คนมองหนัง | รู้จัก “แอนน์ ฮุย” ยอดผู้กำกับฯ หญิงฮ่องกง ที่ได้รับการยกย่องจากเวนิส

คนมองหนัง

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสประจำปี 2020 จะเป็นเทศกาลหนังระดับเมเจอร์งานแรกที่กลับมาเดินหน้าจัดกิจกรรมหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ระหว่างวันที่ 2-12 กันยายน

โดยในปีนี้ เทศกาลได้ประกาศมอบรางวัลสิงโตทองคำเกียรติคุณแห่งความสำเร็จในวิชาชีพ ให้แก่สองบุคลากรหญิงรายสำคัญของโลกภาพยนตร์

คนหนึ่ง คือ “ทิลดา สวินตัน” นักแสดงฝีมือจัดจ้าน ซึ่งกำลังจะมีผลงานแสดงนำใน “Memoria” หนังยาวเรื่องใหม่ของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” อีกคนหนึ่ง คือ “แอนน์ ฮุย” ผู้กำกับภาพยนตร์หญิงรุ่นเก๋าจากฮ่องกง

งานเขียนชิ้นนี้จะขออนุญาตพาผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จักกับผู้ได้รับรางวัลรายหลัง ซึ่งถือเป็น “คนทำหนังชั้นครู” ของทวีปเอเชียในยุคปัจจุบัน

“อัลแบร์โต บาร์แบรา” ผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ระบุว่า “แอนน์ ฮุย” เป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเอเชียที่สร้างผลงานมาอย่างมากมายและหลากหลาย รวมทั้งได้รับความเคารพสูงสุดในยุคร่วมสมัย ผ่านประสบการณ์การทำงานที่ยาวนานสี่ทศวรรษ และการทำหนังมาแล้วแทบทุกสกุล

“แอนน์ ฮุย” เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะคนทำหนังรายสำคัญของกลุ่ม “ฮ่องกง นิวเวฟ” ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางภาพยนตร์ที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติวงการหนังฮ่องกงในช่วงทศวรรษ 1970-1980 จนแปรสภาพให้มหานครที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ-วัฒนธรรมแห่งนี้ กลายเป็นศูนย์กลางแห่งความคิดสร้างสรรค์อันมีชีวิตชีวากระฉับกระเฉงตลอดทศวรรษดังกล่าว

เธอเคยกำกับภาพยนตร์มาแล้วหลายประเภท จากงานแนวเมโลดราม่าไปจนถึงหนังผี จากภาพยนตร์กึ่งอัตชีวประวัติของตนเอง ไปจนถึงงานดัดแปลงวรรณกรรมชั้นยอด ผนวกด้วยหนังแนวครอบครัว หนังกำลังภายใน และหนังเขย่าขวัญ

เธอคือคนทำหนังรายแรกๆ ของฮ่องกง ที่ผสานรูปแบบสารคดีหรือเรื่องจริงเข้าไปในภาพยนตร์บันเทิงคดีหรือเรื่องแต่ง

และแม้จะปักหลักทำหนังเชิงพาณิชยศิลป์ที่ประสบความสำเร็จด้วยการเข้าถึงรสนิยมของสาธารณชนกลุ่มใหญ่ แต่เธอก็ไม่เคยละเลยความรู้สึกนึกคิดและจุดยืนของตนเอง

ตลอดชีวิตการทำหนัง “แอนน์ ฮุย” ได้มุ่งเน้นความสนใจไปที่ประเด็นเปราะบางอ่อนไหวของสังคม และพยายามแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้คนในปรากฏการณ์เหล่านั้น ผ่านการร้อยเรียงถักทอเรื่องราวของปัจเจกบุคคลเข้ากับปัญหาสังคมด้านต่างๆ เช่น ปัญหาผู้อพยพ, คนชายขอบ และผู้สูงวัย ด้วยอารมณ์ความรู้สึกและความคิดอันลุ่มลึกในแบบปัญญาชน

ในสถานะผู้บุกเบิก “แอนน์ ฮุย” ไม่เพียงใช้ภาษาภาพยนตร์และมุมมองทางด้านภาพอันมีลักษณะเฉพาะของตนเอง เป็นเครื่องมือในการบันทึกแง่มุมพิเศษแปลกตาของเมืองฮ่องกง ตลอดจนจินตนาการว่าด้วยเมืองดังกล่าว

