“ธนินท์ เจียรวนนท์” แห่งซีพี ประสบการณ์เยาว์วัย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ว่าด้วยแนวความคิดคนคนหนึ่งซึ่งปลูกฝังมาจากประสบการณ์ การปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์และบริบทสำคัญ

“ผมเกิดในปี พ.ศ.2482 ในย่านเยาวราช ซึ่งเป็นถนนเก่าแก่สายหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก…”

ธนินท์ เจียรวนนท์ เล่าไว้ (“บันทึกความทรงจำของธนินท์ เจียรวนนท์” หรือ My Personal History : Dhanin Chearavanont ในสื่อญี่ปุ่น-NIKKEI) สะท้อนช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสังคมไทยอย่างสำคัญช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์

“…เมื่อญี่ปุ่นขยายแนวรบเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สงครามมหาเอเชียบูรพาปะทุขึ้น กิจการของคุณพ่อซึ่งกำลังเจริญเติบโตได้ดีอยู่นั้นจึงพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย” (อีกตอน)

โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่สอง ปะทุโฟกัสในยุโรปตั้งแต่ปี 2482 จนขยายวงมาถึงตะวันออกไกล

“ญี่ปุ่นตัดสินใจตอบโต้การปิดล้อมทางเศรษฐกิจด้วยการส่งกองกำลังเข้าโจมตีดินแดนอาณานิคมทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 เริ่มจากคาบสมุทรมาเลย์ โดยยกพลขึ้นบกตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย เช่น ที่ปัตตานี สงขลา บางปู” (อ้างมาจาก “สงครามมหาเอเชียบูรพากับการเมืองไทย” สถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/) พร้อมๆ กับโจมตี เข้ายึดมณฑลกวางตุ้งและเกาะฮ่องกงของอาณานิคมอังกฤษ ฟิลิปปินส์แห่งอาณานิคมสหรัฐอเมริกา ที่สำคัญคือโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล

“หลังจากเปิดแนวรบไปทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้บัญญัติชื่อเรียกสงครามครั้งนี้ว่า “Greater East Asia War” ซึ่งสถานการณ์สงครามที่ขยายตัวและเชื่อมโยงกันอย่างหลวมๆ นี้กลายเป็นที่มาของคำเรียกสงครามโดยรวมว่า สงครามโลกครั้งที่ 2″

ในที่สุดสงครามโลกครั้งที่สอง ได้จบลงในเดือนสิงหาคม 2488 ซึ่งครบรอบ 75 ปีในปีนี้

 

ธนินท์ เจียรวนนท์ เล่า (หนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”) ว่า เขาเข้าเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนเผยอิง จนถึงชั้นประถมปีที่ 1 แล้วจึงย้ายไป ป.2 โรงเรียนสารสิทธิ์วิทยา บ้านโป่ง ราชบุรี “เป็นครั้งแรกที่ผมต้องจากบ้าน ต้องดูแลรับผิดชอบเกือบทุกสิ่งด้วยตนเอง” โดยไม่ได้ระบุเหตุผลและช่วงเวลาชัดเจน พอจะคาดได้ว่าอยู่ช่วงปี 2488-2489 ต่อเนื่องช่วงกำลังสิ้นสุด

สงครามโลกที่มีเหตุการณ์ซึ่งสร้างอกสั่นขวัญแขวนเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเมื่อ 14 เมษายน 2488-เครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐอเมริกาถล่มกรุงเทพฯ ทำให้โรงไฟฟ้าวัดเลียบและวัดราชบุรณราชวรวิหาร (พระอารามหลวง) ถูกทำลาย

เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง กลับเป็นช่วงเวลาผันแปรอย่างมากมายในสังคมไทย รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตด้วยต้องพระแสงปืน ภายในห้องพระบรรทม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน (9 มิถุนายน 2489) ขณะเดียวกันรัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์แทน ตามมาด้วยการรัฐประหารในปี 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญว่าด้วยทำลายอิทธิพลคณะราษฎร ต่อเนื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 อย่างจริงจัง

ชีวิตธนินท์ เจียรวนนท์ มีความผันแปรด้วยเช่นกัน ด้วยมีฉากตอนที่แตกต่างออกไป

 

“เดือนสิงหาคม ปี 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นถอยทัพกลับ ภายหลังจีนก็เกิดสงครามในประเทศซึ่งลุกลามขยายเป็นวงกว้าง เป็นสงครามระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะเหนือพรรคก๊กมินตั๋ง และประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนตุลาคม ปี 2492 ในช่วงแรกของการขึ้นมาของพรรคคอมมิวนิสต์ ธุรกิจของคุณพ่อที่ซัวเถายังคงเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง…” (“บันทึกความทรงจำของธนินท์ เจียรวนนท์”) มีอีกบางตอนต่อเนื่องกัน

“ในช่วงแรกของการปกครองโดยรัฐบาลจีนใหม่ มีการสนับสนุนนโยบายสร้างเศรษฐกิจ แสวงหาความร่วมมือ-ภาครัฐและภาคเอกชน ธุรกิจภาคเอกชนจึงไม่ถูกกีดกัน อีกทั้งยังดึงดูดให้ชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพไปต่างประเทศได้กลับมาช่วยสร้างชาติอีกด้วย ชาวจีนโพ้นทะเลที่เคยอยู่ที่แต้จิ๋ว ก็ส่งลูกหลานกลับมาเมืองจีน ผมได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อและสมัครใจกลับมาเรียนที่ซัวเถา ตอนอายุ 11 ขวบ”

