วิกฤติศตวรรษที่ 21 : วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (16)

ลัทธิทรัมป์ในอเมริกาและยุโรป

ลัทธิทรัมป์ก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ในอเมริกา และส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการเมืองภายในสหรัฐใหญ่สี่ประการได้แก่

ก) การแปรเป็นฝ่ายขวามากขึ้นทุกทีของพรรครีพับลิกัน โดยเฉพาะเมื่อมีการออกกฎหมายสิทธิพลเมือง (1964) ระบุว่า การเลือกปฏิบัติ สีผิว ศาสนา เพศและภาวะกำเนิดเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

ห้ามการแบ่งแยกสีผิวในโรงเรียน ที่ทำงานและสาธารณูปโภค

ห้ามการกำหนดการลงทะเบียนผู้เลือกตั้งอย่างไม่เท่าเทียมกันและกฎหมายสิทธิการเลือกตั้ง (1965) รับรองสิทธิการเลือกตั้งของคนอเมริกันผิวดำ

Barry Goldwater, Britanica

บุคคลนำปีกขวาภายในพรรค ช่วงนี้เช่น แบร์รี่ โกลด์วอร์เตอร์ ชาตินิยมผิวขาว ฐานเสียงหลักอยู่ที่ชาวคริสเตียนผิวขาว ที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และอายุมากกว่า 40 ปี

โกลด์วอร์เตอร์ได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในปี 1964 เขาคัดค้านกฎหมายสิทธิพลเรือนอย่างเต็มที่ และแพ้การเลือกตั้งอย่างย่อยยับแก่ลินดอน บี. จอห์นสัน แห่งพรรคเดโมแครต

แต่ลัทธิขวาเก่าในพรรครีพับลิกันไม่ได้ตายลง หากฝังตัวหยั่งลึก สะสมชัยชนะในการเลือกตั้ง และรอคอยโอกาส เนื่องจากมีแนวคิดตั้งอยู่บนฐานของความเป็นชาติสหรัฐตั้งแต่ถือกำเนิด คือลัทธิชาตินิยมเชิงเชื้อชาติ มีฐานเสียงบนชาวคริสเตียนผิวขาว

หลังโกลด์วอร์เตอร์ มีผู้นำที่เด่นได้แก่ จอห์น แม็กเคน สืบมาจนถึงทรัมป์ ก็สามารถเข้ายึดครองพรรค และขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีได้สำเร็จ

ลัทธิทรัมป์มีฐานเสียงเหนียวแน่นในบริเวณรัฐฝ่ายใต้ เอียงข้างกลุ่มสมาพันธรัฐฝ่ายใต้ และตั้งมั่นในหมู่ชาวคริสเตียนผิวขาวฝ่ายขวา เคร่งค่านิยมทางศาสนา ครอบครัวและเพศภาวะ

จำนวนมากเป็นผู้มีอายุสูง (เกิน 40 ปี) มีการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี และอาศัยอยู่ในเมืองขนาดเล็กและขนาดกลาง ลึกเข้าไปจากชายฝั่ง

ข) ความล้มเหลวของลัทธิเสรีนิยมใหม่ กระบวนโลกาภิวัตน์และอนุรักษนิยมใหม่ ที่ปฏิบัติต่อเนื่องมานานหลายสิบปี ก่อความไม่พึงพอใจทั่วไป และโดยเฉพาะแก่ฐานเสียงลัทธิทรัมป์ ได้แก่ สร้างช่องว่างทางสังคม ให้โอกาสแก่คนผิวสี และคนงานต่างด้าว

เปิดโอกาสให้ประเทศทั่วโลกพัฒนาจนมีฐานะใกล้เคียงกับสหรัฐ ที่สำคัญได้แก่ แกนจีน-รัสเซีย

พันธมิตรยุโรปก็คอยเอาเปรียบดุลการค้า ปล่อยให้สหรัฐแบกรับค่าใช้จ่ายในการจัดระเบียบโลกเพื่อประโยชน์ของประเทศเหล่านั้น

บรรดาเศรษฐีและบรรษัทใหญ่ของสหรัฐก็มัวเพลิดเพลินกับการลงทุนหากำไรในต่างแดน และแอบซุกเงินจำนวนมหาศาลไว้นอกประเทศ