หากเธอยัง “แปล-เปลี่ยน” ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เหล่านั้น ให้มีลักษณะเป็นสากลอีกด้วย

“แอนน์ ฮุย” จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงและลอนดอน ฟิล์ม สกูล ในต้นทศวรรษ 1970 เธอเริ่มต้นทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับฯ ของ “คิง ฮู” คนทำหนังกำลังภายในชั้นครู

การกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก คือ “The Secret” ที่นำแสดงโดย “ซิลเวีย จาง” เมื่อปี 1979 ได้ส่งผลให้ “แอนน์ ฮุย” กลายเป็นนักทำหนังน่าจับตาในขบวนการ “ฮ่องกง นิวเวฟ” ร่วมกับ “ฉีเคอะ” “จอห์น วู” “แพทริก แทม” และผู้กำกับฯ ร่วมรุ่นอีกหลายราย

จนถึงปัจจุบัน เธอกำกับหนังยาวรวมทั้งสิ้น 26 เรื่อง หนังสารคดีขนาดยาว 2 เรื่อง หนังสั้นอีกจำนวนหนึ่ง และเป็นโปรดิวเซอร์ให้แก่ผู้กำกับภาพยนตร์คนอื่นๆ อีกไม่น้อย

“แอนน์ ฮุย” มีผลงานหนังที่ได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติระดับเมเจอร์หลายต่อหลายเรื่อง

โดย “Boat People” (1982) และ “Song of the Exile” (1990) ได้เข้าฉายที่คานส์ “Summer Snow” (1995) และ “Ordinary Heroes” (1999) เข้าฉายที่เบอร์ลิน ส่วน “A Simple Life” (2011) และ “The Golden Era” (2014) เข้าฉายที่เวนิส

“แอนน์ ฮุย” คือคนทำหนังชาวฮ่องกง ที่ได้รับรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวที “ฮ่องกง ฟิล์ม อวอร์ดส์” มากครั้งที่สุด รวม 6 ครั้ง

และเป็นผู้กำกับฯ เพียงรายเดียวที่สามารถนำพาผลงานของตนเองกวาดรางวัล “แกรนด์สแลม” บนเวทีตุ๊กตาทองฮ่องกง อันหมายถึง การได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับฯ ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากหนังเรื่องเดียวกัน ถึงสองครั้งสองหน

ด้วยผลงานภาพยนตร์เรื่อง “Summer Snow” และ “A Simple Life”

นอกจากนี้ ยังมิอาจปฏิเสธได้ว่า “แอนน์ ฮุย” คือผู้กำกับภาพยนตร์หญิงที่เก่งกาจที่สุดคนหนึ่งของเอเชีย สิ่งที่พิสูจน์คำกล่าวอ้างข้างต้นได้เป็นอย่างดี ก็ได้แก่การกำกับนักแสดงหญิงจนพวกเธอสามารถสวมบทบาทในจอได้อย่างเยี่ยมยอด และคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมบนเวทีต่างๆ มาครองอย่างมากมาย

ไม่ว่าจะเป็น “จางม่านอวี้” ใน “Song of the Exile” “ดินนี ยิป” ใน “A Simple Life” และ “ถังเหว่ย” ใน “The Golden Era”

ภายหลังทราบข่าวว่าตนเองจะได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากเวนิส “แอนน์ ฮุย” เปิดใจต่อสาธารณะว่า

“ฉันรู้สึกมีความสุขเมื่อได้รับทราบข่าวนี้ และรู้สึกเป็นเกียรติกับรางวัลที่ได้รับ ความรู้สึกสุขใจของฉันไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดใดๆ ได้ ฉันเพียงหวังว่าทุกๆ อย่างบนโลกใบนี้จะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นในเร็ววัน และทุกๆ คนจะสามารถกลับมารู้สึกมีความสุขกันได้อีกหน เหมือนที่ฉันกำลังมีในห้วงเวลานี้”

ข้อมูลจาก https://www.labiennale.org/en/news/ann-hui-and-tilda-swinton-golden-lions-lifetime-achievement