เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ / รักแลกภพ

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

 

รักแลกภพ

 

จบบริบูรณ์ไปแล้วครับ สำหรับละคร “รักแลกภพ” ลาจอไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานี้เอง ท่ามกลางกระแสความสนใจของแฟนๆ ละครที่ติดตามมาร่วม 2 เดือน

ย้อนเล่าความกันอีกครั้งว่า ละครเรื่อง “รักแลกภพ” เป็นความร่วมมือกันระหว่าง เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย กับช่องวัน 31 จับมือกันสร้างละครแนวโรแมนติกคอมเมดี้ผสมแฟนตาซี ที่มีฉากหลังของเรื่องเป็นสมัยรัชกาลที่ 6 และยุคปัจจุบัน โดยตัวละครหลักได้ย้อนเวลาไป 100 ปี คือในปี พ.ศ.2463

เรื่องราวของละครมีต้นเหตุของปัญหา จากการที่พระเอกยุคปัจจุบันชื่อว่า “พีท” ซึ่งมีความฟุ้งเฟ้อ ใช้ชีวิตสุขสบายในขณะที่เป็นหนี้เป็นสิน เมื่อถูกเร่งรัดจนถึงขั้นจะถูกเจ้าหนี้ยึดคอนโดฯ ยึดรถ ก็มีอันหายตัวไปอยู่ในสมัย พ.ศ.2463 ดังว่า

ที่นั่นเขาได้เจอกับบรรพบุรุษของเขาชื่อว่า “เพียร” เป็นเจ้าหน้าที่ของคลังออมสิน ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยรัชกาลที่ 6 ต่างคนต่างได้เรียนรู้ชีวิตของกันและกัน

โดยเฉพาะพีท เขาได้เรียนรู้ถึงวิถีที่เรียบง่ายดีงาม มีแบบแผนของคนรุ่นเก่า โดยเฉพาะการรู้จักเก็บออม ขยันทำกิน ซื่อสัตย์ ทำให้เขาได้คิดและสำนึกตัว

ทั้งสองตัวละครนี้ได้แลกยุคกันครับ คุณทวดเพียรเลยได้มาเจออะไรต่อมิอะไรในยุคสมัยนี้ อย่างเห็นตึกรามใหญ่โตโอฬาร เห็นรถไฟฟ้า และรถราเต็มถนน เห็นคนใช้โทรศัพท์มือถือ เห็นคนขับรถชนคนตายแล้วรอดทุกคดี เอ๊ย อันหลังนี้ตัวละครไม่ได้เห็นนะครับ แต่คนไทยทั้งประเทศได้เห็นตำตา และตำใจ

คุณทวดเพียรได้พยายามหาทางช่วยแก้ปัญหาให้หลานมาตั้งแต่ 100 ปีที่ว่าแล้วโดยการเปิดบัญชีฝากเงินไว้ให้หลานได้มีเงินใช้หนี้

และยังตามมาคิดเรื่องการลงทุนเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนเพิ่มเติมอีกด้วย

 

แน่นอนที่ชื่อ “รักแลกภพ” จึงมีเรื่องรักมาเดินเรื่องคู่กันด้วย เพราะพระเอกพีทที่เดินทางย้อนยุคไปนั้นได้หลงรักสาวที่ชื่อ “คุณวรรณ” ที่เข้าใจว่าเป็นคุณทวดหญิงของตน จึงเป็นรักที่เป็นไปไม่ได้

ส่วนทวดเพียรที่ข้ามมายุคนี้ ก็ได้พบกับรักครั้งแรกกับ “พิ้งค์” สาวยุคใหม่ที่ฝังใจกับเรื่องโบราณๆ รวมทั้งหนุ่มสมัยโบราณคนนี้ด้วย แต่รักนั้นก็เป็นไปไม่ได้เพราะเขามาจากคนละยุค

เรื่องรักเลยอลเวงให้แฟนๆ ละครได้ลุ้น ได้เชียร์ อยู่ตลอดเวลา

และผู้เขียนบทก็ช่างวางหมาก วางพล็อต เพื่อหลอกให้คิดไปอีกแบบ แต่จริงๆ เฉลยเป็นอีกแบบตลอดเวลา จนเกิดเป็นวลีที่สื่อสารในช่องทางทวิตเตอร์ของแฟนละครว่า “ระวังช่องวันแกง”

“แกง” หมายถึง “แกล้ง” คือ ต้มตุ๋นเป็นแกงหม้อใหญ่อะไรทำนองนั้น

จนมีวลีที่มีมาตลอดของคนดูละครช่องนี้คือ “อย่าไว้ใจช่องวัน”

