ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม - 6 สิงหาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ชกคาดเชือก |
เผยแพร่ |
พอนักเรียน-นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวกันมากๆ เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ ต้องการให้ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจกันใหม่ มีการชุมนุมเกิดขึ้นในทั่วประเทศ
พอคิดอะไรไม่ออก ก็หันไปเอาคำว่า “กลุ่มอาชีวะ” ออกมาชู เพื่อหวังจะเบรกการเคลื่อนไหวของนักเรียน-นักศึกษา
คนที่ได้เห็นเรื่องราวการเคลื่อนไหวทางการเมืองมายาวนานคงพากันส่ายหน้า
“ขณะที่ฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปมาก ถึงขั้นวิ่งแฮมทาโร่ ร้องเพลงแฮมทาโร่ยุบสภากันแล้ว อีกฝ่ายยังไปขุดเอา “อาชีวะ” ขึ้นมาปัดฝุ่นอยู่อีก ช่างไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกจริงๆ”
ขณะที่เยาวชนคนหนุ่มสาวในยุคนี้ มีทั้งรูปแบบใหม่ๆ มีบทเพลงใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เปลี่ยนแปลงพัฒนาไปจากยุค 14 ตุลาคม 2516 ไปมากแล้ว
อีกฝ่ายยังคิดสูตรจัดตั้ง “อาชีวะ” มาปะทะกับนักเรียน-นักศึกษาเหมือนเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้วอยู่อีก
นี่คือโลกเก่าของกลุ่มที่ยึดกุมอำนาจในปัจจุบันจริงๆ
แล้วก็ยังเอาแนวคิดเก่าๆ รูปแบบเก่าๆ มาต่อสู้กับเด็กรุ่นใหม่ ที่กำลังจะผลักดันสังคมไทยไปสู่โลกใหม่
“นอกจากจะก้าวไม่ทันคนรุ่นใหม่แล้ว ยังทำให้ทั้งสังคมไทยมองเห็นว่า ต้องร่วมกับคนรุ่นใหม่ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ขึ้นมาจริงๆ”
ไม่เช่นนั้นเราจะต้องจมปลักอยู่กับระบบอำนาจที่ล้าหลัง ไม่ทำให้บ้านเมืองพัฒนาก้าวหน้า
ฉุดทั้งในด้านสิทธิเสรีภาพ ทั้งความเจริญของสังคม เทคโนโลยี ทั้งเศรษฐกิจชีวิตความเป็นอยู่
“แน่นอนว่าความโบราณเก่าแก่เป็นคุณค่าที่ต้องรักษาเอาไว้ เช่น โบราณสถาน งานศิลปะ สิ่งปลูกสร้างก่อนเก่า”
หรือสูตรอาหารโบราณ สูตรก๋วยเตี๋ยวโบราณ กาแฟโบราณ ก็ยังเป็นจุดขาย
แต่การเมืองแบบโบราณ กลุ่มอำนาจแนวคิดล้าหลัง เป็นตัวฉุดความเจริญก้าวหน้าที่ไม่ควรรักษาเอาไว้!
