วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ฮ่องกงจากเกาะว่างเปล่าสู่ศูนย์กลางการเงินโลกวันนี้

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮ่องกงเมื่อวันวาน (2)
แต่ปางก่อน

ฮ่องกงเป็นเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งที่อยู่ทางภาคใต้ของจีน และเป็นหนึ่งในหมู่เกาะเล็กเกาะน้อยที่มีอยู่ราว 235 เกาะ แต่ถ้าใครคิดว่าเกาะนี้เป็นที่รู้จักกันหลังสงครามฝิ่นระหว่างอังกฤษกับจีนแล้วละก็ ใครคนนั้นแม้จะไม่เข้าใจผิด แต่ก็ไม่ถูกไปเสียทั้งหมด

แรกเริ่มที่มีการศึกษาแหล่งโบราณคดีของฮ่องกงนั้น พบว่า เกาะแห่งนี้เคยเป็นที่อาศัยของมนุษย์ยุคหินใหม่ (Neolithic) เมื่อราว 6,000 ปีก่อน แต่เมื่อ ค.ศ.2003 มีการค้นพบหลักฐานใหม่ที่เป็นเครื่องมือหินที่มีอายุราว 35,000 ถึง 39,000 ปี

แสดงว่าฮ่องกงไม่ใช่เกาะร้างมาแต่ดั้งแต่เดิมดังที่เคยเข้าใจกัน

แต่เป็นเกาะที่เคยมีมนุษย์อาศัยอยู่มาก่อน โดยอาศัยอยู่ตามชายฝั่งเป็นหลัก เราทราบจากบันทึกประวัติศาสตร์ของจีนว่า เกาะแห่งนี้ถูกจีนผนวกรวมเป็นของจีนโดยราชวงศ์ฉิน (ก.ค.ศ.221-206) หรือเมื่อกว่า 2,200 ปีก่อน

นับแต่นั้นมาเรื่องราวของฮ่องกงก็ถูกบอกเล่าผ่านราชวงศ์หรือยุคสมัยต่างๆ ของจีนอยู่เป็นระยะ บางเรื่องก็เป็นเรื่องเล่าธรรมดา บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่บ่งชี้ความสำคัญทางการเมืองของฮ่องกง

แต่ที่จะเป็นความสำคัญทางเศรษฐกิจดังที่เห็นในปัจจุบันนั้นแทบไม่มีเลยก็ว่าได้

 

แม้ฮ่องกงจะมีพัฒนาการมายาวนานนับพันปี แต่เสน่ห์ประการหนึ่งของฮ่องกงกลับเป็นชื่อของฮ่องกงเองว่าแท้จริงแล้วคำว่าฮ่องกง ที่เป็นชื่อของเกาะนั้นมีความหมายอย่างไร และมีที่มาจากไหน

ก่อนอื่น, เฉพาะคำว่าฮ่องกง ที่เป็นคำจีนนี้มิใช่เสียงจีนกลาง แต่เป็นเสียงจีนกวางตุ้งที่เป็นภาษาถิ่นของจีน และที่เรียกว่าจีนกวางตุ้งนี้เป็นการเรียกตามบริบทของสังคมไทย ที่เรียกแยกเสียงภาษาถิ่นของชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามายังไทยเมื่อกว่า 200 ปีก่อนออกเป็นห้าถิ่นเสียง

คือเสียงจีนแต้จิ๋ว จีนฮกเกี้ยน จีนไหหลำ จีนกวางตุ้ง และจีนแคะ

อันที่จริงแล้วจีนฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) และจีนไหหลำ (ไห่หนัน) เป็นคำเรียกชื่อมณฑล โดยอีกสามเสียงที่เหลือล้วนมาจากมณฑลเดียวกันคือกว่างตง (กวางตุ้ง) เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเสียงจีนกวางตุ้งคือเสียงใดกันแน่ ทำไมไม่เรียกเป็นอย่างอื่นที่มิใช่ชื่อมณฑล ซึ่งอาจทำให้สับสนกับเสียงจีนแต้จิ๋วและจีนแคะ เพราะต่างก็เป็นเสียงของชาวจีนที่อยู่มณฑลกว่างตงทั้งสิ้น

ชาวจีนที่พูดเสียงจีนกวางตุ้งนั้น แท้จริงแล้วคือชาวจีนที่อยู่ในเมืองกว่างโจว หรือที่ไทยเรามักจะเรียกว่ากวางเจา

