไป 1 ปี ‘เฉลิมชัย’

เกษตรต้องปลอดภัย

หลุดพ้นปัญหาซ้ำซาก

ดึงเอกชนลดเหลื่อมล้ำ

 

ตอนนี้หลายอุตสาหกรรมมีปัญหาจากไวรัสโควิด-19 ระบาด แต่ภาคเกษตรกรรมของไทยก็กำลังเจอปัญหาไม่แพ้กัน

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานอยู่ที่ 38.2 ล้านคน ซึ่งในจำนวนดังกล่าว เป็นแรงงานในภาคเกษตรมากถึง 13.5 ล้านคน หรือคิดเป็นถึง 35% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด

โดยปี 2553 ภาคเกษตรกรรมของไทยมีสัดส่วนประมาณ 7.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่ปี 2562 มีสัดส่วนประมาณ 5.7% ของจีดีพี

ดูจากตัวเลขพบว่า ความสำคัญของภาคเกษตรกรรมไทยกำลังลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรกรรมยังสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งจากจำนวนประชากรที่ทำงานส่วนนี้ อีกทั้งภาคเกษตรกรรมยังเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมของประเทศหลายอย่างโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งปัจจุบันสินค้าเกษตรที่เราปลูกกันมาก เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

ครบขวบปีพอดิบพอดีที่เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับหน้าที่บริหาร ผลงานเป็นอย่างไร

 

ตามข้อมูลซูเปอร์โพล เผยผลการลงพื้นที่สำรวจเสียงของเกษตรกร พบว่า ส่วนใหญ่ถึง 89.4% ระบุว่า ค่อนข้างพอใจถึงพอใจมากที่สุดต่อมาตรการแก้ปัญหาเกษตรกร

ขณะเดียวกัน ส่วนใหญ่ 85.9% ระบุพอใจเงินเยียวยาเกษตรกร ประกันราคาสินค้าเกษตร ประกันรายได้

ตามด้วย 65% พอใจการดูแลพัฒนาราคาพืชผลทางการเกษตร 31.2% พอใจประกันยางพารา 19.1% พอใจโครงการป้องกันน้ำท่วม และ 18.2% พอใจกักเก็บน้ำแก้ภัยแล้ง

พืชเศรษฐกิจสำคัญที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงเกษตรฯ พบว่า เกษตรกรสวนยางก็ระบุพอใจกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 1 ปีผ่านไป ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 1.7 ล้านราย ผ่านโครงการประกันรายได้ กับประกันรายได้ยางแผ่นดิบ 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด 57 บาทต่อกิโลกรัม ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท ประกันรายได้ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงมีนาคม 2563 วงเงินใช้แล้ว 26,626 ล้านบาท

ซึ่งเฉลิมชัยยันว่า ส่วนต่างจากรายได้ประกัน ชาวสวนยางมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของครอบครัว และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

จึงยังสานต่อระยะสอง โครงการประกันรายได้ยาง ระยะที่ 2 วงเงินเตรียมไว้ 31,000 ล้าน ซึ่งมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1,834,087 ราย ในพื้นที่เปิดกรีด 18,286,186 ไร่

ระยะสองเริ่มโครงการสิงหาคมถึงธันวาคม 2563

 

อีกเรื่องที่ยังสานต่อคือเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ ‘ตลาดนำการผลิต’ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คุมสมดุลการผลิต และกระทรวงพาณิชย์แสวงหาตลาดผู้ซื้อ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีได้ทำการคิกออฟก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปบ้างแล้ว ระยะแรกสนับสนุนกลุ่มเกษตรจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และกระจายสินค้า ดึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของโลก อาทิ อาลีบาบา ลาซาด้า และแกร็บ ที่มีเครือข่าวทั่วประเทศ โดยขอความร่วมมือปรับปรุงค่าดำเนินการให้ถูกลง เพื่อเป็นการลดต้นทุนและส่งเสริมเกษตรอย่างแท้จริง

“เอกชนให้ความร่วมมือที่ดี จากนี้ก็ยังเดินหน้าหารือกับผู้บริหารแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อขอความร่วมมือว่า การปรับลดค่าดำเนินการนี้ถึงจะทำกำไรได้น้อยหรือเบื้องต้นอาจยังไม่มีกำไร แต่อย่างน้อยขอให้ช่วยเหลือเกษตรกร และเมื่อทุกอย่างยืนได้เชื่อว่ากำไรมาแน่นอน ทุกธุรกิจต้องหวังผลกำไร ถ้าทำแล้วขาดทุนไม่มีใครทำ แต่ถ้าเราไม่เปิดใจ จะเอาแต่ได้ข้างเดียวก็ไม่มีทางที่เขาจะร่วมมือกับเรา ฉะนั้น เราจึงต้องเปิดมุมคิด เปิดโลกใหม่กับการบริหาร ไม่รังเกียจนักธุรกิจ คนไหนที่เชื่อว่าจะสามารถช่วยกันได้ให้เข้ามา”

