สารพัดเล่ห์มิจฉาชีพ เปิดโซเชียลมีเดียต้มตุ๋น “ปอท.-ปอศ”เผยวิธีป้องกันไม่หลงไปลงทุน

ห้วงกว่า 2 สัปดาห์ เกิดคดีฉ้อโกงนับไม่ถ้วน นับแต่เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารจำนวนกว่า 2,000 คน ถูกลอยแพที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เป็นกระแสสะพัดโลกออนไลน์และสื่อโซเซียลมีเดีย มีการแชร์คลิปและหลักฐานจำนวนมาก ที่ระบุว่าถูกหลอกขายตั๋วเครื่องบินและทัวร์ราคาถูกไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน โดยมีตั้งแต่ราคา 9,000-13,000 บาท นั่งเครื่องบินเช่าเหมาลำของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก โดยมี พิสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ ซินแสโชกุน กรรมการบริหารบริษัท เวลท์ เอเวอร์ เป็นผู้จัดทัวร์ดังกล่าวขึ้น

กระแสยิ่งสะพัดขยายวงกว้าง เมื่อมีผู้มาแสดงความคิดเห็นว่า ซินแสโชกุนเคยก่อเหตุหลอกลวงในลักษณะเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเร่งสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีดังกล่าว

กระทั่งเวลา 18.00 น. วันที่ 12 เมษายน เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) สามารถจับกุมซินแสโชกุนได้ที่ จ.ระนอง

อีกคดีเมื่อวันที่ 16 เมษายน ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เรืออากาศโทหญิง แพทย์หญิงนิจชา รุทธพิชัยรักษ์ อายุ 30 ปี แพทย์ รพ.รัฐบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง พร้อมกลุ่มผู้เสียหายรวมกว่า 10 คน หลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งแพทย์ วิศวกร สจ๊วต อาจารย์มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ทหาร รวมตัวเข้าแจ้งความกับตำรวจในข้อหาฉ้อโกง หลังถูกว่าที่นาวาตรีแพทย์หญิงประจำ รพ.รัฐแห่งหนึ่ง หลอกลวงให้ร่วมลงทุนในบริษัททัวร์ชื่อ วี สยาม เอเจนซี่ จำกัด มีผู้เสียหายกว่า 38 คน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 64 ล้านบาท

นอกจากนี้ วันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ควบคุมตัว น.ส.รัชชุดา ทองแย้ม ผู้ต้องหาที่หลอกประมูลขายทองคำผ่านเฟซบุ๊กมาดำเนินคดี หลังหลอกผู้เสียหายกว่า 60 คน ว่าขายทองราคาที่ถูกกว่าตามท้องตลาด 2,000-3,000 บาท คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 90 ล้านบาท

เหล่านี้เป็นเพียงแค่คดีตัวอย่างที่มีประชาชนตกเป็นเหยื่อเป็นวงกว้าง และพบว่าเหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้มีอันจะกิน มีฐานะดี เหตุไฉนจึงถูกหลอกดูดเงินในกระเป๋าได้อย่างง่ายดาย และวิธีการป้องกันจะทำได้อย่างไร?!!

พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผกก.2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เปิดเผยว่า กรณีสาวตุ๋นทองคำนั้นเหตุเกิดตั้งแต่ช่วงกลางปี 2559 สำหรับขั้นตอนในการหลอกผู้เสียหาย ในครั้งแรก น.ส.รัชชุดา มีเฟซบุ๊กเป็นของตนเอง และได้เข้าร่วมในกลุ่มประมูลหรือกลุ่มซื้อขายสินค้าต่างๆ ตามเพจเฟซบุ๊ก กระทั่งมีลูกค้ามาสนใจจึงได้สร้างเพจของตัวเองขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “รัชชุดา ทองแย้ม” มีสมาชิกจำนวนมาก

จากนั้นได้นำรูปภาพทองรูปพรรณต่างๆ มาโพสต์ขายโดยให้ลูกค้าแข่งขันกันทางด้านราคา ทำให้ลูกค้าบางรายผันตัวเองมาเป็นระดับแม่ข่าย

“จากการตรวจสอบพบว่ามีแม่ข่ายกว่า 100 ราย และแม่ข่ายมีลูกข่ายอีกกว่าจำนวน 100 ราย กระทั่งช่วงปลายปี 2559 เริ่มมีปัญหาขึ้น ไม่ได้ทองคำตามกำหนด จากการตรวจสอบพบว่าการตั้งกลุ่มไลน์หรือเพจในเฟซบุ๊กนั้น เป็นการบอกปากต่อปากชวนให้เข้าร่วม จึงทำให้คนหลงเชื่อและผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านต่างจังหวัด” ผกก.2 ปอท. เผย


