ภาพยนตร์ / นพมาส แววหงส์ / 22 JULY ‘เหตุการณ์สะเทือนโลก’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

22 JULY

‘เหตุการณ์สะเทือนโลก’

 

กำกับการแสดง Paul Greengrass

นำแสดง Anders Danielsen Jonas Strand Gravl Jon Oigarden Ola G. Furuseth

 

คนไทยรู้จัก “22 กรกฎา” จากสถานที่ที่สร้างเพื่อระลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 นำไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 จนเป็นฝ่ายชนะสงคราม “วงเวียน 22 กรกฎา” อยู่เลยเข้าไปด้านหลังโรงหนังกรุงเกษมริมคลองกรุงเกษม คนละฝั่งกับหัวลำโพง

ผู้เขียนผ่านแถวนั้นอยู่เป็นประจำ จากฝั่งธนฯ มาจุฬาฯ และเรียกชื่อวงเวียนโดยย่อว่า “วงเวียน 22” ซึ่งเป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

แต่ 22 กรกฎาคม กลายเป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ของนอร์เวย์ และสะเทือนขวัญคนทั้งโลก เมื่อในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.2011 (พ.ศ.2554) คนร้ายคนเดียวบรรทุกระเบิดในรถตู้ไปจอดไว้ใกล้ทำเนียบรัฐบาล และใช้โอกาสจากความชุลมุนหลังจากการระเบิดขึ้นรุนแรง เดินทางไปที่เกาะอูโตยา นอกเมืองออสโล ระหว่างที่เยาวชนกลุ่มใหญ่กำลังไปเข้าค่ายฝึกผู้นำ

และสังหารผู้คนในค่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนอย่างเลือดเย็นโดยไม่เลือกหน้า

ผลคือมีคนตายทั้งหมด 77 คน และคนบาดเจ็บอีกกว่าสองร้อยคน

 

คนร้ายชื่อ แอนเดอร์ส เบห์ริง เบรวิก (แอนเดอร์ส แดเนียลเซน) กระทำการคนเดียว และอ้างตัวเป็นขบวนการขวาจัด หรือขวาตกขอบ ที่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกล้มนโยบายรับผู้อพยพหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาแย่งถิ่นฐานของชนผิวขาวในนอร์เวย์

ขบวนการที่เขาอ้างนั้นเรียกตัวเองว่า “ไวต์เทมพลาร์” หรืออัศวินขาว และมีความเชื่อในสายเลือดอันสูงส่งของชนชาติอารยัน เช่นเดียวกับที่ฮิตเลอร์เคยพยายามกำจัดชาวยิวให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินของคนเยอรมัน และมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก

ขบวนการ “อัศวินขาว” เป็นผลพวงจากเหตุการณ์ 9/11 ในอเมริกา ซึ่งผู้ก่อการร้ายก่อเหตุสะเทือนขวัญคนทั้งโลก

ผู้กำกับฯ พอล กรีนกราส เคยทำหนังที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงชื่อ United 93 เกี่ยวกับเที่ยวบินที่บินมุ่งหน้าไปถล่มกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ แต่เครื่องเกิดระเบิดทำลายตัวเองไปเสียก่อนที่จะเดินทางไปถึงเป้าหมาย

ขอแอบสารภาพว่า United 93 เป็นหนังโรงเรื่องเดียวที่ผู้เขียนดูไม่จบ เนื่องจาก “เมา” ภาพเคลื่อนไหวจากการถ่ายทำด้วยกล้องที่ถือในมือ ทั้งนี้ เพื่อให้สมจริงเหมือนหนังสารคดีที่บันทึกเหตุการณ์มาสดๆ

ว่าไปแล้ว ก่อนหน้านั้น มีหนังโรงอีกเรื่องที่ดูแล้วมีอาการคลื่นเหียนวิงเวียน หรือ “เมา” อีกเหมือนกัน คือ The Blair Witch Project ซึ่งใช้กล้องที่ถือในมือถ่ายทำโดยตลอด แต่หนังเรื่องนั้นทนนั่งดูจนจบค่ะ เพียงแต่นั่งหลับตาไปฟังคำพูดไป เพราะอยากรู้ตอนจบ