 

จากเหตุนี้ ทำให้ได้เรียนรู้พฤติกรรมของแฟนละครว่า ชอบอะไรที่คาดเดาไม่ได้ หากละครเรื่องไหนที่พล็อตพื้นๆ เดาทางได้ จะไม่สนุกชวนติดตาม จึงเป็นความสนุกที่ได้เดาทางละคร และเดาแบบดักทางด้วยนะ เหมือนหนังสืบสวนทั้งหลาย และถ้าออกมาอย่างที่ตนเดา จะรู้สึกว่าตนชนะและจะแฮปปี้มาก

จึงไม่แปลกใจเลยว่า ที่ข่าวบางช่องใส่ความเป็นละครเข้าไปในการนำเสนอ เพื่อให้เกิดอารมณ์การติดตามข่าวแบบชมละครนี่เอง ดูแล้วรู้สึกไม่ชอบหน้าคนในข่าวคนนั้น หรือแอบเชียร์และเห็นใจคนนี้

อย่างกรณีข่าวคดีชิงล็อตเตอรี่ระหว่างครูปรีชากับหมวดจรูญ หรือข่าวคดีใครฆ่าน้องชมพู่ เป็นต้น

 

ย้อนมาเรื่องละคร “รักแลกภพ” สิ่งหนึ่งที่ได้รับเสียงสะท้อนไม่น้อยคือ การได้รู้จักประวัติศาสตร์ชาติไทยเพิ่มมากขึ้น ว่าในยุคสมัยรัชกาลที่ 6 บ้านเมืองเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง

โดยเฉพาะกับพระราชอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 6 ที่แม้จะครองแผ่นดินเพียง 15 ปีแต่พระองค์ก็ทรงทำอะไรให้กับแผ่นดินสยามมากมาย และหลายเรื่องก็เป็นพื้นฐานของสังคมที่ต่อเนื่องมาจนถึงยุคสมัยนี้ อย่างเช่นเรื่องการธนาคาร ที่เป็นธนาคารเพื่อประชาชนอย่างธนาคารออมสิน เป็นต้น

เรื่องนี้แฟนละครดูออกว่ามี “ธนาคารออมสิน” เป็นผู้สนับสนุน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกรังเกียจหรือรู้สึกว่าถูกยัดเยียด กลับรู้สึกดี และเห็นถึงความน่าสนใจของ “ออมสิน” มากขึ้น จนเกิดเป็นการสื่อสารน่ารักๆ ในโซเชียลหลายอย่าง เช่น

“แค่เดินผ่านหน้าธนาคารออมสิน แล้วคิดว่าคุณเพียรทำงานอยู่ข้างใน ก็เขินแล้ว”

“พรุ่งนี้ชั้นอยากจะไปเปิดบัญชีกับออมสินเลย”

“ดูละครแล้ว ว่าจะให้แม่ซื้อสลากออมสินเก็บไว้สักหน่อย”

คำชมหลายเสียงมีให้กับงานโปรดักชั่นของละคร ที่มาจากทีมผลิตของช่องวันเอง จึงเนรมิตโลเกชั่นสวยๆ ย้อนยุค และฉากบรรยากาศย้อนสมัยผสมกับคอมพิวเตอร์กราฟิกได้อย่างสวยงาม ตื่นตา และในยุคปัจจุบันโลเกชั่นก็ทันสมัย สวยสมกับเรื่องราวอย่างดี

ที่โดดเด่นมากๆ เห็นจะเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับที่ตัวละครสวมใส่ โดยเฉพาะกับตัวละครฝ่ายหญิงที่ออกแบบตัดเย็บได้อย่างเก๋ไก๋ มีรสนิยม และเข้ากับบุคลิกตัวละครมาก

 

สําหรับทีมนักแสดงเองแล้ว ก็ได้รับคำชื่นชมที่ต่างก็สวมบทบาทกันได้ดีเยี่ยม สร้างความเชื่อให้กับผู้ชม เล่นได้ดีและเนียน จนผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครได้จริงๆ

โดยเฉพาะตัวเอกที่เป็นทวดเพียรกับหลานพีท นั้นใช้นักแสดงคนเดียวกันเล่น คือ “ฟิล์ม ธนภัทร” นั่นเอง ซึ่งฟิล์มก็ได้พิสูจน์ถึงพัฒนาการทางการแสดงของเขาให้เห็นว่า เขาเป็นนักแสดงที่เก่งคนหนึ่ง และมีอนาคตไกล ฟิล์มสามารถแสดงเป็นทวดและหลานอย่างแยกกันได้ชัดเจน แม้ในฉากที่ตัดต่อให้เล่นร่วมกันซึ่งมีอยู่กว่าครึ่งเรื่อง คนดูก็ดูเพลินจนเหมือนเป็นคนละคนกันทีเดียว

