คำตอบที่ดีที่สุดคือ “ยุบสภา” ?

ศรัทธา “นักการเมือง”

การปรับคณะรัฐมนตรีหลังทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ถูกกดดันให้ยกขบวนลาออก ดูเหมือนจะสะท้อนชัดเจนเข้าไปอีกว่า “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” มีภาพลักษณ์ที่ตกต่ำหนักขึ้นไปอีก

มีความพยายามของกลุ่มสามมิตร ซึ่งถึงปัจจุบันเหลือเพียง 2 มิตร คือนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่จะให้นายสุริยะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งแม้จะทำสำเร็จถึงขั้นเป็นมติของพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อต่อนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม

ทว่าถึงที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีตีตกชื่อนายสุริยะไป เปลี่ยนเป็นโควต้านายกฯ หรือที่เรียกว่าโควต้าคนนอก

ความเป็นไปที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่กระแสประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารได้ส่งเสียงกดดันหนักหน่วงไม่ให้เลือกนายสุริยะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

หรือจะว่าไปคือการเรียกร้องให้ทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจมาจากคนนอก ไม่ให้ “นักการเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้อง

ผลสำรวจ “นิด้าโพล” ล่าสุด ในคำถามที่ว่า “ท่านคิดว่าหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ (รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ) ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรมาจากนักการเมือง หรือมาจากคนนอกพรรคการเมือง”

คำตอบร้อยละ 55.33 บอกควรมาจากคนนอกพรรคการเมือง ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการคนมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยตรง มีความซื่อสัตย์โปร่งใสและไม่หวังผลประโยชน์

มีแค่ร้อยละ 23.45 ที่ตอบว่าควรมาจากนักการเมือง เพราะมาจากประชาชน จะรับรู้ปัญหาของประชาชนค่อนข้างดี

ยิ่งไปกว่านั้นคือ มีถึงร้อยละ 21.22 ที่ตอบว่ามาจากนักการเมืองหรือนอกพรรคการเมืองก็ได้ ขึ้นอยู่กับนายกฯ เพราะมั่นใจในตัวนายกฯ ว่าจะเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้

หากรวมเอาคนที่เลือกคนนอกกับคนที่เลือกที่จะไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จะพบว่ามีถึงร้อยละ 76.55 นั่นหมายความว่า “คนจากพรรคการเมือง” ตกต่ำอย่างยิ่ง ชนิดแทบไม่เหลือความไว้วางใจจากประชาชน

ที่น่าเศร้ามากไปกว่านั้นคือ เป็นความตกต่ำของนักการเมืองท่ามกลางกระแสการชุมนุมทั่วทุกหัวระแหงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก

ประชาชนจำนวนมากไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำประเทศแล้ว ทว่าที่ไม่ต้องการยิ่งกว่า กลับเป็น “นักการเมือง”

คล้ายกับความสับสน ดูเหมือนประชาชนไม่เอาอะไรสักอย่าง

อย่างไรก็ตาม หากลงไปในรายละเอียดของข้อมูลที่ “นิด้าโพล” นำมาใส่ในคำถามจะพบว่า ชื่อของนักการเมืองที่เสนอให้ประชาชนเลือกว่าควรจะเป็นทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลหรือไม่นั้น มีเพียงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, นายอนุชา นาคาศัย, นายสุชาติ ชมกลิ่น และคนอื่นๆ เช่น นายสันติ พร้อมพัฒน์, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นคนของพรรคพลังประชารัฐ

ดังนั้น ข้อสมมุติฐานที่ว่า ท่ามกลางกระแสการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้ความศรัทธากับ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” ด้วยนั้น จึงเป็นข้อสรุปที่เป็นคำถามอยู่ไม่น้อยว่า

“นักการเมืองที่ประชาชนสิ้นศรัทธาท่ามกลางกระแสไม่ยอมรับ พล.อ.ประยุทธ์แล้วนั้นใช่ว่าแค่นักการเมืองจากพรรคพลังประชารัฐหรือไม่”

เป็นคำถามที่ชวนให้คิดต่อว่าหากเป็นนักการเมืองจากพรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน

จะไม่มีชื่อ “นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” ที่ประชาชนให้ความศรัทธาอยู่จริงหรือ

หากแต่ว่าถ้าคิดอยากจะได้คำตอบที่เป็นจริงที่สุด มีอยู่หนทางเดียว

คือ “ยุบสภา” จัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่ใช้อำนาจเข้าแทรกแซง

“ผลการเลือกตั้ง” จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ว่าศรัทธาต่อ พล.อ.ประยุทธ์ยังมากมายอย่างที่ “นิด้าโพล” ว่าไว้จริงหรือ