เมืองนี้เป็นเมืองเอกของมณฑลกว่างตงมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์นับพันปีมาแล้ว

การเป็นเมืองเอกทำให้ชาวเมืองนี้เป็นเสมือนตัวแทนของมณฑลนี้ และเสียงพูดของคนเมืองนี้เป็นเสมือนเสียงกลางของมณฑลไปด้วย

คนทั่วไปจึงเรียกเสียงพูดของคนกว่างโจวว่าเป็นเสียงพูดของกว่างตงหรือกวางตุ้ง ทั้งที่จริงแล้วน่าจะเรียกเสียงพูดนี้ว่าจีนกว่างโจว หรือจีนกวางเจา

และในส่วนที่เกี่ยวกับฮ่องกงก็คือว่า เมืองกว่างโจวนั้นอยู่ใกล้กับฮ่องกง และทำให้คนจีนที่กว่างโจวอพยพไปอยู่ที่ฮ่องกงมากกว่าจีนกลุ่มอื่น ภาษาที่ใช้พูดกันในเกาะนี้จึงเป็นภาษาจีนกวางตุ้งไปโดยส่วนใหญ่

ซึ่งรวมถึงชื่อของเกาะด้วย

 

คําว่าฮ่องกงที่เป็นเสียงจีนกวางตุ้งนี้จีนกลางออกว่าเซียงกั่ง ถ้าแปลตามตัวอักษรแล้วก็คือ ท่าหอมหวน

คำถามจึงมีว่า ทำไมต้องหอมหวนด้วย?

ตรงนี้แหละที่เป็นข้อถกเถียงที่ยากจะหาข้อสรุป แต่ในที่นี้จะนำข้อถกเถียงนี้มาอภิปรายโดยเริ่มจากภาษาถิ่นของคำว่าฮ่องกงก่อน ซึ่งหากตั้งอยู่บนฐานของเสียงจีนกวางตุ้งแล้ว เสียงที่เขียนเป็นตัวอักขระไทยนี้เป็นเสียงที่อ่านตามคำฝรั่งที่เขียนว่า Hong Kong ทั้งที่การออกเสียงที่แท้จริงแล้วจะไม่ตรงตามการอ่านผ่านอักขระไทยหรือแม้แต่อักขระฝรั่งเสียเลยทีเดียว

เสียงของคำว่าฮ่องกงตามเสียงจีนกวางตุ้งนั้น หากจะออกให้ใกล้เคียงโดยผ่านการเขียนอักขระไทยแล้วน่าจะออกได้ประมาณนี้คือ ฮี-อง ก้อง (คำว่า ฮี-อง เป็นคำในพยางค์แรกโดยให้ออกเสียงเร็วๆ จนฟังคล้ายเป็นเสียงเฮียง) ซึ่งการเขียนให้เป็นแบบโรมัน (Romanization) ที่ปรากฏเป็นครั้งแรกใน ค.ศ.1780 นั้นจะเขียนเป็น He-Ong-Kong ต่อมาก็เปลี่ยนมาเขียนเป็น Heung Gong บ้าง หรือ Hoong Keang บ้าง

แต่ที่เขียนเป็น Hong Kong ดังที่เห็นในปัจจุบันนั้นปรากฏเป็นครั้งแรกใน ค.ศ.1810

 

ไม่ว่าจะเขียนต่างกันอย่างไร ต่างล้วนเป็นการพยายามที่จะให้ออกเสียงจีนกวางตุ้งอย่างใกล้เคียงที่สุด แต่เมื่อตัวเขียนใน ค.ศ.1810 เป็นที่แพร่หลายไปทั่วแล้วนั้น ชนนานาชาติจึงอ่านผ่านตัวเขียนในปีที่ว่าเป็นฮ่องกงในที่สุด ซึ่งรวมทั้งไทยเราด้วย

ถึงกระนั้นก็ควรกล่าวด้วยว่า เฉพาะตัวเขียนแบบโรมันดังกล่าวยังมีการเขียนที่อาจสร้างความสับสนได้ด้วย กล่าวคือ หลังจากที่มีการกำหนดให้เขียนเป็น Hong Kong แล้วก็ยังพบอีกว่า ผู้คนมักจะเขียนคำดังกล่าวเป็นคำคำเดียวว่า Hongkong อันจะเห็นได้จากชื่อบริษัทหลายแห่งที่เขียนเช่นนั้น