ค) วิกฤติประชากร แสดงออกที่อัตราการเกิดของคนผิวขาวในสหรัฐน้อยลงไม่อาจทดแทนจำนวนผู้ตาย จำนวนประชากรที่เพิ่มที่สำคัญมาจากการเกิดของประชากรผิวสีและผู้อพยพแรงงานต่างด้าว ทั้งยังมีกลุ่มก่อการร้าย

คนผิวขาวเหมือนถูกปิดล้อม และไม่ใช่ประชากรส่วนใหญ่เหมือนเดิม โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ ถ้าปล่อยให้เป็นต่อไป อำนาจการเปลี่ยนจะเปลี่ยนไปสู่คนผิวสี

ง) การอุบัติขึ้นของประธานาธิบดีผิวดำและแนวคิดโอบามา ที่เป็นอริร้ายแรงของลัทธิทรัมป์ เป็นเหตุการณ์ร้ายแรงมาก ไม่อาจปล่อยไว้ได้ ถึงเวลาที่จะต้องลุกขึ้นมาทำสงครามขั้นเด็ดขาด

สังเกตได้ว่าในยุโรป คนผิวขาวก็ตกอยู่ในชะตากรรมคล้ายกัน ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการเติบโตของลัทธิชาตินิยม เชิงเชื้อชาติ และประชานิยมฝ่ายขวา ขยายตัวมีอิทธิพลมากขึ้นในหลายประเทศ เป็นเหมือนลัทธิทรัมป์น้อยๆ ในยุโรป

ขอยกบางตัวอย่างที่เด่น เช่น ที่อังกฤษเกิดกระแสออกจากสหภาพยุโรป เพื่อรักษาอำนาจอธิปไตยของตนในนโยบายเศรษฐกิจและแรงงานอพยพ

ที่ฝรั่งเศสกลุ่มขวาจัดของนางมารีน เลอแปน ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว จนสามารถเข้าแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่สองในฝรั่งเศสปี 2017

ในเยอรมนี นางแมร์เคิลที่ครองใจชาวเยอรมันมานับสิบปี ถูกเบียดขับจากพรรคฝ่ายขวาคือพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี ที่คัดค้านผู้อพยพและแรงงานต่างด้าวรุนแรง จนถึงต้องประกาศว่าจะไม่ลงรับสมัครเลือกตั้งอีก

ที่ออสเตรีย พรรคขวาจัดคือพรรคอิสรภาพ ได้รับเลือกเป็นรัฐบาลในปี 2017 เป็นความสำเร็จที่เป็นชิ้นเป็นอันที่สุด

 

เค้าความล้มเหลวของลัทธิทรัมป์

เหตุปัจจัยหลักที่ก่อความล้มเหลวของลัทธิทรัมป์ ได้แก่ ความขัดแย้งในชนชั้นนำของสหรัฐเอง ลัทธิทรัมป์เป็นตัวแทนแนวคิดชาตินิยมผิวขาว ที่ขึ้นมากุมอำนาจรัฐในขณะนี้ ส่วนอีกฝ่ายที่ใหญ่กว่าบางทีเรียกกันว่า “รัฐลึกเร้น” อยู่ฝ่ายทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์ ที่ดูโอ่โถงและกว้างขวางกว่า

ในสายตาของชนชั้นนำกระแสหลักเห็นว่า ลัทธิทรัมป์มีความเสี่ยงใหญ่อยู่ 3 ประการ ได้แก่

ก) การก่อความแตกแยกภายในชาติ ทั้งทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ขยายช่องว่างทางเศรษฐกิจขึ้นอีก อาจนำไปสู่การลุกขึ้นสู้และการปฏิวัติได้

ข) ปฏิบัติการโดยลำพังของสหรัฐ มีการทำสงครามการค้า การแซงก์ชั่นหรือคุกคามว่าจะแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจแก่ประเทศทั่วโลก เป็นต้น มีแนวโน้มที่จะทำให้สหรัฐถูกโดดเดี่ยวทางสากลอย่างน่าสงสาร

ค) ที่สำคัญมากก็คือ ลัทธิทรัมป์เป็นกระบวนการรวบอำนาจให้อยู่ในกลุ่มทรัมป์และคณะ เริ่มจากเข้าควบคุมพรรครีพับลิกันอย่างเด็ดขาด ไปจนถึงทำลายระบบสองพรรคที่ถือปฏิบัติกันมานานในสหรัฐ

