การ์ตูนที่รัก / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ / Asian Comics

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Asian Comics

มาอ่านหนังสืออ้างอิงอีกเล่มหนึ่ง Asian Comics การ์ตูนเอเชีย เขียนโดย John A. Lent, University Pressof Mississippi ปี 2015

จอห์น เอ. เลนต์ เป็นศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารและสื่อสารมวลชน เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารในเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน เขาสอน เขียน และทำวิจัยมานาน 40 กว่าปี

เขาเขียนหนังสือมากกว่า 60 เล่ม และมีข้อเขียนมากกว่า 200 ชิ้น ได้รับเกียรติประวัติมากมายทั้งที่อเมริกาเหนือและเอเชีย-แปซิฟิก นอกเหนือจากหนังสือที่เราจะพูดถึงวันนี้แล้ว ยังมีที่น่าอ่าน เช่น Comics Art in China เขียนร่วมกับ Ying Xu ปี 2017 และ The Lent Comic Art Classification System เขียนร่วมกับ Mike Rhode ปี 2017 เช่นเดียวกัน

หนังสือการ์ตูนเอเชียนี้แบ่งเป็น 17 บท ประกอบด้วยบทนำ และอีก 16 บทเล่าเรื่องการ์ตูนใน 16 ประเทศ

ของประเทศไทยอยู่บทที่ 12 หน้า 225-239 สองหน้าสุดท้ายคือ 238-239 เป็นเอกสารอ้างอิงหลายสิบรายการ

ที่น่าแปลกใจคือไม่มีการ์ตูนญี่ปุ่น

จะเล่าเรื่องที่เขียนถึงการ์ตูนไทยให้ฟัง บางท่อนแปล บางท่อนเก็บความ จะวงเล็บคำสะกดภาษาอังกฤษเอาไว้ให้ทวนสอบและทำทีว่าเรากำลังอ่านตำราภาษาอังกฤษด้วยกันครับ

คนแรกที่พูดถึงคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (King Rama VI 1910-1925) เป็นผู้เริ่มต้นเขียนภาพล้อ (phap lo, parody) และการ์ตูนล้อเลียนข้าราชการลงในหนังสือพิมพ์ดุสิตธานี ดุสิตสมัยและดุสิตสักขี พระเจ้าอยู่หัวได้ตั้งรางวัลสำหรับการประกวดภาพล้อเลียนในปี 1920 ด้วย

ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ประยูร จรรยาวงษ์ (Prayoon Chanyawongse) ได้เนื้อที่ขนาดใหญ่ในการเขียนการ์ตูนเล่าเรื่องเกษตรกรและอาชีพต่างๆ ในเมืองไทย โดยมีเอกลักษณ์ที่การวาดรูปหลายรูปอัดลงไปในกรอบเดียวพร้อมร้อยกรอง นอกจากนี้ ยังมีการ์ตูนเล่มละบาทสำหรับชนชั้นล่าง

การ์ตูนเรื่องแรกของไทยตีพิมพ์ในนิตยสารสำราญวิทยา (Samran Witthaya) เดือนมกราคม ปี 1907 เป็นรูปประกอบปริศนากวี

การ์ตูนเรื่องแรกใช้บล็อกไม้เป็นรูปเจ๊กขายหมูนั่งบนเก้าอี้สามขา “อะไรเอ่ย? สองขานั่งอยู่บนสามขา สี่ขาวิ่งมา คว้าเอาขาหนึ่งไป สองขาโกรธา ฉวยสามขาไล่ ขว้างสี่ขาทิ้งไป เอาขาหนึ่งกลับมา อะไรเอ่ย?” (เฉพาะสำนวนแปลคัดลอกจาก เซีย ไทยรัฐออนไลน์ 4 พฤศจิกายน 2557 https://www.thairath.co.th/content/461033)

ส่วนการ์ตูนการเมืองชิ้นแรกเป็นผลงานของนักเขียนเปล่ง ไตรปิ่น (Pleng Tri-Pin) ซึ่งได้รับการศึกษาจากยุโรป ตีพิมพ์เมื่อปี 1923 ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ (Krungthep Daily Mail) เขาเริ่มต้นใช้บล็อกโลหะในการเรียงพิมพ์

