การศึกษา / จับตาท่าที ศธ. หลัง น.ร.ขอคืน ‘สิทธิมนุษยชน’

การศึกษา

 

จับตาท่าที ศธ.

หลัง น.ร.ขอคืน ‘สิทธิมนุษยชน’

 

เป็นเรื่องส่อเค้าบานปลายขึ้นอีกจนได้ จากการร้องเรียนปัญหา “ทรงผม” สู่การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิมนุษยชนของนักเรียนภายในรั้วโรงเรียน

หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 เกิดคำถามตามมามากมาย เพราะระเบียบที่ออกมานั้นยังมีความคลุมเครือ เพราะท้ายสุดการให้นักเรียนไว้ทรงผมใด เป็นอำนาจของคณะกรรมการสถานศึกษาที่ต้องร่วมกันตัดสินใจ แม้จะระบุให้มีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษาก็ตาม

รวมทั้งโลกออนไลน์เผยแพร่เรื่องราวนักเรียนถูกลงโทษตัดผม กล้อนผม จนเกิดคำถามว่าระเบียบทรงผมฉบับใหม่ที่ ศธ.ออกมานั้น สร้างความเท่าเทียมและไม่ละเมิดสิทธิของนักเรียนจริงหรือ

ส่งผลให้ “กลุ่มนักเรียนเลว” บุก ศธ. ร้องเรียนและเรียกร้อง ศธ.ให้ความชัดเจนเรื่องการบังคับใช้ระเบียบทรงผมฉบับใหม่ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง และครั้งที่สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมคือ การบุก ศธ.แสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการ “ตัดผม” ของตน ในแคมเปญ “เลิกบังคับหรือจับตัด”

โดยมีนายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ. เป็นผู้รับเรื่อง

 

ซึ่งนายประเสริฐทำความเข้าใจกับนักเรียน พร้อมทั้งส่งหนังสือซักซ้อมความเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับระเบียบทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ไปยังหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ศธ. เพื่อให้ปฏิบัติตามนี้ และแจ้งไปยังสถานศึกษาให้ยกเลิกการบังคับใช้ระเบียบสถานศึกษาเดิม

โดยนักเรียน สถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น ต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย พร้อมต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนก่อนประกาศใช้

บวกกับกระแสสังคมและการเมืองที่ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียมกันทางเพศของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTIQANs+ การเรียกร้องเรื่องทรงผมจึงถูกยกระดับไปอีกขั้น เมื่อกลุ่มนักเรียนเลว พร้อมกลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศเดินขบวนบุก ศธ.

และยื่นหนังสือเรื่องข้อร้องเรียนของกลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

กลุ่มนักเรียนเลวยื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อต่อ ศธ. เพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศให้กับนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ ดังนี้

  1. ศธ.ต้องปรับปรุงและแก้ไขระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 โดยต้องระบุให้นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีสิทธิในการเลือกทรงผมตามเพศวิถีของตนเอง
  2. นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องมีสิทธิเลือกที่จะใส่ชุดนักเรียนตามเพศวิถีของตนเอง และ ศธ.ต้องออกแบบชุดนักเรียนเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนที่มีความลื่นไหลทางเพศ หรือยกเลิกการบังคับแต่งเครื่องแบบนักเรียน เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีสิทธิที่จะแต่งกายได้ตามเพศของตนเอง
  3. ตรวจสอบ เรียกคืน และยุติการจัดจำหน่ายหนังสือเรียนที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศในมุมมองที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งให้ยกเลิกแบบประเมินและกฎระเบียบของโรงเรียนต่างๆ ที่ยังมีการเหยียดเพศ หรือลดทอนศักดิ์ศรีความป็นมนุษย์ของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ

และ 4. ขอให้ ศธ.กำชับครูและบุคลากรทางการคึกษาให้ปฏิบัติต่อนักเรียนทุกๆ เพศอย่างเท่าเทียมกัน และห้ามดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือกลั่นแกล้งนักเรียนด้วยเรื่องเพศ

 

ต่อมา “กลุ่มนักเรียนเลว” รวมตัวที่ ศธ.อีกครั้ง เพื่อจัดแคมเปญ “นักเรียนไทย ไม่ไหวแล้วโว้ย” เพื่อมาแสดงจุดยืน ข้อเรียกร้องต่อ ศธ. ดังนี้ คุณครูต้องไม่ทารุณ กฎระเบียบต้องไม่ละเมิดสิทธิ และนักเรียนคิดเห็นได้อย่างเสรีภาพ