เฉลิมชัยยกสถิติพบว่า สินค้าที่นำอยู่บนแพลตฟอร์มเหล่านี้ มูลค่าของผลิตภัณฑ์จะเพิ่มขึ้นจากปกติถึง 30% แต่ก็ยังไม่เพียงพอ หลังจากนี้จะลงนามความร่วมมือกับช้อปปี้ ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์จากปกติให้ได้ 50% หากเพิ่มไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์

ส่วนการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์ ได้ลงนามความร่วมมือกับแม็คโคร ที่มีอยู่ 134 สาขา ในการเพิ่มปริมาณการรับผลผลิตจากเกษตรกรจากเดิมปีละ 6,000 ตัน เป็น 10,000 ตันในฤดูกาลหน้า

 

เฉลิมชัยย้ำอีกว่า

“สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ เน้นโดยตลอด คือ เกษตรปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ ต้องมีมาตรฐานการรับรอง มีการตรวจสอบย้อนกลับได้ ทั้งนี้ ส่วนของเกษตรปลอดภัยไม่ใช่ผู้บริโภคปลอดภัยอย่างเดียว ผู้ผลิตก็ต้องปลอดภัยด้วย โดยเรามีการควบคุมการใช้สารเคมี ไม่ให้มีสารตกค้าง ไม่มีผลกระทบกับผู้บริโภคและไม่ให้มีผลกระทบกับผู้ผลิตเอง ซึ่งการดำเนินการส่วนนี้จะช่วยในการกระจายสินค้า ที่แม้ปีนี้จะประสบปัญหาไวรัสโควิด-19 ทำให้อัตรากำลังการบริโภคลดลง แต่ปัญหาสินค้าเกษตรน้อยมากที่จะได้รับผลกระทบ เพราะเรามีการบริหารกิจการล่วงหน้า มีการทำงานอย่างเป็นระบบ”

ขณะเดียวกัน สิ่งที่กำลังทำและได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว คือการเปิดตลาดใหม่สินค้าฮาลาล โดยมีการลงนามแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล รวบรวมตัวแทนทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชน

“มองว่าตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดที่กว้าง มีศักยภาพและน่าจับตามอง ด้วยประชากรจำนวนมหาศาลและรายได้ประชากรต่อหัวอยู่ในระดับสูง อย่างสินค้ามังสวิรัติ ในประเทศอินเดียกำลังได้รับความนิยม โดยอินเดียมีประชากร 1 พันล้านคน ถ้าเราสามารถจับตลาดใหญ่แบบนี้ได้ ย่อมส่งผลให้ภาคการส่งออกของเราขยายตัวดีขึ้น สิ่งสำคัญคือมาตรฐานฮาลาลของเราต้องเป็นที่ยอมรับ ที่เรายังสู้ประเทศมาเลเซียไม่ได้ เพราะโดยพื้นฐานมาเลเซียเป็นชาวมุสลิม แต่มาตรฐานสินค้าไม่เกี่ยวว่าต้องเป็นศาสนาใด หากสินค้ามีมาตรฐาน มีคุณภาพ ก็ตอบโจทย์ได้”

การพัฒนาสินค้าสิ่งหนึ่งที่เน้นย้ำ คือ ต้องให้ความสำคัญกับงานวิจัย เพราะงานวิจัยเป็นเครื่องมือหรือวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งชาติใดที่ให้ความสำคัญกับงานวิจัยมีผลทำให้เจริญรุ่งเรืองและพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และด้านอื่นๆ ตามมา ซึ่งภาคเอกชนรายใหญ่มีทีมวิจัยและพัฒนาที่แข็งแกร่งซึ่งดีกว่าของรัฐบาล ถ้าจับมือกันได้จะเกิดผลดี อย่าคิดแคบๆ ให้มาช่วยกันพัฒนา

อย่างไรก็ตาม การพัฒนา แก้ไขปัญหาในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ต้องสร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชนในการมีส่วนร่วม และเรื่องสำคัญที่รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมความพร้อมให้แก่ภาคเกษตรกรรมของไทย เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่เกษตรกรไทยกลับยังเจอปัญหาเดิมซ้ำๆ เหมือนหลายสิบปีที่แล้ว

   ก้าวต่อไปปีที่สองของรัฐมนตรีเกษตรฯ ชื่อเฉลิมชัย คงได้เห็นสิ่งใหม่ๆ อีกมาก