อันที่จริง พอล กรีนกราส เป็นผู้กำกับฯ ที่เก่งมากนะคะ เขาทำหนังได้น่าดู มีสาระและมีประเด็นน่าคิด แม้แต่หนังชุดเจสัน บอร์น ที่ตามมาเป็นไตรภาค และจตุภาค คือ The Bourne Supremacy, The Bourne Ultimatum และ Jason Bourne ก็ทำได้สนุกระทึกใจ

นอกจากนั้น หนังเรื่อง Captain Phillips (Tom Hanks) เกี่ยวกับการปล้นเรือสินค้าโดยจับกัปตันเรือไปเป็นตัวประกัน ก็เป็นฝีมือของกรีนกราส

 

ผู้สร้างภาพยนตร์ทำการตัดสินใจอย่างที่ได้รับการกล่าวถึงกันมาก นั่นคือใช้นักแสดงชาวนอร์เวย์สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศยุโรปตอนเหนือ พูดจาสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษล้วนๆ คนดูชาวนอร์เวย์คงไม่ค่อยชอบใจนักหรอกค่ะ ด้วยเหตุที่อาจอ้างได้ว่า “ขาดความสมจริง” ปกติผู้เขียนก็ชอบดูหนังซาวด์แทร็กที่ไม่ใช่หนังพากย์นะคะ และอ่านซับไตเติลของหนังมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย จนชำนาญการอ่านตัวหนังสือบนจอ

แต่เชื่อว่าเหตุผลของผู้สร้างภาพยนตร์คงเป็นไปเพื่อการเข้าถึงฐานคนดูจำนวนมากขึ้น เนื่องจากเชื่อหรือไม่ว่า คนอเมริกันชอบดูหนังพากย์มากกว่าดูหนังซาวด์แทร็กในภาษาอื่น และหนังเรื่องนี้ฉายในโรงแบบจำกัด แต่มุ่งจะเข้าฉายทางเน็ตฟลิกซ์มากกว่า

ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่ได้ถือเอา “ความไม่สมจริง” แง่นี้มาเป็นอารมณ์ในการดู ได้แต่ตั้งข้อสังเกตอยู่ในใจ แต่คนยุโรปเหนือก็พูดภาษาอังกฤษได้แทบทุกคนอยู่แล้ว และพูดได้ชัดถ้อยชัดคำ แม้จะมีสำเนียงแปร่งหูอยู่เล็กน้อยก็ไม่ได้ขัดหูอะไรนักหนา

 

ต้องขอบอกว่าเป็นหนังที่ชวนติดตามอย่างยิ่ง หนังซึ่งยาวราวสองชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็วจนแทบไม่รู้สึก หนังมีเนื้อหาที่ครอบคลุมอยู่สามส่วน คือตัวการโจมตีเอง ผลลัพธ์ต่อคนที่รอดชีวิตและญาติพี่น้อง และการดำเนินคดีต่อคนกระทำความผิดอุกฉกรรจ์ครั้งนี้

และเป็นหนังที่สะเทือนอารมณ์อย่างยิ่ง ดูแล้วแทบไม่อยากคิดเลยว่าทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่น่าหวาดหวั่นแบบไหนกันแน่

และความสุดโต่งทางความคิดจะมีทางทำให้ชาวโลกอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติได้อย่างไร

หนังเริ่มจากการเตรียมการวางระเบิดของชายผู้ที่อาศัยอยู่กับแม่ แต่แทบไม่ได้พูดจากันเลย และเป็นผู้ลงมือกระทำการโดยลำพัง ด้วยการวางแผนอย่างรอบคอบ โดยปลอมตัวเป็นตำรวจ อ้างอำนาจหน้าที่ที่ทำให้คนอื่นต้องให้ความร่วมมือ

แต่ในขณะเดียวกันหนังก็ให้เราเห็นเหยื่อของเหตุการณ์ ซึ่งเป็นเยาวชนที่พ่อ-แม่ส่งเข้าค่ายฤดูร้อนเพื่อฝึกความเป็นผู้นำ