ทางนักเรียนได้ปราศรัยปัญหาการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็นการเล่าประสบการณ์การถูกคุกคามสิทธิในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโรงเรียนของตนจนถูกล่าแม่มด หรือจะเป็นการสะท้อนปัญหาเรื้อรังเรื่องทรงผมที่มีมานานหลายปี โรงเรียนไม่ปฏิบัติตามระเบียบทรงผมใหม่

รวมทั้งกลุ่มหลากหลายทางเพศที่ออกมาสะท้อนว่าที่ผ่านมานักเรียนจำนวนมากถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือถูกครูเหยียดเพศ พอนักเรียนไม่พอใจ ครูก็ตอบกลับว่าแค่ล้อเล่น เป็นต้น และการตั้งคำถามว่าไม้เรียวนั้น สร้างคนจริงหรือไม่ เพราะในระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 กำหนดไว้ว่า ห้ามลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง

แต่ปัจจุบันนักเรียนกลับถูกครูตีหรือทำร้ายร่างกายอยู่ และทำไม ศธ.ไม่ออกมาแก้ไขปัญหานี้ ทำไมรอให้เกิดเรื่องแล้วแก้ไข รอจนวัวหายแล้วล้อมคอกหรือ

 

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองปรากฏการณ์ที่นักเรียนออกมาเรียกร้องสิทธิว่า ถือเป็นเรื่องดีที่นักเรียนตื่นตัว ปัญหากฎระเบียบและทรงผมเป็นรากปมปัญหาความขัดแย้ง ที่กำลังสะท้อนความแตกต่างระหว่างค่านิยมและชุดความคิดทั้งสองฝ่าย ฝั่ง ศธ.ซึ่งมีประวัติศาสตร์และฐานคิดเชิงอำนาจนิยม แต่ในขณะที่นักเรียนจะมีชุดความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ ซึ่งทำให้เห็นว่ากฎระเบียบที่ออกมาจาก ศธ.มีการแฝงเรื่องอำนาจนิยมอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียนไม่มีความเป็นอิสระมากเท่าที่ควร

นายสมพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้จะเห็นว่าเด็กทั้งประเทศตื่นตัวมากขึ้น การแสดงออกหรือท่าทีของ ศธ.คือรับเรื่อง แต่ไม่ค่อยจริงใจกับสิ่งที่เด็กต้องการให้ ศธ.รับรู้ ทั้งนี้ ตนไม่ได้มองว่าเด็กถูกทั้งหมด การแสดงออกเป็นเรื่องดี แต่เราต้องเคารพสิทธิของราชการเช่นกัน เพราะสังคมอาจจะมองว่าเด็กก้าวร้าว ดังนั้น เรื่องนี้ต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก การยอมรับ การให้เกียรติ และการรับฟังเหตุผลของกันและกันเป็นเรื่องที่ดีของทุกฝ่าย

นายสมพงษ์วิเคราะห์ว่า ถ้าดูตามระเบียบที่ ศธ.ออกมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นระเบียบที่มีลักษณ์ท็อปดาวน์ลงไป รวมทั้งการออกระเบียบที่ยึดติดกับกรอบ ต้องมีวินัย ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ กรอบของระเบียบเช่นนี้ เป็นการละเมิดสิทธิเด็กทางอ้อม เป็นกรอบที่ควบคุม จำกัดว่าเด็กจะต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ จะทำให้สิทธิของเด็กในเรื่องการแสดงออกจะถูกปฏิเสธในระบบการศึกษาอยู่ตลอดเวลา

“ผมคิดว่า ศธ.ควรปรับความคิด เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน และสิทธิมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญ ถ้ายังปฏิเสธความคิดนี้จะเกิดความขัดแย้งไม่มีที่สิ้นสุด ศธ.ต้องปรับความคิดครู สร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก และกฎระเบียบต่างๆ จำเป็นต้องรื้อ สังคายนา ถ้ายกเลิกได้ขอให้ยกเลิก เพราะระเบียบเหล่านี้เป็นการฝังรากลึกและยึดโยงกับความเชื่อที่ว่าต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่อยู่” นายสมพงษ์กล่าว

ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นหนึ่งแรงกระเพื่อมที่สังคมต้องจับตามอง เมื่อนักเรียนลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตน ศธ.ภายใต้การนำของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จะลุกขึ้นมาฟังเสียงเหล่านักเรียนมากน้อยแค่ไหน!!!