กลุ่มกระทิงแดงซึ่งไม่เกี่ยวกับเครื่องดื่มชูกำลัง ไม่เกี่ยวกับคดีทายาทกระทิงแดงที่กำลังอื้อฉาว แต่หมายถึงการนำเอานักเรียนช่างกลอาชีวะมาจัดตั้ง เพื่อไว้ต่อต้านการเคลื่อนไหวของนักเรียนนิสิตนักศึกษาเมื่อกว่า 40 ปีก่อน
โดยหลังจาก 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งนักศึกษา-ประชาชนสามารถโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารได้สำเร็จ ผลักดันสังคมไทยเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย จากนั้นศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศได้เป็นองค์กรในการนำประชาชนต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในทุกๆ ปัญหา รวมทั้งต่อสู้ให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
กลุ่มอำนาจเก่า ผู้นำฝ่ายทหาร กลุ่มแนวคิดขวาจัด จึงได้จัดตั้งกลุ่มมวลชนของตัวเองขึ้นมา เพื่อต่อต้านฝ่ายนักศึกษา-ประชาชน
“พล.ต.สุตสาย หัสดิน นายทหาร กอ.รมน. ได้นำเอานักเรียนช่างกลอาชีวะมาจัดตั้งเป็นกลุ่มกระทิงแดง เพื่อก่อกวนการชุมนุมต่างๆ ของศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย”
โดยดึงเอาความเป็นนักบู๊ของนักเรียนอาชีวะออกมาใช้เพื่อสกัดขัดขวางฝ่ายนักเรียน-นักศึกษาที่เป็นพวกสายเรียน
“เปรียบกันว่าหวังจะเอาเอาฝ่าย “กำลัง” มาหยุดยั้ง “ปัญญาชน”
แกนนำกระทิงแดงที่โด่งดังก็เช่น เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือ “ตึ๋ง กระทิงแดง” ที่ภายหลังได้ปูนบำเหน็จเข้ารับราชการทหาร จนเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนายทหารสายนักเลง ผู้พันตึ๋งคนดังนั่นเอง
สมัยนั้นเมื่อศูนย์นิสิตนักศึกษาจัดชุมนุมเคลื่อนไหวต่างๆ ก็ต้องเตรียมมือรับกับกระทิงแดง ที่จะมาแนวต่อยตีก่อกวน ไปจนถึงใช้ปืนใช้ระเบิด
กลางค่ำกลางคืนดึกดื่น เมื่อนักศึกษาออกติดโปสเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารประชาสัมพันธ์ชนิดเดียวที่ใช้ได้ผล ก็ต้องคอยป้องกันตัวเองจากกระทิงแดง ที่คอยดักตี ดักยิง
“ส่วนหนึ่งเป็นไปตามแนวทาง “ขวาพิฆาตซ้าย” โดยจะมีการปลุกแนวคิดให้กับนักเรียนอาชีวะว่า ฝ่ายศูนย์นิสิตนักศึกษานั้นเป็นพวกซ้ายจัด มีแนวคิดคอมมิวนิสต์ ล้มล้างการปกครอง ปลุกปั่นความชาตินิยมขวาจัดให้กับกระทิงแดง แล้วออกปะทะกับฝ่ายซ้าย”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งขวาพิฆาตซ้ายที่ร้ายแรงที่สุดคือเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
เนื่องจากถึงจุดที่ฝ่ายอนุรักษนิยมทางการเมือง เห็นว่าจะปล่อยให้ขบวนการนักศึกษาประชาชนเติบโตไปกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว
แถมด้วยความหวาดกลัวในกระแสสังคมนิยม ที่ฝ่ายซ้ายเอาชนะรัฐบาลฝ่ายขวาในประเทศย่านอินโดจีน ทั้งเวียดนาม ลาว กัมพูชา จึงเกรงว่าไทยจะเป็นประเทศต่อไป ตามทฤษฎีโดมิโน
