แมลงวันในไร่ส้ม / นายกฯ ตู่ไฟเขียว ตั้ง ส.ส.ร.รื้อ รธน. ส.ว.ออกอาการ ‘ยื้อ’

แมลงวันในไร่ส้ม

นายกฯ ตู่ไฟเขียว

ตั้ง ส.ส.ร.รื้อ รธน.

ส.ว.ออกอาการ ‘ยื้อ’

 

การเคลื่อนไหวแฟลชม็อบของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่กลับมาอีกครั้งหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แผ่วลง ได้ลุกลามไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

น่าสังเกตว่า แฟลชม็อบรอบนี้ นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยทั้งส่วนกลางและภูมิภาค มีนักเรียนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก สถาบันการศึกษาระดับมัธยมหลายจังหวัด บรรดานักเรียนคิดกิจกรรมกันเอง และเคลื่อนไหวแบบไม่ซ้ำแบบกัน

โรงเรียนระดับหัวกะทิอย่างเตรียมอุดมศึกษา พญาไท ยังได้จัดการเคลื่อนไหวด้วย

ขณะที่ในทางตรงกันข้าม มีการจัดม็อบของกลุ่มที่เรียกว่า “อาชีวะช่วยชาติ” ออกมาสนับสนุนรัฐบาล แต่มีเสียงวิจารณ์ว่า แกนนำมาจากกลุ่ม กปปส. และผู้มาเข้าร่วมค่อนข้างมีอายุมาก

ทางด้านตำรวจและฝ่ายความมั่นคง ใช้วิธีเกาะติดการเคลื่อนไหว ถ่ายรูปบรรดาผู้เคลื่อนไหว จากนั้นส่งเจ้าหน้าที่ติดตามไปที่บ้าน จนเริ่มมีการแฉในโซเชียลมีเดียว่า มีเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคามผู้ร่วมกิจกรรมไปถึงบ้าน

 

ข้อเรียกร้องของแฟลชม็อบที่นำเสนอคล้ายๆ กันทุกพื้นที่ ยังยืนยันที่ 3 ข้อได้แก่ 1.แก้รัฐธรรมนูญ 2.ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ 3.ให้งดการคุกคามประชาชน

ผลจากการเคลื่อนไหวแฟลชม็อบ วันที่ 31 กรกฎาคม มีข่าวจากคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานออกมาแถลงว่า กรรมาธิการมีมติเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น

เพราะหากไม่แก้ในมาตราดังกล่าวก็จะไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนอื่นได้ รวมทั้งข้อเสนอจากทุกภาคส่วนที่เสนอขอแก้ไขก่อนหน้านี้ด้วย และหากจะต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ก็อาจจะนำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรืออะไรก็สุดแล้วแต่รัฐบาล

นายพีระพันธุ์กล่าวต่อว่า เมื่อสภาเห็นชอบตามรายงานของคณะกรรมาธิการ ก็จะมีการส่งต่อให้รัฐบาลพิจารณา ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะแก้ไขหรือไม่ หากรัฐบาลไม่แก้ เราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะหน้าที่ของเรามีแค่นี้ ยืนยันว่าทำงานตามหน้าที่ ไม่ได้ใช้การเมืองนำเหตุผล

นายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกล่าวว่า คณะกรรมาธิการได้มีการศึกษาและทำรายงานสรุปสภาหลายเรื่อง ทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวดว่าด้วยการมี ส.ส.ร.ก็จะคล้ายกับปี 2534 ที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนได้รัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทั้งนี้ หากแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ได้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน จะได้ ส.ส.ร. และใช้เวลาอีกประมาณปีครึ่ง ก็จะได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริงและใช้แทนฉบับปัจจุบัน

ตามมาด้วยท่าทีจากพรรคต่างๆ ที่สนับสนุนแนวทางของคณะกรรมาธิการ พรรคประชาธิปัตย์มีมติเบื้องต้น เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ให้เดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 256 ที่พรรคได้ชูธงนำประกาศจุดยืนไว้อย่างชัดเจน โดยจะนัดประชุมอีกครั้งในวันพุธที่ 5 สิงหาคม เวลา 09.00 น. ที่อาคารรัฐสภา เพื่อหารือเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้ ส.ส.พรรคได้ร่วมกันกำหนดแนวทางในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ส่วนพรรคเพื่อไทยและฝ่ายค้านอื่นๆ มีความเห็นคล้ายๆ กัน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยเห็นว่า หากรอให้คณะกรรมาธิการชุดของนายพีระพันธุ์เสนอผลการศึกษาต่อสภาในเดือนกันยายนจะช้าไป จึงจะเสนอเป็นญัตติด่วนต่อสภา เพื่อเร่งให้มีการลงมือแก้ไขให้เร็วขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเริ่มก่อตัวเมื่อ ส.ว.หลายคนไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร. โดยเห็นว่า ควรแก้ไขเป็นประเด็นๆ ไป โดยเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภา ตามข้อกำหนดในมาตรา 256