เท่าที่ประมวลข้อมูล ช่วงเวลา ธนินท์ เจียรวนนท์ เรียนหนังสืออยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ เพียงประมาณ 3 ปี (ราวๆ 2494-2497) นับเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสังคมจีนอย่างมากมายเช่นกัน

หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยผู้นำ-เหมาเจ๋อตุง ได้ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ (1 ตุลาคม 2492) ภาพโฟกัสซึ่งตามมาอย่างกระชั้นชิด ไปอยู่ที่เข้าร่วมสงครามเกาหลี สนับสนุนให้เกาหลีเหนือบุกเกาหลีใต้ (2493) ด้วยการเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกา ขณะภายในสังคมจีน การสำรวจตรวจสอบระบบที่ดินทั่วประเทศครั้งใหญ่เกิดขึ้น

“…ประเทศจีนมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายเศรษฐกิจอย่างชัดเจน จากเดิมในช่วงเริ่มก่อตั้งชาติในยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศจีนเคยสนับสนุนนักธุรกิจบริษัทเอกชนและต้อนรับชาวจีนโพ้นทะเล แต่ภายหลังมีนโยบายแปรเปลี่ยนมาต่อต้านบริษัทเอกชนและระบบเศรษฐกิจทุนนิยม รัฐบาลเริ่มเวนคืนที่ดินของเอกชน และสนับสนุนเกษตรกรรมแบบคอมมูนแทน ด้วยเหตุนี้คุณพ่อซึ่งมีบริษัทและสวนเกษตรที่ซัวเถาจึงกลับกลายเป็นนายทุนและเจ้าของที่ดินที่รัฐบาลต้องการโค่นล้ม” (“บันทึกความทรงจำ…”)

นี่คงเป็นเหตุปัจจัยสำคัญให้ธนินท์ เจียรวนนท์ ย้ายมาเรียนที่ฮ่องกง

 

ฮ่องกงในช่วงเวลาปี 2495-2500 ถือว่ากำลังเติบโตในช่วงหลังสงครามโลก ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้อพยพที่มีความรู้ ความสามารถ กลุ่มใหญ่จากแผ่นดินใหญ่ ตั้งแต่ช่วงสงครามกลางเมือง จนถึงการขึ้นมายึดครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน จากนั้นไม่นานฮ่องกงได้กลายเป็นเสือตัวแรกใน Four Asian Tiger economies

ขณะที่ในสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนเข้าสู่ยุคอิทธิพลสหรัฐอเมริกา มาพร้อมกับโอกาสที่เปิดกว้างของผู้คนในแวดวงธุรกิจ ร้านเจริญโภคภัณฑ์ก็เกิดขึ้นในช่วงนั้น (ดังที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว)

ธนินท์ เจียรวนนท์ กลับมาเมืองไทยในราวปี 2500 นับเป็นช่วงเวลาที่น่าทึ่ง ในฐานะคนหนุ่ม พลังสดใหม่ มีเวลามากมาย ในสังคมธุรกิจไทยซึ่งกำลังวางรากฐานอย่างจริงจังครั้งแรก เริ่มทำงานทันทีในธุรกิจครอบครัว

“…พ.ศ.2500 ร้านเจริญโภคภัณฑ์ได้ขยายกิจการไปเป็นธุรกิจขนาดกลาง ผมเริ่มช่วยพี่ชายบริหารส่วนงานอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ที่บริษัทขายในตอนนั้นเน้นขายอาหารเลี้ยงไก่ หมู มีทั้งข้าวโพด แป้งถั่ว รำข้าว ปลาป่น เป็นต้น ยุคนั้นเรามีโรงแปรรูปเล็กๆ อยู่…ตอนนั้นผมเพิ่งจะมีอายุ 18 ปีเต็ม” (“บันทึกความทรงจำของธนินท์ เจียรวนนท์”)

ด้วยแนวคิดสำคัญสะท้อนมาจากเรื่องราวข้างต้น ธนินท์ เจียรวนนท์ กับเหตุการณ์และบริบท เป็นธีมของซีรี่ส์ “ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี” อย่างแท้จริง ความเชื่อมโยงอย่างน่าทึ่งตลอด 6 ทศวรรษซีพีในยุคของเขา เชื่อว่าเป็นประสบการณ์ต่อเนื่องตั้งแต่เยาว์วัย

ว่าด้วยมุมมองกว้าง เชื่อมโยงและอ้างอิงกับสถานการณ์และความเป็นไปของสังคม การปรับตัว แสวงหาโอกาสและบุกเบิกธุรกิจ ด้วยความเชื่อและมุมมองว่าด้วยวิวัฒนาการทางธุรกิจ ในระบบเศรษฐกิจและสังคมหนึ่งๆ เป็นวงจรแห่งความสัมพันธ์อันมหัศจรรย์เชื่อมต่อไปจนถึง ความพยายาม การเข้าถึง ผลักดันในระดับกลไกการเปลี่ยนแปลงของระบบและโครงสร้างอำนาจ