คำ ผกา | ช่วยเขาปลดแอก

คำ ผกา

ต้องยกเครดิตให้กับกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่ทำให้ขบวนการการเมืองบนถนนในประเทศไทยจุดติดขึ้นมาอีกครั้ง

และติดกับพึ่บพั่บมาก ซึ่งฉันเรียกการจุดติดครั้งนี้ว่าเป็น new wave of political uprising

เป็นการลุกฮือและตื่นตัวทางการเมืองที่เป็นคลื่นใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย

และที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีกคือ

ผู้นำความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้อยู่ในมือของเด็กนักเรียนมัธยมเกือบทั่วประเทศ

ไม่นับว่าประเด็นการเคลื่อนไหวของพวกเขาพุ่งตรงไปที่ใจกลางปัญหาของการเมืองไทยอย่างไม่อ้อมค้อม

เป็นครั้งแรกที่เราไม่สามารถทำเป็นมองไม่เห็นช้างตัวเบ้อเริ่มเทิ่มที่อยู่ในห้องได้

สิ่งที่แตกต่างออกไปจากขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองใน “ตำนาน” ไม่ว่าจะเป็น สิบสี่ตุลาฯ หรือหกตุลาฯ และขบวนการเสื้อแดงนำโดย นปช. ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ สิบสี่ตุลาฯ และหกตุลาฯ นั้น เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายซ้าย” อิงตัวเองไว้กับแนวคิดมาร์กซิสต์ มีศัตรูคือ “นายทุน” และ “จักรวรรดินิยมอเมริกัน”

หกตุลาฯ ยิ่งชัดเจนเมื่อนักศึกษาส่วนหนึ่งหันไปเคลื่อนไหวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย “ปฏิวัติโค่นล้มสังคมแบบเก่า ปฏิวัติเพื่อเราประชาชาติไทย”

มรดกทางอุดมการณ์ของสิบสี่ตุลาฯ และหกตุลาฯ ที่กลายเป็นผลึกอยู่ในวรรณกรรม การเล่าขาน คำอธิบาย กลายเป็นถ้อยคำสำเร็จรูปในบทสนทนาทั่วๆ ไปของคนไทยเวลาที่ใช้อธิบาย การเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือแนวคิด “ทวนกระแส” หรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกับรัฐ ถูกเรียกโดยเหมารวมและสาธารณ์ไปว่า “ซ้าย”

ที่สมัยนี้แตกออกเป็นคำใหม่ว่า “ช่วล” ด้วย คำว่า “ซ้าย” ที่พูดกันโดยทั่วไปในสังคมไทยจึงมีความหมายแค่การยืนอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับอำนาจรัฐเท่านั้น

และมรดกทางวรรณกรรมที่สำคัญมากๆ ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองสิบสี่ตุลาฯ และหกตุลาฯ คือ เพลงเพื่อชีวิต รวมทั้งบทกวีของปัญญาชน “ฝ่ายซ้าย” ของไทย เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ นายผี เป็นต้น

สนุกกว่านั้นคือ ทั้งเพลง และบทกวีของ “ฝ่ายซ้าย” เหล่านี้ ถูกใช้ในทุกม็อบทางการเมืองไทย ไม่ว่าม็อบนั้นจะมีอุดมการณ์เป็นขวา เป็นซ้าย หรือไม่เป็นอะไรเลย

ขึ้นชื่อว่าเป็นม็อบก็ต้องมีเพลงเหล่านี้หล่อเลี้ยงให้รู้สึกว่าเราเป็นม็อบมีอุดมการณ์

ที่ตลกดีไปอีกสำหรับฉันก็คือ แม้แต่นักการเมือง “รุ่นใหม่” สังกัดพรรคการเมืองที่ไม่มีอะไรใกล้เคียงกับความเป็นซ้าย (นโยบายของพรรคนี้เป็นประชาธิปไตยที่ค่อนไปทางสังคมนิยม) ก็ชอบโควตบทกวี นายผี จิตร ภูมิศักดิ์

อ่านทีไรก็ได้ทั้งความรู้สึกกล้าหาญ และความโรแมนติกแห่งความเป็นยอดนักสู้ไปพร้อมๆ กัน