อาทิ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.กล่าวว่า ถ้าแก้มาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร. กระบวนการจะยาวมาก และเสียงบประมาณด้วย เนื่องจากการแก้มาตราดังกล่าวต้องมีการทำประชามติ แม้จะผ่านการพิจารณา 3 วาระแล้วก็ต้องทำประชามติ เสียงบประมาณกว่า 4 พันล้านบาท

และถ้า ส.ส.ร.ยกร่างขึ้นใหม่ก็ต้องไปทำประชามติอีก เสียงบประมาณอีก 4 พันล้านบาท ส.ส.ร.จะมาจากที่ไหน หากร่างขึ้นมาแล้วบางมาตรา ส.ว.ไม่เห็นด้วย บางมาตราฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย บางมาตราฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วย ก็แก้ไม่ได้ เพราะถึงใช้ ส.ส.ร.แต่ก็ต้องมาผ่านกระบวนการเห็นชอบตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ด้วย ดังนั้น การมี ส.ส.ร.ยกร่างอาจทำไม่สำเร็จ

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพิ่งใช้มาได้ประมาณ 3 ปี ใช้จริงก็ประมาณปีกว่า หากมารื้อใหม่หมดทั้งฉบับ มองว่าไม่น่าจะรีบเร่ง แต่หากมาตราใดที่เห็นว่าสมควรแก้ก็ควรว่ากันเป็นรายมาตรา ยกร่างเข้ามาในสภา อันไหนเอาด้วย อันไหนไม่เอาด้วย ก็จะรู้กัน หากวันนี้ไปรื้อใหม่มันเร็วไป

ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ส.ว.พร้อมให้ความร่วมมือในการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่เห็นสมควรแก้ไข เช่น เรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งมีชีวิต มีกลไกที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาจึงแก้ไขได้

แต่ข้อเรียกร้องที่ให้มีการแก้ไขมาตรา 256 และให้มีการตั้ง ส.ส.ร.นั้น ตนมีจุดยืนเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นว่าไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง และจะยิ่งทำให้ยุ่งเหยิง เพราะเรายังไม่รู้ว่า ส.ส.ร.จะวางรูปแบบอย่างไรซึ่งยังไม่มีความชัดเจน และอย่าพูดว่า ส.ว.ขัดขวางการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ เรามีความยินดี แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มี ส.ส.ร.

 

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นท่าทีที่ตรงกันข้ามกับบรรดา ส.ว.

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จุดยืนของตนคือสนับสนุนการทำงานของกรรมาธิการชุดของนายพีระพันธุ์

วันนี้ให้เป็นการพิจารณาในระดับ กมธ.ก่อน คาดว่าจะมีการเสนอญัตติของฝ่ายค้านเข้ามา รัฐบาลเองพร้อมร่วมมือ หากเสนอร่างเข้ามา ก็จะมีร่างของรัฐบาลควบคู่ไปด้วย

เชื่อว่าเปิดประชุมสภาสมัยหน้า รัฐสภาจะมีการพิจารณาร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่างๆ รัฐบาลยืนยันให้ความร่วมมือทุกประการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อต้องการลดกระแสม็อบการเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของม็อบนักศึกษาด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน เป็นเรื่องของการทำงาน หลังจาก กมธ.หารือแล้ว ก็ต้องรับฟังเขา ต่อมาก็จะต้องให้พรรคร่วมรัฐบาลมาหารือร่วมกัน ในการที่จะร่างรัฐธรรมนูญเป็นฉบับร่างเพื่อเสนอควบคู่ไป

เมื่อนายกฯ เปิดไฟเขียวอย่างนี้ น่าสนใจว่า เส้นทางแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตั้ง ส.ส.ร. จะ “ผ่านสะดวก” หรือไม่