สำหรับวิธีป้องกัน ผกก.2 ปอท. แนะว่า ต้องให้ความรู้กับชาวบ้านในเรื่องของความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้เกี่ยวกับสินค้าหรือการแชร์นั้นๆ

อาทิ การประมูลทองคำ ราคาท้องตลาด 20,000 บาท นำมาขายในราคา 17,000 บาท ถามว่าเป็นไปได้อย่างไร มีการอ้างตัวว่าเป็นคนในสมาคมค้าทองคำ ผู้ซื้อควรตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน หรือการโอนเงิน ชื่อหน้าบัตรประชาชนกับชื่อหน้าบัญชีไม่เป็นชื่อเดียวกัน ควรตั้งข้อสังเกตไว้ก่อน ต้องพิสูจน์ตัวตนให้ได้ว่าผู้ขายมีตัวตนจริงหรือไม่ ไม่ว่าสินค้าชนิดนั้นจะเป็นอะไร

ทั้งนี้ การขายของทางออนไลน์ควรจะมีการลงทะเบียนเพื่อแจ้งถึงตัวตนให้ผู้ซื้อได้ทราบ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบที่ผ่านมา มีผู้ที่ถูกฉ้อโกงผ่านทางเทคโนโลยีเป็นจำนวนมาก ในแต่ละวันมีเข้ามาแจ้งความ 2-3 ราย

พ.ต.อ.ทัศภูมิ จารุปรัชญ์ ผกก.5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เปิดเผยว่า กรณีการฉ้อโกงผ่านทางแชร์ลูกโซ่นั้น จากการสอบถามผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่สนใจเนื่องจากมีค่าตอบแทนสูงกว่าปกติ ซึ่งเกินจากความเป็นจริงไปมาก ในระยะแรกอาจจะได้เงินในการปันผลดังกล่าวจริง จากนั้นจึงได้ชักชวนบอกต่อให้กับกลุ่มเพื่อนจนเป็นเหตุให้สร้างกรุ๊ปไลน์ขนาดใหญ่ ซึ่งไม่แปลกที่จะมีความเสียหายเป็นจำนวนหลายล้านบาท

“ดังนั้น ก่อนการลงทุนควรศึกษาให้ดีเสียก่อนจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะการลงทุนที่สูงย่อมมีความเสี่ยงสูง อาทิ หากมีการลงทุนเรื่องกรุ๊ปทัวร์ควรศึกษาเรื่องทัวร์ต่างๆ กับบริษัททัวร์ หากมีการลงทุนเรื่องทองคำควรศึกษาราคาทองก่อน”

“สำหรับวิธีการป้องกันนั้นทำได้ง่าย คือ 1.ก่อนจะลงทุนอะไรควรศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ 2.ไม่ทำตัวเป็นกระบอกเสียงในการประชาสัมพันธ์ 3.ปรึกษาผู้รู้ สอบถามญาติหรือคนรอบข้างถึงความเป็นไปได้ หรือสำนักงานรัฐ เช่น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นต้น ผู้เสียหายบางคนอาจเคยได้เงินจากการแชร์ลูกโซ่ดังกล่าวแล้วไปบอกต่อ แต่อย่าลืมว่าเงินจำนวนมาก ไม่สามารถเป็นไปได้ที่จะได้จนครบ จะทำอะไรควรระมัดระวัง เนื่องด้วยเดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือ แอพพลิเคชั่นไลน์ จึงทำให้เกิดการฉ้อโกงได้ง่ายขึ้น สมัยก่อนกว่าจะฉ้อโกงได้จะต้องไปเคาะประตูบ้านทีละหลังในการฉ้อโกง แต่เมื่อมีกรุ๊ปไลน์เมื่อฉ้อโกงได้เพียงหนึ่งคนก็ไปประชาสัมพันธ์ในกรุ๊ปไลน์ได้อีกหลายร้อยคน” ผกก.5 ปอศ.เผย

ผกก.5 ปอศ. บอกด้วยว่า ทุกวันนี้กรณีฉ้อโกงยังมีให้เห็นกันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ วิศวกร สจ๊วต อาจารย์มหาวิทยาลัย แม้กระทั่งชาวบ้านทั่วไป โดยการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้รูปแบบการฉ้อโกงมีมากขึ้นและช่องทางกลโกงมากยิ่งขึ้น วิธีส่วนใหญ่ใช้การสร้างเครดิตให้ตนเอง จากนั้นใช้การบอกปากต่อปาก สร้างกรุ๊ปไลน์หรือเพจเฟซบุ๊กไว้ซื้อขาย

“ดังนั้น ทุกคนควรมีสติและไตร่ตรองให้รอบคอบ การลงทุนที่มีมูลค่ามากย่อมมีความเสี่ยงมากเช่นกัน เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดต่อตนเองและผู้อื่น พร้อมทั้งยังลดผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวด้วย” ผกก.5 ปอศ.กล่าวทิ้งท้าย