ส่วนม็อบเสื้อแดง กับ นปช.นั้น เป็นม็อบต้านรัฐประหาร เรียกร้องประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภา เป็นม็อบที่มีความชัดเจนว่า คือม็อบของประชาชนที่โหวตเลือกพรรคไทยรักไทย จับมือกับพรรคไทยรักไทยต่อสู้และทวงคืนสิทธิ์ของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง

ความสัมพันธ์ของเสื้อแดง นปช.และพรรคไทยรักไทยนั้นไม่ได้ปิดบัง ซ่อนเร้น พูดกันอย่างตรงไปตรงมาว่า สู้เพื่อทักษิณ-จบ-ไม่อ้อมค้อม เพราะสำหรับเสื้อแดง เขาเลือกทักษิณมาแล้ว คุณมารัฐประหารเอาทักษิณออกไป เขาก็ออกมาสู้เพื่อทักษิณ เพราะสู้เพื่อทักษิณก็เท่ากับการสู้เพื่อตัวเอง

นี่เป็นสมการชั้นเดียว เรียบๆ ง่ายๆ ทำไมเข้าใจยากจัง

ในขบวนการต่อสู้ที่ยืดเยื้อมาเป็นสิบปี บางคนก็ถอดใจจากทักษิณ แต่ไม่ถอดใจจากประชาธิปไตย – ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

บางคนรู้สึกเข้าใจ เห็นใจทักษิณมากกว่าเดิม – ก็ไม่แปลก

คนที่คิดว่าตัวเองฉลาดกว่าคนอื่น มักจะทอดสายตามองมายังคนเสื้อแดงว่า “โถ ช่างน่าสงสาร ถูกเผด็จการทำให้โง่ จน เจ็บ ซ้ำซาก ยังมาถูกทักษิณหลอกอีก โดนทักษิณหักหลัง โถๆ โอ๋ๆ ปาดน้ำตา รู้เท่าทันทักษิณแล้วเดินหน้าสู้ต่อนะ เราจะยืนอยู่เคียงข้างเธอ”

คนเสื้อแดงฟังแล้วก็งง เพราะไม่ได้คิดว่าตนเองถูกทักษิณหลอกหรือหักหลัง ที่ออกมาสู้นี่ออกมาเอง ทักษิณจะสู้หรือไม่สู้ หรือจะสู้ๆ ถอยๆ ก็เป็นเรื่องของทักษิณ เป็นการประเมินของทักษิณ คนเสื้อแดงก็สู้ไป ประเมินสถานการณ์ของตัวเองไป – ทำไมถึงคิดว่าการเข้าใจทักษิณ มันเท่ากับการถูกหลอกใช้ นี่เสื้อแดงนะ ไม่ใช่วัว ไม่ใช่ควาย ทำไมถึงคิดว่าเราคือสิ่งมีชีวิตจำพวกถูกสนตะพายโดยนักการเมืองได้ง่ายๆ

นั่นมันแนวคิดสลิ่มนะ อุ๊ปปส์

สรุป ม็อบเสื้อแดงนั้นเป็นขบวนการการเมืองบนท้องถนนที่สัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งมาโดยตลอด นั่นคือ พรรคไทยรักไทย จนมาถึงพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

อุดมการณ์ของเสื้อแดงเป็น “ขวา” อย่างชัดเจน นั่นคือโปรประชาธิปไตย, การเลือกตั้ง, การเมืองระบบรัฐสภาแบบมีตัวแทน, เศรษฐกิจแบบตลาดเสรี, อยากผลักดันให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ, มีแนวคิดอนุรักษนิยมในเรื่อง เพศ ศีลธรรม ครอบครัว

มองในเฉดอุดมการณ์การเมืองแบบสากล เสื้อแดงเป็น “ขวา” ที่ชัดเจนมาก (ส่วนในม็อบก็อ่านบทกวี และร้องเพลงเพื่อชีวิตอะไรแบบซ้ายๆ ไป เพราะความเป็น “ซ้าย” มันเบลอสุดๆ ในสังคมไทยอยู่แล้ว)