กลุ่มลัทธิโลกาภิวัตน์ได้ทำสงครามข่าวสาร ลดทอนความน่าเชื่อถือและความยิ่งใหญ่ของทรัมป์มาโดยตลอด ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ขณะเดียวกันก็ประนีประนอมกับทรัมป์เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวอย่างอ่อนแอให้สามารถดำเนินไปได้ กับทั้งช่วยป้องกันการลุกขึ้นสู้และกระแสปฏิวัติของชาวรากหญ้ารุ่นใหม่ที่ยอมรับความคิดสังคมนิยมมากขึ้น

การระบาดของโควิด-19 แบบควบคุมไม่อยู่ เป็นผู้แสดงที่เข้ามาแทรก และทำให้สถานการณ์พลิกผัน ลัทธิทรัมป์ที่คงทนและคาดหวังว่าทรัมป์จะเอาชนะการเลือกตั้งสมัยที่สอง ได้ตกเป็นรอง แสดงออกในหลายเหตุการณ์ ได้แก่

ก) กลุ่มนายพลจำนวนหนึ่งทั้งที่เกษียณแล้วและเคยทำงานกับทรัมป์ และที่ยังดำรงตำแหน่งระดับสูง แสดงท่าทีเป็นกลาง ไม่สุงสิงกับทรัมป์

ข) ภายในพรรครีพับลิกันเอง มีประธานาธิบดีบุชและโคลิน เพาเวลล์ เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสมัยบุช เป็นต้น จัดตั้งกลุ่มไม่เอาทรัมป์ เคลื่อนไหวเพื่อรักษาพรรครีพับลิกันไว้จากการยึดครองของทรัมป์

ค) การลุกขึ้นสู้ของคนผิวดำซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ยิ่งเห็นชัดว่า ทรัมป์ควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่ในยามวิกฤติ

ง) มีองค์การและสถาบันการเงินใหญ่ของสหรัฐจำนวนหนึ่งสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการชีวิตคนดำมีค่า

จ) มีบรรษัทสหรัฐหลายแห่งที่บอยคอตประกาศถอนตัวจากการลงโฆษณาในรายการของผู้ที่สนับสนุนลัทธิทรัมป์ นอกจากนี้ ยังมีการบอยคอตไม่โฆษณาในสื่อสังคมเฟซบุ๊กที่เห็นกันว่าโอนอ่อนให้แก่ทรัมป์มากไป

ฉ) กระแสการต่อต้านทรัมป์กระชับวงใกล้ตัวขึ้นทุกที ล่าสุดบุคคลในครอบครัวของทรัมป์คือหลานสาวของเขาเอง ได้เผยแพร่หนังสือเปิดโปงที่มาของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและเป็นอันตรายต่อชาติของเขา กับเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง

ในด้านประชามติชาวยุโรป ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐ มีรายงานการสำรวจของสภาวิเทศสัมพันธ์ยุโรป (ECFR) สำนักคิดที่ทรงอิทธิพลในยุโรป ระบุหลังการระบาดของโควิด-19 ชาวยุโรปรู้สึกว่าความรู้สึกเชื่อมั่นในสหรัฐของทรัมป์ได้ “หายไป”

นั่นคือในประเทศเดนมาร์ก โปรตุเกส ฝรั่งเศส เยอรมนีและสเปน ประชาชนถึงราวสองในสาม กล่าวว่า ทัศนะด้านลบของตนต่อสหรัฐเพิ่มขึ้นหลังจากเกิดวิกฤติทางการแพทย์ ที่เห็นชัดมากคือประชาชนในฝรั่งเศสและเยอรมนีราวร้อยละ 46 และ 43 ตามลำดับ กล่าวว่า ทัศนะด้านลบต่อสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังโควิด-19 ระบาด

สัดส่วนของผู้ตอบในยุโรปที่เห็นว่า สหรัฐเป็นมิตรที่พึ่งได้ในยามยากต่ำมาก สูงสุดในอิตาลี ซึ่งมีเพียงร้อยละ 6 วิกฤติโควิด-19 ทำให้ชาวยุโรปรู้สึกว่าจำต้องรวมตัวกันและพึ่งตนเองมากขึ้น

(ดูบทรายงานของ Holly Ellyatti ชื่อ Europeans” trust in Trump”s America “is gone” after coronavisus pandemic, poll finds ใน cnbc 29/06/2020)