เหตุผลของผู้ก่อการร้าย ที่ถูกถามว่าทำไมจึงต้องทำต่อผู้เยาว์ที่เป็นคนบริสุทธิ์ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรด้วย

เขาตอบว่า เขาต้องลงมือทำในจุดที่จะสร้างความเจ็บปวดได้มากที่สุด และเยาวชนเหล่านั้นเป็นลูกของชนชั้นหัวกะทิและจะโตขึ้นเป็นผู้นำของชาติต่อไปในอนาคต

อย่างที่บอกไปแล้วว่าหนังครอบคลุมถึงผลของการกระทำอันโหดเหี้ยมนี้ต่อคนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ซึ่งเด็กหนุ่มตัวเอกของเรื่องชื่อ วีลยาร์ (โจนัส สแตรนด์ กราฟล์) พยายามปกป้องชีวิตของตัวเองและน้องชาย แต่ถูกยิงห้านัด นอนรอความตายอยู่บนชายหาด

นอกจากต้องเผชิญหน้ากับความกลัวจับขั้วหัวใจแล้ว ภายหลังการผ่าตัดขั้นวิกฤต วีลยาร์ฟื้นขึ้นเพื่อพบว่าเขาสูญเสียดวงตาไปข้างหนึ่ง มือข้างหนึ่งใช้งานไม่ได้ และต้องหัดเดินหัดกินหัดพูดใหม่ทั้งหมด

รวมทั้งที่สำคัญคือหมอไม่สามารถเอาเศษกระสุนออกจากสมองเขาได้หมด ดังนั้น เขาจึงมีชีวิตอยู่ในความเสี่ยงตลอดชั่วชีวิต

การกระทำอย่างบ้าบิ่นของคนคนเดียว ส่งผลมหาศาลต่อชีวิตผู้คนนับร้อยแบบที่ไม่มีวันจะหวนคืนมาเหมือนเดิมได้อีก

 

ประเด็นในความสนใจของหนังอีกด้านคือการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อตัวอาชญากรผู้ไม่เคยแสดงให้เห็นความเสียใจในการกระทำของเขาและความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนร่วมชาติหรือเพื่อนมนุษย์เลย และกระบวนการยุติธรรมของนอร์เวย์ที่ปกป้องคนผิดทุกขั้นตอน ทั้งๆ ที่คนผิดอ้างความรับผิดชอบเต็มที่ และต้องการใช้การดำเนินคดีเป็นเวทีสำหรับประกาศสงครามของตน

ตอนที่ข่าวการก่อการร้ายนี้แพร่ไปทั่วโลก ผู้เขียนก็ได้รับทราบอยู่ด้วยความสะเทือนขวัญเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ติดตามเรื่องราวโดยตลอดไปจนถึงคดีความและการตัดสิน

นี่เป็นหนังที่ทำได้ดีมาก ซึ่งทำให้เราได้เห็นแง่มุมรอบด้านจากเหตุการณ์ที่ตกเป็นข่าวสะเทือนขวัญ ไม่เว้นแม้แต่การสอบสวนเรื่องความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีที่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้ โดยไม่ระแคะระคายหรือทำอะไรเป็นการป้องกันหรือขัดขวางไม่ให้เกิดขึ้น

หลังจากการสอบสวนแล้ว ตัวละครตัวหนึ่งกล่าวสรุปปลอบใจนายกฯ นอร์เวย์ที่กล่าวขอโทษต่อประชาชนว่า ความผิดทั้งหมดตกอยู่กับคนกระทำผิดเท่านั้น

นอกจากนั้น เรายังได้เห็นแง่มุมจากทนายความที่เบรวิกเรียกร้องมาให้เป็นตัวแทนของเขาในศาล ซึ่งทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะทนายความอย่างดีที่สุด โดยที่ไม่ได้เห็นอกเห็นใจคนร้ายเลย

และที่สุดของที่สุด ก็อดตั้งคำถามในใจไม่ได้ว่า

…นี่หรือคือความยุติธรรมในสังคมอารยะ…