รวมทั้งตัวละครนำฝ่ายหญิงที่ก็ตีบทแตกทุกคน ไม่ว่าจะเป็น “วิว วรรณรท”, “ใบเฟิร์น อัญชสา” และ “ลิลลี่ ภัณฑิลา”

ซึ่งต้องให้เครดิตกับผู้กำกับการแสดง คือ ผอูน จันทรศิริ ที่ควบคุมการแสดงและภาพรวมของละครให้ออกมากลมกล่อมเช่นนี้

 

สิ่งที่ซ่อนอยู่ในละครคือ ความสำคัญของประวัติศาสตร์ที่มีต่อความเป็นประเทศชาติ

ในยุคนี้ ที่โลกหมุนเร็ว อะไรก็เกิดเร็ว เปลี่ยนแปลงเร็ว จนบางทีขาดความลุ่มลึกไป หากเราได้ย้อนศึกษาเรื่องราวที่มาที่ไป ศึกษาประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์นั้นๆ อย่างลึกซึ้ง และคิด วิเคราะห์ ด้วยความเป็นกลาง จะทำให้เราเข้าใจ และเปิดใจกับหลายเหตุการณ์ได้มากขึ้น

ละคร “รักแลกภพ” จบไปแล้ว ซึ่งก็เหมือนละครทุกเรื่องทางโทรทัศน์ ที่เปิดฉากให้ตัวละครออกมาโลดเต้นแล้วก็ปิดฉากลง

แต่เรื่องราวจริงในสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ที่เกิดแล้วจะกลายเป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ของบ้านเมือง

ไม่ว่าเรื่องเล็กๆ แต่ใหญ่ในความรู้สึกของประชาชนอย่างเหตุการณ์หลุดคดีของบอส อยู่วิทยา ไปจนถึงเหตุการณ์ที่กระทบการบริหารบ้านเมืองในยามวิกฤตอย่างการแย่งชิงเก้าอี้ของพรรคการเมือง หรือเหตุการณ์การเมืองอย่างการชุมนุมของกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” ที่ก่อตัวขึ้นมาสักระยะแล้ว เป็นต้น

หากแยก “อารมณ์” ออกไป แล้วไล่ย้อนดูถึงที่มาที่ไปของเรื่องราวเหล่านั้น ว่าทำไมถึงทำให้ออกมาเป็นอย่างที่เห็น มีเหตุบ่มเพาะ ชี้นำ หรือซ่อนนัยยะอย่างไรบ้าง แล้วนำมาเป็น “บทเรียน” เพื่อหาทางแก้ไข เรียนรู้ พัฒนา เพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุดก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี

เช่น กระบวนการยุติธรรมในสังคมไทยทำไมถึงเหลื่อมล้ำ ความคิดที่สะสมกันมาเรื่อง “อำนาจ” นั้น มีอยู่จริงและมีพลังแฝงมากน้อยแค่ไหน

เช่น ทำไมคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมจึงมีความคิดเช่นที่ประกาศเจตนารมณ์ออกมา ทำไมเขาถึงทนกับ “อะไร” ไม่ได้ ทำไมเขาถึงรู้สึก “อัดอั้น” จนต้องพากันลุกขึ้นแสดงออก

เช่น ทำไมเกิดคดีความอย่างครูล่วงละเมิดทางเพศกับลูกศิษย์ หรืออย่างคดีบุกห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล เกิดอะไรขึ้นกับพื้นฐานจิตใจคนเรา

เช่น ทำไม “การเมือง” จึงมีอำนาจมากกว่า “จิตสำนึกร่วมเพื่อประเทศชาติ”

สุดท้ายต้องย้อนมาดูว่า ประวัติศาสตร์ส่วนใดของประเทศเรา ที่คนรุ่นก่อนๆ ทำไว้ ซึ่งอาจเป็นหยดน้ำที่ค่อยๆ เติมจนล้นท่วมสังคมในเวลาต่อมาได้

ถ้าทราบแล้วและสามารถ “แลกภพ” ไปแก้ไขได้จริงๆ เหมือนในละครก็คงจะดีไม่น้อย

คุณว่าไหมครับ