การ์ตูนช่องสั้นๆ เริ่มปรากฏในหนังสือพิมพ์ปี 1930 ผู้บุกเบิกการ์ตูนเรื่องยาวคืองานของสวัสดิ์ จุฑารพ (Sawas Jutharop) เรื่องสังข์ทองและไกรทอง (Sang Thong, Krai Thong) สังข์ทองตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐระหว่างปี 1932-1933

ตัวการ์ตูนคนสำคัญของสวัสดิ์คือตัวการ์ตูนที่มีลักษณะคล้ายป๊อปอาย ชื่อว่าขุนหมื่น (Khun Muen)

นักเขียนการ์ตูนเรื่องมีอีกหลายคน ได้แก่ ฟื้น รอดอริห์ หรือเดช ณ บางโคล่ (Fuen Rod-Ari, Dej na Bang Klo), จำนง รอดอริห์ (Jamnong Rod-Ari ตรงนี้หนังสือพิมพ์ผิดจากตัว n เป็นตัว m) ผู้เขียนระเด่นลันไดและพระยาน้อยชมตลาด (Raden Landai, Prayanoi Chom Talat), ฉันท์ สุวรรณบุณย์ (Chan Suwannaboon) ผู้เขียนการ์ตูนเด็กป๋องกับเปรียว (Pong& Priao), วิตต์ สุทธิเสถียร (Witt Suthasatien) และเหม เวชกร (Hem Vejakorn) ผู้ได้รับการจดจำว่าเป็นครูใหญ่ของนักเขียนการ์ตูนอีกหลายคนในเวลาต่อมา รวมทั้งประยูร จรรยาวงษ์ (Prayoon Chanyawongse) จากเรื่องจันทโครพ (Chanta Korope)

การ์ตูนไทยสู่ยุคทองในปี 1953-1962 ด้วยสำนักพิมพ์บางกอก บรรลือสาส์น ผดุงศึกษา และประมวลสาส์น

เกิดนักเขียนการ์ตูนอีกหลายคน ได้แก่ อดิเรก อารยมนตรี (Adirek Ariyamontri) เขียนหนูเล็กลุงโกร่ง (Nu Lek Lung Krong), พ.บางพลี (Weerakul Thong Noi, Por Bangplee) เขียนอัศวินสายฟ้า (Asawin Sai Fa), พิมล กาฬสีห์ (Pimon Kalasee) ผู้สร้างนิตยสารการ์ตูนตุ๊กตา (Tukkata) รวมทั้งมงคล วงศ์อุดม (Mongkol Wongudom) และสงบ แจ่มพัฒน์ (Sa-ngob Jampat)

หลังจากนี้นิตยสารวีรธรรมรายสัปดาห์ (Weeratham) ได้นำเข้าการ์ตูนแฟลช กอร์ดอนและแต๋งแต๋ง การ์ตูนพื้นบ้านเปลี่ยนแนวไปเป็นการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ เช่น จอมอภินิหาร โดยหลังฉาก (Jom Apinihan-Lang Chak), เจ้าชายผมทอง โดยจุลศักดิ์ อมรเวช (จุก เบี้ยวสกุล) (Jao Chai Phom Thong -Chulasak Amornwej), สิงห์ดำ โดยนิวัฒน์ ธาราพรรค์ (ราช เลอสรวง) (Singh Dam -Niwat Tarapan)

หนังสือใช้เนื้อที่สองหน้าบรรยายประวัติการ์ตูนไทยยุคแรก ก่อนที่จะมาถึงยุคบรรลือสาส์นและให้รายละเอียดเกี่ยวกับพัฒนาการของบรรลือสาส์นไว้มาก ส่วนนี้ใช้เนื้อที่ถึง 3 หน้ากระดาษ

อันที่จริงเราก็อยากทราบบริบทของเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากกว่าเกิดอะไรขึ้นซึ่งปัจจุบันน่าจะหาอ่านได้ไม่ยากแล้ว มีผู้เขียนประวัติการ์ตูนไทยออกมาหลายคนและหลายเล่ม