เสื้อแดงในสายของ “ช่วลปัญญาชน” จึงมีความ red neck อยู่มาก ส่วนคนลิเบอรัล เสื้อแดง (ที่ไม่เห็นด้วยกับความเป็นอนุรักษนิยมในเรื่องเพศและศาสนาของเสื้อแดง แต่มองว่าเป็นเรื่องที่คุยกันได้ ถกเถียงกันได้) อย่างฉันก็เลยเรียกตัวเองว่า “ควายแดง” ในทำนองว่า “เออ กูรู้ๆ ว่ากูมันขวา กูมันพวกเดียวกับนักการเมือง กูมันไม่ใช่พลังบริสุทธิ์)

ม็อบเสื้อแดงจึงเป็นขบวนการการเมืองบนท้องถนนที่ไม่มีทุนทางวัฒนธรรมและสังคมใดๆ เป็นตัวหนุนช่วยเลย

สิ่งเดียวที่เสื้อแดงนี้มีจำนวนผู้คนมหาศาล (ลองจินตนาการถึง 19 ล้านเสียง) และนั่นคือสาเหตุที่ชนชั้นนำไทยต้องปราบเสื้อแดงอย่างจริงจังที่สุด

และในเวลาเดียวกัน ก็หาที่อยู่ในยืนในสังคมไทยยากที่สุดในฐานะ “ผู้รักประชาธิปไตย”

ในท่ามกลางความเป็น “ซ้าย” และ “ขวา” ที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามอำนาจรัฐทั้งคู่ คลื่นลูกใหม่ของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนน พวกเขาเป็นอะไร?

พวกเขาคือความฝันของเรา – ที่ต้องการทั้งประชาธิปไตย และต้องการทั้งการนำสังคมไปสู่ความเป็นลิเบอรัล – นั่งมองอยู่ตอนนี้ก็เหมือนจะนอนตายตาหลับว่า เออ ในที่สุด แนวคิดประชาธิปไตย กับความเป็นลิเบอรัลในทุกมิติ ได้เดินทางมาบรรจบกันเสียที

ที่สำคัญชนิดที่ต้องโน้ตเอาไว้ และขีดเส้นใต้ไว้หลายๆ ขีดเลย การเคลื่อนไหวของพวกเขา หลุดออกไปจาก narrative ว่าด้วยความเป็น “ไทย” กระแสหลักอย่างหมดจด

และไม่หลงเหลือกลิ่นอาย แนวคิด อุดมการณ์ “ชาตินิยม” แบบต้นศตวรรษที่ 20 อีกเลย

ไม่มีคำว่าชาติไทยที่หมายถึงความเรืองรอง ยิ่งใหญ่

การต่อสู้ทางการเมืองไม่ได้เป็นไปเพื่อสร้างชาติของเราให้เกรียงไกรกว่าใครในโลก

ไม่มีคำว่า เพื่อวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม

ไม่มีใครถูกกล่าวหาว่าเป็น “ทำลายขายชาติ” ไม่มีปมด้อย หรือ identity crisis ว่า เดี๋ยวจะไทยไม่พอ

พวกเขา locates ตัวเองไว้ในความเป็นสากลของโลก

เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรม “วัยรุ่น” เหมือนกันทั้งโลก ดูการ์ตูนเรื่องเดียวกัน ดูหนังเรื่องเดียวกัน ฟังเพลงเพลงเดียวกัน ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นวัยรุ่นชาติไหน

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่เพลงประจำม็อบจะคือเพลง แฮมทาโร่

มิพักจะต้องพูดถึงการมีอยู่ของ “พันธมิตรชานมไข่มุก” ของไต้หวัน ฮ่องกง และไทย

สําหรับฉันนี่คือสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดในเชิงอุดมการณ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้

พวกเขาไม่ได้บอกว่า พวกเขาทำเพื่อชาติบ้านเมือง เขาไม่ได้บอกว่า กำลังทำเพื่อผู้คนที่ยากไร้และถูกกดขี่ พวกเขาบอกว่า กูต้องออกมาเพื่อตัวกูและอนาคตของกูเองนี่แหละ

และใครก็ไม่ต้องมาไล่กูออกจากบ้าน เพราะนี่ไม่ใช่ “บ้านเจ้”

ภาวะ “หลังสมัยใหม่” ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดในขบวนการการเมืองครั้งนี้

ทั้งการพลิกกลับหัวกลับหางของ low culture และ high culture วัฒนธรรมป๊อป และวัฒนธรรมกลุ่มย่อยที่เป็น sub culture อย่างวัฒนธรรมโอตะ วัฒนธรรมกะเทย วัฒนธรรมพจน์ อานนท์ ฯลฯ

