สะสม ทางปริมาณ ศึกษา บทเรียน ประวัติศาสตร์ พัฒนา ไปสู่ คุณภาพ

ยิ่งศึกษารายละเอียดในทางประวัติศาสตร์มากเท่าใด ยิ่งจะเข้าใจในกระบวนการคลี่คลายขยายตัวในแต่ละจุดตัด จุดหักเลี้ยวทางประวัติศาสตร์มากเท่านั้น

ไม่ว่าประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ไม่ว่าประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516

สถานการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อาจมีผลทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เป็นจุดตัด เป็นจุดหักเลี้ยวในลักษณะแบ่งยุคแบ่งสมัยอย่างสำคัญในทางประวัติศาสตร์

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ สถานการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีจุดเริ่มต้นและคลี่คลายขยายตัวอย่างไร

สถานการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 อาจมีผลทำให้เกิดการแบ่งยุคแบ่งสมัยทำให้การดำรงอยู่อย่างยาวนานของ “ทรราช” ตั้งแต่ยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อเนื่องมายังยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องพังครืนลงราวปราสาททรายต้องคลื่น

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ สถานการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีจุดเริ่มต้นและคลี่คลายขยายตัวอย่างไร

กว่าจะมาเป็น 24 มิ.ย. 2475

นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งถือการเข้ามาของจักรวรรดินิยมประสานเข้ากับการเกิดขึ้นของกระฎุมพีตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

เห็นได้จากปรากฏการณ์ “สุนทรภู่” เห็นได้จากปรากฏการณ์ “เทียนวรรณ”

ขณะเดียวกัน การเกิดขึ้นของสนธิสัญญาเบาริ่งเมื่อปี 2489 คือสัญญาณอันทรงความหมายยิ่งในทางการเมือง เศรษฐกิจ ส่งผลให้สยามเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลก และแปรสยามให้เป็นกึ่งเมืองขึ้นหรืออาณานิคมอำพราง

กระฎุมพีที่เติบใหญ่ขยายตัวและรับวัฒนธรรมทางความคิดในทางวิทยาศาสตร์และประชาธิปไตยอย่างสูง ด้านหลักกลับเป็นคนสยามเชื้อสายจีน ด้านรองคือคนสยามที่ได้รับผลสะเทือนจากระบบการศึกษาสมัยใหม่

เห็นได้จากคนอย่าง นายเซียวฮุดเส็ง ศรีบุญเรือง เห็นได้จากกรณี ร.ศ.130 ตลอดจนการเบ่งบานภายในปัญญาชนอย่าง นายกุหลาบ สายประดิษฐ์

วิกฤตทางเศรษฐกิจโลกในคริสต์ทศวรรษที่ 1930 ส่งแรงสะเทือนอย่างสำคัญทำให้เกิดวิกฤตทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในสยาม ประกอบกับนักเรียนนอกทั้งที่เป็นทหารและพลเรือนเริ่มทยอยกันกลับเข้ารับราชการและประสบกับสภาพความเป็นจริงของสังคมโดยตรง

จึงก่อรูปขึ้นเป็น “คณะราษฎร” และตัดสินใจ “ยึดอำนาจ” และเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

14 ตุลาคม 2516 เนื่องแต่ 24 มิ.ย. 2475

แท้จริงแล้ว สถานการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 คือผลสะเทือนและความฝันอันเนื่องแต่สถานการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองอีกแบบ

ทุกอย่างมีจุดเริ่มมาจากรัฐประหาร 2490

สะท้อนความร่วมมือกันระหว่างปีกอนุรักษนิยมคณะราษฎร กับกลุ่มที่เคยสูญเสียอำนาจทางการเมืองหลังสถานการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475

รัฐประหาร 2500 และรัฐประหาร 2501 เป็นการผนึกกำลังระหว่างคณะทหารยุคใหม่กับกลุ่มที่เคยสูญเสียอำนาจทางการเมืองหลังสถานการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475 และค่อยๆ พลิกฟื้นขึ้นมาจากรัฐประหาร 2490

คณะทหารยุคใหม่ที่นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และต่อเนื่องมายัง จอมพลถนอม กิตติขจร

นับแต่ต้นทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามามีอำนาจเหนือรัฐบาลกระทั่งดึงเข้าไปมีส่วนร่วมในยุทธศาสตร์ต้านคอมมิวนิสต์และสงครามอินโดจีน

หลังประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 รัฐบาลคณะทหารที่นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ก็เริ่มนับถอยหลัง แม้จะพยายามฟื้นอำนาจโดยรัฐประหาร 2514 แต่ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะกระแสต่อต้านเริ่มแผ่กว้าง

จากพลังเศรษฐกิจใหม่ ตลาดใหม่ที่ต้องการประชาธิปไตยและการค้าเสรี ประกอบกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้บ่มเพาะคนชั้นกลางรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก ทำให้พลังเหล่านี้แผ่กระจายทั้งในแวดวงธุรกิจ ข้าราชการและในมหาวิทยาลัย

นิสิต นักศึกษา ได้เข้าไปมีบทบาทในสังคมและการเมืองมากยิ่งขึ้นกระทั่งก่อรูปเป็นชมรมและกลุ่มอิสระจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญและศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

พลังใหม่เหล่านี้เองที่เป็นกองหน้าและสะพานเชื่อมในการเคลื่อนไหวร่วมกับพลังอื่นๆ ในสังคม

สะสมปริมาณ ไปสู่คุณภาพ

ไม่ว่าก่อนสถานการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ไม่ว่าก่อนสถานการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ล้วนมีการเคลื่อนไหวในลักษณะสะสม

ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม

เมื่อสะสมปริมาณได้ถึงจุดที่สำคัญจุดหนึ่ง ปริมาณนั้นๆ ก็พัฒนาอย่างก้าวกระโดดไปสู่คุณภาพใหม่

เหมือนกับเป็นเส้นทางแห่งหอยทาก แต่ก็มีพัฒนาการอย่างไม่ขาดสาย