จึงต้องสร้างเรื่องหมิ่นสถาบันที่คนไทยเคารพรัก ผ่านสื่อฝ่ายขวาในหน้าหนังสือพิมพ์ดาวสยาม แล้วโหมกระแสเกลียดชังผ่านชมรมวิทยุเสรีที่มีสถานีวิทยุยานเกราะเป็นแม่ข่าย พร้อมเครือข่ายวิทยุกองทัพบกทั่วประเทศ
ก่อนที่มวลชนฝ่ายขวา นำโดยกระทิงแดง นวพล ลูกเสือชาวบ้าน จะบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่นักศึกษาชุมนุมอยู่ ด้วยการใช้เจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธสงครามยิงถล่มเบิกทาง
กลายเป็นเหตุการณ์เข่นฆ่ากลางเมืองที่โหดเหี้ยมที่สุด เป้าหมายคือกวาดล้างขบวนการนักเรียนนักศึกษาให้หมดสิ้นไป
การเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาคนรุ่นใหม่ในปี พ.ศ.นี้มีรูปแบบและวัฒนธรรม ที่เปลี่ยนแปลงไปจากยุคเดิมๆ มาก เพราะสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว นี่คือยุคดิจิตอล มีโลกออนไลน์ไว้ค้นคว้าสืบหาข้อมูลข้อเท็จจริง รวมทั้งไว้สื่อสารนัดหมายการเคลื่อนไหวต่างๆ
จากความตื่นตัวอย่างสูงในการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 ของคนรุ่นใหม่ แต่เริ่มรับไม่ได้กับการใช้รัฐธรรมนูญ กฎกติกาต่างๆ องค์กรอิสระบางองค์กร เพื่อเป็นเครื่องมือให้กลุ่มอำนาจจากการรัฐประหาร เป็นรัฐบาลต่อไป
การต่อต้านรัฐบาลนี้จากคนรุ่นใหม่จึงปะทุขึ้น แต่ก็มาด้วยรูปแบบใหม่ๆ วัฒนธรรมใหม่ๆ
“มีการจัดแฟลชม็อบ การจัดวิ่งแฮมทาโร่ พร้อมบทเพลงแฮมทาโร่เวอร์ชั่นยุบสภา ขณะที่ก่อนหน้านี้เพลงปลุกเร้าคนรุ่นใหม่ที่ทรงพลังที่สุดในทางการเมือง คือเพลงแร็พ ประเทศกูมี”
เป็นการจบสิ้นบทบาทของรูปแบบเก่าๆ จากยุค 14 ตุลาคม
รวมทั้งหมดสิ้นบทบาทของเพลงเพื่อชีวิต เพลงเพื่อการต่อสู้ในการชุมนุมเดิมๆ
“ส่วนหนึ่งเพราะสังคมเปลี่ยนไปมาก วัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่วันนี้เปลี่ยนไปจากยุค 40 ปีที่แล้วอย่างไปไกลมาก”
แน่นอน คนรุ่นใหม่ยังศรัทธาในนักต่อสู้ยุคก่อนเก่า เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ ครอง จันดาวงศ์ กลุ่มนักการเมืองอีสานที่ถูกอำนาจรัฐเข่นฆ่า
แต่หมดศรัทธาในการเปลี่ยนจุดยืนของศิลปินเพลงเพื่อชีวิตบางราย นักกวีบางราย เราจึงไม่ได้ยินบทกวี บทเพลงต่อสู้ในยุค 14 ตุลาคม – 6 ตุลาคม บนเวทีแฟลชม็อบสักเท่าไร
“นี่เป็นยุคเพลงแฮมทาโร่ ยุคเพลงประเทศกูมี!”
แต่ที่น่าตลกก็คือ ฝ่ายโลกเก่าก็ยังคิดแบบเก่าๆ กลุ่มอำนาจที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมการเมือง ก็ยังต่อต้านการเคลื่อนไหวของเด็กรุ่นใหม่ ด้วยแนวทางเก่าๆ
ไล่เด็กกลับไปเรียนหนังสือบ้าง ไล่กลับไปช่วยพ่อ-แม่ทำงานบ้าน ล้างจานบ้าง กล่าวหาว่าเด็กอ่อนหัด ถูกชักจูงบ้าง
“ไปจนถึงปัดฝุ่นอาชีวะขึ้นมาต่อต้านนักเรียน-นักศึกษา”
ทั้งที่โลกวันนี้เป็นยุคดิจิตอล เด็กรุ่นใหม่จะเรียนมัธยม เรียนมหาวิทยาลัย เรียนสายอาชีวะ ล้วนอยู่ในโซเชียล อยู่ในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์
จนรอบรู้ไปไกลกว่ากลุ่มอำนาจในโลกเก่าหลายเท่าแล้ว!