ทั้งหลายกลายมาเป็นแกนที่เชื่อมร้อยอารมณ์ความรู้สึกของคนที่ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อขับไล่รัฐบาล

ม็อบนี้เติมเต็มความฝันของเรา และฉันยังไม่เคยลืมคำพูดของพวกเราในครั้งที่ยังอยู่ในม็อบเสื้อแดงว่า “ถ้านักศึกษาไม่ออกมาช่วย เราไม่มีวันชนะหรอก”

ในความคิด ณ ขณะนั้นของการประเมินสถานการณ์คือ การประท้วงของนักศึกษาจะเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “พลังบริสุทธิ์” ไม่แปดเปื้อนผลประโยชน์ ไม่ได้เป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองหรือนักการเมือง

วันนี้เรามี “พลังบริสุทธ์” ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แม้จะมีความพยายามป้ายสีขบวนการของเด็กเหล่านี้ว่ามีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง แต่ดูเหมือนจะปลุกไม่ขึ้น

ยังไม่นับว่า พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยอย่างพรรคเพื่อไทยก็ต้องระวังตัวอย่างมากถึงมากที่สุด ที่จะรักษาระยะห่างกับขบวนการเคลื่อนไหวนี้

เนื่องจากกลัวว่า จะทำให้ม็อบถูก contaminate แปดเปื้อน ไม่บริสุทธิ์อีกต่อไป และจะสูญเสียความชอบธรรม

นักวิเคราะห์วิจารณ์สาย “ช่วล” ทั้งหลายก็พากัน “คมคาย” กันยกใหญ่ว่า ภารกิจของคนรุ่นเก่าที่ล้มเหลว เพราะมัวแต่ทะเลาะกันเอง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย หน้ามืด โพลาไรซ์ แบ่งขั้ว แบ่งข้าง จนทำให้สังคมเดินหน้าไม่ได้ จนกลายมาเป็นภาระให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสะสาง บลา บลา บลา

และเท่าที่ฉันเห็นและเป็นห่วงคือ การเรียกพวกเขาว่าเป็นพลังบริสุทธ์ สำหรับฉัน มันเป็นการดูแคลนพวกเขาพอๆ กับคนที่มองว่า การเคลื่อนไหวของพวกเขามีกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองหนุนหลัง

ยังไม่นับภาวะถาโถมเข้าไปโหน “เด็ก” กลัวตกขบวน และสุดท้ายเหมือนไปฝากความหวัง และชิ้นงานที่ทั้งยากอย่างสาหัสให้กับเด็กอยู่ฝ่ายเดียว แล้วผันตัวเองมาเป็นแค่กองเชียร์เอามันส์ เอาสะใจ

ไม่พอยังไปถ่ายรูปมาโชว์เก๋า โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กและคนในม็อบอีก

เด็กกล้าหาญและก้าวหน้าอย่างถึงที่สุด คำถามที่คนรักประชาธิปไตย และอยากเห็นสังคมไทยเดินไปสู่ความเปลี่ยนแปลงคือ ทำอย่างไร uprising ที่นำโดยเด็กๆ ครั้งนี้จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยไม่มีใครมาปล้นขบวนการของพวกเขาไปเสียกลางทาง

ที่สำคัญขบวนการเคลื่อนไหวที่ขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์และมีพลังในเชิงเป็นแรงบันดาลใจนี้จะนำไปสู่การสร้างแนวร่วมกับกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ในสังคมเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้เป็นในแบบที่เราต้องการได้อย่างไร เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หรือเรียบง่ายกว่านั้นก็เพื่อไม่ให้พวกเขาโดดเดี่ยวและถูกทำลายลงอย่างอำมหิตอีก

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเพิ่งจะได้เริ่มต้น และฉันจะไม่รีบร้อน “ฉลาด” ที่จะไปวิเคราะห์ว่า คลื่นความเคลื่อนไหวทางการเมืองลูกใหม่นี้จะนำประเทศไทยไปที่ไหน

สิ่งเดียวที่ “ควายแดง” อย่างฉันจะทำในตอนนี้ รักพวกเขา และสนับสนุนพวกเขาอย่างหมดใจ