 

โลกาภิวัตน์ยังไม่ตาย
แม้ว่ามันจะร้องครวญคราง

วิเคราะห์กันว่าโควิด-19 จะส่งผลให้โลกาภิวัตน์สิ้นสุด สหภาพยุโรปจะล่มสลาย เนื่องจากการระบาดนี้ทำลายการบริโภค การผลิต การลงทุนและโซ่อุปทานของโลก มีการปิดประเทศเข้มงวดในการผ่านด่านอย่างกว้างขวางทั่วโลก

แต่ในอีกด้านหนึ่ง โควิด-19 ได้เข้าทำลายแนวคิดชาตินิยมเชิงเชื้อชาติ ต่อต้านผู้อพยพและแรงงานต่างด้าวด้วยเช่นกัน และอาจมากกว่าด้วย เพราะมันทำให้เห็นว่า ลัทธิชาตินิยมผิวขาวที่ให้สัญญาขึงขังว่าจะแก้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การว่างงาน และทำให้มีรายได้ดีขึ้น ไม่สามารถทำได้ตามว่า ซ้ำยิ่งเปิดให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมในสหรัฐมากขึ้น

นอกจากนี้ หนทางแก้วิกฤติโควิด-19 จะต้องกระทำโดยความร่วมมือของประชาชาติทั่วโลก ซึ่งลัทธิทรัมป์ปฏิเสธ

ตัวอย่างเห็นได้ชัดจากสองประเทศ คือในสหรัฐ ที่อิทธิพลของทรัมป์ที่เฟื่องฟูเหมือนใครก็หยุดไม่อยู่ เสื่อมไปอย่างรวดเร็วในวิธีการรับมือกับโควิด-19 ที่ไม่เป็นผล

ขณะที่ในเยอรมนี นางแมร์เคิลนายกรัฐมนตรีที่ยึดแนวโลกาภิวัตน์ เสรี ถูกเบียดขับจากพรรคขวาจัด “พรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี” จนต้องประกาศจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกฯ อีก กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากการแสดงความเยือกเย็น ไม่หวั่นกลัวและตัดสินใจอย่างเป็นนักวิทยาศาสตร์ ในการรับมือกับโควิด-19 รวมทั้งการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นขั้นตอน

(ดูบทความของ Elizabeth Renzetti ชื่อ Angela Merkel, on her way out, rises again ใน theglobandmail.com 20/03/2020)

เป็นที่สังเกตว่ากระบวนโลกาภิวัตน์ที่นำโดยตะวันตก ได้เผชิญกับวิกฤติและการโจมตีอย่างหนักมาตลอด ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 แต่พยายามปรับตัว และเสนอแนวทางแก้ไขโดยตลอด เพื่อความอยู่รอดของระบบ ซึ่งควรกล่าวถึง 3 ประการด้วยกัน ได้แก่

ก) เมื่อถูกการชุมนุมต่อต้านอย่างดุเดือดตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 มีการเสนอเรื่องโลกาภิวัตน์ที่มีโฉมหน้าเป็นมนุษย์ เป็นโลกาภิวัตน์ที่มีความสำนึกทางสังคม สนับสนุนการลงทุนเชิงสังคม (Social Entreprenureship) มีการปฏิบัติเป็นรูปธรรมจำนวนหนึ่ง

ข) หลังเกิดวิกฤติการเงินใหญ่ปี 2008 ระบบทุนนิยมหยุดชะงัก มีการเสนอ “โลกาภิวัตน์ 4.0” หรือ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0” เพื่อการก้าวเดินต่อไป เกิดกระแสสตาร์ตอัพมาจนถึงขณะนี้

ค) เมื่อโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก มีการเสนอ “การตั้งระบบใหม่ครั้งใหญ่” (The Great Reset) เป็นการตั้งเครื่องระบบทุนนิยมใหม่ครั้งใหญ่ มีรัฐบาลที่มีโครงการก้าวหน้าหรือเอียงซ้ายมากขึ้น เช่น การเก็บภาษีความมั่งคั่ง

ดังนั้น ในท่ามกลางวิกฤติและความเจ็บปวด กระบวนโลกาภิวัตน์ยังคงมีพลังในการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดต่อไป ลัทธิทรัมป์อาจเหี่ยวเฉาไปก่อน

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงไวรัสในระบบนิเวศและมนุษย์