ตราบจน ค.ศ.1926 รัฐบาลฮ่องกง (โดยอาณานิคมอังกฤษ) จึงได้ประกาศให้เขียนอย่างเป็นทางการว่า Hong Kong นั่นคือ เขียนโดยแยกออกเป็นสองพยางค์และมีเว้นวรรค ส่วนธุรกิจหรือบริษัทห้างร้านที่เขียนคำดังกล่าวติดกันเป็นคำเดียวนั้นก็ยังคงรักษาการเขียนแบบเดิมของตนเอาไว้ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนไปอีกแบบหนึ่ง

หาใช่เขียนผิดแต่อย่างไรไม่

 

ประเด็นต่อมาคือ ความหมายของคำว่าท่าหอมหวน ว่าทำไมจึงต้องหอมหวน และที่หอมหวนนั้นคือหอมหวนจากอะไร ประเด็นนี้มีการกล่าวไปหลายทาง

บ้างก็ว่าเป็นกลิ่นหอมจากสมุนไพรที่ถูกขนถ่ายลงเรือที่ท่าเรือของเกาะนี้

บ้างก็ว่าหอมจากโรงงานทำธูปหรือกำยาน

บ้างก็ว่าเป็นกลิ่นคล้ายน้ำหวานของน้ำจืดที่ไหลจากปากแม่น้ำไข่มุก (จูเจียง, Pearl river) เป็นต้น

ทั้งหมดล้วนเป็นข้อสันนิษฐานที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ก็สังเกตได้ว่า ข้อสันนิษฐานทุกข้อต่างต้องตรงกันในประเด็นหนึ่งคือ เกาะแห่งนี้มีกลิ่นหอม และต่างพร้อมใจกันเรียกเกาะแห่งนี้ว่าฮ่องกง ที่แปลว่าท่าหอมหวน

 

แม้ฮ่องกงจะเป็นเกาะของจีนที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน แต่จีนก็มิได้ให้ความสำคัญกับเกาะนี้มากนัก เกาะนี้จะถูกกล่าวถึงเป็นบางครั้งบางคราเมื่อมีบางเหตุการณ์มาข้องแวะด้วยเท่านั้น ครั้นพอเหตุการณ์นั้นผ่านไป ความเงียบสงบก็กลับมาปกคลุมเกาะแห่งนี้ และรอจนกว่าจะมีเหตุการณ์ใหม่เกิดขึ้น

จากสภาพความเป็นจริงดังกล่าว ฮ่องกงจึงเป็นเกาะที่มีผู้คนอาศัยอยู่น้อยมาก และผู้ที่อาศัยอยู่มักจะเป็นชาวประมง กล่าวกันว่า ก่อนที่อังกฤษจะเข้ายึดครองฮ่องกงหลังสงครามฝิ่นนั้น ฮ่องกงมีผู้คนอาศัยอยู่ไม่กี่สิบครัวเรือน พอฟ้ามืดลงก็จะเห็นแสงไฟจากตะเกียงหรือเทียนไขที่แต่ละครัวเรือนจุดขึ้น

แสงนี้ส่องประกายวับๆ แวมๆ คล้ายแสงของหิ่งห้อยที่สามารถมองเห็นได้แต่ไกล

และในส่วนที่พ้นจากตัวเกาะออกไปอันเป็นทะเลนั้นก็เป็นส่วนที่เป็นอ่าว ด้วยภูมิศาสตร์เช่นนี้จึงทำให้มีเรือประมงมาจอดที่อ่าวนี้เพื่อหลบลมมรสุม ชาวประมงเหล่านี้จึงรู้จักเกาะนี้มาแต่ไหนแต่ไร ถึงแม้จะไม่ได้อาศัยอยู่ในเกาะนี้ก็ตาม

จากที่เล่ามานี้คือเรื่องราวของฮ่องกงในอดีตกาล ซึ่งจะเห็นได้ว่า ฮ่องกงเป็นเกาะที่เงียบสงบ เป็นเกาะที่ไร้ความสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองอื่นๆ ในแผ่นดินใหญ่ และด้วยความที่มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มาก ฮ่องกงจึงดูเหมือนเกาะร้าง

ตราบจนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อกว่าร้อยปีก่อนที่อังกฤษได้ทำสงครามกับจีน หลังสงครามจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของจีน ฮ่องกงก็ถูกเปิดตัวให้ชาวโลกได้รู้จักเป็นครั้งแรก

ก่อนที่จะเป็นฮ่องกงที่เรารู้จักในทุกวันนี้