ข้อความที่อ้างอิงถึง Vithit1993 ในหนังสือเล่มนี้น่าอ่าน วิธิต อุตสาหจิต (Vithit Utsahajit) ที่แฟนการ์ตูนรู้จักกันดีในนาม “บ.ก.วิติ๊ด” ผู้ก่อตั้งนิตยสารขายหัวเราะและมหาสนุก

“สตาฟฟ์ทั้งหมดและผมประชุมร่วมกันสัปดาห์ละครั้งเรื่องเราจะทำอะไร เรื่องอะไร เหตุการณ์อะไร ไมเคิล แจ๊กสัน มาเมืองไทย จูราสสิคปาร์คกำลังดัง เราเล่นได้ เราระดมไอเดีย ธีม แล้วนักวาดลงมือ บางไอเดียมาจากผู้อ่าน ถ้าเรารับไอเดียไว้ใช้เรามีของตอบแทนให้เล็กๆ น้อยๆ เช่น วิทยุ ทีวี หรือเงินสด”

นักเขียนการ์ตูนมีเงินเดือนประจำ ค่าตอบแทนรายชิ้นและโบนัส วิธิตว่านักเขียนเก่งๆ รายได้ดีกว่าบรรณาธิการ

นักเขียนที่เก่งมากได้ 50,000-70,000 บาทต่อเดือนไม่รวมโบนัส

นักเขียนหน้าใหม่สตาร์ตเงินเดือนที่ 5,000 บาท ค่าตัวนักเขียนและค่าจัดพิมพ์คือค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่มากของสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น

ยังไม่นับค่าฝึกอบรมที่สูงถึง 100,000-150,000 บาทต่อคน เมื่อรับนักเขียนมาใหม่ ช่วงฝึกงานกินเวลานาน 1-2 ปีกว่าผลงานชิ้นแรกจะได้ตีพิมพ์ ยกเว้นบางคนที่ฝีมือดีอาจจะใช้เวลา 6 เดือน (Vithit1993)

การจัดจำหน่ายเป็นปัญหาใหญ่มากของบรรลือสาส์น มีผู้จัดจำหน่าย 62 รายในกรุงเทพฯ ซึ่งจะซื้อหนังสือจากบรรลือสาส์นในราคาลด 25% เป็นเงินสด ส่วนตัวแทนจำหน่ายในจังหวัดต่างๆ 72 จังหวัดจะรับซื้อในราคาลด 30% โดยมีเครดิต 2 เดือน (Kanokporn1993)

วิธิตกล่าวต่อไปว่า มีบริษัทผลิตหนังสือการ์ตูนเล็กๆ อีก 6-7 บริษัทเวลานั้นผลิตหนังสือประมาณ 10 หัว แต่ขนาดของตลาดต่างกับบรรลือสาส์นมาก เราไม่ได้แข่งกับใคร “We don’t even look.” เราแข่งกับตัวเอง

รายชื่อนักเขียนการ์ตูนไทยยุคแรกมีมากมายและอาจจะตกหล่นในตำราเล่มนี้ เฉพาะที่เอ่ยถึงเป็นรายนามที่ตัวผมเองได้อ่านสมัยยังเป็นเด็กเกือบทุกคน ความทรงจำตอนนั้นคือแม่ห้ามอ่านงานอย่างหลวิชัยคาวีหรือจันทโครพ เพราะว่ามันโป๊ ส่วนตุ๊กตานี่เรียกว่าตนเองเติบโตมาพร้อมกันเลย จนถึงเบบี้และหนูจ๋า คำกลอนที่ยังท่องได้เสมอคือ

“มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท ครบสามบาทวิ่งตื๋อซื้อหนูจ๋า”

ส่วนที่จำได้จากเบบี้คือการ์ตูนชีวิตขนาดยาวและปริศนาชิงรางวัลท้ายเล่ม เล่มที่ตอบได้ได้รับรางวัลคือ

“ชายคนหนึ่งตัวดำสนิท ไม่ยิ้ม ไม่ลืมตา นอนแก้ผ้าอยู่กลางถนน รถคันหนึ่งวิ่งมาด้วยความเร็วสูง รถหยุดก่อนจะถึงชายตัวดำ ทำไมคนขับรถเห็นชายตัวดำได้?”